วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ทางออกวิกฤตสังคมไทยกับ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ตอน ๑

ทางออกวิกฤตสังคมไทย (๑) 


สัมภาษณ์อ.สุลักษณ์  ศิวรักษ์ เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ.​๒๕๕๒
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

--------------------------
กิตติบดี

สรุปการบรรยายละเมิด (๓) เรื่อง ความรับผิดทางแพ่งกับความรับผิดทางอาญา

ประเด็นความรับผิดทางแพ่ง (ละเมิด) กับความรับผิดทางอาญา

จากที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้นว่า กฎหมายละเมิดมีที่มาจากหลักศีลธรรม พัฒนาจากการลงโทษมาสู่การเรียกค่าสินไหมทดแทน ซึ่งการกระทำให้ผู้อื่นเสียหายนั้นมีความทับซ้อนกันระหว่างความรับผิดทางอาญา (รัฐลงโทษโดยคำนึงถึงส่วนรวม) กับความรับผิดทางแพ่ง (การเยียวยาความเสียหายโดยคำนึงถึงปัจเจกบุคคล) หรืออาจเรียกในส่วนอาญาว่า ประทุษร้ายทางอาญา และเรียกในส่วนแพ่งว่า ประทุษร้ายทางแพ่ง

โดยที่มาตรา ๔๒๔ ได้กล่าวถึงความทับซ้อนดังกล่าว จึงได้กำหนดเป็นหลักว่า "ในการพิจารณาคดีข้อความรับผิดเพื่อละเมิดและการกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่าศาลไม่จำต้องดำเนินตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอาญา ว่าด้วยการต้องรับโทษ หรือการได้รับการยกเว้นโทษแต่อย่างใด" ทั้งนี้ เนื่องด้วยเจตนารณ์แตกต่างกัน ดังนั้น การปรับใช้กฎหมายละเมิดให้พิจารณาที่ความเสียหายเป็นหลัก เพื่อจักหาผู้ที่ต้องรับผิดชอบมาเยียวยาหรือรับผิดชอบต่อความเสียหายนั้น แต่ทว่าในส่วนอาญา การปรับใช้กฎหมายต้องพิจารณาองค์ประกอบความผิดเป็นหลัก (องค์ประกอบภายนอก/องค์ประกอบภายใน) ซึ่งเท่ากับว่า ขอบเขตของการปรับใช้กฎหมายละเมิด นักกฎหมายต้องกล้าตีความขยายขอบเขตเพื่อคุ้มครองผู้เสียหาย ในขณะการปรับใช้กฎหมายอาญาต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหาเป็นสำคัญ

เมื่อเป็นเช่นนี้ การรับฟังข้อเท็จจริงในส่วนคดีอาญาเพื่อนำมาเป็นยุติในส่วนคดีแพ่ง จึงเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกับการกำหนดค่าสินไหมทดแทน รวมถึงการดึงบุคคลอื่นที่มีส่วนในความรับผิดชอบมารับผิดนอกเหนือจากผู้กระทำความผิดโดยตรง เช่น ลูกจ้างไปกระทำความผิดทางอาญา (ในทางการที่จ้าง) นายจ้างต้องเข้ามารับผิดชอบในส่วนทางแพ่งด้วย เป็นต้น

ดังนี้ จึงขอเปรียบเทียบระหว่างประทุษร้ายทางแพ่งกับประทุษร้ายทางอาญา ไว้ดังต่อไปนี้
(๑) เจตนารมณ์ของกฎหมาย
ทางแพ่ง เพื่อเยียวยาความเสียหายที่แท้จริง และยกระดับมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม
ทางอาญา เพื่อป้องปรามมิให้ประชาชนประพฤติตนไม่เหมาะสมและเป็นอันตรายต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมของประชาชน

(๒) การตีความ/ปรับใช้กฎหมาย
ทางแพ่ง ตีความ/ปรับใช้ตามเจตนารมณ์กฎหมาย
ทางอาญา ตีความ/ปรับใช้อย่างเคร่งครัด เนื่องจาก บทลงโทษนั้นกระทบกระเทือนต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์

