วันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สิทธิมนุษยชน : การบรรยายสรุปวิชาสิทธิขั้นพื้นฐาน


ประเด็นการบรรยายสรุปวิชาสิทธิขั้นพื้นฐาน เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒

สถานที่ ห้องประดิษฐ์มนูธรรม ๑ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
------------------------------------------


ประเด็นการบรรยาย แบ่งออกเป็น ๔ ภาค ได้แก่
(๑) ภาคประวัติศาสตร์
(๒) ภาคคุณค่า/หลักการ
(๓) ภาคเนื้อหาแห่งสิทธิ
(๔) ภาคข้อเท็จจริง

ภาคประวัติศาสตร์
จุดกำเนิดแห่งสิทธิมนุษยชนอยู่ที่ไหน ?

มีการกล่าวไว้ว่า “หากปราศจากปรัชญา จะไม่มีศีลธรรม หากปราศจากศีลธรรม จะไม่มีศาสนา หากปราศจากศาสนา จะไม่มีกฎหมาย (กติกา) หากปราศจากกฎหมาย สังคมจะเป็นเช่นไร”


คำกล่าวข้างต้นนั้น ย่อมแสดงว่า ปรัชญาเป็นต้นธารของศีลธรรม ศาสนา และกฎหมายตามลำดับ โดยที่ปรัชญา หรือ Philosophy ซึ่งเป็นคำสนธิระหว่างคำว่า Philos (รัก) กับ Sophia (ปัญญา) มีความหมายถึง การรักในภูมิปัญญาความรู้ อาจสรุปได้ว่า ปรัชญามีที่มาจากลักษณะอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ หรืออีกนัยหนึ่งมนุษย์ทุกคนมีการจำได้หมายรู้ สติปัญญา และการรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

การจำได้หมายรู้ สติปัญญา (หัวสมอง) = ทำให้มนุษย์มีพัฒนาการเป็นยุคหิน ยุคไฟ ยุคเหล็ก เรื่อยมาจนกระทั่งเทคโนโลยีชั้นสูง

การรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (หัวใจ) = ศีลธรรม ศาสนา จริยธรรม คุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์

--- ทว่ามนุษย์ไม่ตระหนักถึงความสำคัญของหัวใจ หรือหัวสมองขาดความสมดุลกับหัวใจแล้ว สังคมมนุษย์จะไม่สงบสุข มีการเอารัดเปรียบกัน ปราศจากการเคารพศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ เพราะ หากมนุษย์ไม่ยึดมั่นในปรัชญาเป็นเป้าหมายหลัก สังคมมนุษย์จักเป็นเช่นใด ---

สรุปแหล่งที่มาของสิทธิมนุษยชน มีดังนี้ ธรรมชาติของมนุษย์ ศีลธรรม ศาสนา และขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม

การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนควรเริ่มจากที่ไหน ?
ไล่จากกว้างไปหาแคบ ได้แก่ รัฐบาล สังคม สถานที่ทำงาน ครอบครัว และปัจเจกบุคคล
เริ่มจากแคบขยายไปกว้าง ได้แก่ ปัจเจกบุคคล ครอบครัว สถานที่ทำงาน สังคม และรัฐบาล
หมายความว่า การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนควรเริ่มต้นกับทุก ๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปลูกฝังมโนธรรมสำนึกในแต่ละปัจเจกชน

เส้นทางประวัติศาสตร์ ?
การบันทึกถึงเรื่องราวเกี่ยวกับแนวความคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน (สิทธิตามธรรมชาติ)* การเรียกร้องสิทธิมนุษยชนมีทุกหนแห่งในโลกนี้ เนื่องจาก มนุษย์ทุกคนล้วนมีธรรมชาติแห่งมนุษย์เท่าเทียมกัน ซึ่งเมื่อมนุษย์เริ่มก่อร่างสร้างเมือง อาศัยอยู่รวมกันและมีกลไกทางสังคม มีผู้นำผู้ปกครองใช้อำนาจในการปกครองพลเมืองให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และมีระเบียบมีกติกาของสังคม “ที่ใดมีสังคมที่นั่นมีผู้นำ และกฎหมาย”

โดยคุณลักษณะของผู้นำต้องเป็นผู้ที่ชาญฉลาดกว่าผู้อื่น (Tactic) และในการใช้อำนาจปกครองกับไพร่ฟ้าพลเมืองต้องยึดหลักแห่งคุณธรรม ดั่งอาณาจักร (วงล้อแห่งอำนาจ) ต้องควบคู่ไปกับศาสนจักร (วงล้อแห่งธรรมะ) เสมอฉันนั้น ทว่าในโลกแห่งความจริงเมื่อศึกษาตามประวัติศาสตร์ มักจะมีล้อหนึ่งล้อใดเฉไฉออกไป และ/หรือเลวร้ายอย่างที่สุด คือ ทั้งสองล้อไม่ประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปตามครรลองครองธรรมที่ควรจะเป็น จึงทำให้พลเมืองของตนถูกเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ข่มเหง จนเป็นเหตุทำให้พวกเขาต้องเพรียกหา เรียกร้อง ต่อสู้ จนกระทั่งเกิดการทำลายล้าง มีการสถาปนา/ปฏิวัติ/อภิวัฒน์ ให้ผู้ปกครองใช้อำนาจให้สอดคล้องกับหลักคุณธรรม

