วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สิทธิมนุษยชน : ความหมายของนิติรัฐ

หลักนิติรัฐ

คำว่า หลักนิติรัฐ (Rule of Law Principle) ได้มีผู้ให้คำอธิบายไว้หลายท่าน ยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

หยุด แสงอุทัย ได้อธิบายคำว่า นิติรัฐ (The Rule of Law) ว่านิติรัฐเป็นรัฐที่ยอมตนอยู่ใต้บังคับแห่งกฎหมาย ซึ่งรัฐเป็นผู้ตราขึ้นเอง[1] และในประการที่สำคัญในกฎหมายรัฐธรรมนูญของรัฐที่เป็นนิติรัฐจะต้องมีบทบัญญัติในประการที่สำคัญถึงเสรีภาพของราษฎร เช่น เสรีภาพในร่างกายในทรัพย์สิน ในการทำสัญญา และในการประกอบอาชีพ[2] การที่รัฐจะจำกัดสิทธิและเสรีภาพของราษฎรได้ก็ต้องด้วยความยินยอมของราษฎรให้จำกัดสิทธิและเสรีภาพเองตามกลไกแห่งนิติบัญญัติของประเทศนั้น

ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้อธิบายว่า The Rule of Law หมายถึงหลักการแห่งกฎหมายที่เทอดทูนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และยอมรับนับถือสิทธิแห่งมนุษยชนทุกแง่ทุกมุม รัฐจักต้องให้ความอารักขาคุ้มครองให้พ้นจากลัทธิทรราชย์ หากมีข้อพิพาทใด ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าระหว่างรัฐกับเอกชน หรือเอกชนกับเอกชน ศาลสถิตยุติธรรมย่อมมีอำนาจอิสระในการตัดสินคดีตามกฎหมายบ้านเมือง

Maunz นักกฎหมายชาวเยอรมันได้ให้คำอธิบายไว้ว่า[3] นิติรัฐจะต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
(1) การแบ่งแยกอำนาจ
(2) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
(3) ความชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายปกครองและฝ่ายตุลาการ
(4) ความชอบด้วยกฎหมายในทางเนื้อหา
(5) ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา
(6) หลักไม่มีความผิดและไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย

ประสิทธิ์ โฆวิไลกุล ได้สรุปว่า คำว่า The Rule of Law ได้อุบัติขึ้นในประเทศเยอรมันและจำเริญขึ้นเป็นลำดับมา ในประเทศอังกฤษตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 และถือเป็นกฎหมายประเพณีของอังกฤษปฏิบัติสืบเนื่องกันมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 และที่ 17 และในหลัก The Rule of Law (หลักนิติธรรม) จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังต่อไปนี้[4]
(1) การยึดหลักความเป็นอิสระของตุลาการ
(2) ประชาชนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันอย่างเสมอภาค และได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายอย่างทัดเทียมกัน
(3) เจตนารมณ์ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
(4) การปกครองโดยยึดกฎหมายเป็นใหญ่ และปฏิบัติตามกฎหมายในฐานะที่เป็นนิติรัฐ กฎหมายนั้นจะต้องเป็นกฎหมายที่ยุติธรรม
(5) ศาลเป็นสถาบันที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน
(6) ฝ่ายบริหารต้องบริหารภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย และต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย
(7) ส่งเสริมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างบริสุทธิ์และยุติธรรม ปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายบริหารหรือกลุ่มอิทธิพลเพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แท้จริงของประชาชน
(8) ส่งเสริมและสนับสนุนความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย
(9) ส่งเสริมและคุ้มครองหลักแห่งการเคารพศักดิ์ศรีของมวลมนุษย์
(10) ส่งเสริมและพัฒนากฎหมายเพื่อสร้างความสงบสุขให้แก่ประชาชนและสังคมส่วนรวม
(11) ไม่มีบุคคลใดอยู่เหนือกฎหมาย

วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ได้กล่าวถึงความหมายของคำว่า หลักนิติรัฐ (Rechtsstaatsprincip) หรือ หลักนิติธรรม (The Rule of Law) ไว้ว่าเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของราษฎรจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจขององค์กรฝ่ายบริหาร อันได้แก่ รัฐบาล หน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล[5]

Carre De Malberg นักกฎหมายมหาชนชาวฝรั่งเศส[6] ได้ให้คำอธิบายถึงนิติรัฐไว้ว่านิติรัฐเป็นรัฐที่ในทางความสัมพันธ์กับประชาชนและเพื่อการให้หลักประกันแก่สถานะของบุคคลแล้วอยู่ภายใต้ระบอบแห่งกฎหมายซึ่งจะผูกการกระทำของรัฐไว้ด้วยกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งกฎเกณฑ์เหล่านี้ส่วนหนึ่งจะกำหนดสิทธิของประชาชน แต่อีกส่วนหนึ่งจะกำหนดไว้ล่วงหน้าถึงหนทางและวิธีการที่จะถูกนำมาใช้เพื่อบรรลุจุดประสงค์ในการดำเนินการปกครองของรัฐ กฎเกณฑ์สองชนิดนี้มีจุดมุ่งหมายร่วมกันเพื่อจำกัดอำนาจของรัฐโดยทำให้รัฐอยู่ภายใต้ระเบียบแห่งกฎหมายที่กฎเกณฑ์ทั้งสองชนิดดังกล่าวสร้างขึ้น ด้วยเหตุนี้ลักษณะเฉพาะของ นิติรัฐ ที่ชัดเจนอันหนึ่ง ก็คือ ในการปฏิบัติต่อผู้ใต้ปกครอง ฝ่ายปกครองจะสามารถใช้วิธีการต่าง ๆ ได้ก็แต่เฉพาะที่ระเบียบแห่งกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้นให้อำนาจไว้

สรุปได้ว่า หลักนิติรัฐ หมายถึง รัฐที่ใช้อำนาจปกครองโดยกฎหมาย และต้องมีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่ออกโดยอาศัยอำนาจกฎหมาย รับรองสิทธิและเสรีภาพขั้นมูลฐานของประชาชน และหากมีความจำเป็นที่จะต้อง ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ต้องมีกฎหมายกำหนดขึ้นและใช้บังคับเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน และหากมีการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนโดยรัฐ ประชาชนสามารถใช้นิติวิธีที่กฎหมายรับรองไว้เข้าเยียวยาได้
keyword : นิติรัฐ / รัฐใช้อำนาจโดยกฎหมาย / กฎหมายที่อยู่บนพื้นฐานของระบบคุณธรรม / การลิดรอนสิทธิของพลเมืองต้องเป็นไปเพื่อสาธารณชน (สิทธิมนุษย์มีความสำคัญ แต่การเคารพต่อสิทธิมนุษยชนของผู้อื่นสำคัญกว่า) ดังนั้น เราจึงเรียกนิติรัฐ อีกชื่อหนึ่งว่า "นิติธรรม" หรือ "นิติคุณธรรม"
อ้างอิง แหล่งข้อมูลจาก-----------
[1] หยุด แสงอุทัย, หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2538), หน้า 123.
[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า 123.
[3] บรรเจิด สิงคะเนติ, เรื่องเดิม, หน้า 23 – 34.
[4]ประสิทธิ์ โฆวิไลกุล, เหลียวหลังดู กฎหมาย และความยุติธรรม(กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2540), หน้า 14 ; 30-31.
[5]วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ , เรื่องเดิม, หน้า 11.
[6]ชาญชัย แสวงศักดิ์, กฎหมายปกครอง (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2538), หน้า 41-42.
----------------------------
กิตติบดี

สิทธิมนุษยชน : รวบรวมความหมายของการเลือกปฏิบัติ

รวบรวมคำอธิบายความหมายของการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
ความหมายของ คำว่า การเลือกปฏิบัติ

การเลือกปฏิบัติ หรือ Discrimination สามารถอธิบายได้จากบทนิยามศัพท์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ให้ความหมายไว้ว่า การปฏิบัติที่แตกต่างกัน การกีดกัน การหน่วงเหนี่ยว หรือการลำเอียงซึ่งมีพื้นฐานมาจากเรื่องเพศ ผิว เชื้อชาติ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง หรือความคิดเห็นอื่น ๆ สัญชาติ หรือที่มาในสังคม ความยากดีมีจน สถานะของแหล่งกำเนิด หรือสถานะอื่น ๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หรือมีผลกระทบหรือทำให้สูญเปล่าหรือทำให้การยอมรับต้องเสื่อมเสียไป การเสวยสิทธิหรือการใช้สิทธิโดยบุคคลทุกคนบนจุดยืนที่เสมอภาคกันซึ่งสิทธิและเสรีภาพทั้งมวล[1]

อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในเรื่องเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า การแบ่งแยก การกีดกัน การหน่วงเหนี่ยวหรือการลำเอียงโดยมีที่มาจากเชื้อชาติ ผิว การสืบสายโลหิต หรือ สัญชาติ หรือ ชาติพันธุ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หรือมีผลทำให้เกิดการเป็นโมฆะหรือทำให้เสื่อมทรามลงซึ่งการยอมรับนับถือการเสวยสิทธิหรือการใช้สิทธิตรงจุดยืนที่เท่าเทียมซึ่งสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นมูลฐานในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หรือ การใช้ชีวิตในสังคมที่คล้ายคลึงกัน[2]

อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ได้ให้คำอธิบายถึงคำว่าการเลือกปฏิบัติต่อสตรี ไว้ว่า หมายถึง การแบ่งแยก การกีดกัน หรือ การกำกัดใด ๆ เพราะเหตุแห่งเพศ ซึ่งมีผลหรือความมุ่งประสงค์ที่จะทำลายหรือทำให้เสื่อมเสียการยอมรับ การได้อุปโภค หรือ ใช้สิทธิโดยสตรี โดยไม่เลือกสถานภาพด้านการสมรส บนพื้นฐานของความเสมอภาคของบุรุษและสตรีของสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม พลเมืองหรือ ด้านอื่น ๆ[3]

Black’s law Dictionary ได้ให้ความหมายกล่าวโดยสรุปของคำว่า การเลือกปฏิบัติ หมายความว่า การปฏิบัติใด ๆ ต่อบุคคลหรือกลุ่มคนโดยไม่เท่าเทียมกันและไร้เหตุผล หรือ การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือปฏิเสธที่จะปฏิบัติเนื่องจาก เชื้อชาติ อายุ สัญชาติ หรือศาสนา หรือ การปฏิบัติที่แตกต่างเนื่องความชอบหรือไม่ชอบที่ปราศจากเหตุผลที่สามารถรับฟังได้ [4]

คำว่า“การเลือกปฏิบัติ หมายความว่า การกีดกันหรือการให้สิทธิพิเศษ อันเนื่องจากความแตกต่าง ๆ เชื้อชาติ เพศ ศาสนา ความเห็นทางการเมือง การแบ่งแยกเชื้อชาติหรือสังคมอันนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อความเสมอภาคในโอกาส[5]

คำว่า “Discrimination” หมายถึง การกีดกัน เลือกปฏิบัติต่อคนบางกลุ่มในทางที่ให้สิทธิน้อยกว่าคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทางเผ่าพันธุ์ ภาษา หรือ ศาสนา การกีดกันเป็นเรื่องที่ถือปฏิบัติในสังคมต่าง ๆ มาช้านาน ในศตวรรษที่ 20 ภายหลังการเลือกปฏิบัติต่อพวกยิวอย่างหฤโหดของพวกนาซีเยอรมัน ประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายได้ใช้ความพยายามที่จะขจัดปัญหานี้ โดยกระบวนการปฏิรูปทางกฎหมายและศาล[6]
กฎหมายแห่งรัฐนิว เซาท์ เวลล์ (New South Wales) ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า การเลือกปฏิบัติ ไว้ดังนี้ การเลือกปฏิบัติหมายความว่าการกระทำต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดอย่างไม่เป็นธรรมเพราะเหตุที่บุคคลนั้นมีลักษณะที่ต่างกับบุคคลทั่วไป[7]
การตีความกฎหมายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐ New Brunswick ประเทศแคนนาดาได้ให้คำนิยามความหมายว่าการกระทำใด ๆ ไม่ว่าด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ซึ่งมีผลทำให้บุคคลหรือกลุ่มคนใดต้องถูกจำกัดโอกาสที่บุคคลพึงจะได้รับ เนื่องมาจากเหตุลักษณะเฉพาะของบุคคลนั้น อาทิ เรื่องเชื้อชาติ หรือ เรื่องสีผิว การเลือกปฏิบัติที่เป็นความผิดต่อกฎหมายของแคนนาดาแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ 1. การเลือกปฏิบัติโดยตรง 2. การเลือกปฏิบัติโดยอ้อม ซึ่งรูปแบบการเลือกปฏิบัติบ่อยครั้งมักจะเป็นผลมาจาก การตั้งข้อรังเกียจ การมีอคติ การมีทัศนคติในแง่ลบและการกระทำที่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัตินั้นจะต้องไม่มีเหตุผลประกอบถึงการเลือกปฏิบัติที่เหมาะสมและเพียงพอ[8]

สรุปได้ว่า การเลือกปฏิบัติ หมายถึง การกระทำหรืองดเว้นกระทำการ ใด ๆ ที่มีลักษณะของการกีดกัน การแบ่งแยก การหน่วงเหนี่ยว หรือการจำกัดซึ่งสิทธิแก่บุคคลใด อันมีผลทำให้บุคคลนั้นไม่ได้รับโอกาสแห่งความเท่าเทียมกันอย่างที่บุคคลนั้นพึงจะได้รับ และในการตีความความหมายของการคำว่า การเลือกปฏิบัติ ตามปฏิญญาสากลฯ ควรจักต้องตีความตามความมุ่งหมายที่ต้องการให้มีการเคารพต่อมนุษย์อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน
ดังนั้น การเลือกปฏิบัติ ควรมีความหมายว่าที่ครอบคลุมในประเด็นการปฏิบัติที่แตกต่างกัน การกีดกัน การหน่วงเหนี่ยว หรือการลำเอียงและมีอคติ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากเรื่อง เพศ ผิว เชื้อชาติ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง หรือความคิดเห็นอื่น ๆ สัญชาติ หรือ ที่มาในสังคม ความยากดีมีจน สถานะของแหล่งกำเนิด หรือ สถานะอื่น ๆ ซึ่งการกระทำดังกล่าว มีผลกระทบต่อหรือสร้างความเสื่อมเสียหลักแห่งความเสมอภาคของบุคคล
ที่สำคัญจะเห็นได้ว่า ความหมายของคำว่า การเลือกปฏิบัติ (Discrimination) มิได้เป็นคำที่มีความหมายที่ไม่ดีในคำของมันเองเสียทีเดียวคำว่าการเลือกปฏิบัติมักจะมีความหมายอยู่ 2 มิติในตัวของมันเอง ในประการหนึ่ง มนุษย์ทุกคนต่างมีเจตจำนงค์เสรี (Freewill) ที่จะกระทำอะไรก็ได้ที่ตนอยากกระทำภายใต้กฎหมาย หรือ สามารถเลือกที่จะกระทำได้ถ้ามีเหตุผลที่เหมาะสม เช่น การเลือกปฏิบัติต่อคนตาบอดไม่ให้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ หรือ การเรียกเก็บภาษีตามฐานรายได้ที่แตดต่าง เป็นต้น เพราะในการเลือกปฏิบัติในแต่ละกรณีดังกล่าวมันมีคำตอบในตัวของมันเองว่าเพราะอะไรถึงได้เลือกที่จะกระทำต่อบุคคลเหล่านั้น กรณีเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นมิติด้านบวก (Positive Dimension)
ในทางตรงกันข้าม ความหมายของคำว่าการเลือกปฏิบัติ ที่เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ และไม่ควรให้เกิดมีขึ้นในสังคม คือ การเลือกปฏิบัติอย่างไร้เหตุผล หรือ เหตุผลที่ตัดสินใจเลือกปฏิบัติไม่ได้เกี่ยวข้องในสาระสำคัญเลย ซึ่งการเลือกปฏิบัติดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม Unjustifiable Discrimination ซึ่งในแง่นี้ก็คือมิติด้านลบ (Negative Dimension) ของคำว่าการเลือกปฏิบัตินั่นเอง

อ้างอิง แหล่งที่มาจาก---------------------
[1]กุลพล พลวัน, สิทธิมนุษยชนในสังคมไทย (กรุงเทพมหานคร: เค ซี กรุ๊ป, 2543), หน้า 381-382.
[2]อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในเรื่องเชื้อชาติทุกรูปแบบ ข้อบทที่ 1.
[3]อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ ข้อบทที่ 1.
[4]Henry Campbell Black, Black’s law Dictionary (Boston: West Publishing, 1979), p. 420.
[5]ชุลีรัตน์ ทองทิพย์, “สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของคนงานตามาตรฐานสากล.” วารสารแรงงานสัมพันธ์ 39, 3 (ธันวาคม 2541): 25-26.
[6]วิทยากร เชียงกูล, อธิบายศัพท์การเมืองการปกครองสมัยใหม่
(กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สายธาร, 2543), หน้า 69.
[7]Anti-discrimination Board. Unlawful discrimination in New South Wales [Online]. Available URL: http://www.lawlink.nsw.gov.au.
[8]The New Brunswick Human Rights Commission. Equality Rights Definitions . [Online] (April 3,2000): http:// www.gov.nb.ca/hrc-cdp/e/el defini.htm.

