วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

หลักกฎหมายเอกชน : การตีความ/ปรับใช้กฎหมาย

เอกสารประกอบการบรรยายรายวิชาหลักกฎหมายเอกชน
หลักการตีความเพื่อใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์
หลักการตีความกฎหมาย หรือ หนังสือกฎหมายของบางท่านอธิบายโดยเรียกว่า การปรับใช้กฎหมาย หรือ การตีความเพื่อปรับใช้กฎหมาย หรือ Application of Law
Application แปลว่า การประยุกต์เอาไปใช้ ใช้กับอะไร คำตอบคือ การจำข้อกฎหมายไปปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเวลาท่านไปทำงานจะพบว่าทางปฏิบัติจะมีการแบ่งเป็นปัญหาอยู่ ๒ ลักษณะ ได้แก่ ปัญหาข้อกฎหมาย กับ ปัญหาข้อเท็จจริง หน้าที่ของนักกฎหมายต้องนำข้อกฎหมายที่ได้ศึกษาหาความรู้มาปรับใช้ให้ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำซึ่งทั้งหลายทั้งปวงก็จะกลับเข้าสู่หลักการทั่วไป (principle) ที่บรรดานักกฎหมายเริ่มต้นศึกษาตั้งแต่อยู่ชั้นปีที่ ๑ นี้

มาตรา ๔ บัญญัติว่า “กฎหมายนั้นต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ ”“ The law must be applied in all cases which come with in the letter or the spirit of its provisions”

