วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สรุปการบรรยายละเมิด (๗) เรื่อง ละเมิดโดยแท้

หลักกฎหมายละเมิดตามมาตรา ๔๒๐: เรื่องลักษณะของจำเลย และลักษณะแห่งการกระทำ


ในเรื่องความรับผิดเพื่อละเมิดนั้นแทบจะกล่าวได้ว่ามาตรา๔๒๐เป็นบททั่วไปที่มีความสำคัญและครอบคลุมความรับผิดเพื่อละเมิดในทุกลักษณะโดยมาตราดังกล่าวโจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบ (เงื่อนไข) ดังต่อไปนี้


๑. โจทก์ต้องบรรยายให้เห็นถึงความผิดของจำเลย(ความชั่ว) หรือ Fault

๑.๑ จำเลยได้กระทำต่อผู้อื่น

๑.๒ โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

๑.๓ การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือตามมาตรา๔๒๑โดยมิชอบด้วยกฎหมาย


๒.โจทก์บรรยายให้เห็นถึงความเสียหายที่ตนได้รับ (Damage)


๓.โจทก์บรรยายฟ้องให้เห็นว่าความเสียหายที่ตนได้รับมาจากการกระทำความผิด/ชั่วของจำเลย (Causation)


ประเด็นแรกการกระทำที่เป็นความผิดของจำเลย

วิเคราะห์   ก. ลักษณะของจำเลย กล่าวคือ ผู้กระทำละเมิดหรือจำเลยจะเป็นบุคคลใดก็ได้ไม่มีข้อจำกัดเรื่องการหย่อนความสามารถ(ผู้เยาว์คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ)


แต่มีเงื่อนไขที่บุคคลที่เป็นผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถหรือคนวิกลจริตตามมาตรา ๔๒๙ และมาตรา ๔๓๐ จะกระทำละเมิดได้นั้นต้องสัมพันธ์กับลักษณะแห่งการกระทำ


ข้อสังเกตบุคคลตามกฎหมายมีทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลดังนั้นนิติบุคคลก็สามารถกระทำละเมิดได้เช่นกันโดยผ่านผู้แทนที่มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล


ข. ลักษณะแห่งการกระทำ กล่าวคือ การเคลื่อนไหวอากัปกิริยาต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งจิตใจหรือรู้สำนึกแห่งการกระทำนั้น

สืบเนื่องจากลักษณะของจำเลยที่เป็นผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถหรือคนวิกลจริตก็สามารถกระทำละเมิดได้เมื่อจำเลยที่มีลักษณะต่างๆเช่นว่านั้นกระทำโดยรู้สำนึกในสิ่งที่ตนได้กระทำลงไปมีตัวอย่างบิดาได้ว่าจ้างพี่เลี้ยงเด็กมาเลี้ยงบุตรตนอายุ๓เดือนปรากฏว่าพี่เลี้ยงได้นำบุตรใส่เปลที่มีบุตรของพี่เลี้ยงอายุรุ่นราวคราวเดียวกันนอนอยู่ได้ความว่าบุตรของพี่เลี้ยงยังไม่หลับได้เล่นแกว่งมือเท้าไปมาและไปโดนลูกนัยน์ตาของบุตรที่ตนรับเลี้ยงบอดกรณีนี้จะเห็นได้ว่าบุตรของพี่เลี้ยงไม่มีการกระทำเพราะการกระทำไม่ได้โดยรู้สำนึกแต่ขณะเดียวกันผู้ที่มีความผิดได้แก่พี่เลี้ยงเนื่องจากตนมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยแต่ไม่ป้องกันไว้ซึ่งตามกฎหมายให้ถือว่าการไม่กระทำในเรื่องที่ตนมีหน้าที่ต้องกระทำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายก็ได้ชื่อว่า“กระทำโดยงดเว้นไม่กระทำ”


มีตัวอย่างกรณีที่ศาลวินิจฉัยถึงการกระทำโดยไม่รู้สำนึก(๘๗๔๓/๒๕๔๔)