(๓) ความรับผิด
ทางแพ่ง การล่วงละเมิดและทำให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิ ได้แก่ สิทธิในชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ อนามัย ชื่อเสียง เกียรติยศ ทรัพย์สิน และสิทธิอื่น
ทางอาญา การล่วงละเมิดต่อสิทธิเช่นเดียวกับทางแพ่ง แต่ต่างกันตรงบางมูลฐานความผิดทางอาญาไม่จำต้องเกิดความเสียหาย เช่น ความผิดฐานพยายาม ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์โดยประมาทในทางอาญาไม่มี จะมีเฉพาะเจตนาทำลายทรัพย์สินเท่านั้น ซึ่งในทางแพ่งกำหนดให้รับผิดทั้งเจตนา (จงใจ) หรือประมาทเลินเล่อ หรือ การฝ่าฝืนข้อห่้ามที่มีโทษทางอาญาเช่น การสร้างอาคารสูง แม้ว่าไม่เกิดความเสียหาย บุคคลที่ฝ่าฝืนข้อห้ามต้องรับผิดทางอาญา การขับรถยนต์ฝ่าสัญญาณไฟจราจร เป็นต้น

(๔) โทษ
ทางแพ่ง ค่าสินไหมทดแทน (เงิน)
ทางอาญา โทษทางอาญา (ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน) __การปรับเงิน เงินเข้าคลังหลวงมิใช่เยียวยาเอกชนที่เสียหาย เป็นการลงโทษต่อรัฐ

(๕) การสิ้นสุดคดี
ทางแพ่ง ความตายของผู้กระทำละเมิดไม่เป็นเหตุสิ้นสุดคดี มูลหนี้ตกแก่กองมรดก
ทางอาญา ความตายของผู้กระทำความผิดเป็นเหตุให้คดีระงับสิ้นลง

(๖) การร่วมกันกระทำความผิด
ทางแพ่ง รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม
ทางอาญา จำแนกระดับความชั่วตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน

(๗) อายุความ
ทางแพ่ง ๑ ปีนับแต่วันกระทำละเมิด
ทางอาญา อายุความตามความอุกฉกรรจ์

(๘) เหตุยกเว้นความรับผิด
ทางแพ่ง หลักทั่วไปให้ถือความยินยอมไม่เป็นละเมิด (แต่ปัจจุบันการใช้หลักนี้มีเพิ่มเติมให้พิจารณาจากผู้ทรงสิทธิ์--ซึ่งจะกล่าวต่อไปในคราวบรรยายเรื่องข้อต่อสู้ในคดีละเมิด)
ทางอาญา ความยินยอมไม่เป็นข้อแก้ตัว หากความยินยอมนั้นขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

(๙) ระดับความผิด/ชั่ว
ทางแพ่ง ระดับความผิดมีการจำแนกหลายระดับจงใจ ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ประมาทเลินเล่อ และประมาท เพื่อประโยชน์ในการกำหนดค่าสินไหมทดแทน
ทางอาญา ระดับความชั่วมีเจตนา และประมาท
-----------------------------------------
หมายเหตุ ความสัมพันธ์ระหว่างละเมิดกับความรับผิดทางอาญา
หลักมีดังนี้
(๑) ข้อเท็จจริงต้องฟังเป็นยุติตรงกัน
(๒) จะมีผลผูกพันข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นโดยตรงเท่านั้น หากมีประเด็นอื่นสามารถนำสืบเพิ่มเติมได้
ตย. ศาลในคดีอาญาฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยขับรถชนโจทก์โดยประมาท // ศาลในคดีส่วนแพ่งต้องรับฟังตามนั้น จำเลยจะให้การต่อสู้ว่าตนมิได้ประมาทไม่ได้ แต่ในส่วนการให้การต่อสู้ว่า โจทก์มีส่วนผิดด้วยนั้น ถือเป็นข้อเท็จจริงอื่นเพิ่มเติม สามารถนำพยานหลักฐานเข้าสืบข้อเท็จจริงส่วนนี้ได้

----------------------------------------
กิตติบดี

สรุปการบรรยายละเมิด (๒) เรื่อง กฎหมายละเมิดไทย

กฎหมายละเมิดไทย 

ผมขอแยกเป็น ๒ ช่วงด้วยกัน ได้แแก่
ช่วงที่ ๑ ก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ช่วงที่ ๒ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
 
