วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

หลักกฎหมายเอกชน : การเรียกชื่อกฎหมาย

เอกสารประกอบการบรรยายรายวิชาหลักกฎหมายเอกชน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ : บรรพ ๑ หลักทั่วไป

ลักษณะ ๑ บทเบ็ดเสร็จทั่วไป

ข้อความเบื้องต้น : การเรียกชื่อกฎหมาย

มาตรา ๑ บัญญัติว่า “กฎหมายนี้ให้เรียกว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์”

มาตรา ๑ เป็นเครื่องยืนยันอย่างดียิ่งว่า ประเทศไทยได้จัดร่างประมวลกฎหมายต่าง ๆ โดยยึดตามระบบประมวลกฎหมาย (Codified Law) (ผู้เขียน : สมัยรัชการที่ ๕ เรียกว่า “วิธีกฎหมายประมวญธรรม” คือการจัดกฎหมายเป็นมาตราเป็นลักษณะหมวดหมู่ คือระบบประมวลกฎหมายตามแถบประเภทภาคพื้นยุโรปนั้นเอง) ภายหลังได้รับอิทธิพลจากประเทศตะวันตก โดยมีการจัดทำร่างประมวลกฎหมายอาญาก่อน ในรัชกาลที่ ๕ (ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำพาประเทศไปสู่อารยประเทศ (Civilization State) ซึ่งถูกเรียกว่า “ประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗” เหตุผลที่จัดทำร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวก่อนกฎหมายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ พระธรรมนูญศาลยุติธรรมนั้น สืบเนื่องจาก กฎหมายอาญาถือเป็นประมวลกฎหมายที่ร่างได้ง่ายที่สุด และผู้ทำหน้าที่ใช้กฎหมาย ได้แก่ ศาลต่าง ๆ สามารถเข้าใจเนื้อหาของกฎหมายได้ง่าย (กิตติศักดิ์ ปรกติ. การปฏิรูประบบกฎหมายไทยภายใต้อิทธิพลยุโรป, หน้า ๑๖๖.)
สำหรับประมวลกฎหมายแพ่งและกฎหมายพาณิชย์นั้นได้ถูกจัดร่างทำขึ้นเป็นลำดับถัดจากกฎหมายอาญา โดยประเทศไทยได้รวมเนื้อหาของกฎหมายทั้งสองประเภทไว้ด้วยกัน (กฎหมายแพ่งและกฎหมายพาณิชย์) ไว้อยู่ในรูปประมวลกฎหมายฉบับเดียวกัน คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และในการยกร่างประมวลกฎหมายนี้ได้ยกร่างบรรพ ๑ และบรรพ ๒ เป็นภาษาอังกฤษก่อน แล้วจึงแปลเป็นภาษาไทย

บรรพ ๒ (หลักทั่วไป) และบรรพ ๒ (หนี้) ได้มีการประกาศใช้กฎหมาย ๒ ครั้ง กล่าวคือ ประกาศใช้ครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๖ และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ ๑๑ มกราคม ๒๔๖๗ ส่วนประกาศฉบับหลัง เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๗ โดยประกาศให้ใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๖๗ เป็นต้นมา ซึ่งภายหลังได้มีการปรับปรุงแก้ไขบรรพ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕

บรรพ ๓ (เอกเทศสัญญา) ประกาศใช้ ๒ ครั้ง กล่าวคือ ประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๖๗ และส่วนประกาศฉบับหลังเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๗๑ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๒

บรรพ ๔ (ทรัพย์สิน) ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๗๓ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ ๑ เมษายน ๒๔๗๕

บรรพ ๕ (ครอบครัว) ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๗๗ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๘ (แก้ไขเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙)

สำหรับบรรพ ๖ (มรดก) บรรพสุดท้ายของประมวลกฎหมายนั้น ได้มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๗๗ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๘ เป็นต้นไป