พิเคราะห์แล้วคดีมีปัญหาที่ต้องพิจารณาตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่องหรือไม่เห็นว่าตามพฤติการณ์ของจำเลยศาลไม่เพียงแต่ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบเพราะมีจิตบกพร่องหรือไม่เท่านั้นแต่ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดว่าจำเลยกระทำโดยเจตนาซึ่งได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำอันเป็นเหตุให้จำเลยต้องรับผิดในทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๙ หรือไม่อีกด้วยเพราะจำเลยปฏิเสธตลอดมาว่าจำเลยมีความพิการทางสมองไม่อาจรู้ได้ว่าการกระทำของตนเป็นความผิดดังปรากฏจากรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดร้อยเอ็ดระบุว่าจำเลยมีสุขภาพทางด้านร่างกายที่แข็งแรงแต่มีความจำด้านสมองเลอะเลือนจำความไม่ค่อยได้ไม่สามารถที่จะจำและลำดับเหตุการณ์ใดๆได้จำเลยเคยประสบอุบัติเหตุเมื่ออายุได้ ๓ ขวบโดยถูกรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนทำให้มีรอยเขียวช้ำตามร่างกายหลายแห่งต้องนอนโรงพยาบาล ๑ คืนเมื่อจำเลยโตขึ้นก็มีความผิดปกติทางด้านสมองจนปัจจุบันนี้บิดามารดาต้องดูแลอยู่ตลอดเวลาซึ่งเจือสมกับสำเนาทะเบียนนักเรียนโรงเรียนเมืองหนองพอกเอกสารหมายล.๑ ที่ระบุไว้ในหมายเหตุว่า"มีปัญหาทางสมอง" และใบแสดงความเห็นของแพทย์เอกสารหมายล.๒ ที่ยืนยันว่าจำเลยปัญญาอ่อนไอคิวเท่ากับ ๗๗ ควรได้รับการอบรมฝึกฝนเป็นพิเศษนอกจากนี้แพทย์หญิงมานิดาสิงหัษฐิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาจิตเวชศาสตร์ซึ่งตรวจร่างกายจำเลยและลงความเห็นในเอกสารดังกล่าวรวมทั้งเอกสารหมายป.ล.๑ ด้านหน้าได้เบิกความเป็นพยานจำเลยว่าจากการตรวจสุขภาพจิตของจำเลยพบว่าพูดไม่ชัดตอบช้าไม่รู้ซ้ายขวาจากการตรวจขั้นต้นพบว่าปัญญาอ่อนหากไม่ได้รับการฝึกฝนการจะรับรู้ว่าสิ่งใดถูกหรือผิดจะรับรู้ได้น้อยกว่าคนปกติการสำนึกว่าผิดหรือถูกนั้นถ้าเป็นสิ่งใกล้ตัวอาจจะรับรู้ได้เช่นทำของแตกหรือทำร้ายร่างกายซึ่งถ้าไม่มีใครบอกว่าสิ่งนั้นผิดคนที่มีระดับไอคิวดังกล่าวอาจจะไม่รับรู้ว่าสิ่งดังกล่าวนั้นถ้าทำลงไปแล้วจะผิดและพยานได้ตอบคำถามค้านของผู้แทนโจทก์ด้วยว่าคนระดับไอคิว ๗๗ เมื่อเทียบกับคนปกติทั่วไปจะอยู่ในระดับเด็กอายุตั้งแต่ ๕ ขวบถึง ๑๐ ขวบในกรณีจำเลยตัดต้นไม้จำเลยจะรับรู้ว่ากำลังตัดต้นไม้อยู่แต่หากไม่มีใครบอกว่าการที่ตัดต้นไม้นั้นผิดกฎหมายจำเลยก็ไม่อาจรู้ได้จึงสอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยซึ่งจำเลยบอกได้แต่ชื่อนามสกุลส่วนบ้านเลขที่อายุหมู่บ้านจำเลยบอกว่าไม่รู้ไม่ทราบเมื่อที่ปรึกษากฎหมายถามจำเลยว่าถูกจับเรื่องอะไรและเคยถูกขังหรือไม่จำเลยตอบว่าไม่รู้แม้ศาลช่วยถามจำเลยแต่ก็ไม่ได้ใจความจำเลยบอกเพียงว่าไม่รู้ไม่ทราบเท่านั้นเหตุนี้แม้โจทก์มีร้อยตำรวจโทบุญช่วยบุญวิเศษและนายดาบตำรวจอานุภาพผ่าภูธรเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับจำเลยเบิกความเป็นประจักษ์พยานโจทก์ว่าเห็นจำเลยใช้น้ำมันหล่อลื่นหยอดโซ่เลื่อยยนต์ของนายวิเศษและกำลังปัดกวาดขี้เลื่อยอยู่ทั้งอ้างว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมายจ.๑ ก็ตามเมื่อจำเลยเป็นบุคคลปัญญาอ่อนที่ถึงขนาดไม่อาจรู้ได้ว่าการตัดต้นไม้นั้นเป็นผิดกฎหมายกรณีจึงมิใช่จำเลยกระทำผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบเพราะมีจิตบกพร่องตามมาตรา ๖๕ วรรคหนึ่งเท่านั้นแต่ถึงขั้นที่ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยมิได้รู้สำนึกในการที่กระทำทั้งมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดการกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดเพราะขาดเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๙ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดแต่ให้รอการลงโทษจำเลยนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน"


