วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

สิทธิขั้นพื้นฐาน : แนวทางการบรรยาย ภาคปลาย/๒๕๕๒

ชี้แจงนักศึกษาที่ลงทะเบียนรายวิชาสิทธิขั้นพื้นฐาน
(๑) แนวทางการบรรยาย
(๒) เอกสารประกอบการบรรยาย
(๓) การวัดผลและประเมินผล
(๔) สถานที่จัดการเรียนการสอน

(๑) แนวทางการบรรยายรายวิชาสิทธิขั้นพื้นฐาน ประจำภาคปลาย/๒๕๕๒ มีดังนี้
บทที่ ๑ ภาคประวัติศาสตร์
๑.๑ บ่อเกิดของสิทธิมนุษยชน
๑.๒ สิทธิตามธรรมชาติ
๑.๓ พัฒนาการแห่งสิทธิมนุษยชน

บทที่ ๒ ภาคคุณค่าและหลักการ
๒.๑ ความหมายของสิทธิมนุษยชน
๒.๒ องค์ประกอบของสิทธิมนุษยชน
๒.๓ การจำแนกประเภทของสิทธิ
๒.๔ ความหมายของสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และอำนาจ
๒.๕ สังคม สิทธิมนุษยชน และหลักนิติรัฐ

บทที่ ๓ ภาคเนื้อหาแห่งสิทธิมนุษยชน
๓.๑ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
๓.๒ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพอเพียงและสิทธิทางการเมือง
๓.๓ กติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
๓.๔ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ
๓.๕ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
๓.๖ อนุสัญญาว่าด้วยภารกิจต้านการทรมานและการกระทำรุ่นแรงต่อมนุษย์
๓.๗ อนุสัญญาว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้พิการ
๓.๘ การคุ้มครองสิทธิของผู้สูงวัย
๓.๙ สิทธิของผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
๓.๑๐ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของประชาชาติท้องถิ่นดั้งเดิมแห่งสหประชาชาติ
๓.๑๑อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ

บทที่ ๔ ภาคข้อเท็จจริง : ประเทศไทย
๔.๑ พัฒนาการทางสังคม ในเรื่องสิทธิมนุษยชน
๔.๒ กลไกในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
๔.๓ ธัมมิกสังคม สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

บทที่ ๕ ลักษณะการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
๕.๑ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
๕.๒ กรณีศึกษา “การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม”
๕.๓ กรณีศึกษา “บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ”
๕.๔ กรณีศึกษา “ บุคคลสูญหาย”
๕.๕ กรณีศึกษา “เสรีภาพในการชุมนุม”
๕.๖ กรณีศึกษา “อารยะขัดขืน”
๕.๗ กรณีศึกษา “สิทธิชุมชน”
๕.๘ กรณีศึกษา “สิทธิของผู้ต้องหาในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา”
๕.๙ นักสิทธิมนุษยชน

บทที่ ๖ สิทธิมนุษยชนศึกษา

บทที่ ๗ CSR จริยธรรมและสิทธิมนุษยชน

(๒) นักศึกษาสามารถโหลดข้อมูลเอกสารได้ที่บล็อคหัวข้อสิทธิมนุษยชน เป็นเอกสารประกอบการบรรยาย

(๓) การวัดและประเมินผล
๓.๑ คะแนนเก็บ ๖๐ คะแนน แบ่งเป็นทดสอบย่อย ใบกิจกรรม การเข้าชั้นเรียน และ/หรือรายงานกลุ่ม
๓.๒ สอบปลายภาค ๔๐ คะแนน

(๔) สถานที่
กลุ่มที่เรียนวันจันทร์ถึงศุกร์ใช้สถานที่คณะนิติศาสตร์
กลุ่มที่เรียนวันเสาร์ จะแจ้งให้ทราบภายหลัง หรือสามารถติดต่อได้ที่สำนักศึกษาทั่วไป
-------------------------------
กิตติบดี

กฎหมายสถาบันการเงิน : แนวทางการบรรยาย ภาคปลาย/๒๕๕๒

แนวทางการบรรยายเนื้อหารายวิชากฎหมายว่าด้วยสถาบันการเงิน
-------------------------------------
นักศึกษาที่ลงทะเบียนรายวิชา กฎหมายสถาบันการเงิน ฯ ให้เตรียมตัวดังนี้
(๑) พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๕๑
(๒) พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๑
(สามารถติดตามได้ที่ร้านถ่ายเอกสารคณะ)

(๑) แนวทางการบรรยาย
สำหรับแนวการบรรยายมีดังต่อไปนี้ (น.ศ.สามารถโหลดข้อมูลในบล็อคหัวข้อ สถาบันการเงินไปอ่านล่วงหน้าได้) เนื้อหาแบ่งเป็น ๘ บท ดังนี้
บทที่ ๑ สังคม เศรษฐกิจและสถาบันการเงิน
๑.๑ เศรษฐกิจระดับโลกและวิวัฒนาการของระบบเศรษฐกิจ
๑.๒ พัฒนาการของระบบสถาบันการเงิน
๑.๓ ระบบสถาบันการเงินของประเทศไทย

บทที่ ๒ พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๕๑
๒.๑ ความหมายของธุรกิจสถาบันการเงิน
๒.๒ การขอใบอนุญาตจัดตั้ง
๒.๓ โครงสร้าง และผู้ถือหุ้น
๒.๔ การประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน
๒.๔.๑ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์
๒.๔.๒ ธุรกิจเงินทุน
๒.๔.๓ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
๒.๔.๔ ธุรกิจทางการเงินอื่น
๒.๕ การรับฝากเงิน
๒.๖ การให้สินเชื่อ
๒.๖.๑ นโยบายเรื่องสินเชื่อ
๒.๖.๒ การจัดชั้นสินเชื่อ
๒.๖.๓ การประเมินราคาหลักประกัน
๒.๖.๔ แนวทางการพิสูจน์สินเชื่อและการสอบทานภาระสินเชื่อ
๒.๗ ธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ
๒.๗.๑ ธุรกรรมการค้ำประกัน
๒.๗.๒ ธุรกรรมการเช่าซื้อ
๒.๗.๓ ธุรกรรมการให้เช่าแบบลีสซิ่ง
๒.๗.๔ ธุรกรรมการซื้อขายล่วงหน้า
๒.๗.๕ ธุรกรรมด้านการประกันภัย
๒.๗.๖ ธุรกรรมการรับโอนลูกหนี้
๒.๗.๗ ธุรกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์
๒.๗.๘ ธุรกรรมแฟกตอริ่ง
๒.๗.๙ การให้บริการการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์

บทที่ ๓ ผู้บริหารสถาบันการเงิน
๓.๑ ผู้บริหารสถาบันการเงิน
๓.๒ หลักบุคคลค้าขายผู้ประกอบด้วยความระมัดระวัง
๓.๓ หลักความรับผิดชอบร่วมกัน
๓.๔ ผู้บริหารกับหลักธรรมาภิบาล
๓.๕ ความรับผิดที่เกิดจากการกระทำโดยทุจริตของผู้บริหารสถาบันการเงิน

บทที่ ๔ การกำกับดูแลสถาบันการเงินโดยทางการ
๔.๑ นโยบายการกำกับดูแลสถาบันการเงิน
๔.๒ การกำกับแบบรวมกลุ่ม
๔.๓ การกำกับลูกหนี้สถาบันการเงินรายใหญ่
๔.๔ การตรวจสอบ แก้ไข และควบคุมสถาบันการเงิน

บทที่ ๕ สถาบันการเงินกับแนวทางการบริหารความเสี่ยง
๕.๑ การดำรงเงินกองทุน
๕.๒ การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง
๕.๓ แนวปฏิบัติในการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน

บทที่ ๖ การสร้างความเป็นธรรมต่อลูกค้าและคุ้มครองผู้บริโภค
๖.๑ การติดตามทวงหนี้
๖.๒ การกำหนดอัตราดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียม
๖.๓ ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