หลักการ

มาตรา ๓๐ (รธน. พ.ศ. ๒๕๕๐) ใช้คำว่า การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม จะกระทำมิได้

---------------------------------
กิตติบดี

สิทธิมนุษยชน : แบบทดสอบ (๓)

งานกิจกรรม : สิทธิขั้นพื้นฐาน

โปรดลำดับคุณค่าของบุคคลต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ และอธิบายเหตุผลให้ทราบพอเป็นสังเขป

๑. พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี(ว.วชิรเมธี) แห่งวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ซึ่งมีผลงานเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือ ธรรมะติดปีก, ธรรมะดับร้อน, ธรรมะบันดาล, ธรรมะรับอรุณ เป็นต้น
๒. ฯพณฯ สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี
๓. พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ
๔. นายซ่าส์ อายุประมาณ ๒๐ ปี เป็นเด็กแว้น หรือ เด็กแซป ชอบขับรถมอเตอร์ไซค์ไปเป็นกลุ่มในเวลากลางคืน และไว้ทรงผมแบบทรงปั๊ป โปเตโต้
๕. นายวัน อยู่บำรง บุตรชายของมท.๑ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
๖. นางสาวปูเป้ เด็ก RCA ขายบริการทางเพศ ปัจจุบันรักษาตัวอยู่ที่วัดพระบาทน้ำพุ
๗. นายหม่องตัน แรงงานอพยพชาวพม่า ลักลอบเข้าเมืองมาทำงานอยู่โรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร
๘. นายธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ (เคน) รับบทเป็นคาวี วรรัตน์ ในละครเรื่อง สวรรค์เบี่ยง
๙. นายแพทย์วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ นักโทษประหารชีวิตในคดีฆ่าหั่นศพภรรยาของตนเอง
๑๐. Mr. Dean นักธุรกิจซึ่งนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยกว่า ๙๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ

หลักการ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐

มาตรา ๔ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง

มาตรา ๓๐ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย.....

---ทราบหลักการข้างต้นแล้ว คงลำดับคุณค่าของคนไม่ยากใช่ไหม---

กิตติบดี
โรงเรียนสอนกฎหมายภายใต้บริบทของสังคมไทย

หากจะกล่าวถึงสัญลักษณ์ในแวดวงกฎหมายหรือคนในกระบวนการยุติธรรมคงหนีไม่พ้นรูปตราชู หรือเทพีถือตราชู เพื่อจะสื่อสะท้อนถึงความเที่ยงธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย แต่เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบัน มโนคติที่สังคมมีต่อนักนิติศาสตร์ดู ราวจะถอยห่างจากอุดมคติเช่นว่านั้นออกไปทุกที ไม่ว่าการวิพากษ์เรื่องนิติบริกร (รับใช้ฝ่ายการเมือง) วิกฤติกระบวนการยุติธรรม หรือ ตุลาการภิวัฒน์ เป็นต้น ทำให้ชวนให้นึกถึงบทกวีที่ว่า

“ตราชูนี้ดูเที่ยง บ่มิเอียงจริงไหมฤา
ขวาซ้ายเท่ากันหรือ ฤ จะหย่อนอยู่ข้างไหน
เพ่งดูตราชูตั้ง ข้าฯนี้ยังไม่แน่ใจ
ที่เที่ยงนั้นเพียงใด ที่ว่าใช่แค่ไหนกัน”

นักนิติศาสตร์ มักถูกล้อเลียนด้วยรูปตราชั่งที่เอียง โดยมีทรัพย์สินเงินทองหรือกระบอกปืน (อำนาจ/อิทธิพล) เป็นตัวกำหนดมาตรฐานแห่งความเที่ยงธรรม ซึ่งเฉไฉออกจากหลักความยุติธรรม โดยตราชูจักเที่ยงตรงแม่นยำได้ ก็ต่อเมื่อนักกฎหมายตั้งมั่นอยู่บนสัจจะปราศจากอคติ (ผ้าคาดตา) และใช้กฎหมายอย่างมีคุณธรรม (เท้ายืนมั่นบนตำรา (หลักการ))

มีคุณธรรม บทหนึ่งที่มาจากหลักสุภาษิตภาษาลาตินว่า“Jus est ars boni et aequi”หมายความว่า กฎหมายคือศาสตร์ว่าด้วยคุณความดีและความยุติธรรม ให้นักกฎหมายทั้งหลายพึงต้องตระหนักเสมอว่า เราต้องไม่เลือกยืนอยู่ข้างกับความชั่วร้าย ถึงแม้บางยุคสมัยคนชั่ว หรือความ อยุติธรรมจะแผ่ขยายอิทธิพลครอบคลุมไปทั่วสังคม ให้ผู้คนแลเห็นเป็นดอกบัวก็ตาม นั่นอาจไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะบางเวลา (ยุคสมัย) กฎหมายอาจจะหลับได้ แต่พึงระลึกไว้เสมอว่า กฎหมายไม่เคยตาย “Dormiunt aliquando leges, nunquam moriuntur” อย่างแรกสุดนักกฎหมายต้องรักษาจุดยืนแห่งวิชาชีพและยึดมั่นต่อคุณธรรมให้ได้อย่างเคร่งครัดโดยปราศจากการต่อรองหรือสมานฉันท์แต่ประการใด

สังคมใดที่กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ มักพบว่าที่นั่นประชาชนจะมีความมั่นคงปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดี เหตุที่เป็นเช่นนั้นคงมิใช่ลำพังแต่ระบบกฎหมายดี หรือมีนักกฎหมายเก่งเท่านั้น ประการสำคัญที่สุด มโนสำนึกของนักกฎหมายต้องมีความเกรงใจต่อประชาชน และเคารพต่อจิตวิญญาณของชาติและบรรพบุรุษ ซึ่งนักกฎหมายส่วนใหญ่ได้ให้ความเคารพต่อหลักการและจรรยาบรรณวิชาชีพดังกล่าว โดยไม่ตะแบงเปลี่ยนหลักการให้เป็นหลักกู หรือตีความกฎหมายบิดผันจากความจริง เพราะบริบทสังคมที่เจริญนั้น ถือว่ากฎหมายหรือระบบกฎหมายเป็นเครื่องมือที่ทำให้สังคมมีความสงบสุขและเป็นธรรม ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย หรือการยึดมั่นต่อหลักการเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น หลักกฎหมายที่ว่า ถ้าไม่มีกฎหมายเอาผิด จะไม่มีการลงโทษ ถึงแม้ต่อมาจะมีการบัญญัติกฎหมายเอาผิด ก็มิอาจลงย้อนหลังได้ เพราะไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกลงโทษ ตามหลัก nullum crimen, nulla poena sine lege เป็นต้น แต่ทว่าสังคมใดที่มีนักกฎหมายอวดเก่ง หยิ่งผยองได้ปรับสถานะเป็นเจ้าคนนายคนโดยลืมปณิธานว่า ชีวิตข้าฯคือ การรับใช้ (my life is service) เสียแล้ว สังคมนั่นกฎหมายจะถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแสวงหาประโยชน์/ความชอบธรรมให้แก่ตนเอง และบริวาร พวกพ้อง โดยนักกฎหมายเหล่านั้นปราศจากสำนึกและไม่ให้เกียรติแก่ประชาชน

จะพัฒนา หรือปฏิรูประบบกฎหมายอย่างไร ? เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกเสมอในวงการนิติศาสตร์ของประเทศไทย ผู้เขียนยังจำได้ว่า ตั้งแต่เรียนกฎหมายอยู่ชั้นปีหนึ่งปีสอง ครูบาอาจารย์ก็พูดว่ากฎหมายบ้านเราต้อง ปรับ รื้อ เปลี่ยน สร้าง หรือปฏิรูปเสียใหม่ เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันผ่านมามากกว่าทศวรรษ บทสรุปยังคงอยู่ที่เดิมไม่เปลี่ยนแปลง จะอย่างไรก็สุดแท้แต่ เมื่อไล่สายหาผู้รับผิดชอบกฎหมายหรือนักกฎหมายมักตกเป็นจำเลยของสังคม (ผู้เขียนไม่เถียง) เมื่อเจาะลงไปทีละลำดับว่าเป็นที่ (๑) กฎหมายไม่ดี/ไม่มีประสิทธิภาพ (ล้าหลัง/ไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม) หรือ (๒) นักกฎหมายไม่ดี (การบังคับใช้/การร่างกฎหมาย/การตีความ) เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่า กฎหมายบ้านเรามีพัฒนาการแทบไม่แตกต่างกับประเทศที่เจริญในยุคโลกไร้พรมแดน และบุคลากรในวงการกฎหมายของเรามียอดฝีมือ ชั้นเทพมากมายจากหลายสำนักกฎหมายชั้นนำของโลก แต่บทสรุปที่ยุติตรงกันว่า เรามีนักกฎหมายที่มุ่งรับใช้ระบบมากกว่ายึดมั่นในอุดมการณ์

นั่นเป็นความท้าทาย ของ “สถาบันการศึกษา” ซึ่งทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตทางกฎหมาย ที่มิอาจปฏิเสธต่อความรับผิดชอบ ในการหามาตรการต่าง ๆ เพื่อขัดเกลาและหล่อหลอม “คน” ซึ่งเป็นอนาคตนักกฎหมายของชาติ ให้เป็นทั้ง “คนเก่ง”ควบคู่กับ “คนดี” ท่ามกลางกระแสของเยาวชน ที่หันมาเลือกเรียนนิติศาสตร์มากเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งนี้ เนื่องจากมีรายได้สูง (เหตุผลทางธุรกิจ) มากกว่าความยุติธรรม (เหตุผลทางอุดมการณ์)

โรงเรียนสอนกฎหมาย ของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จำเป็นต้องเร่งสร้างนักกฎหมายพันธุ์ใหม่ สายพันธุ์ที่มีหัวใจโน้มเข้าหาระบบคุณธรรมและเคารพต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชน โดยวางกุศโลบายให้นักศึกษามีโอกาสได้เรียนรู้ถึงปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจริง ได้มีโอกาสรับรู้ถึงปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ได้เห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ยังมีอยู่มาก และที่สำคัญต้องทำให้พวกเขารู้ว่า พวกเขาจักเป็นความหวังของประเทศที่จะนำไปสู่สังคมแห่งนิติรัฐ (สังคมที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายและนักนิติศาสตร์)

และจักเต้องป็นนักกฎหมายสายพันธุ์ใหม่ที่มีหัวใจเป็นนักยุติธรรม
กิตติบดี

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

คำปรารภ


โดยที่การยอมรับนับถือเกียรติ์ศักดิ์ประจำตัว และสิทธิเท่าเทียมกันและโอนมิได้ของบรรดาสมาชิกทั้งหลายแห่งครอบครัวมนุษย์เป็นหลักมูลเหตุ แห่งอิสรภาพ และความยุติธรรม และสันติภาพในโลก
โดยไม่นำพาและเหยียดหยามต่อมนุษยชน ยังผลให้มีการกระทำอย่างป่าเถื่อน ซึ่งเป็นการละเมิดมโนธรรมของมนุษยชาติอย่างร้ายแรง และได้มีการประกาศว่า ปฏิญญาสูงสุดของสามัญชนได้แก่ความต้องการให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ในโลกด้วยอิสรภาพ ในการพูดและความเชื่อถือและอิสรภาพพ้นจากความหวาดกลัวและความต้องการ

โดยที่เป็นความจำเป็นอย่างที่สิทธิมนุษยชนควรได้รับความคุ้มครองโดยหลักบังคับของกฎหมาย ถ้าไม่ประสงค์จะให้คนตกอยู่ในบังคับให้หันเข้าหาขบถขัดขืนต่อทรราชและการกดขี่เป็นวิถีทางสุดท้าย

โดยที่เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมวิวัฒนาการแห่ง สัมพันธ์ไมตรีระหว่างนานาชาติ

โดยที่ประชาชนแห่งสหประชาชาติได้ยืนยันไว้ในกฎบัตรถึงความเชื่อมั่นในสิทธิมนุษยชนอันเป็นหลักมูล ในเกียรติศักดิ์และคุณค่าของมนุษย์และสิทธิในความเท่าเทียมกันของบรรดาชายและหญิง และได้ตกลงใจที่จะส่งเสริมความก้าวหน้าทางสังคมและมาตรฐานแห่งชีวิตที่ดีขึ้นด้วยในอิสรภาพ อันกว้างขวางยิ่งขึ้น

โดยที่รัฐสมาชิกต่างปฏิญาณจะให้บรรลุถึงซึ่งการส่งเสริมการเคารพและปฏิบัติตามทั่วสากลต่อสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพหลักมูล โดยร่วมมือกับสหประชาชาติ
โดยที่ความเข้าใจร่วมกันในสิทธิ และอิสรภาพเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพื่อให้ปฏิญญานี้สำเร็จผลเต็มบริบูรณ์

ฉะนั้น บัดนี้ สมัชชาจึงประกาศว่า
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้ เป็นมาตรฐานร่วมกันแห่งความสำเร็จสำหรับบรรดาประชาการและประชาติทั้งหลาย เพื่อจุดหมายปลายทางที่ว่า เอกชนทุกคนและองค์การสังคมทุกองค์การ โดยการรำลึกถึงปฏิญญานี้เป็นเนื่องนิจ จะบากบั่นพยายามด้วยการสอนและศึกษา ในอันที่ส่งเสริมการเคารพสิทธิและอิสรภาพเหล่านี้ และด้วยมาตรการอันก้าวหน้าทั้งในและระหว่างประเทศ ในอันที่จะส่งเสริมการเคารพสิทธิและอิสรภาพเหล่านี้ และด้วยมาตรการอันก้าวหน้าทั้งในและระหว่างประเทศ ในอันที่จะให้มีการยอมรับนับถือ และการปฏิบัติตามโดยสากลและอย่างเป็นผลจริงจัง ทั้งในบรรดาประชาชนของรัฐสมาชิกด้วยกันเอง และในบรรดาประชาชนของดินแดนที่อยู่ใต้อำนาจของรัฐนั้น ๆ