ดังนั้นสรุปได้ว่าการกระทำต้องมีเงื่อนไขเรื่องการรู้สำนึก(สติสัมปชัญญะ) ประกอบด้วยรวมถึงเรื่องการงดเว้นไม่กระทำแต่บุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องกระทำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่เรื่องนั้นๆ “หน้าที่” เป็นผลมาจากกฎหมายกำหนดไว้ (บิดามารดามีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร/สามีภริยามีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูกันและกัน) หรือหน้าที่ตามสัญญา(กรณีพี่เลี้ยงข้างต้นเป็นหน้าที่ตามสัญญา) หรือหน้าที่ที่เกิดจากการกระทำที่ตนต้องผูกพันรับผิดชอบ


ในชั้นเรียนผมได้ยกตัวอย่างพาคนตาบอดข้ามถนนเมื่อก่อให้เกิดภาระขึ้นย่อมต้องผูกพันความรับผิดชอบอยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะปลอดภัยจากการนั้น


หรือกรณีที่ได้รับมอบหมายให้เป็นครูเวรทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยของโรงเรียนเนื่องจากในขณะนั้นมีเหตุการณ์ลอบวางเพลิงโรงเรียนหลายแห่งปรากฏว่าครูเวรไม่อยู่ทำหน้าที่(งดเว้น) เป็นเหตุให้มีคนร้ายลอบเข้าไปลักทรัพย์ดังนี้จะเห็นว่าครูเวรไม่ต้องรับผิดเพื่อละเมิดเนื่องจากตนไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในการรักษาทรัพย์สินแต่หากเกิดเหตุลอบวางเพลิงครูเวรย่อมต้องรับผิดชอบ


มีตัวอย่างที่ศาลวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำละเมิด(งดเว้น) เช่น


กรณีที่๑ มีหน้าที่ตามสัญญา

จำเลยมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางทั้งตามกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดได้เก็บเงินค่าดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางโดยได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนที่มีอาชีพในการบริหารอาคารชุดมาทำหน้าที่แทนแล้วบริษัทดังกล่าวละเว้นหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อปล่อยให้ท่อระบายน้ำอุดตันจนน้ำท่วมห้องชุดของโจทก์เช่นนี้ย่อมเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์             (โปรดดู ๔๔๙๓/๒๕๔๓)


กรณีที่ ๒ ผู้กระทำละเมิดละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเรื่องความปลอดภัย

มีระเบียบของกรมทางหลวงว่าในกรณีที่มีการขุดถนนจะต้องมีการปักป้ายบอกว่าบริเวณนั้นมีการขุดถนนตลอดจนมีสัญญาณต่างๆแสดงให้ผู้สัญจรไปมารู้ว่าบริเวณนั้นขุดถนนด้วยทั้งกลางคืนต้องมีโคมไฟติดไว้เพื่อให้รถที่ขับไปมารู้ด้วยในจุดอื่นๆที่มีการขุดถนนก็มีการปักป้ายและติดโคมไฟแต่จุดที่เกิดเหตุไม่มีจำเลยที่๑ว่าเข้าใจว่ามีไม่พอจึงไม่ได้มาติดตั้งไว้และปรากฏตามรายงานประจำวันสถานีตำรวจภูธรอำเภอสาว่าพนักงานสอบสวนไปตรวจสถานที่เกิดเหตุไม่พบสิ่งกีดขวางหรือสิ่งบอกเหตุวางไว้บนถนนก่อนจะถึงที่ขุดออกแต่อย่างใดการที่จำเลยที่๑ละเลยไม่ติดตั้งโคมไฟบริเวณที่ขุดถนนทั้งๆที่มีระเบียบให้ปฏิบัติจึงเป็นความประมาทองจำเลยที่๑ (โปรดดูคำพิพากษา ๒๕๔๙/๒๕๓๐)


สุดท้าย อย่าลืมในเรื่องบทตัดประเด็นข้ออ้างของการกระทำโดยไม่รู้สำนึกเพราะเหตุที่ตนเองทำให้ตนขาดสติสัมปชัญญะเช่น การดื่มสุรายาเมาเป็นต้น


---------------------------

กิตติบดี


หมายเหตุ


การกระทำโดยเจตนาในทางอาญาและการกระทำโดยจงใจในทางแพ่งมีความหมายทำนองเดียวกันกล่าวคือการกระทำโดยเจตนาในทางอาญาหมายถึงการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นส่วนการกระทำโดยจงใจในทางแพ่งหมายถึงกระทำโดยรู้สำนึกถึงผลเสียหายที่จะเกิดจากการกระทำของตนหรืออีกนัยหนึ่งคือกระทำโดยรู้ว่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นอันมีความหมายกว้างกว่าการกระทำโดยเจตนาในทางอาญา (ส่วนหนึ่งจากคำพิพากษา ๓๕๐๓/๒๕๔๓)


กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...