บทที่ ๗ บทบาทของสถาบันการเงินในการส่งเสริมมาตรการการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

บทที่ ๘ ธนาคารแห่งประเทศไทย
๘.๑ บทบาทหน้าที่ของธนาคารกลาง
๘.๒ ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง

(๒) การวัดและประเมินผล
สอบเก็บคะแนน ๔๐ คะแนน (ทดสอบย่อย/นัดหมายในชั้นเรียน ๘ ครั้งๆ ละ ๕ คะแนน)
สอบปลายภาค ๖๐ คะแนน (ไม่อนุญาตให้นำเอกสารเข้าห้องสอบ)

-------------------------
กิตติบดี

หลักกฎหมายเอกชน : การอุดช่องว่างกฎหมาย

เอกสารประกอบการบรรยายรายวิชาหลักกฎหมายเอกชน
การอุดช่องว่างของกฎหมาย

มาตร ๔ วรรคสอง บัญญัติว่า “เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป”
เมื่อพิจารณาบทบัญญัติข้างต้น วางหลักในการอุดช่องว่างของกฎหมายไว้ดังต่อไปนี้
๑. ต้องไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้เพื่อปรับแก่ข้อเท็จจริงใด และ
๒. ให้นำเรื่องดังต่อไปนี้ มาปรับใช้เพื่ออุดช่องว่างแทนบทกฎหมายที่ไม่มีนั้น
๒.๑ จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น
๒.๒ กฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง
๒.๓ หลักกฎหมายทั่วไป
เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ให้ท่านต้องพิจารณาไปทีละเรื่องตามลำดับขั้นตอนกล่าวคือ ให้พิจารณาก่อนว่าเรื่องดังกล่าวมีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นหรือไม่ หากไม่มีให้ใช้กฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง หากไม่มีกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งถึงจะสามารถนำหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้ได้ ในแต่ละเรื่องไม่สามารถข้ามขั้นตอนได้ เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะกฎหมายได้บัญญัติไว้แจ้งชัดแล้วในมาตรา ๔ วรรคสอง

การที่กฎหมายกำหนดให้มีการอุดช่องว่างของกฎหมาย เนื่องจาก
๑. ยอมรับว่าการร่างกฎหมายเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะให้ครอบคลุมในทุกกิจกรรมของสังคมและ
๒. ข้อห้ามมิให้ศาลปฏิเสธไม่ยอมตัดสินคดีเพราะไม่มีกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา
ความแพ่ง มาตรา ๑๓๔ บัญญัติไว้ชัดเจนถึงเรื่องดังกล่าวว่า “ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ห้ามมิให้ศาลที่รับฟ้องคดีไว้ปฏิเสธไม่ยอมพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีโดยอ้างว่า ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดี หรือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะใช้บังคับนั้นเคลือบคลุมหรือไม่บริบูรณ์”
ซึ่งได้รับอิทธิพลจากประมวลกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศส มาตรา ๔ ที่บัญญัติว่า “ผู้พิพากษาซึ่งปฏิเสธไม่ยอมพิพากษาคดีโดยอ้างว่าไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะใช้บังคับแก่คดีก็ดี บทบัญญัติกฎหมายเคลือบคลุมก็ดี บทบัญญัติแห่งกฎหมายไม่บริบูรณ์ก็ดี อาจถูกฟ้องเป็นคดีอาญาในความผิดฐานปฏิเสธความยุติธรรม”
ปรัชญาที่แฝงอยู่เบื้องหลังหลักการอุดช่องว่างนี้ ได้แก่ ศาลต้องเป็นที่พึ่งสุดท้ายเพื่อให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน เมื่อประชาชนมาศาลเพื่อขอให้ตัดสินคดีข้อพิพาทแล้ว ศาลปฏิเสธเท่ากับเป็นการทำลายหรือลิดรอนคุณค่าของที่พึ่งสุดท้ายดังกล่าว
ดังนั้น เมื่อมีคดีขึ้นสู่ศาล แม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติที่จะยกขึ้นมาปรับแก่คดีได้ ศาลมีหน้าที่ต้องพิจารณาคดีนั้น โดยนำหลักการอุดช่องว่างตามมาตรา ๔ วรรคสองมาปรับใช้ตามลำดับ
๑. จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น หมายถึง ระเบียบแบบแผนที่ถือปฏิบัติและได้รับการยอมรับใน
สังคม และเป็นเครื่องมือหรือกลไกทางสังคมอย่างหนึ่งที่ทำให้สังคมอยู่กันมาอย่างสงบสุขและเรียบร้อย นอกจากหรือก่อนที่จะมีกฎหมายบัญญัติขึ้น ซึ่ง รศ.ณัฐพังศ์ โปษกะบุตร ได้อธิบายว่าจารีตประเพณีที่จะนำมาใช้ปรับนั้นควรมีลักษณะดังต่อไปนี้ (คำบรรยายหลักกฎหมายเอกชน,มหาวิทยาลัยรามคำแหง,หน้า ๘๘.)
๑) ต้องเป็นจารีตประเพณีที่บุคลในท้องถิ่นได้ถือปฏิบัติกันทั่วไป
๒) ต้องเป็นจารีตประเพณีที่ถือปฏิบัติต่อกันมาเป็นเวลานาน
๓) ต้องเป็นจารีตประเพณีที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือ
ศีลธรรมอันดีของประชาชน
๔) ต้องเป็นจารีตประเพณีที่ทราบกันทั่วไป
เช่น จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเกี่ยวกับธรรมเนียมประเพณีวงการค้าเกี่ยวกับการขนส่งที่ทราบกันอยู่ระหว่างคู่สัญญานั้นแล้วว่าถ้าเกิดการเสียเวลาก็ให้มีการคิดค่าเสียเวลาให้แก่กัน ซึ่งแม้ว่าคู่สัญญาไม่ได้มีการตกลงกันในเรื่องของค่าเสียเวลา จารีตประเพณีหรือธรรมเนียมทางการค้าดังกล่าวย่อมใช้บังคับกันได้ หรือตามตัวอย่างต่อไปที่ชี้ให้เห็นว่ากฎหมายไม่ได้อธิบายไว้ว่าวิธีการหมั้นเป็นอย่างไร กฎหมายเพียงแต่บัญญัติถึงเรื่องหมั้นเท่านั้น
การหมั้นจะต้องทำอย่างไรบ้างนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้อธิบายไว้ว่าวิธีการหมั้นจะต้องทำอย่างไร แต่เมื่อพิจารณาตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาแต่โบราณจะต้องมีของหมั้น ตามกฎหมายผัวเมียเดิมก็กล่าวถึงขันหมากหมั้นว่า และประเพณีปัจจุบันการหมั้นจะต้องมีของหมั้นเสมอด้วย หากเป็นการสู่ขอเฉย ๆ ก็หาเรียกว่าเป็นการหมั้นไม่(ฎ.๖๗๖/๒๔๘๗) หรือ ฎ. ๕๒๕/๒๕๐๙ วินิจฉัย คำว่า “หมั้น” ตามที่เข้าใจกันธรรมดาและตามประเพณีจะเรียกว่าหมั้น ก็ต่อเมื่อฝ่ายชายนำขอหมั้นไปมอบให้ฝ่ายหญิงแล้ว เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้น ฝ่ายนั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าทดแทนตามมาตรา ๑๔๓๘ โดยที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษเช่นนี้การตกลงว่าจะสมรสโดยไม่มีการหมั้นจึงอยู่นอกขอบเขตที่กฎหมายรับรอง หากไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงไว้จึงเรียกค่าทดแทนไม่ได้
เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นแล้ว ให้พิจารณาถึงลำดับถัดไป
๒. กฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง หมายถึง กฎหมายที่มีลักษณะที่ใกล้เคียงพอที่จะนำมาปรับใช้แก่