ข้อ 1 มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในเกียรติศักดิ์และสิทธิ ต่างมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยเจตนารมณ์แห่งภารดรภาพ

ข้อ 2 (1) ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพบรรดาที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากความแตกต่างไม่ว่าชนิดใด ๆ ดังเช่น เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา การคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น เผ่าพันธุ์แห่งชาติ หรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่น ๆ
(2) อนึ่งจะไม่มีความแตกต่างใด ๆ ตามมูลฐานแห่งสถานะทางการเมือง ทางการศาล หรือทางการระหว่างประเทศของประเทศหรือดินแดนของบุคคลสังกัด ไม่ว่าดินแดนนี้เป็นเอกราช อยู่ในความพิทักษ์ไม่ได้ปกครองตนเอง หรืออยู่ภายใต้การจำกัดอธิปไตยใด ๆ ทั้งสิ้น

ข้อ 3 คนทุกคนมีสิทธิในการดำรงชีวิตเสรีภาพ และความมั่นคงแห่งตัวตน

ข้อ 4 บุคคลใด ๆ จะถูกยึดเป็นทาษ หรือต้องภาระความจำยอมไม่ได้ ความเป็นทาษ และการค้าทาษ เป็นห้ามขาดทุกรูป

ข้อ 5 บุคคลใด ๆ จะถูกทรมาร หรือได้รับผลปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้ายผิดมนุษยธรรมหรือต่ำช้าไม่ได้

ข้อ 6 ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับนับถือว่า เป็นบุคคลตามกฎหมายทุกแห่งทุกหน

ข้อ 7 ทุกคนเสมอกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันจากการเลือกปฏิบัติใดๆอันเป็นการล่วงละเมิดปฏิญญา และจากการยุยงให้เลือกปฏิบัติดังกล่าว

ข้อ 8 ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับบำบัดอันเป็นผลจริงจังจากศาลที่มีอำนาจแห่งชาติต่อการกระทำอันละเมิดสิทธิหลักมูล ซึ่งตนได้รับตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย

ข้อ 9 บุคคลใดจะถูกจับกุม กักขัง หรือเนรเทศไปต่างถิ่นโดยพลการไม่ได้

ข้อ 10 ทุกคนมีสิทธิโดยเสมอภาคเต็มที่ในอันที่จะได้รับการพิจารณาที่เป็นธรรมและเปิดเผย จากศาลที่อิสระและเที่ยงธรรมในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของตนและการกระทำผิดอาชญาใด ๆ ที่ตนถูกกล่าวหา

ข้อ 11 (1) ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดทางอาชญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ ได้ว่ามีผิดตามกฎหมายในการพิจารณาเปิดเผย ซึ่งตนได้รับหลักประกันบรรดาที่จำเป็นสำหรับการต่อสู้คดี
(2) จะถือบุคคลใดๆว่ามีความผิดทางอาญาเนื่องด้วยการกระทำหรือละเว้นใด ๆ อันมิได้จัดเป็นความผิดทางอาชญาตามกฎหมายแห่งชาติหรือกฎหมายระหว่างประเทศในขณะได้กระทำการนั้นขึ้นไม่ได้ และจะลงโทษอันหนักกว่าที่ใช้อยู่ในขณะที่ได้กระทำความผิดทางอาชญานั้นไม่ได้

ข้อ 12 บุคคลใด ๆ จะถูกแทรกสอดโดยพลการในความเป็นอยู่ส่วนตัวในครอบครัว ในเคหสถานหรือในการสื่อสาร หรือจะถูกลบหลู่ในเกียรติยศและชื่อเสียงไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายต่อการแทรกสอด หรือการลบหลู่ดังกล่าวนั้น

ข้อ 13 (1) ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการเคลื่อนไหวและสถานที่อยู่ภายในเขตของแต่ละรัฐ
(2) ทุกคนมีสิทธิที่จะออกจากประเทศใดๆไป รวมทั้งประเทศของตนเองด้วย และที่จะกลับยังประเทศตน

ข้อ 14 (1) ทุกคนมีสิทธิที่จะแสวงหา และที่จะได้อาศัยพำนักในประเทศอื่นเพื่อลี้ภัยจากการประหัตประหาร
(2) จะอ้างสิทธินี้ไม่ได้ ในกรณีที่การดำเนินคดีสืบเนื่องอย่างแท้จริงมาจากความผิดที่ไม่ใช่ทางการเมือง หรือจากการกระทำอันขัดต่อวัตถุประสงค์และหลักการของสหประชาชาติ

ข้อ 15 (1) ทุกคนมีสิทธิในการถือสัญชาติหนึ่ง
(2) บุคคลใดๆจะถูกตัดสัญชาติของตนโดยพลการ หรือถูกปฏิเสธสิทธิที่จะเปลี่ยนสัญชาติไม่ได้

ข้อ 16 (1) ชายและหญิงที่มีอายุเต็มบริบูรณ์ มีสิทธิที่จะทำการสมรส และจะก่อตั้ง ครอบครัว โดยปราศจากการจำกัดใด ๆ อันเนื่องจากเชื้อชาติ สัญชาติหรือ ศาสนา ต่างมีสิทธิเท่าเทียมกันในเรื่องการสมรส ระหว่างการสมรสและการขาดจากสมรส
(2) การสมรสจะกระทำกันก็แต่ด้วยความยินยอมโดยอิสระและเต็มที่ของผู้ที่เจตนาจะเป็นคู่สมรส
(3) ครอบครัวเป็นหน่วยธรรมชาติ และหลักมูลของสังคมและมีสิทธิที่จะได้รับความคุมครองจากสังคมและรัฐ

ข้อ 17 (1) ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยลำพังตนเองเช่นเดียวกับโดยร่วมกับผู้อื่น
(2) บุคคลใด ๆ ที่จะถูกริบทรัพย์สินโดยพลการไม่ได้

ข้อ 18 ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความคิดมโนธรรมและศาสนาสิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการที่จะประกาศ ศาสนา หรือความเชื่อของตน โดยการสอน การปฏิบัติสักการบูชาและการประกอบพิธีกรรม ไม่ว่าจะโดยลำพังตนเองหรือประชาคมร่วมกับผู้อื่น และเป็นการสาธารณะหรือส่วนบุคคล

ข้อ 19 ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออกสิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการที่จะถือเอาความคิดโดยปราศจากความแทรกสอดและที่จะแสวงหา รับและแจกจ่ายข่าวสารและความคิดเห็นไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ และโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน

ข้อ 20 (1) ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการร่วมประชุมและการตั้งสมาคมโดยสันติ
(2) บุคคลใด ๆ จะถูกบังคับให้สังกัดสมาคมใดสมาคมหนึ่งไม่ได้

ข้อ 21 (1) ทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนในรัฐบาลของประเทศตน จะเป็นโดยตรงหรือโดยการผ่านทางผู้แทนซึ่งได้เลือกตั้งโดยอิสระ
(2) บุคคลมีสิทธิที่เข้าถึงบริการสาธารณะในประเทศของตนโดยเสมอภาค
(3) เจตจำนงของประชาชนจะต้องเป็นมูลฐานแห่งอำนาจของรัฐบาล เจตจำนงนี้จะต้องแสดงออกทางการเลือกตั้งตามกำหนดเวลา และอย่างแท้จริง ซึ่งอาศัยการออกเสียงกันอย่างทั่วไปและเสมอภาค และการลงคะแนนลับ หรือวิธีการลงคะแนนโดยอิสระอย่างอื่นทำนองเดียวกัน

ข้อ 22 ทุกคน ในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม มีสิทธิในทางมั่นคงของสังคม และมีสิทธิในการบรรลุถึงซึ่งสิทธิทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางวัฒนธรรม อันจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับ เกียรติศักดิ์ของตน และการพัฒนาบุคลิกภาพของตนอย่างอิสระ ทั้งนี้ โดยความเพียรพยายามแห่งชาติและความร่วมมือระหว่างประเทศ และตามระบอบการและทรัพยากรของแต่ละรัฐ

ข้อ 23 (1) ทุกมีสิทธิในการงาน ในการเลือกงานโดยอิสระในเงื่อนไขอันยุติธรรม และเป็นประโยชน์แห่งการงาน และการคุ้มครองแห่งการว่างงาน
(2) ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าจ้างเท่าเทียมกันสำหรับงานเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ
(3) ทุกคนที่ทำงานมีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างที่ยุติธรรมและเป็นประโยชน์ ที่จะให้ประกันแก่ตนเองละครอบครัวแห่งตน ซึ่งความเป็นอยู่อันคู่ควรแก่เกียรติศักดิ์ของมนุษย์ และถ้าจำเป็นก็จะต้องได้รับวิถีทางคุ้มครองทางสังคมอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย
(4) ทุกคนมีสิทธิที่จะจัดตั้ง และที่จะเข้าร่วมสหพันธ์กรรมกรเพื่อความคุ้มครองแห่งประโยชน์ของตน
ข้อ 24 ทุกคนมีสิทธิในการพักผ่อนและเวลาว่าง รวมทั้งจำกัดเวลาการทำงานตามสมควร และวันหยุดงานเป็นครั้งคราวโดยได้รับสินจ้าง

ข้อ 25 (1) ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความเป็นอยู่ดีของตนและครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการดูแลรักษาทางการแพทย์และบริการสังคมที่จำเป็น และมีสิทธิในความมั่นคงในยามว่างงาน เจ็บป่วยพิการ เป็นหม้าย วัยชรา หรือขาดอาชีพอื่นในพฤติการณ์ที่นอกเหนืออำนาจของตน
(2) มารดาและเด็กมีสิทธิที่จะรับการดูแลรักษาและช่วยเหลือเป็นพิเศษ เด็กทั้งปวงไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกสมรส จะต้องได้รับการคุ้มครองทางสังคมเช่นเดียวกัน

ข้อ 26 (1) ทุกคนมีสิทธิในศึกษา การศึกษาจะต้องให้เปล่าอย่างน้อยในชั้นประถมศึกษาและการศึกษาชั้นหลักมูล การประถมศึกษาจะต้องเป็นการบังคับ การศึกษาทางเทคนิคและวิชาชีพ จะต้องเป็นอันเปิดโดยทั่วไป และการศึกษาชั้นสูงสุดขึ้นไป จะต้องเป็นอันเปิดสำหรับทุกคน เข้าได้ถึงโดยเสมอภาคตามมูลฐานแห่งคุณวุฒิ
(2) การศึกษาจะได้จัดไปในทางพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างเต็มที่และยังความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และอิสรภาพหลักมูลให้มั่นคงแข็งแรง จะต้องส่งเสริมความเข้าใจ ขันติธรรม และมิตรภาพแห่งบรรดาประชาชาติ กลุ่มเชื้อชาติ หรือศาสนา และจะต้องส่งเสริมกิจกรรมของสหประชาชาติ เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ
(3) บิดามารดา มีสิทธิเบื้องแรกที่จะเลือกชนิดของการศึกษาอันจะให้แก่บุตรหลานของตน

ข้อ 27 (1) ทุกคนมีสิทธิที่เข้าร่วมในชีวิตทางวัฒนธรรมของประชาชนโดยอิสระ ที่จะบันเทิงใจในศิลปะและที่มีส่วนในความรุดหน้า และคุณประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์
(2) ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองผลประโยชน์ทางศีลธรรมและทางวัตถุ อันเป็นผลจากการประดิษฐกรรมใด ๆ ทางวิทยาศาสตร์ วรรณกรรมและทางศิลปกรรม ซึ่งตนเป็นผู้สร้าง

ข้อ 28 ทุกคนมีสิทธิในระเบียบทางสังคมและระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นทางให้สำเร็จผลเต็มที่ตามสิทธิและอิสรภาพดังกำหนดไว้ในปฏิญญานี้

ข้อ 29 (1) ทุกคนมีหน้าที่ต่อประชาคม ด้วยการพัฒนาต่อบุคลิกภาพของตนโดยอิสรภาพเต็มที่ จะกระทำได้ก็แค่ประชาคมเท่านั้น
(2) ในการใช้สิทธิและอิสรภาพแห่งตน ทุกคนตกอยู่ในบังคับของข้อจำกัด เพียงเท่าที่ได้กำหนดลงโดยกฎหมายเท่านั้น เพื่อประโยชน์ที่ได้มาซึ่งการนับถือ และเคารพสิทธิและอิสรภาพของผู้อื่นตามสมควรและที่จะเผชิญกับความเรียกร้องต้องการอันเที่ยงธรรมของศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของประชาชน และสวัสดิการทั่วไปในสังคมประชาธิปไตย
(3) สิทธิและอิสรภาพเหล่านี้ จะใช้ขัดต่อวัตถุประสงค์และหลักการของสหประชาชาติไม่ได้ว่าในกรณีใด ๆ

ข้อ 30 ไม่มีบทใด ในปฏิญญานี้ที่จะอนุมานว่าให้สิทธิใด ๆ แก่รัฐ หมู่คน หรือบุคคล ในอันที่จะดำเนินกิจกรรมใด ๆ หรือปฏิบัติการใด ๆ อันมุ่งต่อการทำลายสิทธิและอิสรภาพ ดังกำหนดไว้ ณ ที่นี้



กิตติบดี

สิทธิมนุษยชน : ปฐมบทแห่งสิทธิมนุษยชน

ปฐมบทแห่งสิทธิมนุษยชน
เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนโลก ๑๐ ธันวาคม
United Nations and Human Rights:





อาจจะกล่าวอย่างย่นย่อได้ถึง แนวทางสากลที่ทั่วโลกให้การยอมรับว่า สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นสิทธิประจำตัวของมนุษย์ และควรได้รับการหวงกันมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดถูกลิดรอน นั้น ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ยุติลง ซึ่งในปีคริสต์ศักราช ๑๙๔๑ กลุ่มสันนิบาตชาติได้มีพันธสัญญาร่วมกันที่เรียกว่า “Atlantic Charter” ที่จะคุ้มครองเสรีภาพของมนุษย์ไว้ ๔ ประการ ได้แก่

๑. มนุษย์ต้องมีเสรีภาพในการแสดงออด (พูด) (Freedom of speech)
๒. มนุษย์ต้องมีเสรีภาพที่จะเชื่อในศาสนา ลัทธิ และพิธีกรรม (Freedom of worship)
๓. มนุษย์ต้องมีเสรีภาพในสิ่งที่พึงปรารถนา (Freedom of want)
๔. มนุษย์ต้องมีเสรีภาพจากความหวาดกลัว (Freedom of fear)


ซึ่งในห้วงเวลานั้นเอง ในหลายพื้นที่บนโลกนี้ ได้เกิดระบบการปกครองประเทศแบบเบ็ดเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของภัยแดง ภัยเขียว ภัยเหลือง ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นล้วนเป็นที่มาของปัญหาการเอารัดเอาเปรียบ ทาส ผู้ลี้ภัย อันเป็นที่มาของการฆ่าคนอย่างทารุณกรรมและปราศจากเหตุผล