ทำให้เห็นพัฒนาการของกฎหมายว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นกฎหมายที่มิได้ร่างเสร็จสมบูรณ์ และประกาศใช้เป็นกฎหมายในคราวเดียว ซึ่งแรกเริ่มประกาศใช้ บรรพ ๑ และ บรรพ ๒ ก่อน ด้วยเหตุผล เพื่อการวางพื้นฐานของกฎหมายสมัยใหม่ในทางแพ่งและพาณิชย์ ให้มีรูปแบบและหรือเค้าโครง (Model of Law) เช่นเดียวกับประเทศทางตะวันตก และเห็นได้ประจักษ์ว่า ทางแพ่ง ได้แก่ บรรพ ๑ หลักทั่วไป ลักษณะ ๑ บทเบ็ดเสร็จทั่วไป ได้มุ่งสู่การวางรากฐานในเรื่องสถานภาพของบุคคล บทวิเคราะห์ศัพท์ ตลอดจน หลักทางกฎหมายที่สำคัญ ๆ เช่น หลักตีความเพื่อใช้กฎหมาย(Interpretation of Application Law) มาตรา ๔ ได้บัญญัติ “กฎหมายนั้น ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ” หรือ หลักสุจริต (Good Faith) มาตรา ๕ ได้บัญญัติว่า “ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต” หรือ หลักแห่งเหตุสุดวิสัย (Act of God) มาตรา ๘ ได้บัญญัติว่า “คำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น ” เป็นต้น หลักตีความเอกสาร (Interpretation of Document) มาตรา ๑๐ ได้บัญญัติว่า “เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในเอกสารอาจตีความได้สองนัย นัยไหนจะทำให้เป็นผลบังคับได้ ให้ถือเอาตามนัยนั้นดีกว่าที่จะถือเอานัยที่ไร้ผล”

หรือ ลักษณะ ๒ ว่าด้วยบุคคล ได้วางรากฐานในเรื่อง สภาพบุคคลความสามารถของบุคคล ภูมิลำเนาของบุคคล และการสิ้นสภาพบุคคล เป็นต้น

หรือ ลักษณะ ๓ ว่าด้วยบุคคล ได้วางรากฐานเกี่ยวกับทรัพย์ หรือ ทรัพย์สินประเภทของทรัพย์ เป็นต้น

หรือ ลักษณะ ๔ ว่าด้วยนิติกรรม ได้วางรากฐานเกี่ยวกับการใช้สิทธิของบุคคลในการทำนิติกรรม การแสดงเจตนา ผลแห่งการทำนิติกรรม เงื่อนไขเงื่อนเวลา หรือระยะเวลา เป็นต้น
------------------
กิตติบดี

1 ความคิดเห็น:

Blogger กล่าวว่า...

ผมไม่ได้อยู่เมืองไทยมานาน อยากสอบถามเกี่ยวกับกฎหมายการสั่งจ่ายเบี้ยหวัดว่า ข้อความที่คัดมานี้มีความเป็นจริงแค่ไหน " กำหนดระยะเวลาในการขอเบี้ยหวัด การขอเบี้ยหวัดนั้นจะยื่นขอเมื่อใดก็ได้ ไม่มีกำหนดระยะเวลาหมดสิทธิการขอบำเหน็จบำนาญปกติ แต่ถ้าขอเกินกำหนด ๕ ปี นับแต่วันพ้นหน้าที่ราชการแล้วจำนวนที่จะได้รับที่เกินระยะเวลา ๕ ปี นับย้อนหลังขึ้นไปจะต้องถูกตัดออก การที่จะต้องงดจ่ายเบี้ยหวัดที่เกินระยะ ๕ ปีนี้ออก เนื่องจากเป็นการขาดอายุความที่จะเรียกร้องเอาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์บรรพ ๑ มาตรา ๑๖๖ วรรคท้าย ซึ่งกำหนดไว้ว่า “ในการเรียกร้องเอาเงินค้างจ่าย คือเงินปี เงินเดือน เบี้ยหวัด บำนาญ เงินค่าบำรุงรักษาและเงินอื่น ๆ” บรรดาที่มีกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลานั้นก็ดี สิทธิเรียกร้องเหล่านี้ ท่านให้กำหนดอายุความ ๕ ปี ฉะนั้นเงินเบี้ยหวัดซึ่งเป็นเงินค้างจ่ายจะต้องถูกตัดออกโดยมีสิทธิเรียกร้องเอาได้เพียง ๕ ปีเท่านั้น"
เนื่องจากผมติดต่อไปที่คลังจังหวัดเชียงใหม่ และกรมบัญชีกลาง เขาบอกว่าสั่งจ่ายย้อนหลังได้เพียง 3 ปี

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...