ข้อเท็จจริงนั้น ๆ ได้ หรือเหตุผลของข้อเท็จจริงเหมือนหรือใกล้เคียงกัน
เช่น ฎ ๘๘๓๑/๒๕๔๒ เรือ พ. ของจำเลยร่วมที่ ๒ เดินทางมาถึงท่าเรือบริษัท ด. ใน วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ โจทก์ได้รับมอบสินค้าเมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ ใช้บังคับจึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๒๔ มาใช้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔ วรรคสอง เพื่อให้เจ้าหน้าที่มาตรวจคนที่มากับเรือ ซึ่งการเหล่านี้มิใช่การขนส่ง แต่เป็นงานที่เกี่ยวกับเอกสารหรือการติดต่อกับบุคคลต่าง ๆ ซึ่งผู้ขนส่งมิได้กระทำโดยตนเอง หากแต่ได้มอบหมายให้จำเลยทำแทนเท่านั้น การกระทำขอจำเลยนั้นจึงมิใช่ลักษณะการร่วมเป็นผู้ขนส่งสินค้าหรือเป็นผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๑๘ อันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งที่ยกมาปรับแก่คดีรับขนของทางทะเลในขณะเกิดข้อพิพาท
อุทธาหรณ์ข้างต้น ท่านจะเห็นได้ว่า ศาลพิจารณาว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยไม่เหมือนและ/หรือใกล้เคียงกับการขนส่ง จึงจะฟ้องให้จำเลยรับผิดไม่ได้ พิจารณาจึงเหตุผลของข้อเท็จจริงทั้งสองข้อเท็จจริงว่า มีเหตุผลเดียวกัน หรือ เหตุผลที่ใกล้เคียงกันอย่างยิ่งหรือไม่
ข้อสังเกตเกี่ยวกับการนำกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับใช้ เมื่อท่านพิจารณาเรื่องต่างๆ ข้างต้นแล้ว ข้อยกเว้นของการนำเอากฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับใช้ได้แก่ ถ้ามีกฎหมายพิเศษบัญญัติขึ้นเฉพาะกาลก็มิอาจนำมาตราใด ๆ ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใช้บังคับได้ เช่น มีการบัญญัติกฎหมายพิเศษขึ้นมาเพื่อใช้แก่การทำนิติกรรมต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ พระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนั้น จะนำมาตราอื่นใดของกฎหมายแพ่งพาณิชย์มาปรับใช้เป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งไม่ได้ ท่านต้องอาศัยหรือใช้กฎหมายพิเศษนั้น ๆ เท่านั้น ยกเว้นในกฎหมายพิเศษนั้น ๆ มีบทบัญญัติกำหนดให้สามารถนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้ได้โดยอนุโลม มาให้พิจารณาตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๓๙๘/๒๕๓๗

๓. หลักกฎหมายทั่วไป เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่ยกมาปรับคดีแล้ว ไม่มีจารีตประเพณีแล้ว ไม่มีกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งแล้ว ให้นำหลักกฎหมายทั่วไปขึ้นมาวินิจฉัยคดี
หลักกฎหมายทั่วไป หมายถึง บรรดาหลักกฎหมายที่ประเทศต่างๆ หรือ หลักกฎหมายที่นักนิติศาสตร์ให้การยอมรับถึงหลักกฎหมายดังกล่าวว่าให้ความเป็นธรรมและมีลักษณะเป็นสากล
ซึ่งความหมายของหลักทั่วไปมีนักนิติศาสตร์ให้คำอธิบายไว้มากมายหลายท่านด้วยกันซึ่งผู้เขียนเห็นสมควรนำมาแสดงไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้ท่านได้กระจ่างชัดและเกิดมโนภาพของความหมายของหลักทั่วไปให้คมชัดขึ้น
ศาสตราจารย์ประมูล สุวรรณศร ให้ความหมายของหลักกฎหมายทั่วไปโดยท่านอธิบายไว้ว่า หลักกฎหมายทั่วไป คือ หลักกฎหมายที่ประเทศส่วนมากในโลกยอมรับรอง และใช้อยู่ด้วยกันมิใช่กฎหมายต่างประเทศที่เป็นของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ (กฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน,ประมูล สุวรรณศร, พิมพ์ครั้งที่ ๗,กรุงเทพฯ,พ.ศ.๒๕๑๗,หน้า ๒๑.)
ศาสตราจารย์ไพจิตร ปุญญพันธ์ อธิบายไว้ว่า หลักกฎหมายทั่วไป คือ หลักกฎหมายของประเทศที่เจริญแล้วยอมรับนับถือกันมิใช่กฎหมายต่างประเทศที่เป็นของประเทศหนึ่งประเทศใดโดยเฉพาะแต่อาจเป็นของประเทศหนึ่งประเทศใดก็ได้ แต่ในประเทศอื่น ๆ ที่เจริญแล้วยอมรับนับถือกัน (หลักกฎหมายปิดปากกับการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร,ไพจิตร ปุญญพันธ์,บทความวิชาการ,พ.ศ.๒๕๓๘,หน้า ๔๐.)
ศาสตราจารย์หลวงจำรูญเนติศาสตร์ ได้อธิบายถึง หลักกฎหมายทั่วไปไว้ในคำสอนชั้นปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า หลักกฎหมายทั่วไป คือ หลักกฎหมายที่ยอมรับนับถือกันอยู่โดยทั่วไปไม่เฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น เพราะตัวบทกฎหมายใช้คำว่า หลักกฎหมายทั่วไป ก็ต้องหมายความว่าเป็นหลักกฎหมายที่รับรองหรือรับนับถือกันอยู่ทั่วไป ที่ว่าทั่วไปนั้นไม่ใช่หมายความว่าทั่วไปเฉพาะในประเทศไทยไม่
ศาสตราจารย์ดร.เอช เอกูต์ อธิบายไว้ว่า หลักกฎหมายทั่วไปเป็นข้อบังคับกฎหมาย ซึ่งศาลใช้บังคับแก่คดีเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือนักนิติศาสตร์ได้เขียนไว้ในตำรา แม้จะไม่มีตัวบทกฎหมายบัญญัติไว้ ตัวอย่างหลักกฎหมายทั่วไป คือ หลักที่ว่าใครล้างสิทธิอันใดผู้นั้นต้องนำสืบหลักที่ว่า ผู้ใดจะโอนให้แก่บุคคลอันซึ่งสิทธิอันสมบูรณ์ยิ่งกว่าที่ตนมีอยู่ไม่ได้ หรือว่า หลักบุคคลทุกคนต้องรู้กฎหมายและหลักเหล่านี้มักปรากฎหรือมีกล่าวไว้ในภาษาลาติน
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ให้คำอธิบายถึงหลักกฎหมายทั่วไปไว้อย่างน่าสนใจว่า แท้จริงแล้ว หลักกฎหมายทั่วไป คือหลักซึ่งมนุษย์ที่รวมกันอยู่เป็นหมู่คณะหรือประเทศจักต้องประพฤติต่อกัน และท่านได้ตั้งข้อสังเกตต่อไปอีกว่า (ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์,กฎหมายแพ่ง: หลักทั่วไป,พ.ศ.๒๕๐๖,อ้างใน รศ.ประสิทธิ์ โฆวิไลกุล,หลักกฎหมายทั่วไป,หน้า๔๔)
๑. หลักกฎหมายทั่วไป เป็นหลักกฎหมายที่มีอยู่ทั่วไป ไม่จำกัดว่าอยู่ที่ใด ขอให้เป็นหลักกฎหมายที่เอามาตัดสินได้ก็แล้วกัน ความเห็นนี้เป็นความเห็นที่ไม่มีขอบเขตทำให้หลักเกณฑ์ที่นำมาปรับไม่แน่นอน ซึ่งขัดต่อวิสัยของวิชานิติศาสตร์ที่พยายามทำให้กฎหมายมีความแน่นอน
๒. การเปิดโอกาสให้นำเอาหลักกฎหมายของระบบอื่นมาใช้อาจมีลักษณะขัดแย้งกับหลักเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ หลักกฎหมายที่มีอยู่ในระบบกฎหมายของประเทศโดยค้นหาได้จากกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลายลักษณ์อักษรอื่น ที่มีหลักใหญ่พอที่จะทำเป็นหลักอ้างอิงได้ บทบัญญัติที่มีอยู่มากมาย โดยปกติเกิดจากหลักทั่วไปเพียงไม่กี่หลัก หาได้ศึกษาความเป็นมาของหลักกฎหมายและการศึกษาพิเคราะห์ตัวบทหลายๆ มาตราให้ดีจริง ๆ ก็จะพบหลักใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังบทบัญญัติเหล่านั้น หลักใหญ่นี้เป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่นำมาปรับแก่คดีได้
สุดท้าย ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ท่านได้อธิบายหลักกฎหมายทั่วไปไว้ว่า คือ
๑. สุภาษิตที่เขียนเป็นภาษาลาตินเป็นหลักกฎหมายทั่วไป
๒. หลักกฎหมายทั่วไป ได้แก่ หลักกฎหมายที่ผู้ร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นำมาใช้ในการร่างกฎหมาย หลักกฎหมายทั่วไปนี้ จะทราบได้จากการนำบทมาตราต่าง ๆที่บัญญัติสำหรับข้อเท็จจริงที่คล้ายคลึงกันมาพิจารณา และเมื่อพิจารณาตัวบทกฎหมายหลายมาตราดังกล่าว ก็จะพบหลักกฎหมายทั่วไปผู้ร่างนำมาใช้ เช่น หลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ท่านอธิบายต่อไปว่า หลักกฎหมายทั่วไปเป็นหลักที่กว้างมาก ผู้มีหน้าที่ในการค้นหาเพื่ออุดช่องว่างคือ ศาลยุติธรรม (หมายเหตุของผู้เขียน เห็นว่า หน้าที่ในการค้นหาหลักต่างๆ ไม่ควรจำเพาะแต่ศาลยุติธรรมเท่านั้น ควรหมายความรวมถึงนักนิติศาสตร์ทุกท่าน)โดยอาศัยที่มีดังต่อไปนี้
๑. สุภาษิตกฎหมาย
๒. หลักกฎหมายต่างประเทศ
๓. หลักแห่งความยุติธรรม
๔. หลักสามัญสำนึกหรือการใช้ดุลพินิจของศาล
๕. คำสอนหรือตำรากฎหมาย
๖. หลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ
ตัวอย่างสัญญาประกันภัยทางทะเลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๖๘ ให้ใช้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายทะเล แต่ปรากฏว่ากฎหมายทะเลในประเทศไทยยังไม่มีการบัญญัติไว้ ทั้งจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นก็ไม่ปรากฏ จึงต้องวินิจฉัยคดีตามหลักกฎหมายทั่วไป กรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลทำขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ จึงควรถือกฎหมายว่าด้วยการประกันภัยทางทะเลของประเทศอังกฤษ โปรดศึกษาตาม ฎ.๗๓๕๐/๒๕๓๗ และ ๙๙๙/๒๔๙๖ เป็นสำคัญ หรือ สัญญาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น สัญญาให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินปัญญา สัญญาธุรกิจแฟรนไซส์ ศาลสามารถนำหลักกฎหมายทั่วไป เรื่อง บุคคลต้องปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งเป็นหลักกฎหมายตามสุภาษิตกฎหมายภาษาละติน “Pacta sunt servanda” (อ่านว่า แพคต้า-ซุง-เซอวันด้า) มาวินิจฉัยคดีได้
---------------------------
กิตติบดี