จะเห็นได้ว่ามีคำอยู่ ๒ คำที่น่าสนใจใคร่ต้องพิเคราะห์ถึงได้แก่
๑. บทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร (By letter)
๒. บทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามความมุ่งหมาย (By spirit)
“กฎหมาย” ตามบทบัญญัติข้างต้น ย่อมหมายถึง กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ถึงกระนั้นตาม
ความเห็นของท่านพระยาเทพวิฑูร (บุญช่วย วณิกกุล) ได้แสดงทรรศนะไว้ว่า คำว่า กฎหมาย ที่ปรากฏในมาตรา ๔ นั้น น่าจะหมายความรวมทั้ง กฎหมายใด ๆ อันเป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกรทรวง ระเบียบต่าง ๆเป็นต้น (อ้างใน, ประสิทธิ์ โฆวิไลกุล, กฎหมายแพ่งหลักทั่วไป, สำนักพิมพ์นิติธรรม, พ.ศ. ๒๕๔๕, หน้า ๖.) ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตที่มากกว่าเฉพาะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วยตามคำอ้างเช่นนั้น เพราะกฎหมายที่ปรากฏเป็นตัวอักษรนั้นเปรียบได้กับร่างกาย อันมีความมุ่งหมายเป็นจิตใจ แต่อย่างไรเสีย มีกฎหมายบางประเภทที่มีการกำหนดโทษทางอาญา ได้แก่ ลักษณะของโทษทัณฑ์ที่มุ่งสู่การจำกัดสิทธิในชีวิต (ประหารชีวิต) ร่างก่าย (จำคุก/กักขัง) เสรีภาพ อนามัย ทรัพย์สิน (ริบ ปรับ ยึดทรัพย์ เป็นต้น) เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ควรถูกจำกัดการตีความกฎหมายโดยเคร่งครัด กล่าวคือ กฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้เช่นใด ก็ควรใช้เพียงแค่นั้น ตัวอย่างเช่น เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาไว้ว่า ลักกระแสไฟฟ้า เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เมื่อพิจารณาตามกฎหมายอาญา กำหนดว่า “ผู้ใดเอาไปซึ่งทรัพย์ผู้อื่นโดยทุจริต ต้องระวางโทษ” จึงมีคำถามว่ากระแสไฟฟ้าเป็นทรัพย์หรือไม่ การที่จะพิจารณาว่าเป็นทรัพย์หรือไม่ ในกฎหมายอาญาไม่มีการวางคำนิยามศัพท์ไว้ว่ามีความหมายว่าอย่างไร แต่เมื่อพิจารณาจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีการกำหนดความหมายของคำว่า “ทรัพย์” ไว้ว่าหมายถึง วัตถุมีรูปร่าง แต่เมื่อพิจารณาตามจักษุแล้ว จะพบว่า กระแสไฟฟ้าไม่มีรูปร่าง จึงไม่เป็นทรัพย์ แต่หากจะหมายความเป็นทรัพย์สิน (ทรัพย์สิน หมายความว่า ทรัพย์และวัตถุที่ไม่มีรูปร่างแต่อาจมีราคาและถือเอาได้) ดังนั้น เมื่อ ตีความกฎหมายอาญาจึงต้องเพ่งพิจารณาถึงบทบัญญัติโดยเคร่งครัดเท่านั้น กฎหมายอาญาบัญญัติว่า ลักทรัพย์ มิใช่ ลักทรัพย์สิน ผู้ที่ลักกระแสไฟฟ้าจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ หลายท่านคงอดแปลกใจไม่ได้ว่า เมื่อได้ความชัดว่า ผู้นั้นเป็นหัวขโมย ถูกต้องแล้วที่กฎหมายลงโทษ เพราะเมื่ออาศัยลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏไม่ได้ ก็ต้องพิจารณาจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย น่าจะอยู่ที่ไม่ต้องการให้ผู้ใดเอาของ ๆ ผู้อื่นไป โดยไม่มีอำนาจหน้าที่แต่อย่างใด และเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม
