วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สรุปการบรรยายละเมิด (๑) เรื่อง ประวัติความเป็นมาของกฎหมายว่าด้วยละเมิด

(๑) พื้นฐานแนวคิดเรื่องละเมิด

ละเมิดมีลำดับการพัฒนาการมาจากหลักคิดทางศีลธรรมที่ว่า "จงอย่าทำร้ายผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย" 

ในสังคมโบราณ ปรากฎให้เห็นหลักกฎหมายโรมันเรื่อง หลักตาต่อตาฟันต่อฟัน  Lex Talionis (หลักแก้แค้น) แต่ภายหลังเมื่อสังคมมนุษย์ได้รวมกันก่อตั้งเป็นรัฐ ลำดับของพัฒนาการของการลงโทษผู้กระทำความผิดนั้น ได้มีหลักห้ามประชาชนแก้แค้นกันเอง รัฐเข้ามาทำหน้าที่ในการลงโทษและแก้แค้นแทนผู้เสียหายตามบทลงโทษที่บัญญัติไว้  

เมื่อมาถึงยุคกฎหมาย ๑๒ โต๊ะของพระเจ้าจัสติเนียน ได้มีการปรากฎหลักความรับผิดเพื่อละเมิดขึ้น โดยกำหนดให้ผู้ที่กระทำละเมิดเป็นลูกหนี้ของผู้เสียหาย มีหนี้ที่ต้องชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ (หนี้ตามกฎหมายละเมิด) โดยมีหลักพื้นฐานได้แก่ 
(๑) จงอย่าทำร้ายผู้อื่นให้ได้รับความเสียหาย 
(๒) จงดำรงชีวิตโดยชอบ และ 
(๓) จงให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคนในสิ่งที่ควรได้รับ 

 (๒) การตีความและปรับใช้กฎหมายละเมิด
มาจนกระทั่ง ความรับเพื่อละเมิดอยู่ภายใต้อิทธิพลของสังคมประชาธิปไตย (สิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน) 
จากเดิมความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชนที่เท่าเทียมกัน มาสู่สภาพความเป็นจริงที่เอกชนฝ่ายหนึ่งมีฐานะที่มีเปรียบกว่าเอกชนอีกฝ่ายหนึ่ง (เนื่องด้วยเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ) มีผลทำให้พัฒนาการของการปรับใช้หรือการตีความกฎหมายละเมิดขยายขอบเขตและสร้างมาตรฐานเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่เหนือกว่า นอกจากนี้ในการพิจารณาค่าสินไหมทดแทนจาก "การเยียวยา" ความเสียหายที่แท้จริงได้ขยายขอบเขตไปจนถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาของศาลส่วน common law  ที่ตัดสินให้ผู้กระทำความผิดที่มีผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรือสร้างความเดือดร้อนให้สังคม ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมากกว่าการเยียวยา โดยมีลักษณะเป็นการลงโทษ ในขณะที่ฝ่าย civil law ได้มีการบัญญัติกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำความผิดจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าสินไหมทดแทนที่แท้จริงได้ (ตย.ประเทศไทยมีการตราพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.​๒๕๕๑ ซึ่งกำหนดให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนอื่นนอกเหนือจากค่าสินไหมทดแทนตามปกติได้ ได้แก่ ค่าเสียหายต่อจิตใจ ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการลงโทษ ในกรณีผู้ประกอบการกระทำละเมิดต่อผู้เสียหายในความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย--ประเด็นนี้จะกล่าวอีกครั้งหนึ่งในคราวบรรยายเรื่องค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด

สรุปความได้ว่า 
(๑) หลักพื้นฐานละเมิดได้แก่ หลักศีลธรรม 
(๒) กฎหมายละเมิดมีพัฒนาการมาจากหลักการแก้แค้น 
(๓) พัฒนาการจากหลักการแก้แค้นเป็นห้ามแก้แค้น (หนี้ที่ต้องชดใช้)
(๔) พัฒนาการจากหนี้ที่ต้องชดใช้เยียวยาความเสียหายที่แท้จริง เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคม

---------------------
กิตติบดี


ไม่มีความคิดเห็น:

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...