หลักกฎหมายเอกชน : การตีความ/ปรับใช้กฎหมาย

เอกสารประกอบการบรรยายรายวิชาหลักกฎหมายเอกชน
หลักการตีความเพื่อใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์
หลักการตีความกฎหมาย หรือ หนังสือกฎหมายของบางท่านอธิบายโดยเรียกว่า การปรับใช้กฎหมาย หรือ การตีความเพื่อปรับใช้กฎหมาย หรือ Application of Law
Application แปลว่า การประยุกต์เอาไปใช้ ใช้กับอะไร คำตอบคือ การจำข้อกฎหมายไปปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเวลาท่านไปทำงานจะพบว่าทางปฏิบัติจะมีการแบ่งเป็นปัญหาอยู่ ๒ ลักษณะ ได้แก่ ปัญหาข้อกฎหมาย กับ ปัญหาข้อเท็จจริง หน้าที่ของนักกฎหมายต้องนำข้อกฎหมายที่ได้ศึกษาหาความรู้มาปรับใช้ให้ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำซึ่งทั้งหลายทั้งปวงก็จะกลับเข้าสู่หลักการทั่วไป (principle) ที่บรรดานักกฎหมายเริ่มต้นศึกษาตั้งแต่อยู่ชั้นปีที่ ๑ นี้

มาตรา ๔ บัญญัติว่า “กฎหมายนั้นต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ ”“ The law must be applied in all cases which come with in the letter or the spirit of its provisions”