จึงสรุปได้ว่า สิทธิมนุษยชนถือเป็นคุณธรรมที่ผู้ปกครองพึงมี และการใช้อำนาจใดต้องอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรมดังกล่าว
------------------------------
*ศึกษาเพิ่มเติมจากนักปรัชญาไม่ว่าจะเป็นโสกราติส เพลโต อริสโตเติ้ล ที่อ้างถึง “ความเป็นธรรมตามธรรมชาติ” (natural justice or natural right)
หรือ แนวความคิดเรื่อง ทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติ (Natural law theories) ไม่ว่าจะเป็นโทมัส อาควินัส, ฟรานซิสโค ชัวร์เรส, ริชารด์ ฮูเกอร์, โทมัส ฮอบส์, ฮูโก กรอเชียส, ซามูเอล วอน พลูเฟนดอฟ, จังจาค รุสโซ หรือ จอหน์ ล๊อค เป็นต้น


ภาคคุณค่า/หลักการ
ความหมายของสิทธิมนุษยชน
ถอดความจากคำว่า Human Rights หมายถึง สิทธิต่าง ๆ ที่แสดงถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์
ความข้อนี้ ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ได้เคยให้คำจำกัดความของสิทธิมนุษยชนว่า “สิทธิมนุษยชนคือชีวิต”

องค์ประกอบของสิทธิมนุษยชน (หลักการ/คุณลักษณะพื้นฐาน)
ย่อหน้าแรกของคำปรารภตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
Whereas recognition of the inherent dignity and of the equal and inalienable rights of all members of the human family is the foundation of freedom, justice and peace in the world

หลักการพื้นฐานมีดังนี้
(๑) สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิตามธรรมชาติที่มีมาตั้งแต่เกิด (ศักดิ์ศรีประจำตัวมนุษย์)
(๒) สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิซึ่งเสมอกันของมนุษย์ทุกคน
(๓) สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่อาจโอนให้แก่กันได้
(๔) สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่อาจแบ่งแยกได้

เป้าประสงค์ : เพื่อให้มวลมนุษยชาติมีอิสรภาพ ได้รับความเป็นธรรม และอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

อิสรภาพ ๔ ประการที่เป็นที่มาของสิทธิต่าง ๆ
“…which human beings shall enjoy freedom of speech and belief and freedom from fear and want …”
ได้แก่ (๑) เสรีภาพในการแสดงออก (๒) เสรีภาพในความเชื่อ (๓) เสรีภาพจากความหวาดกลัว และอิสรภาพที่พึงปรารถนา

ภาคเนื้อหาแห่งสิทธิ

ประเด็นนี้นักศึกษาสามารถศึกษาได้จากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
รวมถึงการอนุวัติการเป็นกฎหมายภายใน ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ภาคข้อเท็จจริง

ประเด็นที่หนึ่ง พัฒนาการทางสังคมในเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แบ่งเป็น ๓ ระยะ ได้แก่

ระยะที่หนึ่ง ระยะแห่งการเริ่มต้น
สภาพทางสังคม มีการกดขี่ข่มเหง ไม่เคารพต่อศักดิ์ศรีประจำตัวของมนุษย์ มีการเอารัดเอาเปรียบ แก่งแย่ง และไม่มีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในการให้หลักประกันเรื่องสิทธิแก่ประชาชน

ระยะที่สอง ระยะแห่งการเรียนรู้
สภาพทางสังคม ผู้คนเพรียกหาเสรีภาพ เรียกร้องสิทธิ มีความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองกับกลุ่มคน มีการต่อสู้ ในระยะนี้เริ่มมีกฎหมายหรือกลไกในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ผู้คนเริ่มเรียนรู้ถึงสิทธิของตนเอง โดยช่วงท้ายของระยะนี้ผู้คนให้ความสำคัญของสิทธิตนเองแต่อาจละเลยถึงสิทธิผู้อื่น

ระยะที่สาม ระยะแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชน
สภาพทางสังคม ประชาชนมีการรวมกลุ่มกันเพื่อเหตุผลในการปกป้องและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน มีการรณรงค์ให้ตระหนักถึงการเคารพสิทธิของผู้อื่น การใช้อำนาจหรือใช้สิทธิมีการคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน การใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นไปอย่างกว้างขวาง

ประเด็นที่สอง การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

สรุปได้ดังนี้
(๑) การละเมิดสิทธิมนุษยชนจากภาคเอกชน/ประชาชน กล่าวคือ การประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ อนามัย ทรัพย์สิน รวมถึงการเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมจากผู้ที่มีสถานภาพทางสังคม หรือทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
(๒) การละเมิดสิทธิมนุษยชนจากภาครัฐ เช่น การใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม หรือ การใช้อำนาจโดยมีทัศนคติเชิงอำนาจนิยม ไม่ว่าจะเป็น การละเมิดทางนโยบายของรัฐ การออกกฎหมายหรือบริหารราชการที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ รวมตลอดถึงวิถีชีวิตของชุมชน เป็นต้น


**************************************

กิตติบดี


กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...