บทเรียนต่อมาที่ทำให้มวลมนุษยชาติต้องหวนกลับมาทบทวนถึงชีวิต ร่างกาย สภาพความเป็นอยู่ ความปลอดภัยของมวลมนุษย์ มากกว่าที่จะคำนึงถึงความมั่งคั่งทางสรรพกำลัง ได้แก่ บทเรียนแห่งความสูญเสีย ล่มสลายอันเป็นผลพวงจากภัยพิบัติจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ภาพของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในประเทศเยอรมนี ความรุนแรงและป่าเถื่อนเดินทางข้ามทวีปไปยังฮิโรชิมา และนางาซากิ ซึ่งเป็นผลทำให้หลายแสนชีวิตต้องถูกลบเงาไปจากโลกใบนี้ในช่วงปีคริสต์ศักราช ๑๙๔๕ ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ บรรดาผู้นำประเทศต่าง ๆ ได้ร่วมมือดำเนินการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น The Declaration by the United Nations - Washington, D.C., January 1, 1942 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดสรรและยังความสงบสุข สันติภาพให้แก่ครอบครัวมนุษย์ก็ตามที


ซึ่งภายหลังอีก ๓ ปี บรรดาผู้นำประเทศสมาชิกดั่งเดิมจำนวน ๕๐ ประเทศจึงได้ร่วมลงนามในกฎบัตรสหประชาชาติโดยประกาศจุดยืนแห่งสหประชาชาติว่า :


ความสำเร็จของสหประชาชาตินั้น ปรารถนาอย่างแรงกล้าให้บรรดาประเทศทั้งหลายร่วมมือกันในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิขั้นมูลฐานของมนุษย์ ศักดิ์ศรีและคุณค่าของมนุษย์ สิทธิที่เสมอภาคกัน ความยุติธรรมในสังคม เสรีภาพขั้นมูลฐานโดยไม่จำแนกแยกแยะในเชื้อชาติ เพศ ภาษา และ/หรือ ศาสนา



ในปีคริสต์ศักราช ๑๙๔๕ ที่ประชุม ณ กรุงซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการจัดตั้งกลุ่มงานทำหน้าที่ร่างกฎเกณฑ์กติกาอันเป็นสากลระหว่างประเทศขั้น โดยมีตัวแทนจากกลุ่มองค์กรเอกชนกว่า ๔๐ องค์กรจากหลายประเทศ ซึ่งเป็นตัวแทนทั้งฝ่ายศาสนจักร องค์กรพิทักษ์และคุ้มครองสตรีเพศ ชนกลุ่มน้อย ให้กำหนดกติการะหว่างประเทศร่วมกัน


โดยในปีคริสต์ศักราช ๑๙๔๖ สหประชาชาติได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีนาง อิลิเนอร์ รูสเวลส์ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งสหรัฐอเมริกา และคณะผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต อินเดีย สหราชอาณาจักร เบลเยี่ยม เป็นอาทิ เพื่อจัดทำร่างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน การร่างใช้เวลากว่า ๒ ปี จนกระทั่งวันที่ ๑๐ ธันวาคม คริสต์ศักราช ๑๙๔๘ ได้มีมติยอมรับและประกาศใช้ร่างดังกล่าวเป็นปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน....




กิตติบดี

สิทธิมนุษยชน : ข้อสังเกต

ประเด็นเสวนาเรื่องสิทธิมนุษยชน : รายวิชาสิทธิขั้นพื้นฐาน

สิทธิมนุษยชนคืออะไร

สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดของมนุษย์ ไม่ว่ามนุษย์นั้นจะมีสัญชาติ ถิ่นที่อยู่ เพศ เชื้อชาติ สีผิว นับถือศาสนา ภาษา หรือสถานภาพอื่นใดก็ตาม ; มนุษย์เราทุกคนต้องมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด

สิทธิที่มีอยู่นั้น จักต้องมีอยู่เสมอมิอาจถูกแบ่งแยก หรือโอนไปจากมนุษย์เราไม่ว่าด้วยวิธีการหรือรูปแบบใด ๆ ก็ตามที

และที่สำคัญ สิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายจะมากำหนดว่ามีสิทธิหรือไม่ หากแต่กฎหมายนั้นจะเป็นเครื่องยืนยันถึงหลักประกันในการมีอยู่แห่งสิทธิมนุษยชน และกำหนดให้รัฐมีภารกิจในการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง

สิทธิมนุษยชนเป็นภาษาสากล

หลักการที่สำคัญของสิทธิมนุษยชนมีอยู่ว่า สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งสากล และไม่สามารถแบ่งแยกสิทธิมนุษยชนได้ เนื่องจาก สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้มนุษยชนครองสถานภาพของมนุษย์ไว้ให้แตกต่างจากสัตว์

หลักการข้างต้นได้รับการยืนยันเป็นเอกสารทางสากล ได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. ๑๙๔๘ และเป็นหลักพื้นฐานของกติกาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน โดยกำหนดไว้ชัดเจนว่า รัฐมีหน้าที่ต้องส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทุกสิทธิที่กำหนดไว้ตามปฏิญญาฯ หรือกติการะหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน รวมถึงเรื่องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน สิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
สิทธิมนุษยชนมีหลายแขนงสิทธิแต่ไม่สามารถแบ่งแยกได้

สิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย
(๑) สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และ (๒) สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
มนุษย์ทุกคนต้องได้รับการยืนยันในสองแขนงสิทธิข้างต้น เพราะเราถือว่าทั้งสองแขนงสิทธินี้มีส่วนสัมพันธ์ในการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อาทิ สิทธิในชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ อนามัย สิทธิที่ได้รับการยอมรับว่าบุคคลทุกคนเสมอภาคกันทางกฎหมาย หรือ เสรีภาพในการแสดงออก เป็นต้น
สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม อาทิ สิทธิในการทำงาน การมีประกันสังคม สิทธิทางการศึกษา สิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง เป็นต้น
สิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกัน

หลักการพื้นฐานอีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ การไม่เลือกปฏิบัติต่อมนุษย์ ซึ่งหลักการนี้ได้ถูกบรรจุเข้าไว้ในสิทธิมนุษยชนหลาย ๆ เรื่อง เช่น การขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ

หลักการนี้ มุ่งประสงค์ให้มนุษย์ทุกคนได้รับการยอมรับและสามารถถือสิทธิต่าง ๆ ได้ โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติจากเหตุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา สีผิว ถิ่นกำเนิด สถานภาพทางสังคม หรืออื่นใด ก็ตาม โดยข้อ ๑ แห่งปฏิญญาสากลได้กำหนดยืนยันไว้ว่า มนุษย์ทุกคนมีอิสรภาพตั้งแต่เกิดและมีความเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีและสิทธิต่าง ๆ
กิตติบดี

เส้นทางประวัติศาสตร์แห่งสิทธิมนุษยชน : เนื่องในโอกาสครบรอบ ๖๐ ปีแห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน






















จุดเริ่มต้นแห่งสิทธิมนุษยชน
“หากปราศจากปัญญา ไม่ต้องกล่าวถึงศาสนา หากปราศจากศาสนา ไม่ต้องกล่าวถึงศีลธรรม
หากปราศจากศีลธรรม ไม่ต้องกล่าวถึงกฎหมาย หากปราศจากกฎหมาย สังคมจะเป็นอย่างไร?”



“ที่ใดมีสังคมที่นั่นมีผู้นำ และกฎหมาย เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม”

เส้นประวัติศาสตร์สิทธิมนุษยชน
๒๒๐๐ ปีก่อนค.ศ. ------------ อาณาจักรเปอร์เซีย มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร “กฎหมายจัสตินเนียน”

๑๓๐๐ ปีก่อนค.ศ. --------------- โมเสซ ประกาศบัญญัติสิบประกาศ ณ เทือกเขาซีนาย

๖๐๐ ปีก่อนค.ศ. --------------- สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศีลธรรม ไม่แบ่งชั้นวรรณะ สงบ สะอาด สว่าง

๕๐๐ ปีก่อนค.ศ. ---------- อาณาจักรกรีก .......แนวทางสู่สังคมยูโทเปีย
กรีกโบราณมีการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น Freedom of Speech (ISOGORIA)
ความเสมอภาคเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย Equality before the law (ISONOMIA)

ค.ศ. ๐ ดินแดนปาเลสไตยส์ Palestine พระเยซู ทรงสั่งสอนให้คนรักกันและรู้จักการให้อภัย
--JESUS CHRIST –

ค.ศ. ๕๐๐ --------------- ท่านนบีมูฮัมหมัดแห่งศาสนาอิสลาม (พระอัลเลาะห์) จารึกพระคัมภีร์ The holy Qu’ran

ค.ศ. ๑๒๑๕ ---------ประเทศอังกฤษ, พระเจ้าจอห์นลงพระนามในกฎบัตรแมกนาการ์ต้า

ค.ศ.๑๗๘๙ -------- การปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส, คำประกาศอิสรภาพของประเทศสหรัฐอเมริกา

ค.ศ. ๑๘๐๐-๑๙๐๐ (๑๘๔๘) ---------- ลัทธิมาร์ซ MARX

----สงครามกลางเมือง การประกาศเลิกทาสในประเทศสหรัฐอเมริกา----
สภากาชาดสากล (เจนีวา) --- ค.ศ. ๑๘๖๓

ค.ศ. ๑๘๙๓ ----------- ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นประเทศแรกในโลกที่ให้สิทธิทางการเมืองแก่สตรี

ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘ ------ สงครามโลกครั้งที่ ๑
(๒๘ ก.ค. ๑๙๑๔-๑๑ พ.ย. ๑๙๑๘)

มหาตมะคานธี สันติ /อหิงสา /สัตยานุเคราะห์----- ค.ศ. ๑๙๑๖-๑๙๔๕

ค.ศ. ๑๙๒๙-๑๙๖๘ --- ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง (Jr.)
Civil Rights and Peace Movement
I HAVE A DREAM

ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๕ สงครามโลกครั้งที่สอง

ค.ศ. ๑๙๔๕ องค์การสหประชาชาติ
ก่อกำเนิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ค.ศ. ๑๙๖๑ องค์กรนิรโทษกรรมสากล

ค.ศ. ๑๙๙๑ ------- สงครามอิรัค (Second Gulf War)

ค.ศ. ๒๐๐๑ Tuesday, September 11, 2001 8:46 am – 10:28 am ------------------------

The Universal Declaration of Human Rights: 1948-2008 (ครบรอบ ๖๐ ปีแห่งปฏิญญาสากลฯ)
สิทธิมนุษยชนในสังคมโลก มีทิศทางอย่างไร?
กิตติบดี

สิทธิมนุษยชน : แบบทดสอบ (๒)

ประเด็นร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
รายวิชาสิทธิขั้นพื้นฐาน


๑. ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร

ประเด็นที่ ๑ ท่านเห็นอย่างไรกับคำว่า “ประชาชนต้องกินดีอยู่ดีก่อนถึง พูดเรื่องสิทธิมนุษยชน

ประเด็นที่ ๒ ท่านเห็นอย่างไรกับคำว่า “สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่กฎหมายเขียนไว้เท่านั้น”

ประเด็นที่ ๓ ท่านเห็นอย่างไร เมื่อประเทศหนึ่งใช้กำลังจับกุม ปราบปราม โดยใช้กฎหมายภายในประเทศ แต่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน แต่อ้างว่า เรื่องดังกล่าวเป็นกิจการภายในประเทศ

ประเด็นที่ ๔ ท่านเห็นอย่างไรกับคำว่า “สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องใหม่ของคนไทย และเป็นเรื่องของชาติตะวันตก”

ประเด็นที่ ๕ ท่านเห็นอย่างไรกับ การใช้เครื่องพันธนาการ โซ่ตรวน ผู้ต้องขัง หรือสวมใส่ชุดนักโทษ เมื่อนำตัวผู้ต้องขังไปศาล เพราะมีระเบียบ กฎหมายให้ทำได้

ประเด็นที่ ๖ ท่านเห็นอย่างไรกับคำว่า “เราต้องรู้จักเจียมเนื้อเจียมตัว เพราะสังคมไทยมีกิ่งก้อยหัวแม่มือ”

๒. ท่านคิดว่าประเทศไทยมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ มีเรื่องใดบ้าง
มีสาเหตุเพราะอะไร


หมายเหตุ
หลักการของสิทธิมนุษยชน
(๑) สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่มนุษย์มีเสมอกัน
(๒) สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่ไม่อาจโอนให้แก่กันได้
(๓) สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิประจำตัวของมนุษย์ทุกคน


กิตติบดี

สิทธิมนุษยชน : เจตนารมณ์ของ UDHR

คำปรารภ / Preamble
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
Universial Declaration of Human Rights : UDHR

"ด้วยเหตุที่การยอมรับศักดิ์ศรีประจำตัว และสิทธิซึ่งเสมอกันและไม่อาจโอนแก่กันได้ ของสมาชิกทั้งปวงแห่งครอบครัวมนุษย์เป็นรากฐานของเสรีภาพ ความยุติธรรม และสันติภาพในพิภพ

Whereas recognition of the inherent dignity and of the equal and inalienable rights of all members of the human family is the foundation of freedom, justice and peace in the world,

ด้วยเหตุที่การเมินเฉย และดูหมิ่นเหยียดหยามสิทธิมนุษยชนได้ก่อให้เกิดการอันป่าเถื่อนโหดร้ายทารุณ ซึ่งได้กระทบกระเทือนมโนธรรมของมนุษยชาติอย่างรุนแรง และโดยเหตุที่ได้มีการประกาศปณิธานอันสูงสุดของสามัญชนว่าถึงวาระแห่งโลกแล้วที่มนุษย์จะมีเสรีภาพในการพูดและในความเชื่อถือ รวมทั้งมีเสรีภาพจากความกลัวและความต้องการ

Whereas disregard and contempt for human rights have resulted in barbarous acts which have outraged the conscience of mankind, and the advent of a world in which human beings shall enjoy freedom of speech and belief and freedom from fear and want has been proclaimed as the highest aspiration of the common people,

ด้วยเหตุที่เป็นสิ่งจำเป็นสิทธิมนุษยชนควรได้รับความคุ้มครองโดยหลักนิติธรรม ถ้าไม่พึงประสงค์ให้มนุษย์ต้องถูกบีบบังคับให้หาทางออก โดยการกบฏต่อทรราชและการกดขี่อันเป็นที่พึ่งแห่งสุดท้าย

Whereas it is essential, if man is not to be compelled to have recourse, as a last resort, to rebellion against tyranny and oppression, that human rights should be protected by the rule of law,

ด้วยเหตุที่ประดาประชาชนแห่งสหประชาชาติได้ยืนยันไว้ในกฎบัตรถึงความเชื่อมั่นในสิทธิมนุษย์ชนขั้นพื้นฐานในศักดิ์ศรีและคุณค่าของตัวบุคคล และในความเสมอกันแห่งสิทธิของ ทั้งชายและหญิง และได้ตัดสินใจที่จะส่งเสริมความก้าวหน้าทางสังคมตลอดจนมาตรฐานแห่งชาติให้ดีขึ้น ได้มีเสรีภาพมากขึ้น

Whereas it is essential to promote the development of friendly relations between nations, Whereas the peoples of the United Nations have in the Charter reaffirmed their faith in fundamental human rights, in the dignity and worth of the human person and in the equal rights of men and women and have determined to promote social progress and better standards of life in larger freedom,