(๑) ช่วงแรก
สมัยสุโขทัยและอยุธยา กฎหมายไทยได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ (มอญ) ซึ่งมีการกำหนดให้รัฐผู้ปกครองแผ่นดินมีหน้าที่ลงโทษอาญาแก่ผู้กระทำผิด และเช่นเดียวกันที่รัฐมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าทำขวัญให้แก่ผู้เสียหาย  และในสมัยกรุงศรีอยุธยานี้ มีกฎหมายลักษณะโจร มีหลักห้ามเจ้าทุกข์นำโจรมาลงโทษเอง  แสดงว่า แนวคิดทางนิติศาสตร์ในยุคดังกล่าว ห้ามแก้แค้นกันเอง ต้องให้รัฐเข้ามาจัดการเรื่องดังกล่าว โดยกำหนดให้รัฐมีอำนาจเรียกค่าพินัย (ค่าปรับ) จากผู้กระทำละเมิด โดยต้องส่งให้รัฐครึ่งหนึ่งและผู้เสียหายส่วนหนึ่ง ที่ต้องจ่ายให้รัฐเพราะถือว่าเป็นค่าอำนวยความยุติธรรม 

(๒) ช่วงสอง
ภายหลังรับอิทธิพลของกฎหมายตะวันตก และจัดทำร่างประมวลกฎหมาย (Code) ซึ่งถือว่าให้ความสำคัญแก่สิทธิของบุคคล (สิทธิที่เท่าเทียมกัน สิทธิในการถือครองกรรมสิทธิ์เหนือทรัพย์สิน)

การจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
พ.ศ.​๒๔๖๔ ร่างบรรพ ๑-๒ 
พ.ศ.​๒๔๖๖ บรรพ ๑-๒ ประกาศใช้
พ.ศ.​๒๔๖๗ บรรพ ๓ ประกาศใช้
ต่อมา ภายหลังจากที่ได้ตั้งคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายบรรพ ๑-๒  และได้มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการอีกครั้งเมื่อ ๑๑ พ.ย. ๒๔๖๘   โดยส่วนกฎหมายละเมิดนั้น ได้เริ่มที่มาตรา ๔๒๐ (ปัจจุบัน)
ส่วนบรรพ ๓ ได้มีการปรับปรุง  และได้มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑

พ.ศ.​๒๔๗๕ ประกาศใช้บรรพ ๕

พ.ศ.​๒๔๗๖ ประกาศใช้บรรพ ๖

พ.ศ.​๒๕๓๕ บรรพ ๑ และ ๕ ได้รับการปรับปรุงแก้ไข 

พ.ศ.​๒๕๕๑ บรรพ ๕ ได้รับการปรับปรุงแก้ไข 


จะเห็นได้ว่า หลักกฎหมายละเมิดได้เข้ามาสู่แนวคิดเรื่องหนี้ตั้งแต่เริ่มต้น  แต่ในส่วนการสอนกฎหมายละเมิดในช่วงแรกได้นำเอาอิทธิพลของระบบจารีตประเพณีมาสอน โดยกรมหลวงราชบุรีฯ โดยท่านเรียกละเมิดว่า "การประทุษร้ายส่วนแพ่ง" (ดูจากคู่มือกฎหมาย lecture ของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) โดยบรรยายแยกเป็นเรื่อง ดังนี้

(๑) มูลแห่งคดีประทุษร้ายส่วนแพ่ง

(๒) การบุกรุก

(๓) ประมาทเลินเล่อ  (negligence)

(๔) อุบัติเหตุโดยแท้ (accident)

(๕) หน้าที่ความระมัดระวัง (duty of care)

(๖) ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล (causation)

(๗) การสร้างความเดือดร้อนรำคาญ (nuisance)

 อาจเป็นด้วยเหตุนี้ กลิ่นอายของคำพิพากษา/การปรับใช้กฎหมายละเมิดรับอิทธิพลจากศาลต่างประเทศในส่วนจารีตประเพณีนำมาอธิบายขยายความตัวบทกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น หลักความประมาทเลินเล่อ หลักความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล ทฤษฎีผลโดยตรง ทฤษฎีมูลเหตุเหมาะสม 


(๓) ร่างความรับผิดเพื่อละเมิด (มาตรา ๔๒๐-๔๓๗) 

มาตรา ๔๒๐  มีที่มาจาก BGB (ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน) มาตรา ๘๒๓

