วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สรุปการบรรยายละเมิด (๖) เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างละเมิดทางแพ่งกับความรับผิดในทางอาญา

ความสัมพันธ์ระหว่างละเมิดทางแพ่งกับความรับผิดในทางอาญา

ตามที่ได้อธิบายให้ทราบถึงความรับผิดทางแพ่งและความรับผิดทางอาญานั้น จะเห็นว่า การกระทำที่เป็นความรับผิดอาญาโดยมากแล้วจะเข้าข่ายความรับผิดทางละเมิด (ประทุษร้ายทางอาญา/ประทุษร้ายทางแพ่ง)

หลักการ ความยุติธรรมกับความจริงที่มีได้หนึ่งเดียว
ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๖ ซึ่งกำหนดให้ในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ถ้าศาลในคดีอาญาพิจารณาปัญหาข้อเท็จจริงเป็นยุติอย่างไรแล้ว ศาลคดีส่วนแพ่งต้องถือเอาข้อเท็จจริงเ็นยุติตามนั้น จะฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นที่นอกเหนือจากศาลส่วนคดีอาญาไม่ได้

หลักเกณฑ์ตามปวิอ. มาตรา ๔๖
(๑) ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา (มูลฐานความรับผิดมาจากเหตุเดียวกัน)
(๒) คำพิพากษาคดีอาญานั้น ต้องถึงที่สุด (ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี)
(๓) ผู้ที่ผูกพันคำพิพากษาคดีอาญานั้น จะต้องเป็นหรือถือว่าเป็นคู่ความในคดีอาญา
(๔) มีผลผูกพันเฉพาะข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาเท่านั้น

ตัวอย่างที่ ๑

ในคดีอาญาที่พนักงานอัยการและโจทก์ซึ่งเข้าร่วมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๒ ว่า จำเลยที่ ๒ ได้กระทำความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส และคดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ.มาตรา ๔๖ คดีจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์โดยประมาท


ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๓ วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า ถ้ามิได้ตายในทันทีค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย ค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานจึงเป็นค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ทำละเมิดจำต้องใช้แก่ผู้เสียหายที่ยังไม่ถึงตายแต่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานเท่านั้น หาใช่ค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ทำละเมิดจำต้องใช้หลังจากผู้เสียหายนั้นถึงแก่ความตายแล้วด้วยไม่ เหตุละเมิดเกิดเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๒ โจทก์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๔ โจทก์จึงขาดประโยชน์ทำมาหาได้ เพราะไม่สามารถประกอบการงานเป็นเวลา ๑ ปี ๘ เดือน ๖ วัน จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เป็นเงิน ๓๐,๓๐๐ บาท เท่านั้น


จำเลยทั้งสองอุทธรณ์และฎีกาว่า จำเลยร่วมต้องรับผิดชอบร่วมกับจำเลยทั้งสองมากกว่าที่ศาลล่างมีคำพิพากษา เพราะจำเลยทั้งสองได้ชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยร่วมตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ซึ่งเป็นการประกันภัยประเภทสมัครใจ แต่จำเลยร่วมรับผิดชอบเพียงจำนวนเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ ตามกฎหมายประกันภัยภาคบังคับเพียง ๘๐,๐๐๐ บาท ไม่ถูกต้อง จำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นมาแต่ต้นว่า การที่ศาลชั้นต้นยกความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวมาวินิจฉัยนั้นไม่ถูกต้องตามกรมธรรม์ประกันภัยอย่างไร อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยร่วมมาจึงเป็นการไม่ชอบ จำเลยทั้งสองฎีกาปัญหาดังกล่าวขึ้นมาในทำนองเดียวกัน จึงถือเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค ๙ ขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


โจทก์ฎีกาว่า ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค ๙ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ จึงขาดอำนาจโดยธรรมที่จะแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น โจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างในฎีกาว่า เพราะเหตุใด ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ จึงขาดอำนาจโดยธรรมที่จะแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน


ตัวอย่างที่ ๒


ในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานบุกรุกนั้น ข้อวินิจฉัยที่ว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยเข้ามาสร้างบ้านสองชั้นเป็นของโจทก์หรือไม่ เป็นปัญหาโดยตรงในการวินิจฉัยคดีส่วนอาญา ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาซึ่งถึงที่สุดแล้วดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๔๖ โดยต้องฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จะให้ฟังว่าเป็นของจำเลยหรือเป็นลำห้วยสาธารณประโยชน์หรือออกโฉนดที่ดินทับลำห้วยสาธารณประโยชน์มิได้


ตัวอย่างที่ ๓


ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ เป็นบิดามารดาของจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ โจทก์ นายเลื่อน ธรรมรัตน์ และจำเลยที่ ๓ เป็นพี่น้องกันวันเกิดเหตุโจทก์และนายเลื่อนทะเลาะวิวาทกับจำเลยทั้งสี่ เจ้าพนักงานตำรวจจึงจับกุมจำเลยทั้งสี่ไปดำเนินคดี ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดหนองคายได้ฟ้องคดีอาญาต่อศาลชั้นต้น ๒ คดี คดีแรก พนักงานอัยการจังหวัดหนองคายฟ้องนายเลื่อน โจทก์คดีนี้และนายบัวหลั่น คุธินาคุณ เป็นจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ตามลำดับ ข้อหาความผิดต่อร่างกายโดยมีจำเลยที่ ๑ คดีนี้เป็นโจทก์ร่วม ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๐๐๑/๒๕๓๘ หมายเลขแดงที่ ๓๓๕๖/๒๕๓๙ ของศาลชั้นต้น


ซึ่งต่อมาเป็นคดีตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๘๑/๒๕๔๒ คดีที่สอง พนักงานอัยการจังหวัดหนองคายฟ้องจำเลยทั้งสี่คดีนี้เป็นจำเลย ข้อหาความผิดต่อชีวิต พยายาม ความผิดต่อร่างกาย โดยมีโจทก์คดีนี้และนายเลื่อนเป็นโจทก์ร่วม ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๓๗๗/๒๕๓๘ หมายเลขแดงที่ ๓๔๒๓/๒๕๓๙ ของศาลชั้นต้น ซึ่งต่อมาเป็นคดีตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๘๒๘/๒๕๔๒ คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ ๒ ข้อ คือ ๑. จำเลยทั้งสี่ร่วมกันจงใจทำร้ายโจทก์ตามฟ้องหรือไม่และ ๒. โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่ได้หรือไม่ เพียงใด ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นสอบคู่ความเกี่ยวกับประเด็นข้อแรกคู่ความแถลงร่วมกันว่า ให้ถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๓๗๗/๒๕๓๘ ของศาลชั้นต้นเมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ศาลชั้นต้นจึงให้คู่ความนำสืบเฉพาะประเด็นเรื่องค่าเสียหาย


