วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สรุปการบรรยายละเมิด (๘) เรื่อง จงใจหรือประมาทเลินเล่อ


ตามที่ได้บรรยายในครั้งก่อนว่าในความรับผิดเพื่อละเมิดตามมาตรา ๔๒๐ โจทก์ต้องบรรยายให้ศาลเห็นถึงในส่วนความผิดของจำเลย ซึ่งประกอบด้วย (๑) จำเลยได้กระทำต่อโจทก์ (๒) โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ และ (๓) โดยผิดกฎหมาย 


คราวนี้ในการพิจารณาว่า อย่างไรถึงเป็นจงใจ หรือ ประมาทเลินเล่อนั้น ถือเป็นส่วนสำคัญนอกจากจะครบองค์ประกอบแห่งละเมิดแล้ว ยังมีผลในเรื่องการกำหนดระดับความร้ายแรงแห่งละเมิดด้วย แต่อย่างไรก็ดี ในทางแพ่ง (ละเมิด) กฎหมายมุ่งให้ผู้กระทำต้องรับผิดชอบไม่ว่าจะจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ตาม ซึ่งตรงนี้อาจจะแตกต่างกับในทางอาญาที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงเจตนาหรือประมาทเนื่องจากการกำหนดบทลงโทษแตกต่างกัน

 

ในทางละเมิด "จงใจ" เทียบเคียงได้กับ "เจตนา" ในทางอาญา ซึ่เจตนาในทางอาญาหมายถึงเจตนาประสงค์ต่อผลและเจตนาย่อมเล็งเห็นผลแห่งการกระทำ เช่น นายกิตติใช้ไม้ตีนายหมอดี แสดงว่านายกิตติมีเจตนาประสงค์ต่อผลให้นายหมอดีได้รับอันตราย หรือนายกิตติเขวี้ยงไม้ไปในที่ที่นายหมอดีนั่งอยู่ ในทางอาญาอาจมองว่านายกิตติมีเจตนาชนิดย่อมเล็งเห็นผลแห่งการกระทำได้ ซึ่งมีผลเท่ากับนายกิตติมีเจตนาทำร้าย แต่ในทางละเมิดเจตนาชนิดย่อมเล็งเห็น จะถือเป็นประมาทเลินเล่อชนิดเข้ม ๆ หรือบางครั้งอาจใช้คำว่าประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ซึ่งอาจแบ่งเป็นระดับดังนี้

(๑) จงใจ (ทางแพ่ง) เทียบเคียงกับ เจตนาประสงค์ต่อผล (ทางอาญา)

(๒) ประมาทเลินเล่อ แบ่งเป็น

๒.๑ ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เทียบเคียงกับ เจตนาย่อมเล็งเห็นผล

๒.๒ ประมาทเลินเล่อ เทียบเคียงกับ ประมาท (ทางอาญา)

๒.๓ ประมาท เทียบเคียงกับ ประมาท (ทางอาญา)

ขอให้พิจารณาถึงนิตินโยบายของละเมิดและความรับผิดทางอาญา ผมเห็นว่า ในการบรรยายฟ้องและนำสืบพิสูจน์ให้ศาลเห็นถึงระดับความร้ายแรงของการกระทำละเมิดได้ จะมีส่วนสัมพันธ์กับการใช้ดุลยพินิจของศาลในการกำหนดค่าสินไหมทดแทน อย่างที่ให้ความเห็นไว้ก่อนหน้าแล้วว่า ในปัจจุบันบทบาทของนักกฎหมายต้องปรับใช้/ตีความกฎหมาย (ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร) เพื่อ่ให้ความเป็นธรรมต่อสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตมาตรฐานของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนทั่วไปที่ถือว่าเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีและไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ที่มีเปรียบกว่าทางสังคม เพราะในปัจจุบันปัจเจกชน (เอกชน) กับปัจเจกชน (เอกชน) ไม่เท่าเทียมกันใความเป็นจริง 