ด้วยเหตุที่รัฐสมาชิกได้ปฏิญาณที่จะให้ได้มา โดยร่วมมือกับสหประชาชาติ ซึ่งการส่งเสริมการเคารพและการถือปฏิบัติโดยสากลต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

Whereas Member States have pledged themselves to achieve, in co-operation with the United Nations, the promotion of universal respect for and observance of human rights and fundamental freedoms,

ด้วยเหตุที่ความเข้าใจตรงกันในเรื่องสิทธิและเสรีภาพมีความสำคัญยิ่งเพื่อให้ปฏิญาณนี้เกิดสัมฤทธิผลอย่างเต็มเปี่ยม

Whereas a common understanding of these rights and freedoms is of the greatest importance for the full realization of this pledge,

ดังนั้น บัดนี้

สมัชชาจึงประกาศให้
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้เป็นมาตรฐานร่วมกันแห่งความสำเร็จ สำหรับประชาชนทั้งหลายและประชาชาติทั้งปวง ด้วยจุดประสงค์ที่จะให้ปัจเจกบุคคลทุกผู้ทุกนามและองค์กรของสังคมทุกหน่วย โดยการระลึกเสมอ ๆ ถึงปฏิญญานี้ พยายามสั่งสอนและให้การสอนและให้การศึกษาเพื่อส่งเสริมการเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพเหล่านี้ และด้วยมาตรฐานที่เจริญก้าวหน้าไปข้างหน้า ทั้งในและระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งการยอมรับและการถือปฏิบัติต่อสิทธิเหล่านั้นสากลและได้ผลทั้งในหมู่ประชาชนของรัฐสมาชิกเอง และในหมู่ประชาชนแห่งดินแดนที่อยู่ภายใต้ดุลอาณาของรัฐสมาชิกดังกล่าว
Now, Therefore THE GENERAL ASSEMBLY proclaims THIS UNIVERSAL DECLARATION OF HUMAN RIGHTS as a common standard of achievement for all peoples and all nations, to the end that every individual and every organ of society, keeping this Declaration constantly in mind, shall strive by teaching and education to promote respect for these rights and freedoms and by progressive measures, national and international, to secure their universal and effective recognition and observance, both among the peoples of Member States themselves and among the peoples of territories under their jurisdiction.
กิตติบดี

สิทธิมนุษยชน : แบบทดสอบ

บทความ
ครอบครัวของผม พ่อรับราชการเป็นครูสอนหนังสือในโรงเรียนเทศบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ส่วนแม่เป็นแม่บ้านเปิดร้านขายของชำเล็ก ๆ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อ ผมเป็นลูกชายคนโต มีน้องสาวและน้องชายอีก ๒ คน ตอนตั้งท้องผม แม่เล่าให้ฟังว่า แม่ต้องออกจากงานเพราะโรงงานปิดกิจการ เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำมาก ในช่วงนั้น พ่อแม่ของผมเพิ่งสร้างครอบครัวใหม่ มีภาระต้องผ่อนบ้าน ต้องใช้จ่ายเงินอย่างกระเบียดกระเสียร ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากคุณตาคุณยายได้ เนื่องจากพ่อแม่ไม่ได้แต่งงานกันถูกต้องตามประเพณี และเพราะความยากจนแม่ไม่ได้ฝากครรภ์ หรือเอาใจใส่ในเรื่องสวัสดิภาพของแม่และเด็ก รวมถึงรับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์เลย ทำให้คลอดผมก่อนกำหนดเกือบ ๒ เดือน

ตอนคลอดผมใหม่ ๆ สถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวเริ่มกระเตื้องขึ้น เนื่องจากพ่อได้รับการบรรจุเข้ารับราชการ แม่เล่าให้ฟังเสมอว่า พ่อกับแม่รู้สึกผิดต่อผมมาก ๆ ที่ไม่ได้เอาใจใส่อย่างดีตอนท้องผม จึงพยายามสรรหาอาหารและสิ่งที่มีคุณค่าต่อร่างกายและสมองกำลังเติบโตในระยะที่สำคัญ ซึ่งผมเองก็ต้องการให้แม่ผมได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์เช่นกัน
พ่อแม่ตั้งใจไว้ว่า ลูกทั้งสามจะต้องส่งเสียให้เรียนให้สูงที่สุดตามความสามารถ และความถนัดของแต่ละคน เพื่อจะได้นำความรู้ไปประกอบอาชีพการงานที่ดี ไม่ต้องลำบากเหมือนกับพ่อแม่ ลูก ๆ จะได้มีหน้ามีตาในสังคม โดยเฉพาะน้องสาวของผม แม่เล่าว่า ครอบครัวของแม่เป็นคนเชื้อสายจีน ไม่นิยมส่งลูกสาวเรียนหนังสือ ซึ่งทำให้แม่เรียนจบแค่ชั้น ป. ๔ จะไปหางานหาการทำที่ไหนก็ลำบาก แม่ไม่อยากให้ลูกสาวของแม่ต้องลำบากเหมือนแม่ แม่ของผมเลี้ยงดูลูกทั้งสามด้วยตัวเอง ต้องทำทั้งงานบ้าน ขายของ อบรมสั่งสอนลูก ๆ ลำพังคนเดียว เพราะพ่อของผมต้องทำงานอยู่จนดึกดื่นเสมอ ไม่เว้นวันหยุดเสาร์อาทิตย์ที่ต้องออกไปรับจ้างพิเศษ พ่อบอกว่า เพื่อหาเงินให้ได้แยะ เผื่อเอาไว้ไม่ให้ลูกอดและได้เรียนหนังสือสูง ๆ ผมเองก็นึกสงสารพ่อ แต่บางครั้งก็อดนึกน้อยใจไม่ได้ว่า ทำไมครอบครัวเราไม่ค่อยได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันเลย หรือมีโอกาสไปเที่ยวพักผ่อนเหมือนครอบครัวของเพื่อนผมเลย

ผมได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนเทศบาล เพราะค่าเทอมถูกกว่า และไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้า (แป๊ะเจี๊ยะ) แม้ผมต้องการเรียนโรงเรียนประจำจังหวัดก็ตาม แต่นั่นก็ไม่สำคัญ เพราะพ่อบอกว่าถึงจะเรียนที่ไหนถ้าขยัน อดทน ไม่ย่อท้อ สักวันหนึ่งเราจะประสบความสำเร็จได้เช่นกัน เมื่อผมสำเร็จการศึกษาชั้นประถมแล้ว ผมต้องการเข้ามาเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่กรุงเทพมหานคร โดยจะมาอาศัยอยู่กับคุณตาคุณยาย (ท่านทั้งสองรักหลาน ๆ แต่ยังโกรธพ่อกับแม่อยู่) เพราะ คุณครูประจำชั้น แนะนำว่า ผมหัวดี เรียนเก่ง ผมควรเลือกเรียนโรงเรียนที่มีคุณภาพการศึกษาดี เพราะคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนที่บ้านเรายังสู้เมืองหลวงไม่ได้ ถ้าได้เรียนโรงเรียนที่ดีมีมาตรฐาน ทำให้ผมมีโอกาสในการเข้าศึกษามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของรัฐได้

ผมต้องการประกอบอาชีพที่มีความหมาย ตอนแรกผมต้องการอยากเป็นครูเหมือนกับพ่อ แต่ภายหลังเปลี่ยนไปผมอยากเป็นนักกฎหมาย เป็นผู้พิพากษา อัยการ หรือทนายความอะไรทำนองนั้น ผมเห็นจากสื่อสารมวลชน โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ รู้สึกว่า นักกฎหมายมีบทบาทต่อสังคมมาก ผมอยากทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และให้สังคมมีความยุติธรรม คนจน คนรวย มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่มีความรุนแรง ทุกคนอยู่ภายใต้กรอบกติกา ปัญหาอาชญากรรมต้องถูกขจัดให้สิ้นไป

สมัยที่ผมเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผมต้องการแบ่งเบาภาระทางบ้าน ผมจึงกู้ยืมเงินเรียน หางานพิเศษทำ เหลือเงินบางส่วน เอาไปซื้อหนังสือ ตำรับตำรากฎหมาย ซึ่งหนังสือกฎหมายก็แก้ไขเปลี่ยนอยู่บ่อย ๆ บางครั้งเปลี่ยนแค่หนึ่งมาตราหรือสองมาตราเท่านั้น ก็พิมพ์ใหม่ให้ต้องเสียเงินซื้อใหม่ ซ้ำราคาก็แพง นี่ยังดีที่ทางคณะมีห้องค้นคว้าให้หยิบยืมหนังสือกับไปอ่านที่หอพักเพิ่มเติมได้

ในระหว่างเรียน ผมเข้าร่วมกิจกรรมมากมาย ผมใช้เวลาว่างในการออกค่ายกับเพื่อน ๆ ยังจำได้ว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งพวกเราของบประมาณสนับสนุนจากคณะจำนวนหนึ่ง เพื่อจัดกิจกรรมค่ายเผยแพร่ความรู้กฎหมายให้กับชาวบ้าน ซึ่งครั้งนั้น ทำให้ผมตระหนักว่า ชาวบ้านที่ยังไม่ทราบกฎหมายขั้นพื้นฐาน หรือ สิทธิเสรีภาพของตนมีอยู่อีกจำนวนมาก ผมได้ฟังผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังถึงความเดือดร้อนที่ได้รับจากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากความไม่รู้กฎหมาย ทำให้รู้สึกสะเทือนใจ ผมต้องการให้พลเมืองไทยทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจน นับถือศาสนาใด เชื้อชาติใด เพศใด อายุ หรือความคิดทางการเมืองที่แตกต่าง ต้องได้รับการปฏิบัติและ/หรือโอกาสที่เท่าเทียมกัน

น้าเปรื่อง ผู้ใหญ่บ้านเล่าให้พวกเราฟังว่า ลูกชายของน้าไปมีเรื่องทำร้ายร่างกายกันกับลูกนักการเมืองใหญ่ เค้าสั่งให้ตำรวจมาจับกุมและนำไปคุมขังไว้ตั้ง ๗ วัน โดยไม่แจ้งข้อกล่าวหาหรือประกันตัว แต่กลับไม่ทำอะไรเลยกับลูกนักการเมืองคนนั้น หรือเมื่อชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเรื่องราคาอ้อยตกต่ำ พวกเรานัดกับอีกหมู่บ้านเพื่อเดินทางไปขอความช่วยเหลือจากผู้ว่าราชการจังหวัด แต่เค้าก็สั่งห้ามเราเดินทางไปรวมตัวกัน ยังขู่อีกว่า คนไหนกล้าฝ่าฝืนจะจับขังเสียเข็ด

ผมเล่าเรื่องดังกล่าวให้อาจารย์ฟัง ท่านตอบกลับว่า สิทธิเสรีภาพตามตัวอักษรกับในชีวิตจริง มันไม่เหมือนกัน ผมรับฟังอย่างงงงง แต่ก็ไม่ได้ถามอะไร

หลังจากสำเร็จการศึกษา ผมได้งานเป็นผู้ช่วยทนายความ แต่มีเพื่อนผมอีกหลายคนต้องว่างงาน สาเหตุหนึ่งมาจากการกำหนดคุณสมบัติว่าต้องได้เกรด ๓.๐๐ ขึ้นไป
ในช่วงนี้ ผมทำงานพร้อมกับเรียนเนติบัณฑิต แม้จะหนักหนาสาหัสอย่างไร ผมก็อดทนเพื่ออนาคตที่ใฝ่ฝัน ผมสอบได้ใบอนุญาตว่าความ และสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตตามลำดับ

ผมเป็นทนายความอยู่ ๑๑ ปี เปิดสำนักงานทนายความในตัวเมืองจังหวัดขอนแก่น รับอุปการะพ่อแม่และน้อง ๆ ผมต้องการให้ครอบครัวของผมมีสุขภาพอนามัยที่ดี และรัฐต้องให้บริการรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพ น้อง ๆ ของผมเริ่มเติบใหญ่ น้องชายเป็นวิศวกร ส่วนน้องสาวกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาโท เมื่อผมเห็นว่าครอบครัวเรามีความมั่นคงในระดับหนึ่งแล้ว ผมจึงตัดสินใจสอบเป็นผู้พิพากษา เพื่อสานฝันอุดมการณ์ของผมต่อไป

ยังจำได้ว่า วันนั้นผมได้ไปสมัครสอบคัดเลือกเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา แต่ผมต้องผิดหวังอย่างแรง เมื่อคณะกรรมการตุลาการตัดสิทธิไม่ให้ผมมีโอกาสเข้าสอบคัดเลือกเป็นผู้พิพากษา
ผมหวนระลึกถึงคำที่อาจารย์กล่าวและพอเข้าใจแล้วว่า สิทธิเสรีภาพตามตัวอักษรกับในชีวิตจริง ไม่เหมือนกัน เป็นอย่างไร

ทั้งนี้ เพราะผมเป็นโปลีโอมาแต่กำเนิด
*******************************

คำถาม
(๑) ขอให้ท่านพิจารณาว่า จากเรื่องดังกล่าวประกอบด้วยสิทธิประการใดบ้าง และตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร
(๒) โปรดแสดงความคิดเห็น ในสังคมไทยมีเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้ “สิทธิเสรีภาพตามตัวอักษรกับในชีวิตจริงไม่เหมือนกัน”
หมายเหตุ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐
มาตรา ๔ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง
มาตรา ๒๖ การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๒๗ สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครอง และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมถึงองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความตามกฎหมายทั้งปวง
มาตรา ๓๐ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย....
(วรรคสอง) การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่าง ในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางการหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้
กิตติบดี

กฎหมายสถาบันการเงิน : ถาม-ตอบ สถาบันการเงินกับระบบเศรษฐกิจ

สถาบันการเงินกับระบบเศรษฐกิจ

ความสัมพันธ์ของสถาบันการเงินกับระบบเศรษฐกิจ

๑. สถาบันการเงิน หมายความว่า
“ธุรกิจสถาบันการเงิน” หมายความว่า ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และให้หมายความรวมถึงการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
๑.๑ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ หมายความว่า การประกอบธุรกิจรับฝากเงินหรือรับเงินจากประชาชนที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ และใช้ประโยชน์จากเงินนั้นโดยวิธีหนึ่งวิธีใด เช่น ให้สินเชื่อ ซื้อขายตั๋วแลกเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด ซื้อขายเงินปริวรรตต่างประเทศ
๑.๒ ธุรกิจเงินทุน หมายความว่า การประกอบธุรกิจรับฝากเงินหรือรับเงินจากประชาชนที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ ซึ่งมิใช่การรับฝากเงินหรือรับเงินไว้ในบัญชีที่จะเบิกถอนโดใช้เช็ค และใช้ประโยชน์จากเงินนั้นโดยวิธีหนึ่งวิธีใด เช่น ให้สินเชื่อ ซื้อขายตั๋วแลกเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด
๑.๓ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์” หมายความว่า การประกอบธุรกิจรับฝากเงินหรือรับเงินจากประชาชนที่จะจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ และใช้ประโยชน์จากเงินนั้นอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
๑) การให้กู้ยืมเงินโดยวิธีรับจำนองอสังหาริมทรัพย์
๒) การรับซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยวิธีขายฝาก
๑.๔ ธุรกิจทางการเงิน หมายความว่า ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต หรือธุรกิจอื่นตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