จำเลยที่ ๑ ฎีกาข้อแรกว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา คือคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๓๔๒๓/๒๕๓๙ ของศาลชั้นต้น โดยรับฟังว่าโจทก์เป็นผู้เริ่มต้นก่อเหตุทะเลาะวิวาทโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๑


ห็นว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๖ คดีส่วนอาญาคือคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๓๗๗/๒๕๓๘ หมายเลขแดงที่ ๓๔๒๓/๒๕๓๙ ของศาลชั้นต้น ซึ่งต่อมาคือคดีตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๘๒๘/๒๕๔๒ อีกทั้งคู่ความแถลงร่วมกันว่าให้ถือข้อเท็จจริงในคดีนี้ตามที่ปรากฏในคดีอาญาดังกล่าวเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วดังนี้เมื่อศาลฎีกาพิพากษาคดีส่วนอาญาในคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๘๒๘/๒๕๔๒ ว่าข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่พนักงานอัยการจังหวัดหนองคายและโจทก์คดีนี้นำสืบว่า ก่อนเกิดเหตุโจทก์คดีนี้กับจำเลยที่ ๑ และพวกต่างมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน และได้มีการด่าว่าโต้เถียงกัน จนในที่สุดได้มีการใช้กำลังเข้าทำร้ายร่างกายกันจึงเป็นเรื่องสมัครใจเข้าวิวาทกัน คดีนี้ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว


เมื่อฟังว่าโจทก์และจำเลยที่ ๑ สมัครใจทะเลาะวิวาทและทำร้ายร่างกายกัน เป็นกรณีที่ต่างฝ่ายต่างสมัครใจเข้าเสี่ยงภัยยอมรับอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ตนจากการทะเลาะวิวาทนั้น แม้โจทก์ได้รับบาดเจ็บก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๑ ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ข้อนี้ฟังขึ้นและคดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ ๑ อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนไป


ตัวอย่างที่ ๔


โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้เยาว์อยู่ในความปกครองดูแลของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ทำร้ายร่างกายโจทก์โดยชกต่อยบริเวณไหล่ขวาของโจทก์ และใช้มือบีบคอโจทก์จนศรีษะกระแทกฝาห้องน้ำ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง และได้รับผลกระทบกระเทือนทางจิตใจ ต้องทนทุกขเวทนาหวาดผวา และมีอาการประสาทหลอน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑๒๖,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์


จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ มิได้อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๒ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์โจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง


ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๙๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ ๒


จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ ด้วย


โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ (หมายเหตุ--ผู้เขียน ปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ เว้นแต่มีเหตุสมควร)


ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นที่ยุติว่า เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๓๘ ระหว่างเวลาพักกลางวันที่โรงเรียนบ้านใหม่โสพิมพ์ ตำบลบ่อทอง กิ่งอำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี จำเลยที่ ๑ ใช้กำลังทำร้ายโจทก์โดยชกต่อยที่หัวไหล่ขวา ๑ ครั้ง และบีบคอจนศีรษะของโจทก์กระแทกฝาห้องน้ำ ๑ ครั้ง ต่อมาวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ พนักงานอัยการประจำศาลแขวงลพบุรีเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ เป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงลพบุรี จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ ศาลแขวงลพบุรีพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๑ คดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ซึ่งคดีนี้ต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวว่าการทำร้ายของจำเลยที่ ๑ ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46


มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า อาการเจ็บป่วยของโจทก์ตามที่บรรยายมาในฟ้องเป็นผลโดยตรงมาจากการที่จำเลยที่ ๑ ใช้กำลังทำร้ายโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การที่นายแพทย์เสนาะให้ยาระงับประสาทแก่โจทก์เป็นเพียงวิธีการรักษาอาการเจ็บป่วยของโจทก์ นายแพทย์เสนาะมิได้ยืนยันว่า อาการเจ็บป่วยของโจทก์เป็นผลมาจากการทำร้ายของจำเลยที่ ๑ โดยตรงแต่อย่า งใด เพราะนายแพทย์เสนาะเบิกความเพียงว่า โจทก์มารับการรักษาจากพยานเนื่องจากพฤติกรรมของโจทก์เปลี่ยนไป พยานได้แนะนำให้มารดาโจทก์พาโจทก์ไปรักษาตัวที่ศูนย์สุขวิทยาจิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งจากคำเบิกความถึงสาเหตุแห่งการมารับการรักษาดังกล่าวนั้น เชื่อได้ว่าเกิดจากพฤติกรรมของโจทก์เปลี่ยนไปเอง หาใช่เป็นเพราะการทำร้ายของจำเลยที่ ๑ ไม่ และข้อเท็จจริงก็รับฟังเป็นที่ยุติแล้วว่า โจทก์ไม่ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแต่อย่างใด


ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ถูกจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีรูปร่างใหญ่กว่าทำร้ายแต่ฝ่ายเดียวโดยโจทก์ไม่สามารถต่อสู้ขัดขืนได้ ในขณะที่เพื่อนโจทก์และจำเลยที่ ๑ ซึ่งเห็นเหตุการณ์ไม่เข้าช่วยเหลือ การที่โจทก์มีอาการขวัญผวา หน้ามืด ปวดศรีษะ กลัวคนทำร้าย และจิตผิดปกติ จึงเป็นผลโดยตรงมาจากการที่จำเลยที่ ๑ ทำร้ายโจทก์นั้นเป็นข้ออ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักรับฟัง ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่อาจรับฟังได้ว่าอาการเจ็บป่วยของโจทก์เป็นผลโดยตรงมาจากการทำร้ายของจำเลยที่ ๑ จึงไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายตามฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น


-------------------------------------------------

หมายเหตุ ข้อสังเกตประเด็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา


(๑) กรณีดังกล่าวไม่ใช้กับคดีแพ่งทั่วไป ใช้กับคดีแพ่งที่มีมูลฐานความผิดเดียวกับคดีอาญา


(๒) คดีอาญาต้องถึงที่สุด หากยังไม่ถึงที่สุดยังไม่ผูกพัน


(๓) ผู้ที่จะถูกผูกพันต้องเป็นคู่ความหรือผู้ที่ถือเป็นคู่ความ (อัยการ) ในคดีอาญา

แต่สำหรับผู้ที่ไม่เคยเป็นคู่ความในคดีอาญา ต้องเปิดโอกาสให้พิสูจน์ข้อเท็จจริง เพราะเขาไม่เคยมีโอกาสต่อสู้ต้องให้ความเป็นธรรม เช่น ศาลส่วนคดีอาญารับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า นาย กิตติ ขับรถยนต์ชนผู้อื่นโดยประมาท ดังนี้ ศาลในส่วนคดีแพ่งต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามนั้น แต่ในคดีแพ่งโจทก์ได้ฟ้องนายหมอดี นายจ้างของนายกิตติเข้ามาร่วมรับผิดด้วย ดังนี้ นายจ้างสามารถนำข้อเท็จจริงเข้ามาสืบเพิ่มเติมนอกเหนือจากประเด็นที่ศาลส่วนอาญาฟังข้อเท็จจริงว่านายกิตติประมาทเลินเล่อได้