แต่ความหมายเป็นเช่นนั้นไม่ หลักการตีความกฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด แม้เจตนาของกฎหมายดังกล่าวจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องก็ตาม แต่โทษที่ผู้นั้นได้รับมีเนื้อหาเป็นการลิดรอนสิทธิในชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ จิตใจ ของบุคคล จึงไม่อาจทำเช่นนั้นได้ หากจะลงโทษในความคิดเช่นนั้น ก็ต้องไปบัญญัติกฎหมายใหม่เพื่อมาใช้บังคับในกาลข้างหน้า เช่น บัญญัติความผิดฐาน “ลักทรัพย์สิน” ขึ้น ทั้งนี้หากพิจารณากันอย่างลึกซึ้งก็เพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคลนั้นเอง แต่เหตุที่กฎหมายอื่น สามารถขยายความให้ครอบคลุมถึงเจตนาได้นั้น มีหลายเหตุปัจจัยด้วยกัน กล่าวคือ
๑. กฎหมายจะต้องทันสมัยสม่ำเสมอ
๒. ผู้ร่างกฎหมายอาจคิดหรือคาดเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้ามิได้
๓. คุ้มครองปัจเจกชน (เอกชน) ผู้สุจริต
๔. โทษทัณฑ์ของกฎหมายอื่นนอกจากกฎหมายอาญาไม่ได้มีลักษณะเป็นการลิดรอนต่อสิทธิในชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ทรัพย์สินของบุคคล แต่มุ่งประโยชน์ที่ค่าเสียหายและ/หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับธรรมเนียมปฏิบัติของศาลไทย หรือปรัชญากฎหมายไทยที่ว่า “ต้องไม่มีผู้ใดจะแสวงหาผลกำไรหรือประโยชน์จากการเป็นคดีความกัน”
ด้วยเหตุนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีเนื้อหาสาระอยู่ตรงนี้ “กำหนดความสัมพันธ์ สิทธิ หน้าที่ ระหว่างเอกชนกับเอกชน” ประกอบกับ ปรัชญาว่า บุคคลทุกคนต้องกระทำการโดยสุจริต และต้องการให้การแสดงออกต่าง ๆของมนุษย์มีค่าบังคับได้เสมอ ดังปรากฏเรื่อง “ความศักดิ์สิทธิ์แห่งการแสดงเจตนา” ดังนั้น เพื่อต้องการส่งเสริมความสุจริตของบุคคล และคุ้มครองปัจเจกชน จึงมีความจำเป็นต้องขยายความกฎหมายให้นอกเหนือจากที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรโดยขอให้ท่านพิจารณาจากตัวอย่างข้างล่างประกอบเรื่อง “ป้ายห้ามเดินลัดสนาม” “บรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ ” หมายถึง มาตราทุกมาตราที่บัญญัติขึ้นตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตามความเห็นของท่านพระยาเทพวิฑูร
“การตีความกฎหมาย” หมายถึง การค้นหาเพื่อสร้างความกระจ่างชัดในความหมายของกฎหมาย (ข้อสังเกต การตีความไม่ใช่การแปลความ ส่วนจะแตกต่างและ/หรือเหมือนกันอย่างไร โปรดหาวิสัชนา)
สำหรับการค้นหาความหมายของกฎหมาย เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายนั้น ถ้าท่านเลือกแสวงหาแบบกว้างขวางจนเกินไปอย่างมหาสมุทร ย่อมเป็นปัญหาในทางปฏิบัติได้

