วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

คำถาม - งานวิชาสถาบันการเงิน--

วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๒
คำถาม
(๑) โปรดอธิบายถึงปัจจัยสำคัญในการพัฒนาระบบสถาบันการเงินตามพัฒนาการในแต่ละระยะของสถาบันการเงิน
(๒) โปรดอธิบายถึง หลักการสำคัญและรายละเอียดมาตรการทางกฎหมายในการพัฒนาสถาบันการเงินให้มีศักยภาพที่เข้มแข็งในยุคการแข่งขันอย่างเสรี

คำตอบ
ข้อ ๑ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า พัฒนาการของสถาบันการเงินนั้นแบ่งออกเป็น ๓ ระยะ ได้แก่

ระยะที่ ๑ การสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคม
ระยะที่ ๒ การสร้างเสถียรภาพของสถาบันการเงิน
ระยะที่ ๓ การพัฒนาศักยภาพเพื่อรองรับต่อการแข่งขัน

โดยในระยะที่ ๑ นั้น เป็นผลมาจากปัจจัยของหลักความเป็นสากลเรื่องนโยบายเศรษฐกิจโลกที่ว่า "ภาคเอกชนมีหน้าที่สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ" ซึ่งส่งผลให้ประเทศต้องสร้างแหล่งทุนให้แก่ภาคธุรกิจเอกชน ได้แก่ "ระบบสถาบันการเงิน" ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ออมกับผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องการแหล่งทุน

จะเห็นได้ว่า หลักการสำคัญที่ถูกนำมาพัฒนาเป็นมาตรการทางกฎหมาย ได้แก่ "หลักความเชื่อมั่น" (Credibility) โดยประเทศไทยได้ตราพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ (๑) สร้างหลักประกันความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ฝากเงิน (ผู้บริโภค) และ (๒) สร้างแหล่งทุนเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ภายหลังจากได้เกิดการลงทุนและพัฒนาประเทศ จากยุคเกษตรกรรม เข้าสู่ยุคเกษตรอุตสาหกรรม ตลอดจนยุดอุตสากรรม พัฒนาการของสถาบันการเงินจากเป็นเพียงแหล่งทุน ได้ขยายบทบาทเป็นผู้สร้างเครื่องมือทางการเงินเพื่อเอื้อต่อการค้าและการลงทุน ดังจะเห็นได้ว่า ธนาคารได้พัฒนารูปแบบธุรกรรมทางการเงิน ไม่ว่า การรับฝากเงิน การให้สินเชื่อ การสร้างตราสารเปลี่ยนมือ อาทิ เช็ค ตั๋วเงิน ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน การซื้อขายปริวรรตเงินตราต่างประเทศ การแลกเปลี่ยน การค้ำประกันธุรกิจ การซื้อขายระบบออนไลน์ ทั้งนี้ อย่างที่กล่าวข้างต้นเพื่อรองรับและเอื้อต่อภาคธุรกิจ

ต่อมา เมื่อเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีการเคลื่อนย้ายเงินตราข้ามประเทศ การลงทุนข้ามชาติ ทำให้รูปแบบของการให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงินภายใต้กรอบแนวทางการเปิดเสรีภาคการเงินต้องปรับเปลี่ยนบทบาท นอกเหนือจากการเป็นแหล่งทุน และการสร้างเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ แล้ว ในโลกยุคการลงทุนข้ามรัฐต้องอาศัยธนาคารพาณิชย์เป็นทุนให้แก่นักลงทุนของคนชาติ รวมถึงการเปลี่ยนบทบาทจากแหล่งทุนมาเป็นผู้ลงทุนเอง

ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่าปัจจัยสำคัญของแต่ละระยะมีดังต่อไปนี้
ระยะที่ ๑ การเป็นแหล่งทุนให้ภาคธุรกิจ
ระยะที่ ๒ การเป็นแหล่งทุนและสร้างเครื่องมือทางการเงิน
ระยะที่ ๓ การเป็นแหล่งทุนในยุคการลงทุนข้ามชาติ การสร้างเครื่องมือและรูปแบบธุรกรรมทางการเงินใหม่ และบทบาทของการเป็นนักลงทุนโดยสถาบันการเงินเอง

-----------------------

ข้อ ๒
การพัฒนาศักยภาพของสถาบันการเงิน ภายใต้บริบทเศรษฐกิจแบบทุนนิยม อาศัย ๒ หลักการ ได้แก่

(๑) หลักความเชื่อมั่น (Credibility)
กล่าวคือ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้สถาบันการเงินมีต่อสังคมและรัฐ

(๒) หลักการมีเสถียรภาพ (Stabitility)
กล่าวคือ ต้องสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงทางการเงินให้แก่สถาบันการเงิน (หลักการนี้เริ่มต้นตั้งแต่การกำหนดให้สถาบันการเงินต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งนี้ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการระดมทุนให้มีศักยภาพทางการเงินเพิ่มมากขึ้น)

ทั้งสองหลักการข้างต้น ประเทศไทยได้วางมาตราการทางกฎหมายไว้ดังต่อไปนี้

๑. พระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สถาบันการเงิน กฎหมายได้วางมาตรการไว้ ๔ เรื่อง ได้แก่ การขอจัดตั้งและรับใบอนุญาต โครงสร้างของสถาบันการเงิน (การควบคุมโครงสร้างและพฤติกรรม) การตรวจสอบสถาบันการเงินโดยทางการ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) และการเข้าควบคุมและแก้ไขฐานะของสถาบันการเงิน

๒. พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๕๑ เพื่อสร้างเสถียรภาพและศักยภาพให้แก่สถาบันการเงิน
โดยกฎหมายฉบับนี้ได้ยกเลิกกฎหมายเดิม (พระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕) และนำหลักความเชื่อมั่นมาเขียนรวมได้กับหลักเสถียรภาพ โดยเฉพาะในส่วนเรื่องหลักการสร้างเสถียรภาพ ได้กำหนดตาม Basel II ไว้ ดังนี้ (๑) การดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำ (๒) การกำกับโดยทางการ (๓) การควบคุมโดยตลาด ได้แก่

(๑) มาตราการการกำกับสถาบันการเงิน เรื่อง การดำรงเงินกองทุนและสินทรัพย์ (ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด) การกำกับการลงทุนของสถาบันการเงิน การประกอบธุรกิจของสถาบันการเงิน ข้อห้ามในการให้สินเชื่อ การกำกับพฤติกรรมของสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มธุรกิจทางการเงิน การจัดชั้นสินทรัพย์และการกันเงินสำรอง การบริหารสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง การจัดทำบัญชีและรายงานสถานะทางการเงิน

(๒) มาตรการเพิ่มศักยภาพ ได้แก่
๒.๑ การควบ รวม และโอนกิจการ
๒.๒ การขยายขอบเขตของการประกอบธุรกิจธนาคาร ให้ครอบคลุมธุรกรรมทางการเงิน ทั้งนี้ ตามศักยภาพของแต่ละสถาบันการเงิน

---------------------------------

กิตติบดี

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...