ข้อสังเกต ธุรกิจสถาบันการเงินนั้นจะมีลักษณะของ (๑) การระดมทุน และ (๒) การกระจายเงิน หรือเรียกรวม ๆ ว่า “การบริหารสภาพคล่อง” ซึ่งหากจะกล่าวจำเพาะบุคคลเรียกว่า “การบริหารสภาพคล่องของปัจเจก” หรือกล่าวถึงภาพรวมของระบบเศรษฐกิจเรียกว่า “การบริหารสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ” ซึ่งจะเห็นได้ว่า เครื่องมือที่รัฐบาลใช้ให้เกิดสภาพคล่องตามหลักเศรษฐศาสตร์ คือ “นโยบายเรื่องดอกเบี้ย” โดยคำนึงถึงภาวะทางเศรษฐกิจ (เงินเฟ้อ/เงินฝืด)

๒. ระบบเศรษฐกิจ หมายความว่า

อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ระบบเศรษฐกิจคือภาพรวมของภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีการไหลเวียนของเงิน โดยมีตลาดการเงินทำหน้าที่เป็นตัวจักรสำคัญ (หัวใจ) ในการกระจายเงินไปยังภาคส่วนต่าง ๆ (และยิ่งมีความสำคัญมาก หากภาคส่วนใดต้องการเงินมาเสริมความมั่นคง) ภาคส่วนดังกล่าวได้แก่
๑. ภาคครัวเรือน หรือ ภาคประชาชน (ในความหมายของการจับจ่ายใช้สอยของปัจเจกชน)
๒. ภาคธุรกิจ หรือ ผู้ประกอบกิจการห้างร้าน ทั้งในรูปนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม
๓. ภาคต่างประเทศ หรือ ผู้ประกอบธุรกิจนำเข้าและส่งออกสินค้า
๔. ภาครัฐบาล
ขอให้ท่านลอง ไล่สายถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งจะมีผลเชื่อมโยงกันหมด ตัวอย่าง นายกิตติ เป็นข้าราชการ มีเงินเดือน (ภาคครัวเรือน) ต้องนำไปจับจ่ายใช้สอยซื้อหาเครื่องอุปโภคบริโภค (ภาคธุรกิจ....สัมพันธ์กับภาคต่างประเทศ) โดยที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อสินค้าและบริการ และต้องเสียภาษีรายได้เมื่อถึงกำหนดชำระภาษีประจำปี (ภาครัฐบาล) ....สมมติว่านายกิตติ ต้องการซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค แต่มีปัจจัยไม่เพียงพอ นายกิตติ สามารถไปติดต่อเพื่อเสริมสภาพคล่องของตนได้ที่ตลาดการเงิน เช่นกัน เมื่อนายกิตติต้องการเพิ่มรายได้ (ดอกเบี้ย) หรือลงทุน (เงินปันผล) ก็สามารถดำเนินการได้โดยผ่านตลาดการเงิน ขอให้พิจารณาตามแผนภาพเรื่องชนิดของผลตอบแทนประกอบ

๓. ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเงินกับระบบเศรษฐกิจ

๑. ทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้แก่ภาคส่วนต่าง ๆ
๒. ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการบริหารสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ
๓. ทำหน้าที่เชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจของประเทศ


๔. ตลาดการเงิน คืออะไร
ทำความเข้าจอย่างง่าย ก็คือ แหล่งรวมของเงินของทั้งผู้ต้องการออม ต้องการเงิน หรือ ต้องการลงทุน แบ่งตลาดการเงิน ออกเป็นสองประเภท ได้แก่ ตลาดเงิน (สถาบันการเงิน...ต้องการออม ระดมทุน หรือต้องการเงิน) และตลาดทุน (ตลาดหลักทรัพย์...การลงทุน)


๕. สถาบันการเงินสามารถเข้าไปลงทุนได้หรือไม่


ได้ เพราะ สถาบันการเงินเป็นธุรกิจประเภทหนึ่ง ที่มีความจำเป็นต้องระดมทุนมาใช้ในการดำเนินกิจการ การระดมทุนของสถาบันการเงินมีหลายแบบ เช่น การรับฝากเงิน (การออม) ผลตอบแทน ได้แก่ ดอกเบี้ยเงินฝาก หรือ การเข้าไปลงทุนในตลาดทุน (ซื้อหุ้นสถาบันการเงิน) ผลตอบแทน ได้แก่ เงินปันผล หรือ การกู้ยืมเงิน ผลตอบแทน ได้แก่ ดอกเบี้ยเงินกู้

๖. ตลาดเงินกับตลาดทุน มีความแตกต่างกันหรือไม่

---มี--- จากการเปรียบเทียบข้างต้น จะเห็นได้ว่า โดยหลักแล้ว ตลาดเงิน (ธนาคาร) จะมีบทบาทในการเคลื่อนย้ายเงินในลักษณะคล่องตัวเพื่อเสริมสภาพคล่อง ส่วนตลาดทุน คือ การระดมทุนไปใช้ประโยชน์ในการสร้างความมั่นคั่งหรือเสถียรภาพของธุรกิจ (การขยายตัวของธุรกิจ) ซึ่งบทบาทมีความแตกต่างกันไป แต่อย่างไรก็ตามก็เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีการขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ

๗. อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถาบันการเงินมีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจ

ได้แก่ (๑) ลัทธิพาณิชย์นิยม/ทุนนิยม
(๒) การค้าระหว่างประเทศ
(๓) การเปิดเสรีทางการค้า

จากเดิม รัฐบาลมีหน้าที่ทั้ง “สร้างความมั่นคง ปลอดภัย” และ “สร้างความมั่งคั่ง”
แต่ภายหลังมีการจัดระเบียบโลก โดยมีกติกาสากลว่า “รัฐบาลมีหน้าที่เพียงสร้างความมั่นคง ปลอดภัยให้แก่ประชาชน” ส่วนหน้าที่ “สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศ” เป็นหน้าที่ของภาคเอกชน รัฐบาลทำหน้าที่เป็นแต่เพียงผู้กำกับภาคเอกชนให้ดำเนินการไปตามกรอบกติกาเท่านั้น
สังเกตได้จากพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจ ดังนี้
(๑) ยุคของการล่าอาณานิคม
(๒) ยุคของการพัฒนา (เครื่องจักร)
(๓) ยุคของการพัฒนา (เครื่องจักรชั้นสูง)
(๔) ยุคโลกไร้พรมแดน (เทคโนโลยี)

๘. ประเทศไทยมีวิวัฒนาการตามข้อ ๗ หรือไม่

---มี---
สังเกตได้จาก พัฒนาการของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับแรกจนกระทั่งแผนฯปัจจุบัน ซึ่งมีพัฒนาการเป็นไปตามลำดับยุคต่าง ๆ ตามข้อ ๗
โปรดศึกษาเพิ่มเติม
§ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๐๖- ๒๕๐๙
§ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๑๐- ๒๕๑๔
§ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๑๕- ๒๕๑๙
§ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๒๐- ๒๕๒๔
§ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๒๕- ๒๕๒๙
§ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๓๐- ๒๕๓๔
§ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕- ๒๕๓๙
§ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๔๕- ๒๕๔๙
§ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๕๐- ๒๕๕๔
ซึ่งมีข้อน่าสังเกตว่า ในแผนฯ ฉบับต่าง ๆ นั้น เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศและการค้าระหว่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญ

๙. ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ ๑๐ มีแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินอย่างไร

แนวทางการพัฒนาด้านการเงิน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจสนับสนุนการปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่ระบบการผลิตที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้นและช่วยกระจายความเจริญและความเป็นธรรมไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ของสังคม โดยการดำเนินนโยบายการเงินที่โปร่งใสตรวจสอบได้และมีความสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาและอัตราแลกเปลี่ยน การกำกับดูแลสถาบันการเงินให้มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ การดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศไม่ให้ผันผวน การพัฒนาตลาดทุนให้ก้าวหน้าและมีการกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพทำให้การพึ่งพาแหล่งเงินทุนมีความสมดุลมากขึ้นระหว่างระบบธนาคารและตลาดทุน การส่งเสริมการออมทำให้การพึ่งพาเงินทุนในประเทศและการระดมทุนจากต่างประเทศมีความสมดุลมากขึ้นและลดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตดุลการชำระเงิน การสร้างความร่วมมือทางการเงินกับประเทศในภูมิภาคเพื่อรองรับวิกฤตจะช่วยให้ประเทศไทยมีความสามารถในการเผชิญวิกฤตได้ดีขึ้น การส่งเสริมระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงมากขึ้นจากการปรับโครงสร้างระบบสถาบันการเงินซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินมีแนวโน้มที่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นจากการรวมตัวและควบรวม การดำเนินงานของระบบประกันเงินฝาก การดำเนินงานของศูนย์ข้อมูลเครดิตและการบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพเงินกองทุนของสถาบันการเงินที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการออมและสนับสนุนให้มีการระดมทุนไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงอย่างเหมาะสม
นอกจากนี้มีการพัฒนาระบบสถาบันการเงินและตลาดทุนให้มีความมั่นคง มีเสถียรภาพกลไกตลาดทำงานอย่างมีประสิทธิภาพทำให้เงินออมของประชาชนมีความมั่นคง ปลอดภัย และมีผลตอบแทน รวมถึงการปรับโครงสร้างสถาบันการเงินตามแผนพัฒนาสถาบันการเงิน และเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสของการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางการเงินที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อให้ระบบสถาบันการเงินมีความมั่นคง และการสร้างความมั่นคงและเข้มแข็งของสถาบันการเงินภายใต้บรรยากาศทางการเงินที่การแข่งขันมากขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กิตติบดี

กฎหมายสถาบันการเงิน : ถาม-ตอบ ตอนที่ ๓



กฎหมายว่าด้วยสถาบันการเงินฯ : ธนาคารแห่งประเทศไทย


ตราสัญลักษณ์ธนาคารแห่งประเทศไทย
พระสยามเทวาธิราชในเหรียญเสี้ยว อัฐ โสฬส ที่ออกใช้ในรัชกาลที่ ๕ มาดัดแปลง และเพิ่มถุงเงินในพระหัตถ์เบื้องขวา ซึ่งเป็นเครื่องหมายถึงผู้คุมถุงเงินของชาติ อันเป็นหน้าที่หลักของธนาคารแห่งประเทศไทย พระแสงธารพระกรในพระหัตถ์ซ้าย เพื่อคอยปัดป้องผู้ที่มารุกราน แต่ได้เปลี่ยนตอนปลายจากรูปดอกไม้มาเป็นลายดอกบัว
keyword :

Independence Central Bank
ความเป็นอิสระ ธนาคารกลาง
หน้าที่ ความรับผิดชอบ

ข้อ ๑. ประวัติความเป็นมาของธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ถือเป็นธนาคารกลางของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๘๕ เริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ มีหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และดูแลระบบการเงินของประเทศ เพื่อที่เศรษฐกิจของประเทศจะได้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพต่อไป
ภายหลังมีการแก้ไขเพิ่มเติมอีก ทั้งนี้ เพื่อให้ “ธปท.” มีการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพขึ้น ได้แก่
พ.ศ. ๒๔๘๗ (ฉบับที่ ๒) โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย
พ.ศ. ๒๕๐๔ (ฉบับที่ ๓) เหตุผลเนื่องจากมีการปรับปรุงเรื่องการดำรงเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ จึงแก้ไขกฎหมายให้สอดรับกัน
พ.ศ. ๒๕๕๑ (ฉบับที่ ๔) มีหลักการและเหตุผลดังต่อไปนี้
หลักการ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ เพื่อ ปรับปรุงวัตถุประสงค์ อำนาจหน้าที่ ทุน และเงินสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้มี คณะกรรมการในการกำหนดนโยบายและมาตรการที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่แต่ละด้าน รวมทั้งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อประสิทธิภาพในการบริหารงาน และกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และการกำกับดูแลธนาคารแห่งประเทศไทยให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

เหตุผล

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงวัตถุประสงค์ อำนาจหน้าที่ และโครงสร้างของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้เหมาะสมกับการดำเนินภารกิจอันพึงเป็นงานของธนาคารกลางในการดำรงไว้ ซึ่งเสถียรภาพทางการเงิน เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน ตลอดจน สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ประกอบกับสมควรให้มีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เฉพาะที่จำเป็นในแต่ละด้าน ได้แก่ คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน เพื่อให้การดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทยในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินและระบบสถาบันการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทันต่อเหตุการณ์และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจทาง การเงินของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการกิจการของธนาคารแห่งประเทศไทย และการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของธนาคาร
รวมทั้งกำหนดการป้องกันการมีส่วนได้เสียของผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานและลูกจ้างของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้การบริหารงานของธนาคารแห่งประเทศไทยมีความโปร่งใส นอกจากนั้นสมควรกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทยมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงินและระบบสถาบันการเงินที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินส่วนรวม กำหนดประเภทสินทรัพย์และเครื่องมือในการดำเนินนโยบายเพื่อการดูแลเสถียรภาพทางการเงินและระบบสถาบันการเงิน และการบริหารจัดการสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตลอดจนให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่มประเภทเงินสำรองและมีระบบการจัดทำบัญชี การตรวจสอบ และการรายงานที่เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพ และคล่องตัว

ข้อ ๒. ธนาคารกลางคืออะไร

ธนาคารกลางเป็นเครื่องมือหรือกลไกหนึ่งของรัฐ ในการดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงิน และเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงจะมีความสัมพันธ์ต่อนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล (ประเทศ) ด้วย
ซึ่งแต่ละประเทศจะมีธนาคารกลาง แต่อาจจะแตกต่างกันในเรื่องของบทบาทหน้าที่ และภารกิจว่าจะมุ่งเน้นในเรื่องใด

ข้อ ๓. แสดงว่า “ธปท.” เป็นหน่วยงานราชการใช่หรือไม่

ตามกฎหมายให้ ”ธปท.” มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น และให้มีสภาพเป็นนิติบุคคล
หมายความว่า “ธปท.” มีอำนาจในการสร้างวัฒนธรรมและรูปแบบการบริหารจัดการเป็นการเฉพาะองค์กร

ข้อ ๔. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลกิจการของ “ธปท.” ใช่หรือไม่

ตามกฎหมายรัฐมนตรีฯ เป็นแต่เพียงผู้รักษาการตามกฎหมายและมีอำนาจออกกฎกระทรวงและประกาศตามกฎหมาย หรือกล่าวโดยสรุปได้ว่า รัฐมนตรีฯ เป็นเพียงผู้กำกับนโยบายมิใช่ผู้ที่มีอำนาจในการควบคุมดูแลกิจการ
สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่ดังกล่าวได้แก่ คณะกรรมการธปท.
คณะกรรมการธปท. ประกอบด้วย
(๑) ประธานกรรมการคณะกรรมการธปท.
(๒) ผู้ว่าการธปท. เป็นรองประธานโดยตำแหน่ง
(๓) รองผู้ว่าการธปท. จำนวน ๓ คน
(๔) เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(๕) ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
(๖) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวน ๕ คน
(๗) เลขานุการ
รวมทั้งสิ้น ๑๓ คน เป็นคณะกรรมการธปท.

ข้อ ๕. หมายความว่า คณะกรรมการธปท. ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการอำนวยการใช่หรือไม่

--ใช่—

ข้อ ๖. การบริหารจัดการและการดำเนินการของ “ธปท.”