หากขีดวงจำกัดให้แคบจนเกินไป ก็เป็นอุปสรรคของผู้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน
แล้วจะค้นหาอย่างไร?
ขอให้ท่านลอง ระลึกภาพการโยนหินลงแม่น้ำ ท่านจะเห็นว่า แรงกระทบของก้อนหิน จะทำให้ผิวของน้ำแผ่ขยายตีวงกว้างขึ้น ๆ ฉันใด การตีความกฎหมายนี้ ฉันนั้น เมื่อท่านเลือกตีความบทบัญญัติใด ก็ให้เริ่มต้นจากสิ่งนั้น เพียงเฉพาะที่ขยายได้เท่านั้น เหมือนก้อนหินที่ทำให้น้ำกระเพื่อมเฉพาะแหล่งที่โยนกระทบเท่านั้นแล ข้อเปรียบเทียบดังกล่าวใคร่ให้ท่านโปรดพิจารณาก่อน แล้วค่อยจำเมื่อท่านเห็นด้วย
เมื่อเป็นเช่นนั้น การตีความหมายจึงจำเป็นต้องถูกกำกับโดยอาศัยหลักดังต่อไปนี้เป็นลำดับขั้นไป
ลำดับที่ ๑. พิจารณาจากบทบัญญัติของกฎหมาย
มีหนังสือหลายเล่มได้อธิบายในเรื่องนี้ไว้ว่า “เมื่อถ้อยคำชัดเจนแล้ว ก็ไม่ต้องตีความอีก” ซึ่งการตีความกฎหมายนั้นจะตีความเฉพาะกรณีที่ถ้อยคำของกฎหมายไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน คลุมเครือเท่านั้น (สมยศ เชื้อไทย, วิชากฎหมายแพ่ง: หลักทั่วไป,พิมพ์ครั้งที่ ๒,๒๕๓๔,หน้า ๑๓๒.) เช่น มีการนำป้ายไปปักไว้ที่สนามหญ้าว่า ห้ามเดินลัดสนาม เมื่อพิจารณาจากลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏบนป้าย ถ้อยคำหรือถ้อยความได้กำหนดไว้แจ้งชัดว่า “ห้ามเดิน”เหยียบย่ำไปที่พื้นสนามนั้น แต่หากมีผู้สงสัยว่าแล้ว วิ่ง กระโดด ขี่จักรยาน(ยนต์) ขับรถยนต์ เข้าไปในสนามได้หรือไม่ เพราะลายลักษณ์อักษรได้ปรากฏอยู่แจ้งชัดแล้วว่า “ห้ามเดิน” เท่านั้น มิได้รวมถึง การวิ่ง กระโดด หรือกิจกรรมอื่นใด จากตัวอย่างดังกล่าว ทำให้ท่านเห็นได้ว่า การอ่านแต่เพียงบทบัญญัติแห่งกฎหมายไม่เพียงพอ ที่จะหยั่งทราบว่าเจตนาและ/หรือความมุ่งหมายของผู้เขียนต้องการอะไร ซึ่งจะต้องเตือนห้ามเดินลัดสนาม ผู้เปิดประกาศมีเจตนาหรือความมุ่งหมายที่ไม่ต้องการให้พื้นสนามได้รับความเสียหา ดังนั้น การวิ่ง การกระโดด หรือ กิจกรรมอื่นใดที่เกิดความเสียหายกับพื้นสนามย่อมไม่สามารถกระทำได้
ทำให้เห็นได้ว่า การค้นหา หรือแสวงหาความหมายของกฎหมาย ต้องไม่หยุดอยู่เฉพาะตัวบทกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาเจตนารมณ์ประกอบด้วยเสมอ (ข้อพึงสังเกต แม้ลายลักษณ์อักษรจะชัดเจนแล้ว แต่เพื่อความไม่ประมาทขอให้ท่าน ถามตนเองอยู่เสมอว่า ลายลักษณ์นั้นมีเจตนาอย่างไร เช่น ให้นักศึกษาชายผูกเน็คไทในงานพิธี เห็นได้ชัดเจนว่านักศึกษาชายต้องปฏิบัติตาม จะอ้างว่า ใส่สูทผูกหูกระต่ายมา ก็ดูสุภาพเรียบร้อยแล้วไม่ได้ เพราะกฎหมายบัญญัติไว้ชัดอยู่แล้ว และท่านก็สามารถระลึกได้ว่าที่กำหนดเช่นนั้น มีเจตนาให้นักศึกษาแต่งกายในรูปแบบที่เรียบร้อยเสมอเหมือนกัน)
ลำดับที่ ๒ การค้นหาเจตนารมณ์ของกฎหมาย (The Spirit of Law)
การค้าหาเจตนารมณ์ของกฎหมาย (The Spirit of Law) นั้น มีวิธีการดังต่อไปนี้
๑.ให้ใช้วิธีการสอบถามจากผู้ร่างกฎหมายโดยตรง ว่าผู้ร่างมีเจตนาอย่างไร ซึ่งในทางปฏิบัติ (ความจริง) ผู้ร่างกฎหมายส่วนใหญ่ มักจะไม่อยู่ให้ถาม หรือไม่ก็ล้มหายตายจากไป หรืออื่นใดก็ตามที จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการที่สองคือ
๒. อ่านบทบัญญัติแห่งกฎหมายทั้งฉบับ กล่าวคือ เมื่อไม่มีผู้ร่างอยู่ให้ซักถามได้ ก็อ่านบทบัญญัติแห่งกฎหมายทั้งฉบับ (The whole text)
การอ่านถ้อยคำแห่งกฎหมายทุกคำของบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นั้น ท่านต้องไม่ละเลยคำหนึ่งคำใดของกฎหมาย เพื่อจะได้หยั่งทราบว่า ผู้ร่างกฎหมายมีความประสงค์ที่แท้จริงอย่างไร ดังสุภาษิตกฎหมายลาติน กล่าวไว้ว่า “ถ้อยคำแห่งกฎหมายทุกคำต้องไม่ถูกล่วงข้ามไปเสีย” ( A VERBIS LEGIS NON EST RECEDENDUM; from the words of the law, there is not any departure) เหตุนี้เองการเป็นนักกฎหมายที่ดีและพึงปรารถนาต้องมีคุณสมบัติของผู้ที่มีความรอบคอบถี่ถ้วน ซึ่งท่านสามารถฝึกได้
๓. อ่านทุกอย่างที่เกี่ยวกับกฎหมายฉบับที่ท่านประสงค์ค้นหา
๓.๑ สืบค้นใครเป็นผู้ร่างแล้วสอบถาม
๓.๒ อ่านหลักการและเหตุผลในชั้นร่าง
๓.๓ อ่านรายงานการประชุมในชั้นร่างทุกขั้นตอน
๓.๔ อ่านจากวาระการพิจารณากฎหมายรัฐสภา
๓.๕ อ่านจากความเห็นข้อกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา
เมื่อผ่าน ๑-๓ แล้ว จะหยั่งทราบเจตนารมณ์ของกฎหมายได้อีกโดยอาศัยหลักต่าง ๆ ดังนี้

