วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สรุปการบรรยายละเมิด (๙) เรื่อง ประมาทเลินเล่อ


Lord Atkin 

"ต้องมีมาตรฐานในความระมัดระวังไม่ให้การกระทำของตนหรือการละเลยของตน

ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับเพื่อนบ้าน"


สรุปการบรรยายกฎหมายละเมิด () เรื่อง "ประมาทเลินเล่อ"

คำว่า "ประมาทเลินเล่อ" ในทางแพ่งตรงคำว่า "ประมาท" ในทางอาญา หรือไม่ ?

ประมาทเลินเล่อถือเป็นองค์ประกอบประการหนึ่งที่จะต้องรับผิดฐานละเมิด แต่คำว่า "ประมาทเลินเล่อ" ตามกฎหมาย (มาตรา ๔๒๐) มิได้อธิบายให้ความหมายว่าการกระทำอย่างไรเรียกว่าประมาทเลินเล่อ ต้องเทียบเคียงกับ ประมวลกฎหมายอาญา ทาตรา ๕๙ วรรคสี่ "การกระทำโดยประมาท ได้แก่ กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้น จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

หลัก

ดังนั้น เวลาจะพิจารณาว่าจำเลยได้กระทำละเมิดโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่อย่างไร นั้น ให้พิจารณาจากข้อเท็จจริงว่า () ตัวจำเลยมีหน้าที่ที่จะต้องใส่ใจระมัดระวัง (duty of care) และ () จำเลยได้กระทำผิดต่อหน้าที่ดังกล่าว (breach of duty) ได้แก่ ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ หรือปฏิบัติแต่ไม่เพียงพอเมื่อพิจารณาตามวิสัยของจำเลย (ความคาดเห็นได้ของจำเลย) และ () ความเสียหายที่ผู้เสียหาย/โจทก์ได้รับเป็นผลโดยตรงจากการกระทำผิดตาม () ของจำเลย

--เวลาทำงานจะพิสูจน์ว่าจำเลยประมาทเลินเล่อหรือไม่ ให้สมมติบุคคลขึ้นว่า บุคคลที่อยู่ในวิสัยเช่นจำเลย และอยู่ในสถานการณ์แบบจำเลย จะทำอย่างที่จำเลยทำหรือไม่ ฉะนั้น มาตรฐานความระมัดระวังต้องคำนึงถึงมาตรฐานกลาง เช่น อายุ เพศ ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญ ผู้ประกอบวิชาชีพ –-

เช่น คดีหอยทาก โจทก์บริโภคสินค้าที่ซื้อจากร้านค้า ซึ่งมีเศษซากสัตว์ตายในขวดน้ำ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์สามารถเอื้อมไปฟ้องผู้ผลิตได้ เพราะ ผู้ผลิตสินค้ามี duty of care ถึงแม้ว่า โจทก์กับผู้ผลิตจะไม่รู้จักกับจำเลยหรือมีนิติสัมพันธ์กัน แต่โจทก์ยู่ในกลุ่มคนที่จำเลยสามารถคาดเห็นได้ (อยู่ในวิสัย)

จำเลยรับเหมาซ่อมบำรุงถนน และมีการขุดถนน แต่ได้กั้นเขตห้ามเข้า แต่เมื่อมีคนตาบอดเดินมาแล้วตกลงไปในหลุม จำเลยจะอ้างถึงการกระทำ/ป้องกันดังกล่าวไม่ได้ เนื่องจาก จำเลยย่อมคาดเห็น (วิสัย) ได้ว่า โจทก์เป็นกลุ่มคนหนึ่งในสังคม จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องระมัดระวัง

บิดาสั่งให้ลูกชายของตนนำงูที่ลูกชายแอบนำมาเลี้ยงไปท้ิงเสีย ลูกชายก็เอางูไปท้ิงหน้าบ้าน ตามคำสั่งของบิดา และงูตัวดังกล่าวได้ไปกัดผู้ที่สัญจรไปมา ดังนี้ น..จะเห็นได้ว่า วิสัยของเด็ก กับวิสัยของผู้ใหญ่ย่อมทำให้ระดับความระมัดระวังต่างกัน ซึ่งเด็กอาจจะอ้างว่าตนได้สละกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน (งู) ไปแล้ว แต่บิดาไม่สามารถกล่าวอ้างยกเว้นความรับผิดได้เพราะตนอยู่ในวิสัยที่คาดเห็นถึงความเสียหายได้

