วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

วัฒนธรรมการเคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์

ลำดับความคิด เรื่อง ความสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชา

@ ดูเหมือนว่าประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาจะเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญที่สุดในพื้นที่ข่าวสารในรอบสัปดาห์สองสัปดาห์นี้ ไล่มาตั้งแต่ปัญหาข้อพิพาทเขตพื้นที่ทับซ้อน กรณีประสาทพระวิหาร เรื่อยมาจนกระทั่งการแต่งตั้งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของฝ่ายกัมพูชา และ/หรือ ประเด็นการส่งผู้ร้ายข้ามแดน นี่ไม่นับรวมที่บรรดาผู้นำและผู้ที่เกี่ยวข้องของแต่ละฝ่ายได้ออกมากล่าวถ้อยแถลงการณ์ หรือแสดงท่าทีไว้อย่างไร (ขึงขังหรือประนีประนอม) ซึ่งก็ไม่สู้แน่ใจว่าปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นเรื่องของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง หรือเป็นเพียงเกมชิงอำนาจรัฐของชนชั้นปกครอง ?

@ แต่ที่แน่ใจได้ว่าภายใน "วิกฤติ" ดังกล่าว ทำให้เรามี "โอกาส" ได้สำรวจและทบทวนอะไร ๆ หลาย ๆ อย่าง ที่เราเคยพูดกันไว้ว่า สังคมยุคนี้เป็น "โลกไร้พรมแดน" แต่ทำไมพ.ศ.นี้ถึงอาจมีฉนวนเหตุความรุนแรงเพราะเรื่อง "พรมแดน" ฤาว่าสังคมไร้พรมแดนมิได้ไร้พรมแดนจริง หรืออาจจะหมายถึงเพียงการเชื่อมต่อทางสารสนเทศเท่านั้น หรือสังคมไร้พรมแดนของเราจะเปิดพื้นที่ให้กับผู้คนบางกลุ่มบางพวกเท่านั้น ?

@ ซึ่งใน "โอกาส" ก็มี "วิกฤติ" ให้พิจารณาว่า โดยลึกแล้ว เรานับถือและเคารพในคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์เพียงใด มองจากภายในตัวเราบริบททางสังคมเมือง สังคมชนบท และภูมิภาค ไปสู่เพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา ลาว เวียดนาม พม่า มาเลเซีย ขยายขอบเขตไปที่ชนกลุ่มน้อย กะเหรี่ยง มอญ อาข่า ขฉ่ิน โรฮิงญา เรามองเพื่อนบ้านเราอย่างนับถือให้เกียรติ และเสมอบ่าเสมอไหล่แล้วหรือไม่ หรือ เราหวาดกลัว หวาดระแวง และ/หรือหยามเกียรติด้วยอคติด้วยจำเดิมแต่ลัทธิชาตินิยม ?

@ สมัยเรียนก็ท่องจำมาว่า องค์ประกอบของชาติ (ประเทศ) ต้องประกอบด้วย ดินแดน พลเมือง อธิปไตย และรัฐบาล และได้ยินได้ฟังอยู่เสมอถึงคำว่า "รักชาติ" "เสียสละเพื่อชาติ" "ทำเพื่อชาติ" อะไรทำนองนี้ จนมาถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ก็มีหลายฝ่ายพูดถึง "ความรักชาติ" หนักหน่อยก็ "คลั่งชาติ" ผมว่านิยามของ "โลกไร้พรมแดน" อาจจะมีเขตแดนเป็นเส้นแบ่งความเป็นประเทศได้ แต่วัฒนธรรมการเคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์ต้องเป็น "สิทธิมนุษยชนที่ไร้พรมแดน" โดยไม่มีดินแดน/ประเทศเป็นเส้นแบ่งเขาแบ่งเรา และวัฒนธรรมดังกล่าวจะเป็นภูมิคุ้มกันมนุษยชาติจากความคลั่งชาติ

@ หากแต่เราต้องเริ่มต้นเรียนรู้ และสร้างวัฒนธรรมใหม่ ด้วยการเคารพต่อคุณค่าความเป็นมนุษย์ เราต้องศรัทธาและเชื่อมั่นว่า
- มนุษย์ทุกคนเกิดมามีอิสระ
- มนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคในศักดิ์ศรีและสิทธิ
และสำคัญที่สุด มนุษย์ทุกคนเป็นพี่น้องกัน
วัฒนธรรมดังกล่าวจะเป็นรากฐานที่เข้มแข็ง สร้างความเป็นธรรม และจรรโลงสันติสุขของสังคม

@ เขียนมาถึงบรรทัดนี้แล้ว ผมนึกถึงท่านมหาตมะ คานธี ที่ว่า เล่นการเมืองโดยปราศจากหลักการเป็นบาป และถ้าผู้มีอำนาจรัฐเล่นการเมืองโดยปราศจากหลักการเคารพคุณค่าในความเป็นมนุษย์........น่าละอายครับ

---------------
กิตติบดี

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...