ฉะนั้น ในการปรับใช้กฎหมายละเมิด หากโจทก์นำสืบให้เห็นถึง (ก) สถานภาพความมีเปรียบของจำเลย ไม่ว่า สถานะ  ความรู้ความชำนาญการ หรือจำเลยเป็นผู้มีวิชาชีพ หรือประกอบธุรกิจ เช่นว่านั้น  (ข) พฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานความรับผิดชอบของจำเลยที่มีต่อผู้เสียหาย หรือสังคมแล้ว การใช้มาตรา ๔๓๘ เรื่อง การกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดควรขยายขอบเขตให้กว้างขวางมากกว่าการเยียวยาความเสียหายให้ถึงขนาดเพ่ือสร้างมาตรฐานทางสังคมอีกทางหนึ่งด้วย เช่น หากพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็น (ก) และจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงให้ต้องได้รับความเสียหายแก่ผู้อื่นแล้ว การกำหนดค่าสินไหมทดแทนต้องเป็นไปเพื่อสร้างมาตรฐานให้แก่สังคมมากกว่าการเยียวยาความเสียหายที่แท้จริง มิเช่นนั้น กฎหมายจักไม่สามารถผดุงความเป็นธรรมให้แก่สังคมในฐานะเป็นวิศวกรทางสังคมได้เลย ยกตัวอย่างเช่น การตีพิมพ์ข่าวสารที่ละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคลโดยที่ยอดขาย (กำไร) มากกว่าค่่าสินไหมทดแทนที่ต้องชดใช้ ---ซึ่งจะเป็นช่องทางให้นักธุรกิจแสวงหาผลกำไร โดยคำนวณความเสี่ยงทางกฎหมายเป็นต้นทุนทางการค้า ซึ่งผมเห็นว่านักธุรกิจไม่ผิด (แต่ไม่ควรตามจริยธรรมของผู้ประกอบธุรกิจ) ผู้ที่ผิดคือกระบวนการยุติธรรมที่ตามไม่ทันต่างหาก---

 

คำว่า "จงใจ" คือ ความประสงค์หรือมุ่งหมายให้ผู้อื่นเสียหาย เรามีหลักพิจารณาความมุ่งหมายของผู้กระทำว่า "กรรมเป็นเครื่องแสดงเจตนา" กล่าวคือ การกระทำที่แสดงออกมา (พฤติกรรม) จักเป็นตัวบอกเองว่า ผู้นั้นมีความมุ่งประสงค์อย่างไร และที่สำคัญข้อเท็จจริงส่วนมากที่ไม่สลับซับซ้อนอะไร สามัญสำนึกของเราจำเป็นตัวบอกเราเองว่าการกระทำนั้นเป็นละเมิดหรือไม่ (Law is common sense) หรือตามหลัก They speak themselves 


คราวนี้ลองมาดูตัวอย่าง "จงใจ" 

เรื่องที่ ๑

การที่จำเลยที่ ๑ สำแดงข้อความอันเป็นเท็จในใบขนสินค้าขาออกฉบับพิพาท โดยไม่มีการส่งออกไปต่างประเทศจริง จำเลยที่ ๑ จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษีและไม่มีสิทธิโอนสิทธิตามบัตรภาษีให้บุคคลอื่น การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการจงใจกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๐ จำเลยที่ ๑ จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตามมูลค่าบัตรภาษีให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา  ๒๐๖ คือวันที่จำเลยที่ ๓ รับบัตรภาษีพิพาทไปจากโจทก์ มิใช่นับแต่วันที่มีการนำบัตรภาษีไปชำระค่าภาษีอากร จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ ๑ จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ด้วย (คำพิพากษาฎีกา ๔๒๒๘/๒๕๕๐)


เรื่องที่ ๒ นำคดีแรงงานมาให้พิจารณา (ไม่ใช่คดีละเมิดโดยตรง) เนื่องจากศาลวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงที่ลูกจ้างฝ่าฝืนคำสั่งนายจ้างเป็นการจงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

หลังจากจำเลยมีคำสั่งห้ามไม่ให้ปล่อยเงินกู้นอกระบบในบริษัทจำเลยแล้ว โจทก์ยังฝ่าฝืนปล่อยเงินกู้นอกระบบให้ลูกจ้างของจำเลยกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ ๑๐ ต่อเดือน อันเป็นการกระทำความผิดอาญาตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ ซึ่งแม้จะมิใช่เป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง แต่ก็เป็นการกระทำความผิดอาญาในระหว่างการทำงาน ทั้งยังเป็นการเอาเปรียบและสร้างความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนร่วมงานซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานส่งผลกระทบต่อกำลังใจในการทำงาน ย่อมทำให้กิจการของจำเลยได้รับความเสียหาย การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยในกรณีร้ายแรง และเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม                       (คำพิพากษาฎีกา ๕๙๗๘/๒๕๔๙)


เรื่องที่ ๓ จำเลยกระทำลงไปโดยรู้ว่าตนไม่มีสิทธิ (การรู้เป็นจงใจ)

จำเลยยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์อ้างว่า จำเลยเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกซึ่งเป็นเท็จ ความจริงจำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรตามกฎหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์หลงเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากร จึงออกบัตรภาษีให้แก่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ตามคำขอของจำเลย ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ได้นำบัตรภาษีไปใช้ชำระค่าภาษีอากรแทนเงินสดและโจทก์ได้ใช้เงินตามมูลค่าบัตรภาษีเป็นค่าภาษีอากรแทนแล้ว โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยรับผิดใช้เงินตามมูลค่าบัตรภาษีดังกล่าว การกระทำของจำเลยเช่นนี้เป็นการจงใจกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหายแก่ทรัพย์สินอันเป็นการทำละเมิด ซึ่งจำเลยได้ชื่อว่าเป็นผู้ผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารดังกล่าวได้รับบัตรภาษีไปจากโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๐, ๒๐๖ และ ๒๒๔ วรรคแรก (คำพิพากษาฎีกา ๔๗๕๗/๒๕๔๙)


เรื่องที่ ๔ คดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

การที่จำเลยไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งมีส่วนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้ จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้กระทำการอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖๗ วรรคหนึ่ง ภายใน ๕ ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นตามมาตรา ๔๐ ทั้งนี้ไม่ว่าโจทก์จะได้ยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา ๓๕ ไว้หรือไม่ก็ตาม เพราะตามบทบัญญัติ มาตรา ๖๗ วรรคหนึ่ง มิได้มีข้อกำหนดจำกัดสิทธิของโจกท์ว่าจะต้องยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ก่อนฟ้องคดีเมื่อพฤติการณ์ของจำเลยชี้ให้เห็นว่าจำเลยจงใจลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แม้ราคาสินค้าจะแตกต่างกันอย่างมาก ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จำเลยจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในกรณีนี้ได้ เพราะผู้ซื้ออาจหลงผิดไปว่าเป็นสินค้า ลดราคาของโจทก์ได้ เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อที่ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกับโจทก์ จึงนับได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือ หลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ จึงไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่จะพึงรับจดทะเบียนให้ได้ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๖ (๓๓) และ ๑๓(๒) 

(คำพิพากษาฎีกา ๓๓๔๔/๒๕๔๕)


เรื่องที่ ๕

ผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ชำระสะสางการงานของบริษัทให้เสร็จไปกับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทตามมาตรา ๑๒๕๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่บริษัท บ. ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลกับภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้อง จำเลยซึ่งเป็นทั้งกรรมการและผู้ชำระบัญชีของบริษัทดังกล่าวมีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของบริษัทที่ตนเป็นกรรมการตามมาตรา ๑๑๖๘ และในฐานะที่เป็นผู้ชำระบัญชีตามมาตรา ๑๒๕๒ จึงควรจะต้องรู้ว่าบริษัทเป็นหนี้ค่าภาษีอยู่ การที่จำเลยมิได้เก็บรักษาเอกสารไว้ตามมาตรา ๑๒๗๑ อีกทั้งเมื่อจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้วมิได้แจ้งการเลิกกิจการภายใน ๑๕ วัน นับจากวันเลิกประกอบกิจการตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๘๕/๑๕ แต่ไปแจ้งหลังจากนั้น ๑ ปีเศษและรีบจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีโดยบริษัทยังมีเงินสดเหลืออยู่อีก ๑.๕๓๘,๙๐๕.๔๔ บาท แต่มิได้กันเงินที่จะชำระหนี้ให้กรมสรรพากรโจทก์โดยกลับแบ่งเงินเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้ถือหุ้น อันขัดต่อมาตรา ๑๒๖๔ และมาตรา ๑๒๖๙ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีโดยฝ่าฝืนกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์                             (คำพิพากษาฎีกา ๓๑๙๙/๒๕๔๕)


เรื่องที่ ๖

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดโจทก์ทำเอกสารปลอมและเท็จขึ้นซึ่งสำเนาใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้าฉบับมุมน้ำเงินของด่านศุลกากรกระบี่จำนวน ๓ ฉบับ ให้แก่บริษัทสินร่วม จำกัด นำไปแสดงต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนว่าบริษัทสินร่วม จำกัด ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนด การที่โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บค่าภาษีอากรเนื่องมาจากโจทก์หลงเชื่อว่าบริษัท ส. จำกัด ได้ส่งผลิตภัณฑ์ออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนด ตามเอกสารที่จำเลยเป็นผู้ทำปลอมและเท็จขึ้น แม้ต่อมาโจทก์ตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าวปฏิบัติผิดเงื่อนไข เป็นผลให้โจทก์สามารถเรียกเก็บภาษีอากรจากบริษัทดังกล่าวได้หรือสิทธิในการเรียกเก็บภาษีอากรของโจทก์จากบริษัทดังกล่าวยังมิได้หมดสิ้นไป แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์แจ้งให้บริษัทดังกล่าวนำเงินค่าภาษีอากรมาชำระ แต่บริษัทดังกล่าวเพิกเฉยซึ่งจำเลยก็ไม่นำสืบให้เห็นได้ว่าโจทก์สามารถเรียกเก็บภาษีจากบริษัทดังกล่าวหรือจากธนาคารที่ออกหนังสือค้ำประกันแทนการชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าวได้ การที่โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บภาษีอากรดังกล่าวได้จึงมีผลมาจากการกระทำโดยจงใจของจำเลยโดยตรงที่กระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายและทำให้โจทก์เสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ (คำพิพากษาฎีกา ๖๔๘๙/๒๕๔๓)