จะเห็นได้ว่ามีคำอยู่ ๒ คำที่น่าสนใจใคร่ต้องพิเคราะห์ถึงได้แก่
๑. บทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร (By letter)
๒. บทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามความมุ่งหมาย (By spirit)
“กฎหมาย” ตามบทบัญญัติข้างต้น ย่อมหมายถึง กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ถึงกระนั้นตาม
ความเห็นของท่านพระยาเทพวิฑูร (บุญช่วย วณิกกุล) ได้แสดงทรรศนะไว้ว่า คำว่า กฎหมาย ที่ปรากฏในมาตรา ๔ นั้น น่าจะหมายความรวมทั้ง กฎหมายใด ๆ อันเป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกรทรวง ระเบียบต่าง ๆเป็นต้น (อ้างใน, ประสิทธิ์ โฆวิไลกุล, กฎหมายแพ่งหลักทั่วไป, สำนักพิมพ์นิติธรรม, พ.ศ. ๒๕๔๕, หน้า ๖.) ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตที่มากกว่าเฉพาะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วยตามคำอ้างเช่นนั้น เพราะกฎหมายที่ปรากฏเป็นตัวอักษรนั้นเปรียบได้กับร่างกาย อันมีความมุ่งหมายเป็นจิตใจ แต่อย่างไรเสีย มีกฎหมายบางประเภทที่มีการกำหนดโทษทางอาญา ได้แก่ ลักษณะของโทษทัณฑ์ที่มุ่งสู่การจำกัดสิทธิในชีวิต (ประหารชีวิต) ร่างก่าย (จำคุก/กักขัง) เสรีภาพ อนามัย ทรัพย์สิน (ริบ ปรับ ยึดทรัพย์ เป็นต้น) เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ควรถูกจำกัดการตีความกฎหมายโดยเคร่งครัด กล่าวคือ กฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้เช่นใด ก็ควรใช้เพียงแค่นั้น ตัวอย่างเช่น เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาไว้ว่า ลักกระแสไฟฟ้า เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เมื่อพิจารณาตามกฎหมายอาญา กำหนดว่า “ผู้ใดเอาไปซึ่งทรัพย์ผู้อื่นโดยทุจริต ต้องระวางโทษ” จึงมีคำถามว่ากระแสไฟฟ้าเป็นทรัพย์หรือไม่ การที่จะพิจารณาว่าเป็นทรัพย์หรือไม่ ในกฎหมายอาญาไม่มีการวางคำนิยามศัพท์ไว้ว่ามีความหมายว่าอย่างไร แต่เมื่อพิจารณาจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีการกำหนดความหมายของคำว่า “ทรัพย์” ไว้ว่าหมายถึง วัตถุมีรูปร่าง แต่เมื่อพิจารณาตามจักษุแล้ว จะพบว่า กระแสไฟฟ้าไม่มีรูปร่าง จึงไม่เป็นทรัพย์ แต่หากจะหมายความเป็นทรัพย์สิน (ทรัพย์สิน หมายความว่า ทรัพย์และวัตถุที่ไม่มีรูปร่างแต่อาจมีราคาและถือเอาได้) ดังนั้น เมื่อ ตีความกฎหมายอาญาจึงต้องเพ่งพิจารณาถึงบทบัญญัติโดยเคร่งครัดเท่านั้น กฎหมายอาญาบัญญัติว่า ลักทรัพย์ มิใช่ ลักทรัพย์สิน ผู้ที่ลักกระแสไฟฟ้าจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ หลายท่านคงอดแปลกใจไม่ได้ว่า เมื่อได้ความชัดว่า ผู้นั้นเป็นหัวขโมย ถูกต้องแล้วที่กฎหมายลงโทษ เพราะเมื่ออาศัยลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏไม่ได้ ก็ต้องพิจารณาจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย น่าจะอยู่ที่ไม่ต้องการให้ผู้ใดเอาของ ๆ ผู้อื่นไป โดยไม่มีอำนาจหน้าที่แต่อย่างใด และเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม
แต่ความหมายเป็นเช่นนั้นไม่ หลักการตีความกฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด แม้เจตนาของกฎหมายดังกล่าวจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องก็ตาม แต่โทษที่ผู้นั้นได้รับมีเนื้อหาเป็นการลิดรอนสิทธิในชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ จิตใจ ของบุคคล จึงไม่อาจทำเช่นนั้นได้ หากจะลงโทษในความคิดเช่นนั้น ก็ต้องไปบัญญัติกฎหมายใหม่เพื่อมาใช้บังคับในกาลข้างหน้า เช่น บัญญัติความผิดฐาน “ลักทรัพย์สิน” ขึ้น ทั้งนี้หากพิจารณากันอย่างลึกซึ้งก็เพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคลนั้นเอง แต่เหตุที่กฎหมายอื่น สามารถขยายความให้ครอบคลุมถึงเจตนาได้นั้น มีหลายเหตุปัจจัยด้วยกัน กล่าวคือ
๑. กฎหมายจะต้องทันสมัยสม่ำเสมอ
๒. ผู้ร่างกฎหมายอาจคิดหรือคาดเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้ามิได้
๓. คุ้มครองปัจเจกชน (เอกชน) ผู้สุจริต
๔. โทษทัณฑ์ของกฎหมายอื่นนอกจากกฎหมายอาญาไม่ได้มีลักษณะเป็นการลิดรอนต่อสิทธิในชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ทรัพย์สินของบุคคล แต่มุ่งประโยชน์ที่ค่าเสียหายและ/หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับธรรมเนียมปฏิบัติของศาลไทย หรือปรัชญากฎหมายไทยที่ว่า “ต้องไม่มีผู้ใดจะแสวงหาผลกำไรหรือประโยชน์จากการเป็นคดีความกัน”
ด้วยเหตุนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีเนื้อหาสาระอยู่ตรงนี้ “กำหนดความสัมพันธ์ สิทธิ หน้าที่ ระหว่างเอกชนกับเอกชน” ประกอบกับ ปรัชญาว่า บุคคลทุกคนต้องกระทำการโดยสุจริต และต้องการให้การแสดงออกต่าง ๆของมนุษย์มีค่าบังคับได้เสมอ ดังปรากฏเรื่อง “ความศักดิ์สิทธิ์แห่งการแสดงเจตนา” ดังนั้น เพื่อต้องการส่งเสริมความสุจริตของบุคคล และคุ้มครองปัจเจกชน จึงมีความจำเป็นต้องขยายความกฎหมายให้นอกเหนือจากที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรโดยขอให้ท่านพิจารณาจากตัวอย่างข้างล่างประกอบเรื่อง “ป้ายห้ามเดินลัดสนาม” “บรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ ” หมายถึง มาตราทุกมาตราที่บัญญัติขึ้นตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตามความเห็นของท่านพระยาเทพวิฑูร
“การตีความกฎหมาย” หมายถึง การค้นหาเพื่อสร้างความกระจ่างชัดในความหมายของกฎหมาย (ข้อสังเกต การตีความไม่ใช่การแปลความ ส่วนจะแตกต่างและ/หรือเหมือนกันอย่างไร โปรดหาวิสัชนา)
สำหรับการค้นหาความหมายของกฎหมาย เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายนั้น ถ้าท่านเลือกแสวงหาแบบกว้างขวางจนเกินไปอย่างมหาสมุทร ย่อมเป็นปัญหาในทางปฏิบัติได้