ข้อสังเกต

หลักมาตรฐานความระมัดระวังที่สมมติขึ้นเป็นมาตรฐานกลาง (ภาวะวิสัย/objective test) มีข้อยกเว้นเหมือนกัน เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นผู้มีความบกพร่องทางกายภาพ เช่น เป็นผู้พิการ ต้องพิจารณาความบกพร่องของปัจเจกชนประกอบด้วย ในทางกลับกัน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า จำเลยไม่ใช่มีวิสัยอย่างผู้เชี่ยวชาญ แต่ได้ฉ้อฉลให้ผู้อื่นเข้าใจว่าจำเลยเป็นผู้เชี่ยวชาญ กรณีนี้ จำเลยต้องรับตามวิสัยของผู้เชี่ยวชาญ จะมาขอใช้มาตรฐานวิญญูชนมิได้

ตัวอย่าง

คำพิพากษาฎีกา ๕๐๑๘/๒๕๕๐

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบและไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๓  เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลสมุทรปราการ และเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของจำเลยที่ ๑  และที่ ๒  เมื่อวันที่ ๘  มิถุนายน ๒๕๔๒ โจทก์ที่ ๑  มีอาการเจ็บครรภ์ได้เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลสมุทรปราการมีจำเลยที่ ๓  เป็นแพทย์ผู้ตรวจรักษาโดยวิธีผ่าตัดทำคลอด แต่ทารกในครรภ์ได้ถึงแก่ความตาย และฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑  ซึ่งโจทก์ทั้งสองมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๓  คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑  และที่ ๒  ว่า จำเลยที่ ๓  ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ทารกถึงแก่ความตาย อันจะทำให้จำเลยที่ ๑  และที่ ๒  ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ จำเลยที่ ๑  และที่ ๒  ฎีกาว่า จำเลยที่ ๓  ได้ให้การรักษาทำคลอดแก่โจทก์ที่ ๑  เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพการแพทย์แล้ว โดยคำนึงถึงสุขภาพของแม่และเด็กและจากการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัด เหตุที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากการตัดสินใจผิดพลาดของจำเลยที่ 3 ปัญหาดังกล่าวได้ความจากโจทก์ที่ ๑  ว่า เมื่อไปถึงโรงพยาบาล พยาบาลได้พาโจทก์ที่ ๑  ไปห้องคลอดและทำความสะอาดร่างกายจากนั้นให้โจทก์ที่ ๑ นอนรอที่ห้องคลอด จนถึงเวลาประมาณ ๑๐  นาฬิกา มีแพทย์หญิงคนหนึ่งเข้ามาตรวจวัดช่องคลอดและสอบถามโจทก์ที่ ๑  ว่าลูกคนแรกคลอดโดยวิธีธรรมชาติหรือไม่ โจทก์ที่ ๑  บอกว่าคลอดโดยวิธีธรรมชาติ แพทย์หญิงคนดังกล่าวบอกว่าลูกคนแรกคลอดโดยวิธีธรรมชาติคนต่อไปก็คลอดโดยวิธีธรรมชาติได้เช่นกัน จากนั้นก็กลับออกไป ต่อมาเวลาประมาณ ๑๑  นาฬิกา จำเลยที่ ๓  เข้ามาตรวจครรภ์ แล้วสั่งให้พยาบาลให้น้ำเกลือแก่โจทก์ที่ ๑  ต่อมาเวลาประมาณ ๑๓  นาฬิกา พยาบาลได้นำออกซิเจนมาครอบจมูกช่วยหายใจบอกว่าเพื่อให้ทารกมีอากาศหายใจ จนถึงประมาณ ๑๖  นาฬิกา จำเลยที่ ๓  เข้ามาในห้องคลอดและตรวจครรภ์ของโจทก์ที่ ๑  แล้วบอกว่ายังไม่สามารถคลอดเองได้ต้องผ่าตัดเอาทารกออก จากนั้นเวลาประมาณ ๑๗  นาฬิกา พยาบาลนำโจทก์ที่ ๑  เข้าห้องผ่าตัดหลังจากนั้น โจทก์ที่ ๑  ไม่รู้สึกตัวอีกเลย โจทก์ที่๑  เพิ่งทราบว่าบุตรของโจทก์ที่ ๑  เสียชีวิตในวันรุ่งขึ้น เห็นว่า จากพยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๓  ประมาทเลินเล่อในการตรวจรักษาโจทก์ที่ ๑  หรือได้ละเว้นไม่ปฏิบัติตามระเบียบวิธีปฏิบัติทางการแพทย์อย่างไร แต่กลับเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ ๓  และนางรัศมี สุวัณณสังข์ พยาบาลผู้ดูแลโจทก์ที่ ๑ พยานจำเลยทั้งสามว่า เมื่อได้รับตัวโจทก์ที่ ๑  ไว้แล้ว ได้มีการสอบถามประวัติของโจทก์ที่ ๑  จึงทราบว่าโจทก์ที่ ๑  เคยคลอดบุตรคนแรกโดยวิธีธรรมชาติมาแล้ว จำเลยที่ ๓  จึงประเมินว่าในครั้งนี้ก็น่าจะคลอดโดยวิธีธรรมชาติได้ ต่อมานางรัศมีและจำเลยที่ ๓  ได้ตรวจสุขภาพและช่องคลอดของโจทก์ที่ ๑ เป็นระยะๆ ต่อเนื่องกัน พบว่า ทารกในครรภ์มีการเต้นของหัวใจเป็นปกติ ความสัมพันธ์ของการเปิดปากมดลูกและการเคลื่อนที่ลงต่ำของส่วนนำปกติรายละเอียดปรากฏตามบันทึกประเมินสมรรถนะผู้ป่วย และกราฟช่วยดูแลการเจ็บครรภ์คลอด เมื่อพบว่าสีของน้ำคร่ำที่ไหลออกมามีสีผิดปกติ จำเลยที่ ๓  ก็ให้การรักษาเบื้องต้นโดยการให้น้ำเกลือและออกซิเจนทันที ซึ่งความผิดปกติของสีน้ำคร่ำนี้นางรัศมีก็เบิกความยืนยันว่า มีปริมาณน้อยเพียง ๕๐  ลูกบาศก์เซนติเมตรและเป็นปกติที่พบได้ในคนไข้ทั่วไป ทั้งยังได้ความจากจำเลยที่ ๓  ว่าการบีบตัวของมดลูกและทารกมีการเต้นของหัวใจเป็นปกติอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งเข้าห้องผ่าตัดตามบันทึกการตรวจ แสดงว่าในช่วงเวลา ๑๐  นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาที่จำเลยที่ ๓  เข้าไปตรวจครรภ์โจทก์ที่ ๑  ในครั้งแรกจนถึงเวลา ๑๖  นาฬิกา ยังไม่มีสิ่งผิดปกติที่จะต้องผ่าตัดแต่อย่างใด เหตุที่จำเลยที่ ๓ ต้องผ่าตัดทำคลอดโจทก์ที่ ๑  ก็เนื่องจากส่วนนำไม่เคลื่อนต่ำลงตามที่ควรจะเป็นซึ่งก่อนทำการผ่าตัดจำเลยที่ ๓  ก็ได้พิจารณาทางเลือก ๒  ทาง คือการผ่าตัดทำคลอดกับการใช้เครื่องดูดออก แต่เมื่อประเมินแล้วจำเลยที่ ๓ เห็นว่าศีรษะทารกอยู่สูงหากใช้เครื่องดูดอาจไม่ปลอดภัยทั้งแม่และเด็ก จึงตัดสินใจผ่าตัด ดังนั้น การไม่รีบผ่าตัดและผ่าตัดล่าช้าไปบ้าง จึงหาใช่เป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยที่ ๓  ประมาทเลินเล่อในการตรวจรักษาหรือตัดสินใจผิดพลาดดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑  วินิจฉัยไม่ นอกจากนี้ในการผ่าตัดก็ได้ความจากจำเลยที่ ๓  ว่าได้มีการใช้ทีมแพทย์พยาบาลตามมาตรฐาน เมื่อผ่าตัดทารกออกมาพบว่าหัวใจทารกไม่เต้น ทีมผ่าตัดได้ทำการปฐมพยาบาล ปั๊มหัวใจ ให้ยากกระตุ้น และใส่ท่อช่วยหายใจ แต่ไม่สามารถช่วยชีวิตทารกไว้ได้ ประกอบกับยังได้ความจากคำเบิกความของนายแพทย์อากฤษฎิ์ บญสงวน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวชโรงพยาบาลสมุทรปราการพยานโจทก์ทั้งสองว่า พยานตรวจดูการปฏิบัติงานของแพทย์ที่ทำคลอดรายนี้แล้ว เห็นว่า การปฏิบัติงานอยู่ในเกณฑ์ที่ดี อันเป็นการสนับสนุนข้อนำสืบของจำเลยทั้งสามให้มีน้ำหนักในการรับฟังมากขึ้น แม้ต่อมาจะปรากฏว่าทางโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรปราการจะได้มอบศพทารกให้มูลนิธิร่วมกุศลไปเผา โดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสองก็ตาม ก็เป็นเรื่องวิธีปฏิบัติของทางโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรปราการ หาได้เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ ๓  ไม่ ทั้งยังได้ความจากนายน้อย ชอบธรรม พนักงานรักษาศพของโรงพยาบาลสมุทรปราการ พยานจำเลยทั้งสามว่า พยานเก็บศพทารกรายนี้ไว้ในตู้เย็น ในวันรุ่งขึ้นมีผู้หญิงสองคนมาขอดูศพทารกดังกล่าว แต่ไม่ได้พูดอะไร พยานเก็บศพทารกไว้จนถึงวันที่ ๑๑  มิถุนายน ๒๕๔๒  ก็มอบให้มูลนิธิร่วมกุศลนำไปบำเพ็ญกุศลซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติตามปกติ หาได้มีข้อพิรุธหรือน่าสงสัยไม่ และในช่วงเวลาดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้ร้องเรียนหรือขอความเป็นธรรมต่อทางโรงพยาบาลสมุทรปราการถึงสาเหตุการตายแต่อย่างใด เห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสามที่นำสืบมามีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสอง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๓  ได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจรักษาโจทก์ที่ ๑  ตามความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพแพทย์แล้ว การกระทำของจำเลยที่ ๓  จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ ๑  และที่ ๒  ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่จำเลยที่ ๓  สังกัด จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่  ๑  และที่  ๒  ฟังขึ้น”

