วันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ความรู้พื้นฐานทางกฎหมาย : การแบ่งประเภทของกฎหมาย (ตอนที่ ๑)

การแบ่งประเภทกฎหมาย มีดังนี้
(๑) พิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณี
(๒) พิจารณาโดยพิจารณาจากลักษณะแห่งการใช้กฎหมาย
๑. การแบ่งแยกประเภทโดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณี

กล่าวคือ แบ่งแยกโดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ทางกฎหมาย หรือ “นิติสัมพันธ์”
ระหว่างคู่กรณี/คู่สัญญา ได้แก่
(๑) กฎหมายเอกชน (Private Law)
(๒) กฎหมายมหาชน (Public Law)
(๓) กฎหมายระหว่างประเทศ (International Law)

(๑) กฎหมายเอกชน ได้แก่ กฎหมายที่กำหนดถึงสิทธิ หน้าที่และความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน ซึ่งสังเกตได้ว่า ฐานะของคู่กรณี (ประธานและ/หรือกรรม) มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน กฎหมายเอกชนสามารถยกตัวอย่างกฎหมายที่สำคัญที่เรียกในหมู่นักนิติศาสตร์ว่า “กฎหมายสี่มุมเมือง” ได้ดังนี้
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่กำหนดถึงความสัมพันธ์ทางกฎหมายของเอกชนทางแพ่งและทางพาณิชย์ พิจารณาได้จากบรรพ (หมวด) ต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น ๖ บรรพ ๑๗๕๕ มาตรา ดังต่อไปนี้
บรรพ ๑ หลักทั่วไป (มาตรา ๑-๑๙๓) แบ่งออกเป็น ๖ ลักษณะ
ลักษณะ ๑ บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
ลักษณะ ๒ บุคคล
ลักษณะ ๓ ทรัพย์
ลักษณะ ๔ นิติกรรม
ลักษณะ ๕ ระยะเวลา
ลักษณะ ๖ อายุความ

บรรพ ๒ หนี้ (มาตรา ๑๙๔-๔๕๒) แบ่งออกเป็น ๕ ลักษณะ
ลักษณะ ๑ บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
ลักษณะ ๒ สัญญา
ลักษณะ ๓ จัดการงานนอกสั่ง
ลักษณะ ๔ ลาภมิควรได้
ลักษณะ ๕ ละเมิด

บรรพ ๓ เอกเทศสัญญา (มาตรา ๔๕๓-๑๒๙๗) แบ่งออกเป็น ๒๓ ลักษณะ
ลักษณะ ๑ ซื้อขาย
ลักษณะ ๒ แลกเปลี่ยน
ลักษณะ ๓ ให้
ลักษณะ ๔ เช่าทรัพย์
ลักษณะ ๕ เช่าซื้อ
ลักษณะ ๖ จ้างแรงงาน
ลักษณะ ๗ จ้างทำของ
ลักษณะ ๘ รับขน
ลักษณะ ๙ ยืม
ลักษณะ ๑๐ ฝากทรัพย์
ลักษณะ ๑๑ ค้ำประกัน
ลักษณะ ๑๒ จำนอง
ลักษณะ ๑๓ จำนำ
ลักษณะ ๑๔ เก็บของในคลังสินค้า
ลักษณะ ๑๕ ตัวแทน
ลักษณะ ๑๖ นายหน้า
ลักษณะ ๑๗ ประนีประนอมยอมความ
ลักษณะ ๑๘ การพนันและขันต่อ
ลักษณะ ๑๙ บัญชีเดินสะพัด
ลักษณะ ๒๐ ประกันภัย
ลักษณะ ๒๑ ตั๋วเงิน
ลักษณะ ๒๒ หุ้นส่วนและบริษัท
ลักษณะ ๒๓ สมาคม

บรรพ ๔ ทรัพย์สิน (มาตรา ๑๒๙๘-๑๔๓๔) แบ่งออกเป็น ๘ ลักษณะ
ลักษณะ ๑ บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
ลักษณะ ๒ กรรมสิทธิ์
ลักษณะ ๓ ครอบครอง
ลักษณะ ๔ ภาระจำยอม
ลักษณะ ๕ อาศัย
ลักษณะ ๖ สิทธิเหนือพื้นดิน
ลักษณะ ๗ สิทธิเก็บกิน
ลักษณะ ๘ ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

บรรพ ๕ ครอบครัว (มาตรา ๑๔๓๕-๑๕๙๘) แบ่งออกเป็น ๓ ลักษณะ
ลักษณะ ๑ การสมรส
ลักษณะ ๒ บิดามารดากับบุตร
ลักษณะ ๓ ค่าอุปการะเลี้ยงดู

บรรพ ๖ มรดก (มาตรา ๑๕๙๙-๑๗๕๕) แบ่งออกเป็น ๖ ลักษณะ
ลักษณะ ๑ บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
ลักษณะ ๒ สิทธิโดยธรรมในการรับมรดก
ลักษณะ ๓ พินัยกรรม
ลักษณะ ๔ วิธีจัดการและปันทรัพย์มรดก
ลักษณะ ๕ มรดกที่ไม่มีผู้รับ
ลักษณะ ๖ อายุความ

