วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สรุปการบรรยายละเมิด (๓) เรื่อง ความรับผิดทางแพ่งกับความรับผิดทางอาญา

ประเด็นความรับผิดทางแพ่ง (ละเมิด) กับความรับผิดทางอาญา

จากที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้นว่า กฎหมายละเมิดมีที่มาจากหลักศีลธรรม พัฒนาจากการลงโทษมาสู่การเรียกค่าสินไหมทดแทน ซึ่งการกระทำให้ผู้อื่นเสียหายนั้นมีความทับซ้อนกันระหว่างความรับผิดทางอาญา (รัฐลงโทษโดยคำนึงถึงส่วนรวม) กับความรับผิดทางแพ่ง (การเยียวยาความเสียหายโดยคำนึงถึงปัจเจกบุคคล) หรืออาจเรียกในส่วนอาญาว่า ประทุษร้ายทางอาญา และเรียกในส่วนแพ่งว่า ประทุษร้ายทางแพ่ง

โดยที่มาตรา ๔๒๔ ได้กล่าวถึงความทับซ้อนดังกล่าว จึงได้กำหนดเป็นหลักว่า "ในการพิจารณาคดีข้อความรับผิดเพื่อละเมิดและการกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่าศาลไม่จำต้องดำเนินตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอาญา ว่าด้วยการต้องรับโทษ หรือการได้รับการยกเว้นโทษแต่อย่างใด" ทั้งนี้ เนื่องด้วยเจตนารณ์แตกต่างกัน ดังนั้น การปรับใช้กฎหมายละเมิดให้พิจารณาที่ความเสียหายเป็นหลัก เพื่อจักหาผู้ที่ต้องรับผิดชอบมาเยียวยาหรือรับผิดชอบต่อความเสียหายนั้น แต่ทว่าในส่วนอาญา การปรับใช้กฎหมายต้องพิจารณาองค์ประกอบความผิดเป็นหลัก (องค์ประกอบภายนอก/องค์ประกอบภายใน) ซึ่งเท่ากับว่า ขอบเขตของการปรับใช้กฎหมายละเมิด นักกฎหมายต้องกล้าตีความขยายขอบเขตเพื่อคุ้มครองผู้เสียหาย ในขณะการปรับใช้กฎหมายอาญาต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหาเป็นสำคัญ

เมื่อเป็นเช่นนี้ การรับฟังข้อเท็จจริงในส่วนคดีอาญาเพื่อนำมาเป็นยุติในส่วนคดีแพ่ง จึงเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกับการกำหนดค่าสินไหมทดแทน รวมถึงการดึงบุคคลอื่นที่มีส่วนในความรับผิดชอบมารับผิดนอกเหนือจากผู้กระทำความผิดโดยตรง เช่น ลูกจ้างไปกระทำความผิดทางอาญา (ในทางการที่จ้าง) นายจ้างต้องเข้ามารับผิดชอบในส่วนทางแพ่งด้วย เป็นต้น

ดังนี้ จึงขอเปรียบเทียบระหว่างประทุษร้ายทางแพ่งกับประทุษร้ายทางอาญา ไว้ดังต่อไปนี้
(๑) เจตนารมณ์ของกฎหมาย
ทางแพ่ง เพื่อเยียวยาความเสียหายที่แท้จริง และยกระดับมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม
ทางอาญา เพื่อป้องปรามมิให้ประชาชนประพฤติตนไม่เหมาะสมและเป็นอันตรายต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมของประชาชน

(๒) การตีความ/ปรับใช้กฎหมาย
ทางแพ่ง ตีความ/ปรับใช้ตามเจตนารมณ์กฎหมาย
ทางอาญา ตีความ/ปรับใช้อย่างเคร่งครัด เนื่องจาก บทลงโทษนั้นกระทบกระเทือนต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์