(๔) ถ้าเป็นข้อเท็จจริงอื่นที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงในคดีโดยตรง

เช่น ศาลในคดีอาญาฟังว่าจำเลยขับรถยนต์ชนโจทก์โดยประมาท แต่โจทก์เอกก็มีส่วนประมาทไม่น้อย จึงลงโทษจำเลยสถานเบา จำคุก ๑ เดือนและปรับ ๒,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา

กรณีดังกล่าว ในทางแพ่งต้องฟังเป็นยุติว่าจำเลยประมาทเลินเล่อทำให้ผู้อื่นเสียหายเป็นละเมิด

กรณีที่ว่า โจทก์มีส่วนประมาทไม่น้อยที่ปรากฎนั้น เป็นเพียงเหตุผลของศาลที่นำมาใช้ประกอบการกำหนดโทษทางอาญาเท่านั้น ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่เป็นประเด็นโดยตรง จำเลยย่อมสามารถนำเอาประเด็นดังกล่าวมาให้การต่อสู้ในคดีแพ่งได้ และศาลต้องยอมให้คู่ความนำพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์ได้ และในการพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องรับฟังตามข้อเท็จจริงใหม่ประกอบด้วย


-------------------------------------

กิตติบดี




สรุปการบรรยายละเมิด (๕) เรื่อง ความรับผิดทางสัญญาที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดทางละเมิด

ความรับผิดทางสัญญากับความรับผิดทางละเมิด หรือ concurrent liability 

จากที่บรรยายไปในคราวที่แล้วว่า สัญญากับละเมิดเป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ที่เป็นเหตุให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ คราวนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ 

"ลูกหนี้ผิดนัดไม่ปฏิบัติตามสัญญา และปรากฎความเสียหายมากกว่าที่กำหนดไว้ตามสัญญา เจ้าหนี้สามารถฟ้องลูกหนี้ในมูลคดีละเมิดได้หรือไม่"

ในทางสัญญานั้น หากเกิดความเสียหายที่เป็นผลมาจากการไม่ชำระหนี้ผิดสัญญา ตามมาตรา ๒๒๒ กำหนดให้เจ้าหนี้เรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ รวมตลอดถึงเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากคู่กรณีได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว 

คราวนี้ เมื่อลูกหนี้ผิดนัดผิดสัญญา แต่เจ้าหนี้ต้องการเรียกค่าเสียหายเพิ่มขึ้นนอกจากค่าเสียหายที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าตามมาตรา ๒๒๒ อย่างนี้ เจ้าหน้ีสามารถเลือกฟ้องเป็นคดีละเมิดได้หรือไม่
 
ศ.จิ๊ด เศรษฐบุตร อธิบายไว้ว่า เมื่อคู่สัญญามีนิติสัมพันธ์กันมาก่อน ย่อมไม่มีสิทธิเลือกฟ้องในมูลละเมิดได้ เนื่องจากเจตนาของคู่สัญญาเป็นสิ่งสำคัญ  (การบิดเบือน หลอกลวงตามสัญญาก่อให้เกิดความเสียหายควรอาศัยหลักสัญญามิใช่ละเมิด) 

ตรงนี้ขอให้นักศึกษาศึกษาจากคำพิพากษาดังต่อไปนี้

คำพิพากษาฎีกา ๔๗/๒๔๙๒ (มูลฟ้องสัญญาให้ฟ้องสัญญามิใช่ละเมิด)
จำเลยที่ ๑ เป็นเทศบาลได้รับสัมปทานจากรัฐบาลให้ตั้งโรงไฟฟ้ามีหน้าที่จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลผู้ร้องขอใช้ไฟฟ้าภายในเขตสัมปทาน โจทก์เป็นราษฎรฟ้องหาว่าจำเลยทำผิดข้อสัญญากับโจทก์ในการจำหน่ายกระแสไฟ มิได้ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามข้อกำหนดในสัมปทานประกอบกับบทบัญญัติมาตรา ๓๗๔ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉะนั้นปัญหาที่ว่าโจทก์จะได้สิทธิตามสัมปทานโดยอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๔ นี้หรือไม่ จึงไม่เกิดขึ้น

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามสัมปทาน จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่ต้องจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลผู้ร้องขอใช้ไฟฟ้าในเขตสัมปทาน แต่โจทก์มิได้ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามข้อกำหนดในสัมปทานนี้ ประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๔ ปัญหาที่ว่าโจทก์จะมีสิทธิตามมาตรา ๓๗๔ นี้หรือไม่ จึงไม่เกิดขึ้น โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ ๑ เรียกเก็บอัตราค่ากระแสไฟฟ้าเกินกว่าที่กำหนดไว้ในสัมปทาน เมื่อโจทก์ไม่ชำระจำเลยก็ตัดสายไฟ จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยต่อสายไฟและจ่ายกระแสไฟให้โจทก์ต่อไป สัญญาซื้อกระแสไฟฟ้านี้ โจทก์ทำกับจำเลยที่ ๑ ไม่ปรากฏว่ามีระยะเวลาอาจจะมีการเลิกกันเมื่อใดก็ได้สภาพจึงไม่เปิดช่องทางให้บังคับจำเลยตามที่โจทก์ขอได้ในข้อให้เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าหน่วยละ ๓๐ สตางค์ จึงบังคับให้ไม่ได้ เพราะตามสัมปทานจำเลยที่ ๑ ยังอาจขึ้นค่ากระแสไฟได้ เมื่อได้รับอนุญาต

          การที่จำเลยตัดสายไฟและงดจ่ายกระแสไฟนั้น เป็นการกระทำต่อทรัพย์สินที่เป็นของจำเลยเอง ส่วนที่เป็นผลให้โจทก์ไม่ได้ใช้ไฟฟ้าหากจะเป็นมูลให้ฟ้อง ก็แต่ในเรื่องผิดสัญญา หาใช่ละเมิดไม่แต่ตามคำพรรณาฟ้องของโจทก์ โจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญานี้จากจำเลยที่ ๑ เป็นแต่เรียกจากจำเลยอื่น ๆ ซึ่งเป็นคนงานและตัวแทนของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ต่างหากที่เป็นคู่สัญญากับโจทก์และจะต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ในกรณีผิดสัญญา เมื่อโจทก์ไม่ได้เรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๑ ก็ไม่มีทางให้ค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๑ ก็ไม่มีทางให้ค่าเสียหายแก่โจทก์

          เรื่องน้ำประปานั้น พระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุขของสาธารณชน พ.ศ. ๒๔๗๑ และที่แก้ไขโดยฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๘๕ ห้ามไม่ให้บุคคลใดประกอบการ นอกจากได้รับอนุญาตจากรัฐบาล หรือได้รับสัมปทานแล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับสัมปทาน การที่โจทก์ขอให้ศาลบังคับให้ห้ามจำเลยมิให้เรียกเก็บค่าน้ำประปานั้น ศาลจะบังคับให้ไม่ได้ เพราะเป็นการรับรองให้โจทก์ได้รับผลจากการกระทำ อันไม่ถูกต้องกับกฎหมาย