หากขีดวงจำกัดให้แคบจนเกินไป ก็เป็นอุปสรรคของผู้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน
แล้วจะค้นหาอย่างไร?
ขอให้ท่านลอง ระลึกภาพการโยนหินลงแม่น้ำ ท่านจะเห็นว่า แรงกระทบของก้อนหิน จะทำให้ผิวของน้ำแผ่ขยายตีวงกว้างขึ้น ๆ ฉันใด การตีความกฎหมายนี้ ฉันนั้น เมื่อท่านเลือกตีความบทบัญญัติใด ก็ให้เริ่มต้นจากสิ่งนั้น เพียงเฉพาะที่ขยายได้เท่านั้น เหมือนก้อนหินที่ทำให้น้ำกระเพื่อมเฉพาะแหล่งที่โยนกระทบเท่านั้นแล ข้อเปรียบเทียบดังกล่าวใคร่ให้ท่านโปรดพิจารณาก่อน แล้วค่อยจำเมื่อท่านเห็นด้วย
เมื่อเป็นเช่นนั้น การตีความหมายจึงจำเป็นต้องถูกกำกับโดยอาศัยหลักดังต่อไปนี้เป็นลำดับขั้นไป
ลำดับที่ ๑. พิจารณาจากบทบัญญัติของกฎหมาย
มีหนังสือหลายเล่มได้อธิบายในเรื่องนี้ไว้ว่า “เมื่อถ้อยคำชัดเจนแล้ว ก็ไม่ต้องตีความอีก” ซึ่งการตีความกฎหมายนั้นจะตีความเฉพาะกรณีที่ถ้อยคำของกฎหมายไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน คลุมเครือเท่านั้น (สมยศ เชื้อไทย, วิชากฎหมายแพ่ง: หลักทั่วไป,พิมพ์ครั้งที่ ๒,๒๕๓๔,หน้า ๑๓๒.) เช่น มีการนำป้ายไปปักไว้ที่สนามหญ้าว่า ห้ามเดินลัดสนาม เมื่อพิจารณาจากลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏบนป้าย ถ้อยคำหรือถ้อยความได้กำหนดไว้แจ้งชัดว่า “ห้ามเดิน”เหยียบย่ำไปที่พื้นสนามนั้น แต่หากมีผู้สงสัยว่าแล้ว วิ่ง กระโดด ขี่จักรยาน(ยนต์) ขับรถยนต์ เข้าไปในสนามได้หรือไม่ เพราะลายลักษณ์อักษรได้ปรากฏอยู่แจ้งชัดแล้วว่า “ห้ามเดิน” เท่านั้น มิได้รวมถึง การวิ่ง กระโดด หรือกิจกรรมอื่นใด จากตัวอย่างดังกล่าว ทำให้ท่านเห็นได้ว่า การอ่านแต่เพียงบทบัญญัติแห่งกฎหมายไม่เพียงพอ ที่จะหยั่งทราบว่าเจตนาและ/หรือความมุ่งหมายของผู้เขียนต้องการอะไร ซึ่งจะต้องเตือนห้ามเดินลัดสนาม ผู้เปิดประกาศมีเจตนาหรือความมุ่งหมายที่ไม่ต้องการให้พื้นสนามได้รับความเสียหา ดังนั้น การวิ่ง การกระโดด หรือ กิจกรรมอื่นใดที่เกิดความเสียหายกับพื้นสนามย่อมไม่สามารถกระทำได้
ทำให้เห็นได้ว่า การค้นหา หรือแสวงหาความหมายของกฎหมาย ต้องไม่หยุดอยู่เฉพาะตัวบทกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาเจตนารมณ์ประกอบด้วยเสมอ (ข้อพึงสังเกต แม้ลายลักษณ์อักษรจะชัดเจนแล้ว แต่เพื่อความไม่ประมาทขอให้ท่าน ถามตนเองอยู่เสมอว่า ลายลักษณ์นั้นมีเจตนาอย่างไร เช่น ให้นักศึกษาชายผูกเน็คไทในงานพิธี เห็นได้ชัดเจนว่านักศึกษาชายต้องปฏิบัติตาม จะอ้างว่า ใส่สูทผูกหูกระต่ายมา ก็ดูสุภาพเรียบร้อยแล้วไม่ได้ เพราะกฎหมายบัญญัติไว้ชัดอยู่แล้ว และท่านก็สามารถระลึกได้ว่าที่กำหนดเช่นนั้น มีเจตนาให้นักศึกษาแต่งกายในรูปแบบที่เรียบร้อยเสมอเหมือนกัน)
ลำดับที่ ๒ การค้นหาเจตนารมณ์ของกฎหมาย (The Spirit of Law)
การค้าหาเจตนารมณ์ของกฎหมาย (The Spirit of Law) นั้น มีวิธีการดังต่อไปนี้
๑.ให้ใช้วิธีการสอบถามจากผู้ร่างกฎหมายโดยตรง ว่าผู้ร่างมีเจตนาอย่างไร ซึ่งในทางปฏิบัติ (ความจริง) ผู้ร่างกฎหมายส่วนใหญ่ มักจะไม่อยู่ให้ถาม หรือไม่ก็ล้มหายตายจากไป หรืออื่นใดก็ตามที จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการที่สองคือ
๒. อ่านบทบัญญัติแห่งกฎหมายทั้งฉบับ กล่าวคือ เมื่อไม่มีผู้ร่างอยู่ให้ซักถามได้ ก็อ่านบทบัญญัติแห่งกฎหมายทั้งฉบับ (The whole text)
การอ่านถ้อยคำแห่งกฎหมายทุกคำของบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นั้น ท่านต้องไม่ละเลยคำหนึ่งคำใดของกฎหมาย เพื่อจะได้หยั่งทราบว่า ผู้ร่างกฎหมายมีความประสงค์ที่แท้จริงอย่างไร ดังสุภาษิตกฎหมายลาติน กล่าวไว้ว่า “ถ้อยคำแห่งกฎหมายทุกคำต้องไม่ถูกล่วงข้ามไปเสีย” ( A VERBIS LEGIS NON EST RECEDENDUM; from the words of the law, there is not any departure) เหตุนี้เองการเป็นนักกฎหมายที่ดีและพึงปรารถนาต้องมีคุณสมบัติของผู้ที่มีความรอบคอบถี่ถ้วน ซึ่งท่านสามารถฝึกได้
๓. อ่านทุกอย่างที่เกี่ยวกับกฎหมายฉบับที่ท่านประสงค์ค้นหา
๓.๑ สืบค้นใครเป็นผู้ร่างแล้วสอบถาม
๓.๒ อ่านหลักการและเหตุผลในชั้นร่าง
๓.๓ อ่านรายงานการประชุมในชั้นร่างทุกขั้นตอน
๓.๔ อ่านจากวาระการพิจารณากฎหมายรัฐสภา
๓.๕ อ่านจากความเห็นข้อกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา
เมื่อผ่าน ๑-๓ แล้ว จะหยั่งทราบเจตนารมณ์ของกฎหมายได้อีกโดยอาศัยหลักต่าง ๆ ดังนี้

๑. หลักสามัญสำนึก (Common Sense)

ผู้เขียนได้บรรยายอยู่เสมอว่า เมือท่านเข้ามาเรียนวิชากฎหมาย โปรดกรุณาอย่าลืมนำสามัญสำนึกหรือ Common Sense ของท่านติดตัวมาเรียนด้วย ดังคำกล่าวที่ว่า When you come to law school; Don’t forget to bring your common sense. เพราะ กฎหมายส่วนมากนั้นมีที่มาจากสามัญสำนึกของมนุษย์
“I pound of common sense needs 10 pound of learning”
การเรียนรู้ถึง ๑๐ ปอนด์ดังอุปมานี้ มนุษย์เรียนรู้และสั่งสมจากการกระทำ และการกระทำหรือปฏิบัติใด ๆ ที่สังคมเห็นว่าดีงามและถูกต้องก็จะยึดถือเป็นประเพณี ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในการค้นหาความหมายของกฎหมายที่ให้ยึดหลักสามัญสำนึกนั้น มนุษย์ย่อมพึงนำสิ่งที่สังคมเห็นพ้องว่าถูกต้อง ดีงาม เป็นเครื่องชี้วัดอยู่แล้ว ดังนั้น ท่านจะปรับใช้กฎหมายได้ดีเพียงใดนั้น คงเป็นภาระหน้าที่ของท่านว่าท่านมีคลังแห่งสามัญสำนึกเพียงใด ซึ่งผู้เขียนขอแนะนำว่า การหาสามัญสำนึกมาเก็บใสคลังสมองของตนต้องหมั่นฝึกฝนอยู่เสมอ เช่น อ่านลายลักษณ์อักษร ต้องฝึกถามตนเองว่า ที่เขียนอย่างนั้น ผู้ร่างเขาต้องการอะไร หรือแม้เห็นข้อเขียนอะไรสั้น ๆ ก็หมั่นฝึกว่า ผู้เขียนต้องการอะไร...เมื่อท่านฝึกบ่อย ๆ และเป็นประจำ ท่านก็จะได้รับประโยชน์จากการฝึกนั้นโดยอัตโนมัติ..สำคัญ..เพียงแค่คิดจะเริ่มหรือไม่เท่านั้น

๒. หลักเหตุและผล (Logical)

บางครั้งลำพังจะใช้หลักสามัญสำนึกเพียงอย่างเดียวไม่อาจค้นหาความหมายได้ จึงต้องอาศัยผู้รู้ และ / หรือผู้เชี่ยวชาญมาให้คำตอบ ซึ่งคำตอบที่ผู้รู้และ/หรือผู้เชี่ยวชาญจะให้นั้นจำเป็นต้องอาศัยเหตุและผลตามหลักตรรกะมาตีความ เพื่อค้นหาความหมายของกฎหมาย (โปรดศึกษาเพิ่มเติมจากบทที่ ๑-๔ ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมมนุษย์กับกฎหมาย,หนังสือความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไปของผู้เขียน)
เมื่ออาศัยหลักการทั้งสองเข้าปรับกับบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เจตนารมณ์ของกฎหมายจะค่อย ๆ ปรากฏเด่นชัดขึ้น ให้ผู้อ่านและ/หรือผู้ใช้กฎหมายทราบว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น ๆ มีความมุ่งประสงค์สิ่งใดและท่านสามารถตีความเพื่อใช้กฎหมายนั้นได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ไม่ได้ถูกสังคมตีตราว่าเป็นนักกฎหมายแบบท่องจำอย่างนกแก้วนกขุนทองและ/หรือเป็นนักกฎหมายแบบศรีธนนชัย