กฎหมายอาญา กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่กำหนดความประพฤติของคนในสังคม ว่าการกระทำอย่างไรต้องห้ามกระทำ หากกระทำต้องรับโทษ ประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทยแบ่งออกเป็น ๓ ภาค
ภาค ๑ บทบัญญัติทั่วไป (มาตรา ๑-๑๐๖) แบ่งเป็น ๒ ลักษณะ
ลักษณะ ๑ บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไป
ลักษณะ ๒ บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดลหุโทษ

ภาค ๒ ความผิด (มาตรา ๑๐๗-๓๖๖) แบ่งเป็น ๑๒ ลักษณะ
ลักษณะ ๑ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
ลักษณะ ๒ ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง
ลักษณะ ๓ ความผิดเกี่ยวกับความยุติธรรม
ลักษณะ ๔ ความผิดเกี่ยวกับศาสนา
ลักษณะ ๕ ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน
ลักษณะ ๖ ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน
ลักษณะ ๗ ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง
ลักษณะ ๘ ความผิดเกี่ยวกับการค้า
ลักษณะ ๙ ความผิดเกี่ยวกับเพศ
ลักษณะ ๑๐ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย
ลักษณะ ๑๑ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง
ลักษณะ ๑๒ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
ภาค ๓ ลหุโทษ (มาตรา ๓๖๗-๓๙๘)

กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่กำหนดถึงวิธีการหรือขั้นตอนในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีความแพ่ง การฟ้องร้องบังคับคดีในทางทรัพย์สินหรือบังคับให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด หรือห้ามกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด มีขั้นตอนตั้งแต่การฟ้องคดี การยื่นฟ้องคดี การไต่สวนมูลฟ้อง การชี้สองสถาน การสืบพยาน การพิจารณาคดีของศาล การชั่งน้ำหนักคำพยาน การพิจารณาพิพากษา การอุทธรณ์ ฎีกา ตลอดจนการบังคับคดี

กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่กำหนดถึงวิธีการหรือขั้นตอนในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีความอาญาเพื่อให้ศาลพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิด กฎหมายนี้ได้กำหนดวิธีการยื่นฟ้องคดีต่อศาล การร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง อำนาจสั่งฟ้อง การประทับรับฟ้อง การพิจารณาพิพากษาคดี การชั่งน้ำหนักพยาน การพิพากษา ตลอดจนการบังคับคดี (ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน)

(๒) กฎหมายมหาชน ได้แก่ กฎหมายที่กำหนดถึงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าพนักงานของรัฐ กับเอกชน โดยฐานะของคู่กรณีฝ่ายปกครองอยู่เหนือกว่าประชาชน (เอกชน) สามารถยกตัวอย่างให้เห็นได้ดังนี้

กฎหมายรัฐธรรมนูญ
กฎหมายรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศเหตุเพราะมาตรา ๖ แห่งรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันบังคับมิได้” กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อวางระเบียบในการปกครองประเทศ และกำหนดบทบาทหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ รวมตลอดจนถึงสิทธิ เสรีภาพของประชาชน

กฎหมายปกครอง
กฎหมายปกครองเป็นกฎหมายที่กำหนดสถานะและความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายปกครอง (หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ) กับรัฐ และต่อประชาชน (เอกชน) เช่น กฎหมายเกี่ยวกับโครงสร้างทางปกครอง (การบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลาง เช่น กระทรวง ทบวง กรมการบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาค เช่น จังหวัด การบริหารราชการแผ่นดินส่วนท้องถิ่นเช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล) การกระทำทางปกครอง ความรับผิดทางปกครอง การควบคุมฝ่ายปกครองโดยศาลปกครอง เป็นต้น

กฎหมายการคลังและการภาษีอากร
กฎหมายการคลังและภาษีอากรเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการหารายได้เข้ารัฐและหน่วยงานของรัฐ การจัดการทรัพย์สินที่เป็นเงินตราของรัฐ เช่น การเก็บรักษา การจัดทำบัญชี และการใช้จ่ายเงินของรัฐโดยงบประมาณแต่ละปี

กฎหมายระหว่างประเทศ ได้แก่ กฎหมายที่กำหนดถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ ซึ่งที่มาของกฎหมายระหว่างประเทศมีที่มาด้วยกันอยู่หลายแหล่งได้แก่ จารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ปฏิบัติสืบเนื่องมา สนธิสัญญา (Treaty) ความตกลงระหว่างประเทศ (Convention)
กฎหมายระหว่างประเทศสามารถแบ่งเป็นแผนกคดีต่าง ๆ ได้ ๓ แผนก
๑. กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
หมายถึง กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ของบุคคลที่มีข้อพิพาทเกี่ยวเนื่องกับต่างประเทศในเรื่องต่าง ๆ เช่น สัญชาติ การเปลี่ยนสัญชาติ การโอนสัญชาติ ทรัพย์สิน นิติกรรมสัญญา เป็นต้น
๒. กฎหมายระหว่างประเทศแผนคดีเมือง
หมายถึง กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ เช่น การกำหนดอาณาเขตของรัฐ หลักเกณฑ์ในการจัดทำสนธิสัญญาต่าง ๆ หรือ ภาวะสงคราม เป็นต้น
๓. กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา
หมายถึง กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์รัฐในทางอาญา เช่นการกำหนดเขตอำนาจศาล การส่งผู้ร้ายข้ามแดน เป็นต้น
-----------------------------------------------------------
กิตติบดี

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

ขอบคุณครับที่ให้ความรู้

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...