คำพิพากษาฎีกา ๒๕/๒๕๒๓ (ฟ้องผิดสัญญามิใช่ฟ้องละเมิด)

โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยตั้งศูนย์ถ่วงล้อรถยนต์ จำเลยทำงานไม่เรียบร้อยเป็นเหตุให้พวงมาลัยไม่สามารถบังคับล้อรถได้ รถโจทก์จึงไปชนรถคันอื่นเสียหาย เป็นกรณีการชำรุดบกพร่องอันเกิดจากสัญญาจ้างทำของ โจทก์ต้องฟ้องจำเลยผู้รับจ้างเสียภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่การชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๐๑ 


คำพิพากษาฎีกา ๗๖/๒๔๙๖ (ข้อเท็จจริงคดีนี้ผู้ขายไม่ได้ดำเนินการทางทะเบียน ทั้งที่รู้ว่าจะทำให้ผู้ซื้อเสียหาย ก็เป็นผิดสัญญามิใช่มูลละเมิด)

       คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยจัดการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่โจทก์โดยถูกต้อง เพื่อโจทก์จะได้จดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ยานพาหนะได้ และให้ใช้ค่าเสียหาย

          จำเลยต่อสู้ว่า เจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับจดทะเบียนให้ เป็นความผิดของโจทก์เอง จำเลยไม่ต้องรับผิด ฯลฯ

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยจัดการในการโอนกรรมสิทธิ์หรือทะเบียนรถพิพาท ๒ คันให้โจทก์เพื่อโจทก์จะนำออกใช้ได้ ฯลฯ

          จำเลยฎีกา

         ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ตามสัญญาข้อ ๒ ก. จำเลยมีหน้าที่จะต้องส่งมอบรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า ซึ่งมีเครื่องเรียบร้อยอยู่ในสภาพที่จะใช้เดินได้ ฯลฯ จึงเป็นที่เห็นได้ว่า เป็นสัญญาส่งมอบรถยนต์ในฐานะเป็นรถยนต์ ไม่ใช่เศษเหล็ก และเป็นที่เข้าใจกันได้ต่อไปด้วยว่า จำเลยจะต้องส่งมอบให้โจทก์ให้ได้ผลใช้รถยนต์นั้นได้ ซึ่งหมายความว่า จำเลยจะกระทำตามที่จำเป็น เพื่อให้โจทก์ได้จดทะเบียนรถนั้น เพราะถ้าไม่ได้จดทะเบียน โจทก์ก็ใช้รถนั้นไม่ได้ (พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๔๗๓ มาตรา ๕) เป็นความจริงที่การจดทะเบียนไม่ใช่เป็นหลักฐานแห่งกรรมสิทธิ์ดังเช่นโฉนดแผนที่ และการโอนกรรมสิทธิ์ในรถ ไม่ได้อยู่ที่การจดทะเบียน แต่ถึงกระนั้นการจดทะเบียนก็เป็นการจำเป็นแก่การที่จะใช้รถนั้นดังกล่าวแล้ว ฯลฯ

          จึงพิพากษาแก้เป็นให้ จำเลยรับรองต่อกองทะเบียนรถยนต์กรมตำรวจว่า ได้โอนกรรมสิทธิ์รายพิพาทให้แก่โจทก์ไปแล้ว เพื่อเจ้าพนักงานจะได้รับจดทะเบียนรถรายพิพาทให้โจทก์ ฯลฯ


คำพิพากษาทั้งสามยืนยันหลักว่า เมื่อเริ่มต้นเป็นสัญญาก็ต้องบังคับตามหลักสัญญา เทียบเคียงกับคำพิพากษาในคดีต่างประเทศ จำเลยเป็นขายรถยนต์ใช้แล้วและปลอมไมล์บอกระยะทางให้ต่ำกว่าความจริง (หลอกลวง) ถือว่าผิดสัญญามิใช่ละเมิด


แต่ก็มีฝ่ายที่เห็นสนับสนุนให้เจ้าหนี้/ผู้เสียหายมีสิทธิเลือกฟ้องในมูลละเมิดได้ โดยอาศัยเหตุผลต่าง ๆ ดังนี้

(๑) เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหาย เพราะการเยียวยาความเสียหายเป็นรากฐานแห่งความเป็นธรรม

(๒) เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นกับสิทธิเด็ดขาด สิทธิทางสัญญาไม่อาจมาจำกัดสิทธิเด็ดขาดได้


ขอให้พิจารณาจากคำพิพากษา ดังต่อไปนี้ 


คำพิพากษาฎีกา ๙๗๔/๒๔๙๒

   โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินจำเลยไป ๑,๑๔๐ บาท ดังปรากฏตามสัญญากู้ จำเลยเอาโฉนดปลอมมาให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน จนถึงกับฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญา ศาลพิพากษาจำคุกจำเลย และให้ใช้เงิน ๑,๑๔๐ บาทแก่โจทก์ จำเลยได้นำเงิน ๑,๑๔๐ บาทไปชำระต่อกองหมายแล้วแต่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระดอกเบี้ยกับค่าธรรมเนียมและค่าเสียหายอย่างอื่น โดยศาลมิได้แจ้งไว้ในหมายบังคับคดี จึงขอให้บังคับจำเลยชำระดอกเบี้ยกับค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์ฟ้องแล้ว จะมาฟ้องอีกไม่ได้ และโจทก์จะเอาสัญญาที่ตนบอกล้างตกเป็นโมฆะแล้วมาฟ้องไม่ได้ คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว ต่อมาโจทก์แถลงไม่ติดใจเรียกร้องค่าทนาย ๒๕๐ บาทต่อไป ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินให้โจทก์ตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ฟ้องทางลักษณะสัญญา โดยอ้างสัญญากู้ที่ตกเป็นโมฆะแล้ว พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาเห็นว่า ในทางแพ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าการฟ้องคดีที่เป็นทั้งละเมิดและผิดสัญญานั้น โจทก์จะเลือกเอาทางใดทางหนึ่งจทก์จะฟ้องโดยบรรยายข้อเท็จจริงแล้วขอค่าเสียหายมาเฉย ๆ ก็ได้ศาลมีหน้าที่ต้องเอาตัวบทกฎหมายมาปรับแก่คดีนั้น ว่าตามที่โจทก์ฟ้องนั้นมีกฎหมายให้โจทก์ได้ค่าเสียหายตามขอหรือไม่ จะมีปัญหาก็แต่ว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ อันต้องห้ามตามมาตรา ๑๔๘ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรืออย่างไร ศาลฎีกาเห็นว่าไม่เป็นฟ้องซ้ำ เพราะคดีก่อนอัยการ โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาและขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๑,๑๔๐ บาท ให้แก่โจทก์ผู้เป็นผู้เสียหายตามอำนาจที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๓ ให้ไว้ และโจทก์ได้ขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการ โจทก์ยังไม่ได้เรียกค่าเสียหาย จึงจะฟ้องคดีนี้ได้ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์จะหวนกลับมาอ้างทางสัญญากู้อันตกเป็นโมฆะแล้วอีกไม่ได้นั้นโจทก์ได้บรรยายฟ้องตามข้อเท็จจริงในท้องเรื่องตลอดมา แม้ในตอนท้ายโจทก์จะขอดอกเบี้ยตามสัญญา แต่ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นแต่โจทก์อ้างมาตราฐานเพื่อขอให้ศาลคิดค่าเสียหายให้เพราะแม้สัญญาจะเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น อันจะอ้างไม่ได้แล้วหรือไม่ก็ตาม ให้โจทก์มีสิทธิได้ค่าเสียหาย ศาลจะให้ตามที่เคยกำหนดไว้ในสัญญา หรือจะให้เพียงใดนั้นเป็นเรื่องของศาล นอกจากนั้นโจทก์ยังฟ้องเรียกค่าธรรมเนียมที่ได้เสียไปในคดีก่อนด้วย ซึ่งจะว่าฟ้องโดยอ้างสัญญาไม่ได้แต่ศาลอุทธรณ์ยังหาได้วินิจฉัยคดีทุกประเด็นไม่