คำพิพากษาฎีกา ๗๙๗๕/๒๕๔๙

รถบรรทุกและข้าวสารบนรถบรรทุกของโจทก์ถูกยึดไว้เป็นของกลางในการดำเนินคดีอาญาโดยจำเลยที่ ๓ เ ป็นพนักงานสอบสวน มีหน้าที่ดูแลรักษารถบรรทุกและข้าวสารของกลางไว้ระหว่างสอบสวนโดยต้องใช้ความระมัดระวังดูแลเหมือนเช่นวิญญูชนพึงดูแลทรัพย์สินของตนเอง เฉพาะอย่างยิ่งมีข้าวสารบรรจุกระสอบถึง ๒๐๐  กระสอบ มูลค่าหลายแสนบาทบรรทุกอยู่บนรถจะต้องระมัดระวังยิ่งขึ้นมิให้สูญหายหรือได้รับความเสียหาย การที่จำเลยที่ ๓  นำรถบรรทุกไปจอดในรั้วของสถานีตำรวจได้ เป็นเพียงการนำรถบรรทุกไปจอดไว้เท่านั้น มิใช่เป็นการดูแลรักษาทรัพย์สิน แม้จะได้เก็บกุญแจรถไว้ แล้วเอาโซ่และกุญแจล็อกระหว่างพวงมาลัยกับคลัตซ์และได้ตรวจดูบ่อยๆ แต่การจอดรถบรรทุกไว้ข้างถนนโดยมิได้จัดให้มีผู้ดูแลรักษาตามสมควรย่อมเปิดโอกาสให้คนร้ายลักรถบรรทุกและข้าวสารไปได้โดยง่าย จำเลยที่  ๓ จึงมิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลรถบรรทุกและข้าวสารเหมือนเช่นวิญญูชนพึงดูแลรักษาทรัพย์สินของตนเองเป็นเหตุให้รถบรรทุกและข้าวสารสูญหายไปถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่  ๓

คำพิพากษาฎีกา ๑๔๗๒/๒๕๔๗

จำเลยที่ ๑  มีหน้าที่ขับรถยนต์โดยสารนำนักทัศนาจรไปเที่ยวและพาเข้าพักที่รีสอร์ท จึงมีหน้าที่ดูแลรักษารถยนต์โดยสารดังกล่าวในระหว่างที่พักอยู่ที่รีสอร์ทให้ปลอดภัยด้วย อันเป็นหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒  การที่จำเลยที่ ๑  เมาสุราไม่เฝ้ารถยนต์โดยสารเอง แต่กลับให้ ก. พนักงานประจำรถนอนเฝ้ารถยนต์โดยสารแทน ทั้งที่ได้ยิน ก. พูดว่าจะออกไปเที่ยวข้างนอก และยังได้เสียบกุญแจรถไว้ที่สวิตช์ติดเครื่องยนต์ มิได้นำไปเก็บรักษาไว้ให้ปลอดภัย จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ ก. ถือโอกาสลักลอบขับรถยนต์โดยสารดังกล่าวไปเที่ยวข้างนอกและทำละเมิดต่อโจทก์ การที่ ก. ขับรถยนต์โดยสารดังกล่าวโดยประมาทเลินเล่อพลิกคว่ำเฉี่ยวชนราวเหล็กกันอันตรายพร้อมเสาของโจทก์เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยที่ ๑  มีส่วนร่วมกับ ก. ทำละเมิดต่อโจทก์ด้วย ความเสียหายดังกล่าวจึงเป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยที่ ๑  ประมาทเลินเล่อไม่ควบคุมดูแลรักษารถยนต์โดยสารอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลให้ปลอดภัยตามหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒  จำเลยที่ ๑  จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ร่วมทำละเมิดด้วย ส่วนจำเลยที่  ๒  ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่  ๑  ในฐานะนายจ้าง