มาตรา ๔๒๑ มีที่มาจาก BGB มาตรา ๒๒๖

มาตรา ๔๒๒  มีที่มาจาก BGB มาตรา ๘๒๓ วรรคสอง

มาตรา ๔๒๓  มีที่มาจาก BGB มาตรา ๘๒๔ เป็นเรื่องหมิ่นประมาทในทางแพ่ง

มาตรา ๔๒๔  มีที่มาจากกฎหมายสวิสเซอร์แลนด์ 

มาตรา ๔๒๕  มีที่มาจาก BGB มาตรา ๘๓๑ และกฎหมายญี่ปุ่น มาตรา ๗๑๕

มาตรา ๔๒๖  มีที่มาจากกฎหมายสวิสเซอแลนด์ มาตรา ๕๕ วรรคสอง และกฎหมายญี่ปุ่น มาตรา ๗๑๕ วรรคสาม

มาตรา ๔๒๗  ร่างจากเราเอง

มาตรา ๔๒๘   มีที่มาจากกฎหมายญี่ปุ่น

มาตรา ๔๒๙   มีที่มาจาก BGB มาตรา ๘๒๗-๘๒๙ กฎหมายฝรั่งเศส มาตรา ๑๓๑๐ และกฎหมายญี่ปุ่น มาตรา ๗๑๒-๗๑๓

มาตรา ๔๓๐  มีที่มาจาก BGB มาตรา ๘๓๒ และกฎหมายญี่ปุ่น มาตรา ๗๑๔

มาตรา ๔๓๒   มีที่มาจาก BGB มาตรา ๘๓๐   กฎหมายญี่ปุ่น มาตรา ๗๑๙ และกฎหมายสวิสเซอแลนด์ มาตรา ๕๐

มาตรา ๔๓๓ มีที่มาจาก BGB มาตรา ๘๓๓ และกฎหมายสวิสเซอร์แลนด์ มาตรา ๕๖

มาตรา ๔๓๔  มีที่มาจาก BGB มาตรา ๘๒๓-๘๒๖ และมาตรา ๘๔๐ วรรคสาม กฎหมายญี่ปุ่น มาตรา ๗๑๗และกฎหมายฝรั่งเศส มาตรา ๑๓๘๖

มาตรา ๔๓๕   มีที่มากฎหมายสวิสเซอร์แลนด์ มาตรา ๕๙

มาตรา ๔๓๖  มีที่มากฎหมายบราซิล

มาตรา ๔๓๗  มีที่มาจากกฎหมายฝรั่งเศส มาตรา ๑๓๘๔ และกฎหมายบราซิล มาตรา ๑๕๒๗


(๔) พื้นฐานความรับผิดเพื่อละเมิด 

ความรับผิดเพื่อละเมิด สามารถแบ่งได้เป็น ๓ กลุ่มได้แก่


กลุ่มที่ ๑ ละเมิดที่เกิดจากการกระทำของตนเอง (ละเมิดโดยแท้-Fault Liability) ประกอบด้วย

มาตรา ๔๒๐ ละเมิดโดยแท้

มาตรา ๔๒๑ การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นบทขยายความของมาตรา ๔๒๐ (โดยผิดกฎหมาย)

มาตรา ๔๒๒  บทสันนิษฐานความผิด เป็นบทขยายความมาตรา ๔๒๐

มาตรา ๔๒๓ ละเมิดโดยการกล่าว/ไขข่าวเท็จ

มาตรา ๔๒๘ ผู้รับจ้างกระทำละเมิด

มาตรา ๔๓๒ ความรับผิดกรณีผู้ทำละเมิดหลายคน


กลุ่มที่ ๒  ละเมิดที่เกิดจากการกระทำของผู้อื่น (Vicarious Liability) ประกอบด้วย

มาตรา ๔๒๕ ละเมิดที่เกิดจากการกระทำของลูกจ้าง

มาตรา ๔๒๖ สิทธิไล่เบี้ย

มาตรา ๔๒๗ ละเมิดที่เกิดจากตัวแทน

มาตรา ๔๒๙ ละเมิดที่เกิดจากผู้เยาว์หรือคนวิกลจริต

มาตรา ๔๓๐ ละเมิดที่เกิดจากผู้อยู่ในความดูแล

มาตรา ๔๓๑ สิทธิไล่เบี้ย


กลุ่มที่ ๓ ความเสียหายที่เกิดจากทรัพย์สิน (Presumption of fault /strict liability)

มาตรา ๔๓๓ ความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์

มาตรา ๔๓๔ ความเสียหายเกิดขึ้นเพราะโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างชำรุด บกพร่อง