อธิบาย // ตามคำพิพากษานี้ ซึ่งผมขอคัดบางตอนที่เน้นไว้

(๑) ในทางแพ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าการฟ้องคดีที่เป็นทั้งละเมิดและผิดสัญญานั้น โจทก์จะเลือกเอาทางใดทางหนึ่ง

(๒) โจทก์จะฟ้องโดยบรรยายข้อเท็จจริงแล้วขอค่าเสียหายมาเฉย ๆ ก็ได้ศาลมีหน้าที่ต้องเอาตัวบทกฎหมายมาปรับแก่คดีนั้น และ

(๓) โจทก์ได้บรรยายฟ้องตามข้อเท็จจริงในท้องเรื่องตลอดมา แม้ในตอนท้ายโจทก์จะขอดอกเบี้ยตามสัญญา แต่ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นแต่โจทก์อ้างมาตราฐานเพื่อขอให้ศาลคิดค่าเสียหายให้เพราะแม้สัญญาจะเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น อันจะอ้างไม่ได้แล้วหรือไม่ก็ตาม ให้โจทก์มีสิทธิได้ค่าเสียหาย ศาลจะให้ตามที่เคยกำหนดไว้ในสัญญา หรือจะให้เพียงใดนั้นเป็นเรื่องของศาล

แสดงให้เห็นว่า 

---ศาลยอมรับให้คู่สัญญาสามารถฟ้องในมูลละเมิดได้

---การบรรยายฟ้องให้บรรยายทั้งมูลสัญญาและมูลละเมิด โดยศาลจะเป็นผู้ปรับใช้เอง


คำพิพากษาฎีกา ๘๖๕/๒๔๙๖ (มูลสัญญาคาบเกี่ยวกับมูลแห่งละเมิด)

         โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ นำรถจิ๊ปมาขายฝากไว้กับโจทก์สัญญาไถ่คืนภายใน ๑ เดือน ครั้นครบกำหนดไม่ไถ่ โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ ในระหว่างการขายฝาก จำเลยที่ ๑ ได้ขอยืมรถที่ขายฝากไปใช้ กำหนดส่งคืนภายใน ๓ วัน ครั้นครบกำหนด ไม่คืน ต่อมาจำเลยที่ ๒ นำรถไปใช้ต่างจังหวัด ทำให้รถเสียหายเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ จึงขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้ง ๒ ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ๗,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ฯลฯ

          โจทก์และจำเลยที่ ๒ อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในข้อที่ให้จำเลยทั้ง ๒ รับผิด แต่แก้ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ๙,๐๐๐ บาท กับดอกเบี้ย

          โจทก์และจำเลยที่ ๒ ฎีกา

       ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว คดีได้ความตามฟ้องโจทก์เห็นว่าตามสัญญาและการปฏิบัติระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เป็นการขายฝากตามกฎหมาย และการที่จำเลยที่ ๒ เอารถยนต์ที่ขายฝากไว้ไปใช้จนเกิดการเสียหายนั้น จำเลยที่ ๒ ไม่พ้นจากความรับผิดต่อโจทก์เพราะเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ การที่จำเลยไม่รู้ว่ามีการขายฝากไม่เป็นข้อแก้ตัวได้ ฯลฯ


คำพิพากษาฎีกา ๓๘๑๔/๒๕๒๕

    โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ รับขนส่งโจทก์ผู้โดยสารจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๑ ยกสิ่งของของโจทก์ให้แก่ผู้โดยสารอื่นไปโดยปราศจากความระมัดระวังทำให้โจทก์เสียหาย เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ด้วย จำเลยจึงอาจต้องรับผิดทั้งในด้านสัญญาและละเมิดพร้อม ๆ กัน ซึ่งโจทก์มีสิทธิจะฟ้องอย่างไรก็ได้ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิดจึงไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย

 โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่าโจทก์โดยสารรถยนต์ของจำเลยที่ ๑ จากขอนแก่นเข้ากรุงเทพมหานครโดยมีกระเป๋าเดินทาง ๑ ใบและกล่องบรรจุผ้าถุงไหมมัดหมี่ ๓ กล่องมาด้วย ขณะรถยนต์นั้นหยุดให้ผู้โดยสารระหว่างทาง จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ได้ยกกล่องซึ่งบรรจุผ้าถุงไหมมัดหมี่ของโจทก์ ๑ กล่องมอบให้แก่ผู้โดยสารอื่นไปโดยความประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๒ คิดเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๖,๕๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย

          จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ฟ้องและตั้งรูปคดีว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่ได้ประมาทเลินเล่อ กระทำหรืองดเว้นในการที่จักต้องกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายหรือละเว้นไม่กระทำในสิ่งที่กฎหมายบัญญัติให้กระทำ จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในเรื่องละเมิด หากจำเลยที่ ๑ จะต้องรับผิดก็เป็นลักษณะของสัญญารับขนคนโดยสาร ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และต่อสู้ในเรื่องอื่น ๆ อีกหลายประการ ขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์

          จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

        จำเลยที่ ๑ ฎีกา ในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ ๑ รับผิดฐานละเมิด แต่กรณีเป็นเรื่องพิพาทกันด้วยมูลสัญญารับขน ซึ่งโจทก์ต้องนำคดีมาฟ้องในลักษณะนี้จะนำกฎหมายลักษณะละเมิดมาปรับแก่คดีไม่ได้ จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดในมูลละเมิด

        ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำผิดกฎหมาย นเรื่องละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ นั้น หมายความว่าเป็นการกระทำล่วงสิทธิของผู้อื่นที่กฎหมายกำหนดไว้ อันมีแก่บุคคลทั่วไปจะเป็นใครก็ได้ ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องคดีนี้ไว้ชัดว่าจำเลยที่ ๒ ได้ยกกล่องผ้าไหมมัดหมี่ของโจทก์ให้แก่ผู้อื่นไปโดยปราศจากความระมัดระวัง จึงเป็นการกระทำล่วงสิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินซึ่งไม่ว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำก็เป็นละเมิด แม้คดีนี้โจทก์และจำเลยจะสมัครใจเข้าผูกพันกันโดยสัญญารับขน แต่เมื่อการที่จำเลยผิดสัญญานั้นเป็นเรื่องที่จำเลยมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกับละเมิดอยู่ด้วย จึงอาจฟ้องรับผิดทั้งในด้านสัญญาและละเมิดพร้อม ๆ กัน และโจทก์มีสิทธิจะฟ้องอย่างไรก็ได้ไม่เป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งยอมรับบังคับให้ผู้กระทำผิดสัญญาหรือละเมิดต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายได้ทั้งในทางผิดสัญญาหรือละเมิดที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น  พิพากษายืน


---คำพิพากษาข้างต้น ศาลพิจารณาว่า  เมื่อการปฏิบัติตามสัญญาหรือไม่ปฏิบัติตามสัญญา และมีผลเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิเด็ดขาด ก็สามารถฟ้องละเมิดได้ไม่ต้องระบุในการบรรยายฟ้องว่าเป็นสัญญาหรือละเมิด ศาลจะปรับเองเมื่อเข้าองค์ประกอบความรับผิดเพื่อละเมิด--- 


คราวนี้มาดูคำพิพากษาต่อว่าศาลได้ยืนยันถึงบทบาทของศาลในการทำหน้าที่ปรับบทเองว่าเป็นสัญญาหรือละเมิด โดยให้โจทก์-จำเลยนำสืบถึงข้อเท็จจริง 


คำพิพากษาฎีกา ๔๖๖๔/๒๕๓๓ 

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. เป็นผู้เช่าอาคารของ จ. แล้วให้จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ หุ้นส่วนผู้จัดการเช่าช่วงเพื่อทำโรงแรมเมื่อ จ. ถึงแก่กรรม การที่จำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้จัดการมรดกของจ. ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่ากับห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ย่อมเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายที่ จ. ผู้ให้เช่าและห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.ผู้เช่ามีนิติสัมพันธ์ต่อกันตามสัญญาเช่าอาคาร และการที่จำเลยที่ ๓ จะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหรือไม่ ก็เป็นมูลกรณีจากการที่คู่กรณีในสัญญาจะปฏิบัติการชำระหนี้ต่อกันตามข้อสัญญา ส่วนการที่จำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ ๓ ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ก็ต้องถือว่าเป็นการใช้สิทธิของจำเลยที่ ๓ ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๓ โดยจำเลยที่ ๔ ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญากับห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. จึงไม่เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตหรือจงใจกระทำการฉ้อโกงอันเป็นการกระทำละเมิดต่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะได้บรรยายถ้อยคำเป็นทำนองว่า จำเลยทั้งสี่ไม่สุจริต การกระทำฉ้อโกงโจทก์อันเป็นละเมิด แต่ฟ้องโจทก์ในตอนต้นก็บรรยายถึงนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยและบุคคลที่เกี่ยวข้องตามสัญญาเช่าและสัญญาต่างตอบแทนนั้นไว้โดยละเอียดแล้วและตามคำขอท้ายฟ้อง โจทก์ก็ขอให้จำเลยชำระเงินค่าตอบแทนการก่อสร้างให้โจทก์ตามสัญญาด้วย เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องมาเช่นนี้ ศาลก็มีหน้าที่ต้องปรับใช้กฎหมายเรื่องผิดสัญญาหรือละเมิดให้ตรงตามข้อเท็จจริงที่นำสืบกันมา การนำสืบข้อเท็จจริงของโจทก์จึงไม่ต่างกับฟ้อง จำเลยที่ ๒ ฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การจึงไม่มีประเด็นที่ศาลฎีกาจะรับวินิจฉัยให้ ส. ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดีกระทรวงยุติธรรม และมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดี เป็นผู้ชำระบัญชีย่อมมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีเกี่ยวกับการชำระบัญชีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๕๙​(๑)​ และแม้คำฟ้องของโจทก์จะมีคำว่า ผู้อำนวยการกองพิทักษ์ทรัพย์ต่อท้ายชื่อของ ส.ก็ไม่ได้หมายความว่า เป็นการฟ้องคดีในนามของผู้อำนวยการกองพิทักษ์ทรัพย์ คำว่า "เจ้าพนักงานบังคับคดี" หมายความว่า เจ้าพนักงานที่ทำหน้าที่บังคับคดีซึ่งสังกัดอยู่ในกรมบังคับคดี มิได้มีความหมายจำกัดเฉพาะอธิบดีกรมบังคับคดี หรือผู้ที่อธิบดีกรมบังคับคดีมอบหมายเท่านั้น ดังนั้นเมื่อปรากฏว่ากองพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นส่วนราชการในกรมบังคับคดีมีหน้าที่เป็นผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้อำนวยการกองพิทักษ์ทรัพย์ย่อมเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งด้วย


คำพิพากษาฎีกา ๕๙๐๗/๒๕๓๓  ---ข้อเท็จจริงคดีนี้ ศาลเลือกอาศัยอายุความตามมูลสัญญา เพื่อรักษาประโยชน์และให้ความเป็นธรรมกับผู้ต้องเสียหาย---

        โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี ๒๕๐๙ จำเลยยอมตนเข้าค้ำประกันการทำงานของนายเล็ก หากนายเล็กทำความเสียหายต่อโจทก์ในระหว่างทำงานจำเลยยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ในปี ๒๕๒๐ นายเล็กได้ทำความเสียหายเป็นเงิน ๑๗,๙๘๖.๓๗ บาท จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉยขอให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

          จำเลยให้การว่า การกระทำของนายเล็กเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ต้องฟ้องจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันภายในอายุความ ๑ ปีนับแต่นายเล็กออกจากงาน ปี ๒๕๒๐ คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องโจทก์