คำพิพากษาฎีกา ๕๑๒๙/๒๕๔๖ --–ฎีกานี้เห็นนำมาออกข้อสอบบ่อย ๆ ---

มีประเด็นแยกพิจารณาดังนี้

() ประมาทเลินเล่อหรือไม่

() การเรียกค่าสินไหมทดแทน

() ความรับผิดเพื่อละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ  (ซึ่งจะบรรยายให้ทราบต่อไป)

() มีข้อสอบนำเอาฎีกานี้ไปออก โดยถามว่าหากจำเลยสังกัดโรงเรียนเอกชนจะมีผลทางกฎหมายเป็นอย่างไรด้วย

จำเลยที่ ๑  ได้รับมอบหมายให้สอนวิชาพลศึกษาถือได้ว่าจำเลยที่ ๑  ได้รับมอบหมายให้ดูแลนักเรียนให้ได้รับความปลอดภัยในชั่วโมงดังกล่าวด้วย การสั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนามซึ่งมีระยะทางประมาณ  ๒๐๐ เมตร ต่อ ๑  รอบ จำนวน ๓  รอบ ถือเป็นการอบอุ่นร่างกายนับเป็นสิ่งที่เหมาะสม แม้เมื่อนักเรียนวิ่งไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยในการวิ่งครบ ๓  รอบแล้ว จำเลยที่ ๑  ได้สั่งให้วิ่งต่ออีก๓  รอบ จะถือเป็นวิธีการทำโทษที่เหมาะสมตามควรแก่พฤติการณ์แล้วแต่การที่นักเรียนทั้งหมดยังวิ่งได้ไม่เรียบร้อยแบบเดิมอีก จำเลยที่ ๑  ก็ควรหามาตรการหรือวิธีการลงโทษโดยวิธีอื่น การที่สั่งให้วิ่งต่อไปอีก ๓  รอบและเมื่อนักเรียนยังทำได้ไม่เรียบร้อย จำเลยที่ ๑  ก็สั่งให้วิ่งต่อไปอีก ๓  รอบ ในช่วงเวลาหลังเที่ยงวันอากาศร้อนและมีแสงแดดแรงนับเป็นการใช้วิธีการลงโทษที่ไม่เหมาะสม เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของนักเรียนซึ่งอายุระหว่าง ๑๑  ปี ถึง ๑๒  ปีได้ จึงเป็นการกระทำโดยไม่ชอบและเป็นความประมาทเลินเล่อ ทั้งการออกกำลังกายโดยการวิ่งย่อมทำให้หัวใจเต้นแรงกว่าปกติ จำนวนรอบที่เพิ่มมากขึ้น ย่อมทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเมื่อเป็นเวลานานย่อมเป็นอันตรายต่อหัวใจที่ไม่ปกติจนทำให้เด็กชาย พ. ซึ่งเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้วล้มลงในการวิ่งรอบที่ ๑๑  และถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาเพราะสาเหตุระบบหัวใจล้มเหลว จึงเป็นผลโดยตรงจากคำสั่งของจำเลยที่ ๑  แม้จำเลยที่ ๑  จะไม่ทราบว่าเด็กชาย พ. เป็นโรคหัวใจก็ถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ กระทำละเมิดเป็นเหตุให้เด็กชาย พ. ถึงแก่ความตาย

การที่จำเลยที่ ๑  ทำการสอนวิชาพลศึกษาของโรงเรียนเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะผู้แทนของกรมสามัญศึกษาจำเลยที่ ๒  การออกคำสั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนามเพื่ออบอุ่นร่างกายและการลงโทษนักเรียนให้วิ่งรอบสนาม ก็ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วย เมื่อทำให้เด็กชาย พ. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ ๒  จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่โจทก์ผู้เป็นมารดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา  ๗๖  วรรคหนึ่ง