๑. หลักสามัญสำนึก (Common Sense)

ผู้เขียนได้บรรยายอยู่เสมอว่า เมือท่านเข้ามาเรียนวิชากฎหมาย โปรดกรุณาอย่าลืมนำสามัญสำนึกหรือ Common Sense ของท่านติดตัวมาเรียนด้วย ดังคำกล่าวที่ว่า When you come to law school; Don’t forget to bring your common sense. เพราะ กฎหมายส่วนมากนั้นมีที่มาจากสามัญสำนึกของมนุษย์
“I pound of common sense needs 10 pound of learning”
การเรียนรู้ถึง ๑๐ ปอนด์ดังอุปมานี้ มนุษย์เรียนรู้และสั่งสมจากการกระทำ และการกระทำหรือปฏิบัติใด ๆ ที่สังคมเห็นว่าดีงามและถูกต้องก็จะยึดถือเป็นประเพณี ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในการค้นหาความหมายของกฎหมายที่ให้ยึดหลักสามัญสำนึกนั้น มนุษย์ย่อมพึงนำสิ่งที่สังคมเห็นพ้องว่าถูกต้อง ดีงาม เป็นเครื่องชี้วัดอยู่แล้ว ดังนั้น ท่านจะปรับใช้กฎหมายได้ดีเพียงใดนั้น คงเป็นภาระหน้าที่ของท่านว่าท่านมีคลังแห่งสามัญสำนึกเพียงใด ซึ่งผู้เขียนขอแนะนำว่า การหาสามัญสำนึกมาเก็บใสคลังสมองของตนต้องหมั่นฝึกฝนอยู่เสมอ เช่น อ่านลายลักษณ์อักษร ต้องฝึกถามตนเองว่า ที่เขียนอย่างนั้น ผู้ร่างเขาต้องการอะไร หรือแม้เห็นข้อเขียนอะไรสั้น ๆ ก็หมั่นฝึกว่า ผู้เขียนต้องการอะไร...เมื่อท่านฝึกบ่อย ๆ และเป็นประจำ ท่านก็จะได้รับประโยชน์จากการฝึกนั้นโดยอัตโนมัติ..สำคัญ..เพียงแค่คิดจะเริ่มหรือไม่เท่านั้น

๒. หลักเหตุและผล (Logical)

บางครั้งลำพังจะใช้หลักสามัญสำนึกเพียงอย่างเดียวไม่อาจค้นหาความหมายได้ จึงต้องอาศัยผู้รู้ และ / หรือผู้เชี่ยวชาญมาให้คำตอบ ซึ่งคำตอบที่ผู้รู้และ/หรือผู้เชี่ยวชาญจะให้นั้นจำเป็นต้องอาศัยเหตุและผลตามหลักตรรกะมาตีความ เพื่อค้นหาความหมายของกฎหมาย (โปรดศึกษาเพิ่มเติมจากบทที่ ๑-๔ ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมมนุษย์กับกฎหมาย,หนังสือความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไปของผู้เขียน)
เมื่ออาศัยหลักการทั้งสองเข้าปรับกับบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เจตนารมณ์ของกฎหมายจะค่อย ๆ ปรากฏเด่นชัดขึ้น ให้ผู้อ่านและ/หรือผู้ใช้กฎหมายทราบว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น ๆ มีความมุ่งประสงค์สิ่งใดและท่านสามารถตีความเพื่อใช้กฎหมายนั้นได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ไม่ได้ถูกสังคมตีตราว่าเป็นนักกฎหมายแบบท่องจำอย่างนกแก้วนกขุนทองและ/หรือเป็นนักกฎหมายแบบศรีธนนชัย