(๓) ความรับผิด
ทางแพ่ง การล่วงละเมิดและทำให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิ ได้แก่ สิทธิในชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ อนามัย ชื่อเสียง เกียรติยศ ทรัพย์สิน และสิทธิอื่น
ทางอาญา การล่วงละเมิดต่อสิทธิเช่นเดียวกับทางแพ่ง แต่ต่างกันตรงบางมูลฐานความผิดทางอาญาไม่จำต้องเกิดความเสียหาย เช่น ความผิดฐานพยายาม ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์โดยประมาทในทางอาญาไม่มี จะมีเฉพาะเจตนาทำลายทรัพย์สินเท่านั้น ซึ่งในทางแพ่งกำหนดให้รับผิดทั้งเจตนา (จงใจ) หรือประมาทเลินเล่อ หรือ การฝ่าฝืนข้อห่้ามที่มีโทษทางอาญาเช่น การสร้างอาคารสูง แม้ว่าไม่เกิดความเสียหาย บุคคลที่ฝ่าฝืนข้อห้ามต้องรับผิดทางอาญา การขับรถยนต์ฝ่าสัญญาณไฟจราจร เป็นต้น

(๔) โทษ
ทางแพ่ง ค่าสินไหมทดแทน (เงิน)
ทางอาญา โทษทางอาญา (ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน) __การปรับเงิน เงินเข้าคลังหลวงมิใช่เยียวยาเอกชนที่เสียหาย เป็นการลงโทษต่อรัฐ

(๕) การสิ้นสุดคดี
ทางแพ่ง ความตายของผู้กระทำละเมิดไม่เป็นเหตุสิ้นสุดคดี มูลหนี้ตกแก่กองมรดก
ทางอาญา ความตายของผู้กระทำความผิดเป็นเหตุให้คดีระงับสิ้นลง

(๖) การร่วมกันกระทำความผิด
ทางแพ่ง รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม
ทางอาญา จำแนกระดับความชั่วตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน

(๗) อายุความ
ทางแพ่ง ๑ ปีนับแต่วันกระทำละเมิด
ทางอาญา อายุความตามความอุกฉกรรจ์

(๘) เหตุยกเว้นความรับผิด
ทางแพ่ง หลักทั่วไปให้ถือความยินยอมไม่เป็นละเมิด (แต่ปัจจุบันการใช้หลักนี้มีเพิ่มเติมให้พิจารณาจากผู้ทรงสิทธิ์--ซึ่งจะกล่าวต่อไปในคราวบรรยายเรื่องข้อต่อสู้ในคดีละเมิด)
ทางอาญา ความยินยอมไม่เป็นข้อแก้ตัว หากความยินยอมนั้นขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

(๙) ระดับความผิด/ชั่ว
ทางแพ่ง ระดับความผิดมีการจำแนกหลายระดับจงใจ ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ประมาทเลินเล่อ และประมาท เพื่อประโยชน์ในการกำหนดค่าสินไหมทดแทน
ทางอาญา ระดับความชั่วมีเจตนา และประมาท
-----------------------------------------
หมายเหตุ ความสัมพันธ์ระหว่างละเมิดกับความรับผิดทางอาญา
หลักมีดังนี้
(๑) ข้อเท็จจริงต้องฟังเป็นยุติตรงกัน
(๒) จะมีผลผูกพันข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นโดยตรงเท่านั้น หากมีประเด็นอื่นสามารถนำสืบเพิ่มเติมได้
ตย. ศาลในคดีอาญาฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยขับรถชนโจทก์โดยประมาท // ศาลในคดีส่วนแพ่งต้องรับฟังตามนั้น จำเลยจะให้การต่อสู้ว่าตนมิได้ประมาทไม่ได้ แต่ในส่วนการให้การต่อสู้ว่า โจทก์มีส่วนผิดด้วยนั้น ถือเป็นข้อเท็จจริงอื่นเพิ่มเติม สามารถนำพยานหลักฐานเข้าสืบข้อเท็จจริงส่วนนี้ได้

----------------------------------------
กิตติบดี

ไม่มีความคิดเห็น:

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...