จำเลยที่ ๒  ต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพกับค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพอันเป็นความรับผิดชอบตามกฎหมาย แม้จะมีบุคคลภายนอกนำเงินมาให้โจทก์เพื่อช่วยเหลืองานศพหรือจัดการศพเด็กชาย พ. ก็ไม่อาจทำให้ความรับผิดชอบตามกฎหมายของจำเลยที่ ๒  ต้องหมดไปหรือลดน้อยลงไปได้ กรณีจึงไม่อาจนำเงินช่วยงานศพที่โจทก์ได้รับจากสมาคมผู้ปกครองและครูของโรงเรียนมาหักออกจากค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยที่ ๒  ต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์ได้

การที่บุตรของโจทก์ถึงแก่ความตายเพราะถูกทำละเมิดโจทก์ซึ่งเป็นมารดาตกเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายแล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่าในปัจจุบันและในอนาคตภาวะเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นอย่างไร เด็กชายจะสามารถทำงานมีรายได้มาอุปการะโจทก์ได้หรือไม่

จำเลยที่ ๑  เป็นอาจารย์สอนวิชาพลศึกษาสั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนาม ๓ รอบ เพื่ออบอุ่นร่างกายและการที่จำเลยที่ ๑  สั่งให้นักเรียนวิ่งต่อไปอีก ๓  รอบ เพราะนักเรียนวิ่งกันไม่เรียบร้อยและไม่เป็นระเบียบ เป็นวิธีการสอนและลงโทษนักเรียนตามสมควรแก่เหตุและเหมาะสม แต่การที่จำเลยที่ ๑ สั่งให้วิ่งอีก ๓  รอบสนาม ในครั้งที่ ๓  และครั้งที่ ๔  เป็นการใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสมและไม่ชอบแต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑  มุ่งหวังให้นักเรียนได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตจำเลยที่ ๑  ยังมีความหวังดีต่อนักเรียนต้องการอบรมสั่งสอนนักเรียนให้มีความรู้เหมือนดังวิสัยของครูทั่วไป แม้เป็นเหตุให้เด็กชาย พ. ถึงแก่ความตายแต่จำเลยที่ ๑  มิได้จงใจหรือกระทำการประมาทอย่างร้ายแรง เพียงแต่กระทำโดยประมาทเลินเล่อขาดความรอบคอบและไม่ใช้ความระมัดระวังเช่นผู้มีอาชีพครูสอนพลศึกษาจะพึงปฏิบัติและสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสุขภาพของเด็กชาย พ. ไม่แข็งแรงมีโรคประจำตัวคือโรคหัวใจ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมายของจำเลยที่ ๑  แม้จำเลยที่ ๑  จะอ้างความไม่รู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวมาปฏิเสธความรับผิดชอบตามกฎหมายไม่ได้ แต่ศาลก็สามารถนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของการทำละเมิดได้

แม้เหตุละเมิดเกิดขึ้นก่อนที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.. ๒๕๓๙  ใช้บังคับ แต่ขณะที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้วสิทธิของโจทก์ในการฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐให้รับผิดทางละเมิด จึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ฉะนั้นเมื่อการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๑  ต่อโจทก์เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๒  โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ ๑  ตามมาตรา ๕  แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.. ๒๕๓๙

คำพิพากษาฎีกา ๘๘๐/๒๕๔๖ ---ให้สังเกตว่า เมื่อจำเลยเป็นผู้ประกอบอาชีพ หรือมีหน้าที่โดยตรงและฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตราฐานที่พึงปฏิบัติ ศาลมักใช้คำว่า "ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง"

ลายมือชื่อโจทก์ในใบถอนเงินไม่เหมือนกับตัวอย่างลายมือชื่อในสมุดเงินฝากและคำขอเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์โดยชัดแจ้งเพียงแต่คล้ายกันเท่านั้น ซึ่งโดยปกติถ้าเป็นลูกค้าทั่วไป พนักงานของธนาคารจำเลยที่ ๑  จะไม่จ่ายเงินให้ แต่ที่จ่ายให้เพราะจำเลยที่ ๒  เป็นลูกจ้างทำงานอยู่ในสำนักงานของจำเลยที่ ๑  ด้วยกัน จึงเชื่อใจอนุโลมและยืดหยุ่นจ่ายให้ไปโดยมิได้ใส่ใจให้ความสำคัญแก่ลายมือชื่อผู้ถอนเงินว่าเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงหรือไม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ใบถอนเงินลงชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินเองแต่ไม่มีตัวโจทก์มา พนักงานของจำเลยที่ ๑  ก็ยังจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ ๒  ไปแทน พฤติการณ์ชี้ชัดว่าพนักงานของจำเลยที่ ๑  ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑  จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ ๒  รับผิดต่อโจทก์