อย่างไรก็ตาม การตีความกฎหมายข้างต้นนั้น ท่านรองศาสตราจารย์สมยศ เชื้อไทย ได้กล่าวเตือนไว้ว่าแม้การตีความบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามตัวอักษรประกอบกับเจตนารมณ์แล้ว แต่ต้องไม่ลืมว่า “ความมุ่งหมายของกฎหมายก็ย่อมถูกจำกัดครอบด้วยตัวหนังสือเช่นกัน” เปรียบเสมือนกับ “การเป่าลม (เจตนารมณ์) เข้าไปสู่ลูกโป่ง (ตัวอักษร) ที่สามารถเป่าลมได้เท่าที่ลูกโป่งสามารถรับได้เท่านั้น” ตัวอย่างเช่น มาตรา ๑๓๔๙ วรรคสอง บัญญัติว่า “...ที่ดินแปลงใดมีทางออกได้แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือทะเล หรือมีที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากไซร้...”
ความเช่นนี้ หากที่ดินที่ถูกปิดล้อมด้วยที่ชายเลน และไม่มีทางออกสู่ที่สาธารณะเจ้าของที่ดินร้องขอให้เปิดทางจำเป็นได้หรือไม่ ซึ่งการค้าหาความมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ของกฎหมายจะพบว่า การที่กฎหมายบัญญัติเช่นนี้ ก็เนื่องด้วยเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่มีที่ดินที่ไม่มีทางออก แต่ถ้าพิจารณาถึงตัวอักษร (By Letter) จะไม่มีถ้อยคำใดที่สามารถตีความไปถึงที่ชายเลนได้ (สระ บึง หรือทะเล หรือมีที่ชั้นอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากัน) ก็ไม่สามารถตีความจนกว้างขวางเกินไปได้ไม่ อย่างที่ผู้เขียนกล่าวไว้แล้วข้างต้นว่า จุดเริ่มของการตีความอยู่ที่ลายลักษณ์อักษร (ก้อนหิน) แผ่ขยายวง มิใช่ไปหาลายลักษณ์อักษรอื่น สรุปได้การตีความกฎหมาย ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรว่าบัญญัติไว้อย่างไรกอปรกับพิจารณาถึงเจตนารมณ์ที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังของลายลักษณ์อักษรนั้นด้วยวามีสามัญสำนึกและเหตุผลเช่นใด

ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ (ซึ่งต่อไปจะย่อว่า ฎ.) ๒๙๑/๒๕๔๒ บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้จะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีนั้นด้วย ก็เพื่อประสงค์ให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสรักษาสิทธิของตนเอง ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ เข้ามาในคดีนี้แทนการขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยที่ ๑ เข้ามาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗(๓) จึงถือได้ว่า มีการเรียกลูกหนี้เข้ามาคดีตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔ แล้ว

จากตัวอย่างข้างต้น การฟ้องจำเลยที่ ๑ เข้ามาในคดี ย่อมเป็นไปตามความมุ่งหมายของกฎหมายมาตรตรา ๒๓๔ แล้ว การตีความกฎหมายเพื่อปรับใช้ต้องพิจารณาว่า มาตรา ๒๓๔ บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ว่า ต้องขอหมายเรียก แต่เจ้าหนี้ (โจทก์) ไม่ขอหมายเรียก ซึ่งเหตุที่กฎหมายเขียนไว้เช่นนั้น เนื่องด้วยต้องการให้ลูกหนี้มีโอกาสเข้ามาคดีเพื่อให้การต่อสู่หรือปฏิเสธว่าตนเป็นหนี้หรือไม่อย่างไร ซึ่งการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ เลย แม้จะไม่ได้ทำตามมาตรา ๒๓๔ ก็ไม่ทำให้ความมุ่งหมายของกฎหมายมาตรา ๒๓๔ เสียเปล่าไปแต่อย่างใด เพราะถึงอย่างไรลูกหนี้ (จำเลยที่ ๑) ก็เข้ามาในคดีตามที่กฎหมายประสงค์แล้ว

ข้อสังเกต หลักการใช้กฎหมายนั้น กฎหมายไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นเฉพาะตัวอักษรหรือตัวหนังสือเป็นสำคัญเท่านั้น การใช้กฎหมายต้องสามารถทำให้ประยุกต์ใช้ได้ในทุกสถานการณ์โดยมินำข้อจำกัดทางลายลักษณ์อักษรมาเป็นอุปสรรค กฎหมายต้องถูกนำไปใช้ในทางที่เป็นไปได้และไม่สร้างอุปสรรคเพียงเพราะข้อจำกัดทางภาษาเขียน และต้องไม่ถูกนำไปปรับใช้เป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่เรียกว่าเทคนิคทางกฎหมาย แต่กระนั้นข้อพึงระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งต้องไม่ใช้ช่องทางของกฎหมายดังกล่าวไปในทางที่ให้คู่ความ/คู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียเปรียบ

ซึ่งจากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า หากศาลยึดติดกับตัวอักษรตามมาตร ๒๓๔ ที่ต้องให้เจ้าหนี้ขอหมายเรียก และพิพากษายกฟ้องโจทก์เนื่องจากไม่ทำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จะก่อให้เกิดทางเสียเปรียบกับโจทก์เป็นอย่างยิ่ง ในทางเดียวกัน การที่ศาลพิจารณาว่าการที่ฟ้องจำเลยที่ ๑ เข้ามา แทนการขอหมายเรียกก็ไม่ได้ทำให้จำเลยที่ ๑ (ลูกหนี้) เสียเปรียบแต่อย่างใด
ฎ. ๓๓๕๑/๒๕๓๕ คู่สมรสตามกฎหมายประกันสังคมให้มีความหมายถึง สามี ภรรยา ที่จดทะเบียนสมรสที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น
หรือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๒๗ บัญญัติว่า “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความแห่งประมวลกฎหมายนี้” บุตรนอกกฎหมาย หมายถึง บุตรที่เกิดจากบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย จึงเกิดประเด็นว่า บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรอง การรับรองนั้นอย่างไรจึงจะถือว่าเป็นการรับรอง เพราะการรับรองมีวิธีการรับรองได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น
๑. บิดาจดทะเบียนรับรองบุตรนอกกฎหมาย หรือ
๒. มีพฤติการณ์ที่แสดงออกว่าตนได้รับรอง เช่น การอุปการะเลี้ยงดู การแนะนำต่อสาธารณชน
ทั่วไปว่าเป็นบุตร การให้ใช้ชื่อสกุล เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อพิจารณาบทบัญญัติและเจตนาแล้วนั้น กรณีที่บิดารับรองบุตรหาใช่การรับรองที่ต้องมีพิธีการอะไรไม่ การับรองโดยทะเบียนคนเกิดและ/หรือโดยเปิดเผยอย่างพฤติการณ์ก็ย่อมสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว (ฏ.๑๖๐๑/๒๔๙๒)
ฎ. ๑๒๘๘/๒๕๐๘ เมื่อพระราชบัญญัติจราจรทางบกไม่มีบทวิเคราะห์ศัพท์คำว่า “แซง” ไว้แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ นั่น คำว่า “แซง” หมายถึงกริยาที่แทรกหรือเสียด ซึ่งหมายความว่า เบียดเข้าไป หรือเฉียดเข้าไป เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นพิเศษก็ต้องตีความตามความหมายธรรมดา
-----------------------
กิตติบดี

หลักกฎหมายเอกชน : การเรียกชื่อกฎหมาย

เอกสารประกอบการบรรยายรายวิชาหลักกฎหมายเอกชน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ : บรรพ ๑ หลักทั่วไป

ลักษณะ ๑ บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

ข้อความเบื้องต้น : การเรียกชื่อกฎหมาย

มาตรา ๑ บัญญัติว่า “กฎหมายนี้ให้เรียกว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์”