เรื่องที่ ๗

ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวนสถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆกับพวกซึ่งไม่มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ได้ร่วมกันจับโจทก์ข้อหาร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจร โดยจับโจทก์ขณะขับรถจักรยานยนต์อยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยไม่ปรากฏว่ามีหมายจับ และยึดรถจักรยานยนต์ของโจทก์แล้วไปค้นบ้านพักโจทก์โดยจำเลยเอาหมายค้นบ้านเลขที่ ๓๗๙ มาแก้ไขเลขที่บ้านให้ตรงกับบ้านโจทก์ และยึดอะไหล่รถจักรยานยนต์กับเครื่องมือรวม ๖๕ รายการ เป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆดำเนินคดี ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์โจทก์ขอคืนของกลางจากพนักงานสอบสวนแต่ได้รับแจ้งว่าไม่มีการยึดทรัพย์ของโจทก์เป็นของกลาง และให้โจทก์ขอคืนของกลางจากพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย เขต ๑เมื่อโจทก์ขอคืนของกลางก็ได้รับแจ้งอีกว่าไม่ได้ยึดทรัพย์ของโจทก์ไว้เป็นของกลางเช่นเดียวกัน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยมียศพันตำรวจตรี ตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวนสถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆจึงเป็นเพียงพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๑๖) มิใช่สารวัตรตำรวจอันเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามมาตรา ๒ (๑๗) (ภ) จำเลยจะจับผู้ใดและค้นในที่รโหฐานแห่งใดจะต้องมีหมายจับและหมายค้นด้วย เว้นแต่จะต้องด้วยข้อยกเว้นให้จำเลยจับและค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายจับและหมายค้น ดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗๘ และมาตรา ๙๒ บัญญัติไว้ว่า

"มาตรา ๗๘ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับนั้นไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้

(๑)เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๘๐

(๒)เมื่อพบบุคคลนั้นกำลังพยายามกระทำความผิดหรือพบโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะกระทำความผิดโดยมีเครื่องมืออาวุธหรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด

(๓)เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดมาแล้วและจะหลบหนี

(๔)เมื่อมีผู้ขอให้จับโดยแจ้งว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดและแจ้งด้วยว่าได้ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบแล้ว

เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่จับด้วยตนเองไม่ต้องมีหมาย แต่ต้องเป็นในกรณีที่อาจออกหมายจับได้ หรือจับได้ตามประมวลกฎหมายนี้"

"มาตรา ๙๒ ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นเว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้น และในกรณีต่อไปนี้

(๑)เมื่อมีเสียงร้องให้ช่วยมาจากข้างในที่รโหฐาน

(๒)เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้ากำลังกระทำลงในที่รโหฐาน

(๓)เมื่อบุคคลที่ได้กระทำความผิดซึ่งหน้า ขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไปหรือมีเหตุอันแน่นแฟ้นควรสงสัยว่าได้เข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในที่รโหฐานนั้น

(๔)เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าสิ่งของที่ได้มาโดยการกระทำผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในนั้น ประกอบทั้งต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายเสียก่อน

(๕)เมื่อที่รโหฐานนั้นผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้านและการจับนั้นมีหมายจับหรือจับตามมาตรา ๗๘

เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ค้นด้วยตนเองไม่ต้องมีหมายค้นก็ได้ แต่ต้องเป็นในกรณีที่อาจออกหมายค้นหรือค้นได้ตามประมวลกฎหมายนี้"

ดังนั้นเมื่อจำเลยจับโจทก์และค้นบ้านโจทก์อันเป็นที่รโหฐานโดยไม่ปรากฏว่ามีหมายจับและหมายค้นอันถูกต้อง ทั้งไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามกฎหมายที่จะจับและค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นเรื่องจงใจทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายซึ่งเป็นละเมิด เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำดังกล่าวของจำเลย จำเลยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๒๐ ค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิดหรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้นรวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย ตามมาตรา ๔๓๘  (คำพิพากษาฎีกา ๖๓๐๑/๒๕๔๑)


----------------

หมายเหตุ

น.ศ.ลองหาฎีกาฉบับเต็มอ่าน//ศึกษาคำอธิบายเรื่องเจตนาในส่วนกฎหมายอาญาประกอบ


----------------

กิตติบดี


ไม่มีความคิดเห็น:

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...