มาตรา ๔๓๕ มาตรการป้องกัน

มาตรา ๔๓๖ ความเสียหายอันเกิดจากสิ่งของตกหล่น

มาตรา ๔๓๗ วรรคหนึ่ง ความเสียหายอันเกิดจากยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล

วรรคสอง ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากทรัพย์อันตราย


-------------------------------------------
กิตติบดี


สรุปการบรรยายละเมิด (๑) เรื่อง ประวัติความเป็นมาของกฎหมายว่าด้วยละเมิด

(๑) พื้นฐานแนวคิดเรื่องละเมิด

ละเมิดมีลำดับการพัฒนาการมาจากหลักคิดทางศีลธรรมที่ว่า "จงอย่าทำร้ายผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย" 

ในสังคมโบราณ ปรากฎให้เห็นหลักกฎหมายโรมันเรื่อง หลักตาต่อตาฟันต่อฟัน  Lex Talionis (หลักแก้แค้น) แต่ภายหลังเมื่อสังคมมนุษย์ได้รวมกันก่อตั้งเป็นรัฐ ลำดับของพัฒนาการของการลงโทษผู้กระทำความผิดนั้น ได้มีหลักห้ามประชาชนแก้แค้นกันเอง รัฐเข้ามาทำหน้าที่ในการลงโทษและแก้แค้นแทนผู้เสียหายตามบทลงโทษที่บัญญัติไว้  

เมื่อมาถึงยุคกฎหมาย ๑๒ โต๊ะของพระเจ้าจัสติเนียน ได้มีการปรากฎหลักความรับผิดเพื่อละเมิดขึ้น โดยกำหนดให้ผู้ที่กระทำละเมิดเป็นลูกหนี้ของผู้เสียหาย มีหนี้ที่ต้องชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ (หนี้ตามกฎหมายละเมิด) โดยมีหลักพื้นฐานได้แก่ 
(๑) จงอย่าทำร้ายผู้อื่นให้ได้รับความเสียหาย 
(๒) จงดำรงชีวิตโดยชอบ และ 
(๓) จงให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคนในสิ่งที่ควรได้รับ 

 (๒) การตีความและปรับใช้กฎหมายละเมิด
มาจนกระทั่ง ความรับเพื่อละเมิดอยู่ภายใต้อิทธิพลของสังคมประชาธิปไตย (สิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน) 
จากเดิมความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชนที่เท่าเทียมกัน มาสู่สภาพความเป็นจริงที่เอกชนฝ่ายหนึ่งมีฐานะที่มีเปรียบกว่าเอกชนอีกฝ่ายหนึ่ง (เนื่องด้วยเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ) มีผลทำให้พัฒนาการของการปรับใช้หรือการตีความกฎหมายละเมิดขยายขอบเขตและสร้างมาตรฐานเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่เหนือกว่า นอกจากนี้ในการพิจารณาค่าสินไหมทดแทนจาก "การเยียวยา" ความเสียหายที่แท้จริงได้ขยายขอบเขตไปจนถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาของศาลส่วน common law  ที่ตัดสินให้ผู้กระทำความผิดที่มีผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรือสร้างความเดือดร้อนให้สังคม ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมากกว่าการเยียวยา โดยมีลักษณะเป็นการลงโทษ ในขณะที่ฝ่าย civil law ได้มีการบัญญัติกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำความผิดจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าสินไหมทดแทนที่แท้จริงได้ (ตย.ประเทศไทยมีการตราพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.​๒๕๕๑ ซึ่งกำหนดให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนอื่นนอกเหนือจากค่าสินไหมทดแทนตามปกติได้ ได้แก่ ค่าเสียหายต่อจิตใจ ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการลงโทษ ในกรณีผู้ประกอบการกระทำละเมิดต่อผู้เสียหายในความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย--ประเด็นนี้จะกล่าวอีกครั้งหนึ่งในคราวบรรยายเรื่องค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด

สรุปความได้ว่า 
(๑) หลักพื้นฐานละเมิดได้แก่ หลักศีลธรรม 
(๒) กฎหมายละเมิดมีพัฒนาการมาจากหลักการแก้แค้น 
(๓) พัฒนาการจากหลักการแก้แค้นเป็นห้ามแก้แค้น (หนี้ที่ต้องชดใช้)
(๔) พัฒนาการจากหนี้ที่ต้องชดใช้เยียวยาความเสียหายที่แท้จริง เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคม

---------------------
กิตติบดี


กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...