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๑๗,๙๘๖.๓๗ บาทพร้อมดอกเบี้ย

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          จำเลยฎีกา

       ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยกับนายสมรวยร่วมกันทำสัญญาค้ำประกันในการที่นายเล็กเข้าทำงานเป็นพนักงานของโจทก์ ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.๒ ปัจจุบันนายสมรวยถึงแก่กรรมแล้ว เมื่อปี ๒๕๑๙ ติดต่อกันมาถึงต้นปี ๒๕๒๐ นายเล็กได้ทุจริตต่อหน้าที่ โดยต่อกระแสไฟตรงและสับเปลี่ยนมาตราวัดไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้าโดยพลการ เรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ไฟฟ้าแล้วนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว จดหน่วยการใช้กระแสไฟฟ้าไม่ตรงต่อความเป็นจริงรับจ่ายเครื่องมือไปใช้แล้วไม่ส่ง ทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระค่าไฟฟ้าและเสียหายรวมเป็นเงิน ๑๗,๙๘๖.๓๗ บาท นายเล็กยอมรับสารภาพ โจทก์ได้ไล่นายเล็กออกจากงานตั้งแต่วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๒๐ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๓ ถึง จ.๑๙ โจทก์ไม่ได้ฟ้องนายเล็กเป็นคดีอาญาหรือคดีแพ่ง

         จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ทราบว่านายเล็กกระทำความผิดตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ ติดต่อกันมาถึงต้นปี ๒๕๒๐ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๘ มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยายการกระทำของนายเล็กว่าทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายทั้งโดยการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและไม่ชอบด้วยระเบียบปฏิบัติของโจทก์ ซึ่งในกรณีเช่นนี้โจทก์ในฐานะนายจ้างมีสิทธิที่จะเลือกฟ้องนายเล็กผู้เป็นลูกจ้างให้รับผิดต่อโจทก์ได้ทั้งตามสัญญาจ้างแรงงานและในมูลละเมิด สำหรับสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานนั้นกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้เป็นพิเศษ จึงต้องใช้อายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔ และตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ จึงต้องใช้อายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔


คดีต่อไปนี้ทำนองเดียวกัับคดีข้างต้น คำพิพากษาฎีกา ๖๙๙/๒๕๓๗

        โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ให้เป็นผู้ช่วยผู้จัดการร้านโจทก์ โดยมีจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันความเสียหายอันเกิดจากการทำงานของจำเลยที่ ๑ ต่อโจทก์ ระหว่างสัญญาจำเลยที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้สินค้าขาดบัญชีและลูกหนี้การค้าทั่วไปคลาดเคลื่อนรวมเป็นเงิน ๓๗๑,๕๑๙.๘๑ บาทและจำเลยที่ ๑ ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ยินยอมชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๔๑๐,๙๙๓.๗๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๓๗๑,๕๑๙.๘๑ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับสินค้าขาดบัญชีเพราะไม่อยู่ในหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ส่วนลูกหนี้การค้าทั่วไปคลาดเคลื่อนไม่เกิน ๙๐,๐๐๐ บาท ซึ่งจำเลยที่ ๑ได้ชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้นแล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดตามหนังสือรับใช้หนี้เพราะจำเลยที่ ๑ เพียงแต่ลงลายมือชื่อไว้เท่านั้นส่วนข้อความโจทก์พิมพ์ขึ้นเอง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ไม่เคยค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ ๑ ต่อโจทก์ ลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันมิใช่ลายมือชื่อจำเลยที่ ๒ คดีโจทก์ขาดอายุความละเมิด ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน ๔๑๐,๙๙๓.๗๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีจากต้นเงิน ๓๗๑,๕๑๙.๘๑ บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยที่ 1จะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          จำเลยที่ ๑ ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ให้รับผิดในมูลละเมิด โจทก์ทราบถึงเหตุละเมิดเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๘ แต่โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘  ทั้งโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๘ โจทก์ก็ต้องฟ้องร้องภายใน ๑ ปี นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๘๑ วรรคสอง (เดิม) ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความเช่นกัน เห็นว่าโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ ๑ ให้เป็นผู้ช่วยผู้จัดการร้านโจทก์ตามสัญญาจ้างท้ายฟ้อง เอกสารหมายเลข ๕ ตามสัญญาดังกล่าวข้อ ๓ ๔ และ ๕ จำเลยที่ ๑ จะต้องปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งของโจทก์หรือบุคคลที่โจทก์มอบหมายหากจำเลยที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ด้วยประการใด ๆ จนเกิดความเสียหายขึ้นในภายหน้าแก่โจทก์ จำเลยที่ ๑ ยอมใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จนครบ และต่อมาในระหว่างสัญญาจ้างจำเลยที่ ๑ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบัญชีได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้สินค้าของโจทก์ขาดบัญชีและลูกหนี้การค้าทั่วไปคลาดเคลื่อน โจทก์ได้รับความเสียหายทั้งสองรายการรวมเป็นเงินจำนวน ๓๗๑,๕๑๙.๘๑บาท 

         เช่นนี้เห็นได้ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ให้รับผิดทั้งตามสัญญาจ้างแรงงานและในมูลละเมิด ที่โจทก์อ้างในฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ประมาทเลินเล่อนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่จำเลยที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่ผิดสัญญาจ้างแรงงาน และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ในกรณีเช่นนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้ทั้งสองทาง สำหรับสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องถืออายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔ (เดิม) ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวอันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๘​ จึงต้องเริ่มนับอายุความ ๑๐  ปี ใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าวตามมาตรา ๑๘๑ (เดิม)โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ ได้ทำหนังสือรับใช้ตามเอกสารหมาย จ.๖ และ จ.๗ ให้โจทก์ด้วยความสมัครใจศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว


---นอกจากนี้ ขอให้นักศึกษาดูคำพิพากษาที่ ๘๓๖๓/๒๕๓๘ คดีที่บริษัทผู้รับสัมปทานป่าไม้ฟ้องกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ concurrent liability 


ฝากไว้เป็นตัวอย่างสุดท้าย คำพิพากษาฎีกา ๕๗๓๖/๒๕๔๔ 

 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงข้อเดียวว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิด จึงมีอายุความ ๑ ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๔๘  คดีนี้ถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๐ และวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๐ อันเป็นวันที่คำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตแต่ละฉบับสิ้นอายุ โจทก์ฟ้องคดีนี้ที่ศาลแพ่งธนบุรี เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๑ เกินกำหนด ๑ ปีจึงขาดอายุความ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ในฐานะผู้รับตราส่งฟ้องจำเลยในฐานะผู้ขนส่งให้รับผิด เนื่องจากจำเลยซึ่งมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ และตามสัญญารับขนของทางทะเลที่จะต้องนำสินค้าที่ตนเองรับขนไปส่งมอบให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งและรับเวนคืนใบตราส่ง แต่จำเลยไม่ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ กลับส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อโดยไม่ได้รับเวนคืนใบตราส่ง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญารับขนของทางทะเล แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะกล่าวอ้างมูลละเมิดมาด้วยแต่เมื่อฟังได้แล้วว่าจำเลยผิดสัญญารับขนของทางทะเลและโจทก์สามารถใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายอันเกิดจากมูลผิดสัญญาได้กรณีจึงไม่อาจนำอายุความ ๑ ปี ในเรื่องการเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตา ๔๔๘ มาใช้บังคับ ดังที่จำเลยอุทธรณ์ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความในมูลละเมิดหรือไม่นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น"