กฎหมายให้อำนาจแก่ “ผู้ว่าการธปท.” เป็นผู้รับผิดชอบกิจการทั้งหมดของ “ธปท.”
กิจการทั้งหมด ได้แก่ กระทำกิจการต่าง ๆ เพื่อ
§ รักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
§ รักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน
§ รักษาเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน
นอกจากนี้ กฎหมายให้รวมถึงการดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) การออกและจัดการธนบัตรของรัฐบาลและบัตรธนาคาร
(๒) การกำหนดและดำเนินนโยบายการเงิน
(๓) การบริหารจัดการสินทรัพย์ของ “ธปท.”
(๔)การเป็นนายธนาคารและนายทะเบียนหลักทรัพย์ของรัฐบาล
(๕)การเป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน
(๖)การจัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้งระบบการชำระเงิน
(๗) การกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน
(๘) การบริหารจัดการตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา
(๙) การปฏิบัติตามตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
(๑๐) การจัดการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์

ข้อ ๗. เมื่อพิจารณาจากข้อ ๖. แสดงว่า ผู้ว่าการธปท. มีภารกิจสำคัญมากและกว้างขวาง

--ใช่— แต่กฎหมายมองว่า เรื่องต่าง ๆ ดังกล่าวต้องให้ “ธปท.” ดูแลอย่างองค์รวม เพราะแต่ละเรื่องล้วนมีความสัมพันธ์กัน

ข้อ ๘. แล้วมีตัวช่วยหรือไม่

ตามกฎหมายกำหนดให้ ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ “ธปท.” มีคณะกรรมการชุดต่าง ๆ (นอกจากชุดคณะกรรมการธปท.) อีก ๓ ชุดได้แก่
(๑) คณะกรรมการนโยบายการเงิน เพื่อกำหนดและติดตามการดำเนินการตามนโยบายการเงินของประเทศ
- กำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินของประเทศ โดยคำนึงถึงแนวนโยบายแห่งรัฐสภาวะทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ
- กำหนดนโยบายการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา
- กำหนดมาตรการตามความจำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
- ติดตามการดำเนินมาตรการของ “ธปท.” ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

หลักสากล ในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงิน มีหลัก ๔ ประการ
๑. ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน
๒. ความเป็นอิสระของธนาคารกลางในการดำเนินนโยบายทางการเงิน
๓. ความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายทางการเงิน
๔. ความรับผิดชอบที่ชัดเจนในเรื่องการตัดสินใจและการดำเนินนโยบายการเงิน

(๒) คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน เพื่อกำหนดและติดตามการดำเนินการตามนโยบายเกี่ยวกับการกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน
- กำหนดนโยบายเกี่ยวกับสถาบันการเงิน
- กำหนดนโยบายการเปิดและปิดสาขาสถาบันการเงิน
- กำหนดอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ ที่สถาบันการเงินต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
- เสนอความเห็นและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันการเงินรายใหม่
(๓) คณะกรรมการระบบการชำระเงิน เพื่อกำหนดและติดตามการดำเนินการตามนโยบายเกี่ยวกับระบบการชำระเงิน และระบบการหักบัญชีระหว่างสถาบันการเงิน
- วางนโยบายเกี่ยวกับระบบการชำระเงินที่ธปท.กำกับดูแล และระบบการหักบัญชีระหว่างสถาบันการเงินเพื่อให้เกิดความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และกำกับดูแลเรื่องการจัดตั้งระบบการชำระเงิน

ข้อ ๙. คำว่า Don’t stay too close; don’t stay too far away ในทางการเศรษฐกิจคืออะไร

คำกล่าวนี้เป็นบทบาทและท่าที หรือความสัมพันธ์ระหว่างธปท.กับรัฐบาล
Don’t stay too close หมายถึง “ธปท.” ต้องมีความเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง
Don’t stay too far away หมายถึง “ธปท.” เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจและระบบการเงินของรัฐบาล
ซึ่งในฐานะที่เป็นธนาคารกลาง ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องทำงานให้มีความโปร่งใส และดำเนินนโยบายการเงินอย่างมีหลักเกณฑ์ ไม่เอนเอียงไปตามกระแสหรือแรงกดดันทางการเมืองหรือเหตุผลอื่นๆ ที่มิใช่เป้าหมายที่เป็นที่ยอมรับของนโยบายการเงิน
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ว่าการธปท.กับรัฐบาลนั้น กฎหมายได้กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ที่จะกำกับดูแลโดยทั่วไปในกิจการของ “ธปท.”
และเพื่อประโยชน์ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเงิน หรือระบบสถาบันการเงิน รัฐมนตรีและผู้ว่าการฯ อาจจัดให้มีการหารือร่วมกันเป็นครั้งคราวตามความเหมาะสมได้

ข้อ ๑๐. ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

หลักการ ต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเป็นที่น่าเชื่อถือและยอมรับจากสังคม
--ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐศาสตร์หรือด้านการเงินการธนาคาร—
ภารกิจ ผู้ว่าการฯ รับผิดชอบการบริหารจัดการกิจการและการดำเนินงานของ “ธปท.” ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
ที่มา พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี
**หลักการทำงาน ผู้ว่าการฯ ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระในการบริหารจัดการกิจการของ “ธปท.”
คุณสมบัติ ผู้ว่าการฯ ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย และไม่มีคุณลักษณะที่ไม่น่าเชื่อถือ ๙ ประการ
(๑) อายุเกินกว่า ๖๐ ปี
(๒) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(๓) เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย (ทุจริต)
(๔)เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือลหุโทษ
(๕)เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง
(๖)เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
(๗) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
(๘) เป็นกรรมการหรือดำรงตำแหน่งใดในสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น เว้นแต่เป็นการดำรงตำแหน่งที่กฎหมายบัญญัติไว้เฉพาะ
(๙) เป็นกรรมการ หรือ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการจัดการหรือมีส่วนได้เสียอย่างมีนัยสำคัญในนิติบุคคลซึ่งมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของ “ธปท.”

ข้อ ๑๑. วาระการดำรงตำแหน่งของผู้ว่าการฯ
ตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ว่าการฯ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๕ ปี นับแต่วันที่ทรงแต่งตั้ง และอาจได้รับแต่งตั้งได้อีกไม่เกิน ๑ วาระ
กิตติบดี

กฎหมายสถาบันการเงิน : ถาม-ตอบ ตอนที่ ๒

กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน –-ตอนที่ ๒--

ข้อ ๑. อยากทราบว่านอกจากมีการควบคุม กำกับในเรื่องโครงสร้างแล้ว กฎหมายธุรกิจสถาบันการเงินยังให้ความสำคัญกับเรื่องใดอีกบ้าง

จากที่ทราบแล้วว่า กฎหมายธุรกิจสถาบันการเงินฯ ให้ความตระหนักถึงการคุ้มครองประชาชน (ผู้ฝากเงิน) และระบบเศรษฐกิจของประเทศ กฎหมายฉบับนี้ยังเอื้อต่อการสร้างเสถียรภาพให้แก่ธุรกิจสถาบันการเงินให้มีความเข้มแข็ง ทั้งนี้ เพื่อรองรับการแข่งขันเสรีทางการเงิน

ข้อ ๒. สืบเนื่องจากข้อ ๑ การเปิดเสรีทางการเงินคืออะไร

ด้วยนโยบายทางการค้าและการลงทุน ภายใต้กรอบกติกาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยองค์การการค้าโลกได้มีนโยบาย Free and fair trade และธุรกิจสถาบันการเงินถือว่าเป็นการค้าและการลงทุนประเภทหนึ่ง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (กลุ่มทุนต่างชาติ) ในธุรกิจดังกล่าว

ข้อ ๓. ประเทศไทยไม่ให้ความสำคัญต่อนโยบายเศรษฐกิจโลก หรือการเปิดเสรีทางการเงินดังกล่าวได้หรือไม่

นโยบายเศรษฐกิจโลก หรือการเปิดเสรีทางการเงิน นับเป็นมาตรฐานสากลที่บรรดาประเทศสมาชิกยึดเป็นกติกาโลก หากประเทศไทยไม่ให้ความสำคัญอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับบรรดาประเทศสมาชิกดังกล่าว ซึ่งโดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจอาจทำให้ประเทศได้รับผลกระทบในเรื่อง “ตลาดทางการค้า” “ประเทศคู่ค้า” หรือภาคต่างประเทศ

ข้อ ๔. แต่สามารถคาดการณ์ได้ว่า หากมีการเปิดเสรีทางการเงิน ธุรกิจสถาบันการเงินจะได้รับผลกระทบ

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาและปฏิรูประบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเข้มแข็งต่อไป ดังนี้ จึงเป็นที่มาของการตรากฎหมายธุรกิจสถาบันการเงินฉบับนี้ขึ้น


ข้อ ๕. แล้วอะไรเป็นปัจจัยสำคัญให้ธุรกิจสถาบันการเงิน สามารถที่จะแข่งขันได้

๑. ต้องทำให้สถาบันการเงินมีความน่าเชื่อถือ
๒. ต้องมีการดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำในอัตราที่เหมาะสม
ความหมายของคำว่า “เหมาะสม” พิจารณาได้ ๓ มิติ กล่าวคือ
๑. มิติที่เพียงพอต่อการประกันเงินฝากของประชาชน (คุ้มครองประชาชนผู้บริโภค)
๒. มิติที่เอื้อประโยชน์ต่อการนักลงทุน (พัฒนาระบบเศรษฐกิจ)
๓. มิติที่เอื้อต่อการขยายธุรกรรมทางการเงิน (พัฒนาระบบเศรษฐกิจ)

ข้อ ๖. มีมาตรการใดที่จะทำให้สถาบันการเงินมีความน่าเชื่อถือ

ต้องอาศัยมาตรการทางกฎหมายเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลให้การดำเนินงาน/บริหารงานของสถาบันการเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะให้คำนึงเป็นอย่างยิ่งว่า “เงินที่นำมาใช้ดำเนินงานเป็นเงินของประชาชน” มิใช่ “เงินของธุรกิจตน”
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดมาตรฐานทางวิชาชีพขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งยวดในการดำเนินการ


ข้อ ๗. ทำไมต้องมีมาตรการบังคับเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำ

เป็นที่ทราบกันดีว่า ธุรกิจสถาบันการเงินมีความสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ จนมีคำกล่าวว่า “ธนาคารเป็นการประกอบธุรกิจที่ล้มไม่ได้” ซึ่งจำเดิมแต่อดีตนั้น เมื่อเกิดวิกฤติการณ์ทางการเงิน รัฐบาลจะเข้าไปแก้ไขและยื่นมือเข้าช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่ด้วยนโยบายสากลกำหนดให้รัฐบาลทำหน้าที่เพียงผู้รักษากติกามิใช่ผู้เล่น ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้โดยตรง เพราะจะไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบธุรกิจอื่น แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องระมัดระวังไม่ให้ธนาคารล้ม หรือเกิดวิกฤติศรัทธาต่อระบบสถาบันการเงินภายในประเทศ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องสร้างมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันหรือรองรับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น

ข้อ ๘. การดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำจะช่วยได้หรือ

อย่างน้อยสุดเชื่อว่า การที่มีการกันเงินสำรองย่อมส่งผลกระทบน้อยกว่า การไม่มีหลักเกณฑ์ และรัฐเองก็ไม่ตองแบกรับภาระของภาคธุรกิจเอกชนโดยไม่จำเป็น

ข้อ ๙. มาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนฯ เป็นอย่างไร

(๑) สถาบันการเงินต้องดำรงเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดโดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจประกาศกำหนดประเภทและชนิดของเงินกองทุน รวมทั้งหลักเกณฑ์ในการคำนวณเงินกองทุนของสถาบันการเงิน
(๒) สถาบันการเงินต้องดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน ภาระผูกพัน หรือตัวแปรและความเสี่ยงอื่นใดตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
ในกรณีที่ปรากฏว่าสถาบันการเงินใดมีความเสี่ยงสูง ธนาคารแห่งประเทศไทยจะสั่งการให้สถาบันการเงินนั้นดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควรก็ได้
(๓) ให้สถาบันการเงินเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนและข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงของสถาบันการเงินหรือกลุ่มธุรกิจทางการเงินตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
สำหรับสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจตามความในพระราชบัญญัตินี้ ต้องดำรงสินทรัพย์ไว้ในประเทศไทยหรือมีหลักทรัพย์ในต่างประเทศตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด และให้ถือว่าสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นเงินกองทุนตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ประกอบด้วย
(๑) เงินที่นำเข้ามาจากสำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นของสถาบันการเงินต่างประเทศซึ่งตั้งอยู่นอกประเทศไทย
(๒) เงินสำรองต่าง ๆ แต่ไม่รวมถึงเงินสำรองสำหรับการลดค่าของสินทรัพย์และเงินสำรองเพื่อการชำระหนี้ หรือ
(๓) เงินกำไรสุทธิแต่ละรอบปีบัญชีของสาขาหลังจากหักผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในทุกรอบปีบัญชีแล้ว และให้รวมถึงเงินกำไรที่ได้โอนไปเป็นส่วนของสำนักงานใหญ่ในทางบัญชีแล้วแต่ยังไม่ได้จำหน่ายออกนอกราชอาณาจักร

ข้อ ๑๐. การดำรงเงินกองทุนฯ ดังกล่าวอาศัยหลักการสากลหรือไม่ อย่างไร

---อาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากลที่เรียกว่า บาสเซิล---
เนื่องจาก ต้องการกำกับดูแลสถาบันการเงินให้ดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังรอบคอบ เพื่อให้สถาบันการเงินมีฐานะมั่นคง การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันได้ และมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี
สาเหตุว่า สถาบันการเงินนั้นมีความเสี่ยงอยู่หลายประการ ได้แก่
๑. ความเสี่ยงจากการดำเนินงาน
๒. ความเสี่ยงด้านเครดิต
๓. ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
๔. ความเสี่ยงด้านตลาด
๕. ความเสี่ยงด้านความเชื่อถือ
๖. ความเสี่ยงด้านกฎหมาย

ข้อ ๑๑. มาตรการในการกำกับดูแลสถาบันการเงินตามหลักการสากลเป็นอย่างไร

๑.การกำกับดูแลเรื่องปริมาณ หรือความพอเพียงของสภาพคล่องของสถาบันการเงิน ในที่นี้รวมถึงการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง และการกระจายความเสี่ยง
๒. การกำกับดูแลในด้านคุณภาพ ได้แก่
๒.๑ การดำเนินการของผู้บริหารสถาบันการเงิน
๒.๒ ระบบการตรวจสอบและควบคุมภายใน

ข้อ ๑๒. มาตรฐานสากลของการกำกับดูแลสถาบันการเงิน

สามารถแบ่งได้เป็น ๒ หน่วยงาน ได้แก่
๑. The Bank of International Settlement หรือ BIS และ
๒. World Bank และ IMF
BIS ออกกฎเกณฑ์และวิธีการในการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือที่รู้จักกันว่า BIS ratio ตั้งแต่ปี คศ. ๑๙๘๘ หรือBasel I ซึ่งถือเป็นมาตรการในการกำกับดูแลสถาบันการเงินให้เป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชน มีการกำหนดการให้ใบอนุญาต โครงสร้างของสถาบันการเงิน การกำกับดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงินการตรวจสอบ และการแก้ไขกรณีสถาบันการเงินเกิดปัญหา หรือ เราอาจเรียกว่า “เสาหลัก”
สำหรับ WB และ IMF ได้ออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องการชำระบัญชี การดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล (โปร่งใส ตรวจสอบได้ และความถูกต้อง)

ข้อ ๑๓. ปัจจุบันในยุคการเปิดเสรีทางการเงิน ยังคงใช้มาตรฐานสากลตามข้อ ๑๒ หรือไม่ อย่างไร