อย่างไรก็ตาม การตีความกฎหมายข้างต้นนั้น ท่านรองศาสตราจารย์สมยศ เชื้อไทย ได้กล่าวเตือนไว้ว่าแม้การตีความบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามตัวอักษรประกอบกับเจตนารมณ์แล้ว แต่ต้องไม่ลืมว่า “ความมุ่งหมายของกฎหมายก็ย่อมถูกจำกัดครอบด้วยตัวหนังสือเช่นกัน” เปรียบเสมือนกับ “การเป่าลม (เจตนารมณ์) เข้าไปสู่ลูกโป่ง (ตัวอักษร) ที่สามารถเป่าลมได้เท่าที่ลูกโป่งสามารถรับได้เท่านั้น” ตัวอย่างเช่น มาตรา ๑๓๔๙ วรรคสอง บัญญัติว่า “...ที่ดินแปลงใดมีทางออกได้แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือทะเล หรือมีที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากไซร้...”
ความเช่นนี้ หากที่ดินที่ถูกปิดล้อมด้วยที่ชายเลน และไม่มีทางออกสู่ที่สาธารณะเจ้าของที่ดินร้องขอให้เปิดทางจำเป็นได้หรือไม่ ซึ่งการค้าหาความมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ของกฎหมายจะพบว่า การที่กฎหมายบัญญัติเช่นนี้ ก็เนื่องด้วยเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่มีที่ดินที่ไม่มีทางออก แต่ถ้าพิจารณาถึงตัวอักษร (By Letter) จะไม่มีถ้อยคำใดที่สามารถตีความไปถึงที่ชายเลนได้ (สระ บึง หรือทะเล หรือมีที่ชั้นอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากัน) ก็ไม่สามารถตีความจนกว้างขวางเกินไปได้ไม่ อย่างที่ผู้เขียนกล่าวไว้แล้วข้างต้นว่า จุดเริ่มของการตีความอยู่ที่ลายลักษณ์อักษร (ก้อนหิน) แผ่ขยายวง มิใช่ไปหาลายลักษณ์อักษรอื่น สรุปได้การตีความกฎหมาย ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรว่าบัญญัติไว้อย่างไรกอปรกับพิจารณาถึงเจตนารมณ์ที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังของลายลักษณ์อักษรนั้นด้วยวามีสามัญสำนึกและเหตุผลเช่นใด

ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ (ซึ่งต่อไปจะย่อว่า ฎ.) ๒๙๑/๒๕๔๒ บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้จะต้องขอหมายเรียกลูกหนี้เข้ามาในคดีนั้นด้วย ก็เพื่อประสงค์ให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสรักษาสิทธิของตนเอง ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ เข้ามาในคดีนี้แทนการขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยที่ ๑ เข้ามาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗(๓) จึงถือได้ว่า มีการเรียกลูกหนี้เข้ามาคดีตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔ แล้ว

จากตัวอย่างข้างต้น การฟ้องจำเลยที่ ๑ เข้ามาในคดี ย่อมเป็นไปตามความมุ่งหมายของกฎหมายมาตรตรา ๒๓๔ แล้ว การตีความกฎหมายเพื่อปรับใช้ต้องพิจารณาว่า มาตรา ๒๓๔ บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ว่า ต้องขอหมายเรียก แต่เจ้าหนี้ (โจทก์) ไม่ขอหมายเรียก ซึ่งเหตุที่กฎหมายเขียนไว้เช่นนั้น เนื่องด้วยต้องการให้ลูกหนี้มีโอกาสเข้ามาคดีเพื่อให้การต่อสู่หรือปฏิเสธว่าตนเป็นหนี้หรือไม่อย่างไร ซึ่งการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ เลย แม้จะไม่ได้ทำตามมาตรา ๒๓๔ ก็ไม่ทำให้ความมุ่งหมายของกฎหมายมาตรา ๒๓๔ เสียเปล่าไปแต่อย่างใด เพราะถึงอย่างไรลูกหนี้ (จำเลยที่ ๑) ก็เข้ามาในคดีตามที่กฎหมายประสงค์แล้ว