โจทก์ฝากสมุดเงินฝากไว้กับจำเลยที่ ๒  เพราะเชื่อใจจำเลยที่ ๒  ซึ่งเป็นหลานของโจทก์และเป็นผู้จัดการให้โจทก์ฝากเงินกับจำเลยที่ ๑  แม้ในปกหน้าด้านในจะมีข้อความให้ผู้ฝากเงินเป็นผู้เก็บรักษาสมุดเงินฝากเอง ก็เป็นเพียงคำแนะนำมิใช่ข้อตกลงในการฝากเงินทั้งโจทก์ไม่ได้รับสมุดเงินฝากและไม่เห็นคำแนะนำหรือคำเตือนดังกล่าว เนื่องจากจำเลยที่ ​๒ เป็นผู้รับและเก็บรักษาสมุดเงินฝากไว้แทนตั้งแต่แรก การที่จำเลยที่  ๒ ถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ไปได้ จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของพนักงานของจำเลยที่ ๑  มิได้เป็นผลโดยตรงจากการที่โจทก์ฝากสมุดเงินฝากไว้กับจำเลยที่  ๒  ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อในการกระทำละเมิดของจำเลยที่  ๒  ด้วยจำเลยที่  ๑  จึงต้องร่วมกับจำเลยที่  ๒ รับผิดต่อโจทก์เต็มจำนวน


คำพิพากษาฎีกา ๓๙๙/๒๕๔๖

ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๖ กรณีไม่มีทางที่จะขยายไปถึงความเห็นของพนักงานสอบสวนให้เป็นการผูกมัดศาลที่พิพากษาคดีส่วนแพ่งในภายหลัง ความเห็นของพนักงานสอบสวนไม่ใช่คำพิพากษาคดีส่วนอาญา ฉะนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งจึงไม่จำต้องถือตาม

ห้างฯ จำเลยที่ ๑  เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างสะพาน มีหน้าที่ต้องติดตั้งเครื่องหมายแสดงให้เห็นชัดเจนเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนตลอดเวลา แต่กลับละเลยไม่ติดตั้งเครื่องหมายดังกล่าว ถือว่าจำเลยที่ ๑  ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แม้ผู้ตายจะขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูง แต่หากมีเครื่องหมายเตือนเชื่อว่าผู้ตายสามารถเห็นและชะลอความเร็วของรถได้ทันและจะไม่ชนท่อระบายน้ำคอนกรีต เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพราะความประมาทของจำเลยที่ ๑  มากกว่าจำเลยที่ ๒  ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๑  จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดและชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ผู้เป็นทายาทของผู้ตาย ซึ่งค่าเสียหายที่โจทก์ควรจะได้มากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์แห่งกรณีดังกล่าวเป็นประมาณตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๒  ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๓  เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเป็นเงิน ๒๖๕,๐๐๐  บาท แต่เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของผู้ตายด้วย และจำเลยทั้งสองประมาทมากกว่าการกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน  ๖๘,๓๓๓.๓๓  บาท จึงเหมาะสมแล้ว


คำพิพากษาฎีกา ๔๔๖๙/๒๕๔๕ ---นำคดีเลิกจ้างลูกจ้างเพราะประมาทเลินเล่อมาให้เทียบเคียง--- ให้พิจารณาหลัก "หน้าที่" และ "มาตรฐานความระมัดระวัง"

โจทก์เป็นเจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ มีหน้าที่ในการตรวจผลเลือด ผลทางเคมีอุจจาระ และปัสสาวะ เพื่อส่งให้แพทย์วินิจฉัยช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและรักษาโรคได้อย่างถูกต้อง อันจะส่งผลโดยตรงต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย การที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ขาดความเอาใจใส่และความรับผิดชอบในหน้าที่ ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ไม่ครบถ้วน ล่าช้า ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของผู้ป่วย อันมีผลกระทบถึงชื่อเสียงของโรงพยาบาลจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเป็นอย่างมากจึงเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง และยังถือว่าเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไป โดยถูกต้องและสุจริตอีกด้วย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.. ๒๕๔๑  มาตรา ๑๑๙​ (๓)  และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓

เมื่อการกระทำของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยเสียชื่อเสียงในการประกอบกิจการโรงพยาบาลเอกชนเป็นอย่างมาก และเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงจึงนับว่ามีเหตุสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ มิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหาย

คำพิพากษาฎีกา ๒๘๑๐-๒๘๑๑/๒๕๔๕

การที่จำเลยที่ ๑  ซึ่งเป็นลูกจ้างของการรถไฟแห่งประเทศไทยจำเลยที่ ๒  มีหน้าที่นำแผงเครื่องกั้นรถไฟลงเมื่อรถไฟแล่นผ่าน แต่ในขณะเกิดเหตุเมื่อรถไฟแล่นมาถึงจำเลยที่ ๑  มิได้นำแผงเครื่องกั้นรถไฟลงแต่อย่างใด เมื่อรถยนต์ที่ผู้ตายขับแล่นผ่านไปจึงเป็นเหตุให้ถูกรถไฟชน การกระทำของจำเลยที่ ๑  จึงเป็นการประมาทเลินเล่อ และโดยปกติแล้วผู้ขับรถยนต์ทั่วไปเมื่อผ่านบริเวณรางรถไฟ หากไม่มีแผงเครื่องกั้นรถไฟปิดกั้นและปรากฏสัญญาณไฟและเสียงสัญญาณเตือนแล้วก็จะขับรถผ่านไปตามปกติ หากมีการนำแผงเครื่องกั้นรถไฟลง รถยนต์ที่ผ่านมาก็จะหยุดให้รถไฟผ่านไปก่อน แต่จากสภาพที่เกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน มีป้อมสำหรับพนักงานรถไฟและต้นไม้บังอยู่ ประกอบกับมีแสงไฟสว่างบดบังบริเวณนั้น จึงน่าจะทำให้ผู้ตายไม่อาจทราบได้ว่ารถไฟกำลังแล่นมาจึงขับรถยนต์ผ่านไปตามปกติ การกระทำของผู้ตายจึงไม่เป็นการประมาทเลินเล่อคงเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๑  เพียงผู้เดียว

--------------------

กิตติบดี


3 ความคิดเห็น:

View_A® กล่าวว่า...

ขอบคุณท่านคณะบดีมากๆ ครับ สำหรับบล็อค ไฮเทคจริงๆ เยี่ยมไปเลย
อยากให้อาจารย์อื่นๆ มีบล็อคหรือเว็บส่วนตัวแบบนี้บ้างจัง
บางทีผมก็ตามชีทได้ไม่หมดก็จะได้เข้าไปดูไปศึกษาเพิ่มเติม
วันนี้พอแค่นี้ ขอตัวนอนก่อนล่ะครับมีสอบบ่าย - -*

Unknown กล่าวว่า...

เรียน ท่านคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
กระผมเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2
วันนี้ (27 ต.ค.52) กระผมได้เข้าฟังการประชุมของอาจารย์ ณ ห้องบรรยาย 1 ในเวลา 13.30 น. และมีเรื่องอยากจะเรียนถาม
กระผมได้เรียนวิชาละเมิดกับอาจารย์ในภาคเรียนที่ 1/2552
และได้ติด F ในรายวิชาของอาจารย์ กระผมอยากทราบว่า เกรด F นั้น
จะปรากฎลงในทรานสคริป (ใบจบการศึกษา)หรืิืิอไม่ บิดาของข้าพเจ้าและตัวของข้าพเจ้าเองรู้สึกกังวลเป็นอยากมาก เพราะ F นี้เป็น วิชาแรก กระผมเข้าเรียนวิชาละเมิด ทุกครั้ง มิเคยขาด แต่ในห้องสอบ ยอมรับเลยว่า ประมาทข้อแรก (35 คะแนน) ทำให้ผลสอบออกมาไม่เป็นดังหวัง
แต่การที่ผลสอบออกมาเป็นเช่นนั้น ทำให้ข้าพเจ้ารู้จุดบกพร่อง ของตนเอง ว่าควรปรับปรุงและแก้ไขอย่างไรบ้าง แต่การที่ได้ เกรด F นั้น ถ้าปรากฎในใบทรานสคริป กระผมเกรงว่า จะมีปัญหาในการศึกษาต่อ
(ข้าพเจ้าจะไปศึกษาต่อ ป.โท)

จึงอยากเรียนถามอาจารย์ว่า
- ถ้าข้าพเจ้าติด F จะปรากฎในใบทรานสคริปหรือไม่
- และถ้าแก้ F (ลงเรียนใหม่) เกรดจะหารสอง ข้าพเจ้าทราบดี
แล้ว เกรดเดิม F จะยังคงอยู่หรือไม่
และถ้าไม่มีจะปรากฎสัญลักษณ์ใด W หรือไม่
จึงเรียนมาเพื่อทราบ และอยากให้อาจารย์ตอบกลับมาตามอัเมลล์ที่ให้ไว้
จะเป็นพระคุณยิ่งครับ
Coppy_fier@hotmail.com

นักศึกษา ชั้นปีที่ 2
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

กิตติบดี กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...