มาตรา ๑ เป็นเครื่องยืนยันอย่างดียิ่งว่า ประเทศไทยได้จัดร่างประมวลกฎหมายต่าง ๆ โดยยึดตามระบบประมวลกฎหมาย (Codified Law) (ผู้เขียน : สมัยรัชการที่ ๕ เรียกว่า “วิธีกฎหมายประมวญธรรม” คือการจัดกฎหมายเป็นมาตราเป็นลักษณะหมวดหมู่ คือระบบประมวลกฎหมายตามแถบประเภทภาคพื้นยุโรปนั้นเอง) ภายหลังได้รับอิทธิพลจากประเทศตะวันตก โดยมีการจัดทำร่างประมวลกฎหมายอาญาก่อน ในรัชกาลที่ ๕ (ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำพาประเทศไปสู่อารยประเทศ (Civilization State) ซึ่งถูกเรียกว่า “ประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗” เหตุผลที่จัดทำร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวก่อนกฎหมายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ พระธรรมนูญศาลยุติธรรมนั้น สืบเนื่องจาก กฎหมายอาญาถือเป็นประมวลกฎหมายที่ร่างได้ง่ายที่สุด และผู้ทำหน้าที่ใช้กฎหมาย ได้แก่ ศาลต่าง ๆ สามารถเข้าใจเนื้อหาของกฎหมายได้ง่าย (กิตติศักดิ์ ปรกติ. การปฏิรูประบบกฎหมายไทยภายใต้อิทธิพลยุโรป, หน้า ๑๖๖.)
สำหรับประมวลกฎหมายแพ่งและกฎหมายพาณิชย์นั้นได้ถูกจัดร่างทำขึ้นเป็นลำดับถัดจากกฎหมายอาญา โดยประเทศไทยได้รวมเนื้อหาของกฎหมายทั้งสองประเภทไว้ด้วยกัน (กฎหมายแพ่งและกฎหมายพาณิชย์) ไว้อยู่ในรูปประมวลกฎหมายฉบับเดียวกัน คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และในการยกร่างประมวลกฎหมายนี้ได้ยกร่างบรรพ ๑ และบรรพ ๒ เป็นภาษาอังกฤษก่อน แล้วจึงแปลเป็นภาษาไทย

บรรพ ๒ (หลักทั่วไป) และบรรพ ๒ (หนี้) ได้มีการประกาศใช้กฎหมาย ๒ ครั้ง กล่าวคือ ประกาศใช้ครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๖ และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ ๑๑ มกราคม ๒๔๖๗ ส่วนประกาศฉบับหลัง เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๗ โดยประกาศให้ใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๖๗ เป็นต้นมา ซึ่งภายหลังได้มีการปรับปรุงแก้ไขบรรพ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕

บรรพ ๓ (เอกเทศสัญญา) ประกาศใช้ ๒ ครั้ง กล่าวคือ ประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๖๗ และส่วนประกาศฉบับหลังเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๗๑ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๒

บรรพ ๔ (ทรัพย์สิน) ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๗๓ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ ๑ เมษายน ๒๔๗๕

บรรพ ๕ (ครอบครัว) ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๗๗ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๘ (แก้ไขเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙)

สำหรับบรรพ ๖ (มรดก) บรรพสุดท้ายของประมวลกฎหมายนั้น ได้มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๗๗ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๘ เป็นต้นไป

ทำให้เห็นพัฒนาการของกฎหมายว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นกฎหมายที่มิได้ร่างเสร็จสมบูรณ์ และประกาศใช้เป็นกฎหมายในคราวเดียว ซึ่งแรกเริ่มประกาศใช้ บรรพ ๑ และ บรรพ ๒ ก่อน ด้วยเหตุผล เพื่อการวางพื้นฐานของกฎหมายสมัยใหม่ในทางแพ่งและพาณิชย์ ให้มีรูปแบบและหรือเค้าโครง (Model of Law) เช่นเดียวกับประเทศทางตะวันตก และเห็นได้ประจักษ์ว่า ทางแพ่ง ได้แก่ บรรพ ๑ หลักทั่วไป ลักษณะ ๑ บทเบ็ดเสร็จทั่วไป ได้มุ่งสู่การวางรากฐานในเรื่องสถานภาพของบุคคล บทวิเคราะห์ศัพท์ ตลอดจน หลักทางกฎหมายที่สำคัญ ๆ เช่น หลักตีความเพื่อใช้กฎหมาย(Interpretation of Application Law) มาตรา ๔ ได้บัญญัติ “กฎหมายนั้น ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ” หรือ หลักสุจริต (Good Faith) มาตรา ๕ ได้บัญญัติว่า “ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต” หรือ หลักแห่งเหตุสุดวิสัย (Act of God) มาตรา ๘ ได้บัญญัติว่า “คำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น ” เป็นต้น หลักตีความเอกสาร (Interpretation of Document) มาตรา ๑๐ ได้บัญญัติว่า “เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในเอกสารอาจตีความได้สองนัย นัยไหนจะทำให้เป็นผลบังคับได้ ให้ถือเอาตามนัยนั้นดีกว่าที่จะถือเอานัยที่ไร้ผล”

หรือ ลักษณะ ๒ ว่าด้วยบุคคล ได้วางรากฐานในเรื่อง สภาพบุคคลความสามารถของบุคคล ภูมิลำเนาของบุคคล และการสิ้นสภาพบุคคล เป็นต้น

หรือ ลักษณะ ๓ ว่าด้วยบุคคล ได้วางรากฐานเกี่ยวกับทรัพย์ หรือ ทรัพย์สินประเภทของทรัพย์ เป็นต้น

หรือ ลักษณะ ๔ ว่าด้วยนิติกรรม ได้วางรากฐานเกี่ยวกับการใช้สิทธิของบุคคลในการทำนิติกรรม การแสดงเจตนา ผลแห่งการทำนิติกรรม เงื่อนไขเงื่อนเวลา หรือระยะเวลา เป็นต้น
------------------
กิตติบดี

ถาม-ตอบ เนื่องในการประชุมนักศึกษาประจำภาคปลาย ปีการศึกษา ๒๕๕๒

นักศึกษามีข้อสงสัย สืบเนื่องจากการประชุมนักศึกษาสามารถฝากคำถามไว้ได้ครับ

เรียน ท่านคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

กระผมเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2
วันนี้ (27 ต.ค.52) กระผมได้เข้าฟังการประชุมของอาจารย์ ณ ห้องบรรยาย 1 ในเวลา 13.30 น. และมีเรื่องอยากจะเรียนถาม
กระผมได้เรียนวิชาละเมิดกับอาจารย์ในภาคเรียนที่ 1/2552
และได้ติด F ในรายวิชาของอาจารย์ กระผมอยากทราบว่า เกรด F นั้น
จะปรากฎลงในทรานสคริป (ใบจบการศึกษา)หรืิืิอไม่ บิดาของข้าพเจ้าและตัวของข้าพเจ้าเองรู้สึกกังวลเป็นอยากมาก เพราะ F นี้เป็น วิชาแรก กระผมเข้าเรียนวิชาละเมิด ทุกครั้ง มิเคยขาด แต่ในห้องสอบ ยอมรับเลยว่า ประมาทข้อแรก (35 คะแนน) ทำให้ผลสอบออกมาไม่เป็นดังหวัง
แต่การที่ผลสอบออกมาเป็นเช่นนั้น ทำให้ข้าพเจ้ารู้จุดบกพร่อง ของตนเอง ว่าควรปรับปรุงและแก้ไขอย่างไรบ้าง แต่การที่ได้ เกรด F นั้น ถ้าปรากฎในใบทรานสคริป กระผมเกรงว่า จะมีปัญหาในการศึกษาต่อ
(ข้าพเจ้าจะไปศึกษาต่อ ป.โท)

จึงอยากเรียนถามอาจารย์ว่า
- ถ้าข้าพเจ้าติด F จะปรากฎในใบทรานสคริปหรือไม่
- และถ้าแก้ F (ลงเรียนใหม่) เกรดจะหารสอง ข้าพเจ้าทราบดี
แล้ว เกรดเดิม F จะยังคงอยู่หรือไม่
และถ้าไม่มีจะปรากฎสัญลักษณ์ใด W หรือไม่
จึงเรียนมาเพื่อทราบ และอยากให้อาจารย์ตอบกลับมาตามอัเมลล์ที่ให้ไว้
จะเป็นพระคุณยิ่งครับ
Coppy_fier@hotmail.com

นักศึกษา ชั้นปีที่ 2
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น


กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...