ข้อสังเกต หลักการใช้กฎหมายนั้น กฎหมายไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นเฉพาะตัวอักษรหรือตัวหนังสือเป็นสำคัญเท่านั้น การใช้กฎหมายต้องสามารถทำให้ประยุกต์ใช้ได้ในทุกสถานการณ์โดยมินำข้อจำกัดทางลายลักษณ์อักษรมาเป็นอุปสรรค กฎหมายต้องถูกนำไปใช้ในทางที่เป็นไปได้และไม่สร้างอุปสรรคเพียงเพราะข้อจำกัดทางภาษาเขียน และต้องไม่ถูกนำไปปรับใช้เป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่เรียกว่าเทคนิคทางกฎหมาย แต่กระนั้นข้อพึงระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งต้องไม่ใช้ช่องทางของกฎหมายดังกล่าวไปในทางที่ให้คู่ความ/คู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียเปรียบ

ซึ่งจากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า หากศาลยึดติดกับตัวอักษรตามมาตร ๒๓๔ ที่ต้องให้เจ้าหนี้ขอหมายเรียก และพิพากษายกฟ้องโจทก์เนื่องจากไม่ทำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จะก่อให้เกิดทางเสียเปรียบกับโจทก์เป็นอย่างยิ่ง ในทางเดียวกัน การที่ศาลพิจารณาว่าการที่ฟ้องจำเลยที่ ๑ เข้ามา แทนการขอหมายเรียกก็ไม่ได้ทำให้จำเลยที่ ๑ (ลูกหนี้) เสียเปรียบแต่อย่างใด
ฎ. ๓๓๕๑/๒๕๓๕ คู่สมรสตามกฎหมายประกันสังคมให้มีความหมายถึง สามี ภรรยา ที่จดทะเบียนสมรสที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น
หรือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๒๗ บัญญัติว่า “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความแห่งประมวลกฎหมายนี้” บุตรนอกกฎหมาย หมายถึง บุตรที่เกิดจากบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย จึงเกิดประเด็นว่า บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรอง การรับรองนั้นอย่างไรจึงจะถือว่าเป็นการรับรอง เพราะการรับรองมีวิธีการรับรองได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น
๑. บิดาจดทะเบียนรับรองบุตรนอกกฎหมาย หรือ
๒. มีพฤติการณ์ที่แสดงออกว่าตนได้รับรอง เช่น การอุปการะเลี้ยงดู การแนะนำต่อสาธารณชน
ทั่วไปว่าเป็นบุตร การให้ใช้ชื่อสกุล เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อพิจารณาบทบัญญัติและเจตนาแล้วนั้น กรณีที่บิดารับรองบุตรหาใช่การรับรองที่ต้องมีพิธีการอะไรไม่ การับรองโดยทะเบียนคนเกิดและ/หรือโดยเปิดเผยอย่างพฤติการณ์ก็ย่อมสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว (ฏ.๑๖๐๑/๒๔๙๒)
ฎ. ๑๒๘๘/๒๕๐๘ เมื่อพระราชบัญญัติจราจรทางบกไม่มีบทวิเคราะห์ศัพท์คำว่า “แซง” ไว้แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ นั่น คำว่า “แซง” หมายถึงกริยาที่แทรกหรือเสียด ซึ่งหมายความว่า เบียดเข้าไป หรือเฉียดเข้าไป เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นพิเศษก็ต้องตีความตามความหมายธรรมดา
-----------------------
กิตติบดี

ไม่มีความคิดเห็น:

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...