ปัจจุบันก็ยังคงใช้บังคับอยู่ แต่เมื่อบริบททางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงมีการแข่งขันมากขึ้น จึงต้องมีมาตรการเสริม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเสริมสภาพคล่องทางการเงิน จึงมีการออกหลักเกณฑ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ Basel II

ข้อ ๑๔. แสดงว่า Basel I และ Basel II ไม่ได้ขัดแย้งกัน

ใช่ โดยที่บาสเซิล สองมาทำหน้าที่ในการเสริมจุดอ่อนของบาสเซิล หนึ่ง

ข้อ ๑๕. บาสเซิล หนึ่งมีจุดอ่อน

การออกมาตรฐานดังกล่าว มีความเหมาะสมในบริบทหนึ่ง กล่าวคือ บาสเซิล หนึ่ง ได้เข้ามาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงิน ให้สังคมคุ้นชินกับการทำธุรกรรมทางการเงินโดยมีสถาบันการเงินเป็นหน่วยสำคัญ และเมื่อระบบเศรษฐกิจได้อาศัยสถาบันการเงินเป็นตัวจักรสำคัญที่ขาดไม่ได้แล้ว การพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความเข้มแข็งและมั่นคง จึงต้องมีกลไกหรือมาตรฐานสากลเข้ามาเติมเต็มในจุดนี้
ที่กล่าวว่าบาสเซิล หนึ่งมีจุดอ่อน เพราะ
๑. การไม่สะท้อนความเสี่ยงในเรื่องสินเชื่อ
๒. สินทรัพย์ที่สามารถนำมาลดความเสี่ยงได้มีน้อย

ข้อ ๑๖. บาสเซิลสองเป็นอย่างไร

อย่างที่กล่าวไว้ในข้อ ๑๕ บาสเซิล สองมาอุดช่องว่างของบาสเซิล หนึ่ง และมีการเพิ่มเติมเรื่องดังต่อไปนี้
๑. มีการครอบคลุมความเสี่ยงมากขึ้น (ความเสี่ยงในการดำเนินงาน/ปฏิบัติการ)
๒. การดำรงเงินกองทุนสำรอง
๓. เพิ่มทางเลือกในการประเมินความเสี่ยง


ข้อ ๑๗. หลักการในการกำกับดูแลเงินกองทุนตามบาสเซิล สอง

๓ หลักการ (เพิ่มอีก ๓ เสา) รวมของเดิม ๑ เสา เป็น ๔ เสาหลักในการสร้างเสถียรภาพของสถาบันการเงิน
๑. การดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำ
๒. การตรวจสอบ
๓. การใช้กลไกทางตลาด


ข้อ ๑๘. การดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำ เพื่ออะไร

เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับสถาบันการเงิน
ความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ ความเสี่ยงด้านตลาด

ข้อ ๑๙. การตรวจสอบสถาบันการเงินหน่วยงานใดเป็นผู้กำกับดูแลและตรวจสอบ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ปัจจุบัน)

ข้อ ๒๐. มีหลักการอย่างไร

๑. ตรวจสอบสถาบันการเงินให้มีการดำรงเงินกองทุนที่เพียงพอ
๒. ตรวจสอบถึงความสามารถในการดำเนินงาน
๓. กำกับดูแลให้สถาบันการเงินมีการดำรงเงินกองทุนมากกว่าที่กำหนดไว้ขั้นต่ำ
๔. หลักความชัดเจน เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ

ข้อ ๒๑. กฎหมายธุรกิจสถาบันการเงิน อาศัยหลักการบาสเซิล หนึ่ง และสอง หรือไม่ อย่างไร

ใช้ตามมาตรฐานสากล ให้ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ประกอบธุรกิจได้เฉพาะธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ แล้วแต่กรณี และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง หรือจำเป็นต่อการประกอบธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะประกาศกำหนดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องหรือจำเป็นโดยแยกตามประเภทสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์แต่ละชนิดก็ได้ และจะกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องหรือจำเป็นนั้นด้วยก็ได้

ข้อ ๒๒. กฎหมายธุรกิจสถาบันการเงิน คำนึงถึงเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร

เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจประกาศกำหนดให้สถาบันการเงินประเภทหนึ่งประเภทใดถือปฏิบัติในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) การรับฝากเงิน การรับเงินจากประชาชน การกู้ยืมเงิน การลงทุน การให้สินเชื่อ การก่อภาระผูกพัน และการประกอบธุรกิจอื่นที่สถาบันการเงินนั้นดำเนินการได้
(๒) การทำนิติกรรมหรือสัญญากับประชาชน ผู้บริโภค หรือลูกค้ารายย่อยในการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงิน ซึ่งมีทุนทรัพย์หรือมูลค่าตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ไม่ว่าจะเป็น
ในเนื้อหาสาระ วิธีการคำนวณผลประโยชน์หรือแบบสัญญา
(๓) การทำสัญญาค้ำประกันด้วยบุคคล โดยให้มีการระบุวงเงินของต้นเงินในสัญญา หรือมิให้มีการทำข้อตกลงให้ผู้ค้ำประกันทำสัญญาค้ำประกันแบบไม่จำกัดจำนวนในกรณีที่เป็นการค้ำประกันหนี้อันจะต้องชำระ ณ เวลาที่มีกำหนดแน่นอน และสถาบันการเงินยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ชั้นต้น แต่ไม่สามารถจะตกลงกันได้ภายในเวลาหกเดือน ให้สถาบันการเงินแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบ
(๔) ข้อที่ต้องปฏิบัติหากนิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นนั้นให้สิทธิแก่สถาบันการเงินที่จะเปลี่ยนแปลงสัญญาได้ฝ่ายเดียว
(๕) การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันการเงิน

ข้อ ๒๓. การตรวจสอบสถาบันการเงิน สามารถกระทำได้หรือไม่

ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเพื่อความมั่นคงของสถาบันการเงินและเพื่อการตรวจสอบของผู้ตรวจการสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติ ในเรื่องดังต่อไปนี้ได้
· การทำนิติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงิน
· การตรวจสอบและการควบคุมภายในสถาบันการเงิน
· การบริหารและการจัดการของสถาบันการเงิน
ในการแก้ไขภาวะเศรษฐกิจ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจประกาศกำหนดในเรื่องดังต่อไปนี้
· กำหนดวงเงินที่สถาบันการเงินจะให้สินเชื่อ ทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ รับรอง หรือรับอาวัลตั๋วเงินสำหรับกิจการประเภทหนึ่งประเภทใด ทั้งนี้ จะกำหนดเป็นอัตราส่วนกับยอดเงินทั้งหมดที่สถาบันการเงินให้สินเชื่อ ทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ รับรองรับอาวัลตั๋วเงิน หรือเป็นอัตราส่วนกับเงินกองทุนของสถาบันการเงินหรือยอดเงินที่ได้กู้ยืมและรับจากประชาชน ณ ขณะหนึ่งขณะใดก็ได้
· ห้ามมิให้สถาบันการเงินให้สินเชื่อ หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อในกิจการประเภทใด ๆ เพิ่มขึ้นหรือสูงกว่าอัตราที่กำหนด ทั้งนี้ จะกำหนดเป็นอัตราส่วนกับยอดเงินทั้งหมดที่สถาบันการเงินให้สินเชื่อ หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อในแต่ละกิจการ ณ ขณะหนึ่งขณะใดก็ได้
และในการดำเนินการต่อไปนี้ สถาบันการเงินจะต้องได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน
๑) ขายหรือโอนกิจการของสถาบันการเงินทั้งหมดหรือบางส่วนที่สำคัญให้แก่บุคคลอื่นตามมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
๒) ซื้อหรือรับโอนกิจการบริษัทอื่นทั้งหมดหรือบางส่วนที่สำคัญมาเป็นของสถาบันการเงินตามมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
๓) ทำสัญญา ยินยอม หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่กรรมการ ผู้จัดการ หรือพนักงานของสถาบันการเงิน มีอำนาจทั้งหมดหรือบางส่วนในการบริหารงานของสถาบันการเงิน หรือรวมกิจการกับบุคคลอื่น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งกำไรขาดทุนกัน

ข้อ ๒๔. เรื่องความเสี่ยงอันเกิดจากการให้สินเชื่อ มีการควบคุมอย่างไร

กฎหมายได้กำหนดถึงเรื่องดังกล่าว โดยกำหนดห้ามสถาบันการเงิน (ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม) ในการดำเนินการให้สินเชื่อดังต่อไปนี้
(๑) ให้สินเชื่อ ทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ หรือประกันหนี้แก่กรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว เว้นแต่การให้สินเชื่อในรูปของบัตรเครดิตตามอัตราขั้นสูงที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด หรือการให้สินเชื่อเพื่อเป็นสวัสดิการแก่บุคคลดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
(๒) รับรอง รับอาวัล หรือสอดเข้าแก้หน้าในตั๋วเงินที่กรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว เป็นผู้สั่งจ่าย ผู้ออกตั๋ว หรือผู้สลักหลัง
(๓) จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นแก่กรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว เป็นค่าตอบแทนสำหรับหรือเนื่องจากการกระทำหรือการประกอบธุรกิจใด ๆ ของสถาบันการเงินนั้น ซึ่งมิใช่บำเหน็จ เงินเดือน รางวัล และเงินเพิ่มอย่างอื่นบรรดาที่พึงจ่ายตามปกติ
(๔) ขาย ให้ หรือให้เช่าทรัพย์สินใด ๆ แก่กรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการผู้ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว หรือรับซื้อ หรือเช่าทรัพย์สินใด ๆ จากบุคคลดังกล่าวมีมูลค่ารวมกันสูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย
(๕) ให้ผลประโยชน์อื่นใดแก่กรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
นอกจากนี้ ยังได้มีการห้ามมิให้สถาบันการเงินให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือแก่กิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันเมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ ในแต่ละรายเกินร้อยละห้าของเงินกองทุนชนิดหนึ่งชนิดใดของสถาบันการเงินนั้น หรือเกินร้อยละยี่สิบห้าของหนี้สินทั้งหมดของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือของกิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องนั้น แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า ทั้งนี้ ให้นับการให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เป็นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่นั้นด้วย

ข้อ ๒๕. ข้อเท็จจริงของการให้สินเชื่อมีความซับซ้อนมากขึ้น

ห้ามมิให้สถาบันการเงินให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือแก่บุคคลหลายคนรวมกันในโครงการหนึ่งโครงการใด หรือเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน เมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ เกินร้อยละยี่สิบห้าของเงินกองทุนชนิดหนึ่งชนิดใด ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
แต่ในกรณีที่สถาบันการเงินใด ควบรวมกิจการ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือจำหน่าย จ่ายโอน
สินทรัพย์ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือกรณีมีเหตุอันสมควรอื่นใด ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจ
ผ่อนผันให้สถาบันการเงินนั้นไม่ต้องปฏิบัติตามวรรคหนึ่งเป็นการชั่วคราวได้

ข้อ ๒๖. ตามข้อ ๒๕ มีข้อยกเว้น

๑) ให้สินเชื่อหรือก่อภาระผูกพันที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เกินจำนวนที่ได้รับการค้ำประกัน
๒) ให้สินเชื่อหรือก่อภาระผูกพันแก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือธนาคารแห่งประเทศไทย
๓) ลงทุนโดยการซื้อหลักทรัพย์รัฐบาลไทย หลักทรัพย์ธนาคารแห่งประเทศไทย หลักทรัพย์กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือหลักทรัพย์สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หลักทรัพย์ที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น หรือหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เกินราคาที่ตราไว้
๔) ให้สินเชื่อโดยมีเงินฝากของสถาบันการเงินนั้น หลักทรัพย์รัฐบาลไทย หลักทรัพย์ธนาคารแห่งประเทศไทย หลักทรัพย์กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือหลักทรัพย์สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หลักทรัพย์ที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นหรือหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เป็นประกัน ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เกินจำนวนเงินฝากที่เป็นประกันหรือราคาหลักทรัพย์ที่ตราไว้
๕) ค้ำประกันการขายหลักทรัพย์ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
๖) ให้กู้ยืมระหว่างสถาบันการเงินตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
๗) ให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อที่มีความเสี่ยงน้อยหรือมีความเสี่ยงเทียบเท่าหลักทรัพย์รัฐบาล ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
๘) ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อการค้า

ข้อ ๒๗. นอกเหนือจากบาสเซิส สอง ยังได้นำการกำกับทั่วไปของบาสเซิล หนึ่งมาด้วย

ห้ามมิให้สถาบันการเงินกระทำการดังต่อไปนี้
(๑) ลดทุนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ในการอนุญาตธนาคาร
แห่งประเทศไทยอาจกำหนดหลักเกณฑ์ในการลดทุนไว้ด้วยก็ได้ และมิให้นำมาตรา ๑๑๑๗ มาตรา ๑๒๒๕ และมาตรา ๑๒๒๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา ๑๓๙ วรรคหนึ่ง
และมาตรา ๑๔๑ แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕ แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับ
(๒) ซื้อหรือมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่
(ก) เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับการประกอบธุรกิจ หรือเป็นที่พัก หรือเพื่อสวัสดิการของพนักงานและลูกจ้างของสถาบันการเงินนั้นตามสมควร โดยได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยในการอนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทยอาจกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ด้วยก็ได้
(ข) เป็นการได้มาจากการชำระหนี้ การประกันการให้สินเชื่อ การซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่สถาบันการเงินนั้นรับจำนองไว้จากการขายทอดตลาดโดยคำสั่งศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ต้องจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวภายในห้าปีนับแต่วันที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตกเป็นของสถาบันการเงิน ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นธนาคารแห่งประเทศไทยจะขยายเวลาการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว โดยธนาคารแห่งประเทศไทยอาจกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ด้วยก็ได้
(ค) เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทเงินทุนที่ประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการเคหะ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ซื้อหรือมีไว้เพื่อประกอบธุรกิจ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
(๓) รับหุ้นของสถาบันการเงินนั้นเป็นประกัน หรือรับหุ้นของสถาบันการเงินประเภทเดียวกันจากสถาบันการเงินอื่นที่เป็นสถาบันการเงินประเภทเดียวกันเป็นประกันในกรณีที่มีการดำเนินการดังต่อไปนี้ ให้สถาบันการเงินแจ้งเป็นหนังสือให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการดำเนินการดังกล่าว
(๑) แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ หรือข้อบังคับของสถาบันการเงิน
(๒) เปลี่ยนแปลงกรรมการ กรรมการบริหาร ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน
นอกจากนี้ยังกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจให้สถาบันการเงินจัดเก็บข้อมูล บัญชี เอกสาร ดวงตรา หรือหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับกิจการ สินทรัพย์และหนี้สิน ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด หากสถาบันการเงินใดไม่ประกอบธุรกิจสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตในปริมาณที่สถาบันการเงินพึงประกอบตามปกติตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดธนาคารแห่งประเทศไทยอาจสั่งให้สถาบันการเงินนั้นประกอบกิจการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ ในการนี้ จะกำหนดหลักเกณฑ์และระยะเวลาไว้ด้วยก็ได้ และหากสถาบันการเงินไม่ดำเนินการตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสั่งการ ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจสั่งปิดกิจการสถาบันการเงินนั้นก็ได้ เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งปิดกิจการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้เสนอรัฐมนตรีเพิกถอนใบอนุญาตของสถาบันการเงินและให้ชำระบัญชีสถาบันการเงินนั้น

กิตติบดี

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...