--------------------------------------


สรุป แนวคำพิพากษาของศาลที่เลือกและปรับใช้เองว่า ข้อเท็จจริงที่นำสืบเป็นเรื่องใด (สัญญา/ละเมิด) โดยจะพิจารณาจากความได้เปรียบเสียเปรียบแก่คู่กรณีฝ่ายที่เสียหายหรือได้รับความเดือดร้อนเป็นสำคัญ 


ดังนั้น ในประเด็น concurrent liability   ให้นักศึกษาลองพิจารณาว่าเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร


------------------------------------

กิตติบดี

สรุปการบรรยายละเมิด (๔) เรื่อง ความรับผิดเพื่อละเมิด

ภาพรวม

(๑) เค้าโครงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
แบ่งเป็น ๓ เรื่อง กลุ่ม

๑. กลุ่มทางแพ่ง ได้แก่ บุคคล ครอบครัว และมรดก
๒. กลุ่มทรัพย์สิน ได้แก่ ทรัพย์สิน ทรัพยสิทธิ (ทรัพย์สินในทางประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)
๓. กลุ่มหนี้ ได้แก่ หนี้ บุคคลสิทธิ (สิทธิเรียกร้อง)

หมายเหตุ
(๑) กลุ่มหนี้ จะแบ่งออกเป็น บ่อเกิดแห่งหนี้ (มูลหนี้) และผลแห่งหนี้ (สภาพบังคับแห่งหนี้)
(๒) บ่อเกิดแห่งหนี้ มาจาก ๒.๑ นิติกรรม/สัญญา /เอกเทศสัญญา หรือ ๒.๒ นิติเหตุ (ละเมิด จัดการงานนอกสั่ง และลาภมิควรได้) หรือ ๒.๓ กฎหมายเฉพาะเรื่อง เช่นหนี้ภาษีอากร
---ดังนัั้น จึงสรุปได้ว่า ละเมิดเป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ (มูลหนี้) ประการหนึ่่ง ซึ่งตามมาตรา ๑๙๔ ได้บัญญัติให้เจ้าหนี้ (ผู้เสียหาย) มีสิทธิจะเรียกให้ลูกหนี้ (ผู้กระทำละเมิด) ชำระหนี้ได้---

เพราะฉะนั้น หนี้ละเมิดจึงเป็นเหตุที่เกิดขึ้น และผู้ก่อเหตุนั้นมีความรับผิดชอบต่อผลที่ตนได้ก่อไว้ (นิติเหตุ) มิใช่ ความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นจากความประสงค์ที่จะก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างคู่สัญญา (นิติกรรม)

(๒) เปรียบเทียบระหว่างละเมิด-สัญญา
ความเหมือน
๑. ทั้งละเมิดและสัญญาอยู่ในบรรพ ๒ ว่าด้วย หนี้้ และเป็นมูลแห่งหนี้*
๒. ความเสียหาย การผิดนัดผิดสัญญาทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย ส่วนละเมิดการก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิตามกฎหมาย (สิทธิเด็ดขาด absolute right) ทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย

ความแตกต่าง
๑. นิติสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้
สัญญาเกิดจากความสมัครใจที่จะผูกนิติสัมพันธ์ของคู่สัญญา
ละเมิดเป็นเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดภาระผูกพันต่อผู้กระทำความผิด
๒. สิทธิตามกฎหมาย
สิทธิตามสัญญาเป็นบุคคลสิทธิใช้อ้างกับคู่สัญญา
ละเมิดเป็นสิทธิเด็ดขาดใช้อ้างได้กับบุคคลทุกคน
๓. ความสามารถในการก่อให้เกิดความรับผิด
สัญญาคำนึงถึงความสามารถในการก่อให้เกิดความรับผิด
ละเมิดไม่คำนึงถึงความสามารถในการก่อให้เกิดความรับผิด
๔. หน้าที่นำสืบ
สัญญา ลูกหนี้มีหน้าที่นำสืบว่าตนไม่ได้ทำผิดสัญญา
ละเมิด ถือหลักผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นนำสืบ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิด โจทก์ต้องพิสูจน์หรือนำสืบให้เห็นว่าจำเลยกระทำความผิด
๕. ความเสียหาย
สัญญา การกำหนดความเสียหายให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญา (แต่ปัจจุบันมีพรบ.ว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรมมาพิจารณาประกอบหากเข้าข่าย)
ละเมิด การกำหนดความเสียหาย (ค่าสินไหมทดแทน) มาตรา ๔๓๘ ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด แต่ต้องไม่พิพากษาเกินคำขอของโจทก์ (ตามหลักหนี้)
๖. การผิดนัด
สัญญา มาตรา ๒๐๓ หนี้้ที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลัน
มาตรา ๒๐๔ หนี้ที่กำหนดระยะเวลาชำระหนี้ ให้ถือว่าลูกหนี้ผิดนัดเมื่อถึงกำหนดระยะเวลาไว้
ละเมิด มาตรา ๒๐๖ ลูกหนี้ผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด
๗. อายุความ
สัญญา มาตรา ๑๙๓/๓๐ มาตรา ๑๙๓/๓๓ และมาตรา ๑๙๓/๓๔ (๑๐ ปี ๕ปี และ ๒ ปีตามลำดับ)
อายุความทั่วไป ๑๐ ปี
สิทธิเรียกร้องตาม ๑๙๓/๓๓ อายุความ ๕ ปี
สิทธิเรียกร้องตาม ๑๙๓/๓๔ อายุความ ๒ ปี
ละเมิด สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนมีอายุความ ๑ ปีนับแต่วันที่ผู้เสียหาย "รู้" (๑) การกระทำละเมิด และ (๒) "รู้" ตัวผู้กระทำละเมิด แต่ต้องไม่เกิน ๑๐ ปี นับแต่วันทำละเมิด (หาตัวผู้กระทำละเมิดไม่ได้แต่ต้องไม่เกิน ๑๐ ปี)

หมายเหตุ * ด้วยระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรนั้น ศาลทำหน้าที่เป็นผู้ปรับใช้และตีความกฎหมายมิใช่มีบทบาทเป็นผู้สร้างกฎหมายเหมือนระบบกฎหมายจารีตประเพณี ดังนั้น การกำหนดค่าสินไหมทดแทนต้องอยู่ภายใต้เรืองหนี้ แต่ทั้งนี้ บทบาทของศาลย่อมสามารถตีความและปรับใช้กฎหมายเพื่อให้กฎหมายละเมิดขยายขอบเขตในฐานะเป็นเครื่องมือในการยกระดับมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมได้ด้วย

(ครั้งต่อไป มาพิจารณากันว่า เมื่อคู่สัญญาตกลงทำสัญญากัน ปรากฎว่ามีความรับผิดทางละเมิดมาเกี่ยวข้องด้วย จะสามารถเลือกฟ้องทางละเมิดได้หรือไม่อย่างไร)

-----------------------
กิตติบดี

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...