วันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สิทธิมนุษยชน : รัฐธรรมนูญกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน


ประเด็น : รัฐธรรมนูญกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน (ตอนที่ ๑)

------------------------------------------------------


ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน มีสาระสำคัญ กล่าวคือ

(๑) ยึดถือวิถีทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(๒) การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

(๓) การส่งเสริมให้ประชาชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ

(๔) การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ


โดยเนื้อหาในส่วนของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน นั้น ได้มีการวางหลักการว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง" รวมตลอดถึงความเสมอภาคกันในทางกฎหมาย "ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน"


โดยหมวดว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพนั้น รัฐธรรมนูญได้กำหนดเนื้อหาสาระไว้เป็น ๑๓ เรื่อง (ส่วน) ดังนี้

เรื่องที่ ๑ บททั่วไป

(๑) การใช้อำนาจของรัฐ
๑.๑ การใช้อำนาจขององค์กรของรัฐ ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพเป็นสำคัญ
๑.๒ ในการบริหารราชการแผ่นดิน การใช้อำนาจขององค์กรต่าง ๆ ได้แก่ รัฐสภา (ตรากฎหมาย) คณะรัฐมนตรี (การใช้บังคับกฎหมาย) ศาล (การปรับใช้กฎหมาย) องค์กรตามรัฐธรรมนูญ (การใช้บังคับกฎหมาย/การปรับใช้กฎหมาย) หรือหน่วยงานของรัฐ (การใช้บังคับกฎหมาย) ต้องกระทำการอยู่บนพื้นฐานของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

(๒) การอ้างสิทธิมนุษยชน
รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชนสามารถอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้ รวมถึงเพื่อการใช้สิทธิทางศาล หรือยกเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้ แต่การกล่าวอ้างนั้นต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อื่น (--ต้องเคารพสิทธิของผู้อื่น--)

(๓) ห้ามการจำกัดสิทธิเสรีภาพ
การจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลจะกระทำมิได้ เว้นแต่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

เรื่องที่ ๒ หลักความเสมอภาค

(๑) ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน
- บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน "Equal in Law"
ข้อนี้ ไม่เว้นบุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ พนักงานและลูกจ้างขององค์กรของรัฐ
- ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน (ตรงนี้น่าตีความว่า "บุคคลมีสิทธิเท่าเทียมกัน" -- "Everyone")

(๒) การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
ห้ามเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะบุคคลนั้นมีสถานภาพที่แตกต่างกัน อาทิ
- ถิ่นกำเนิด
- เชื้อชาติ
- ภาษา
- เพศ
- อายุ
- ความพิการ
- สภาพทางกาย
- สุขภาพ
- สถานะของบุคคล
- ฐานะทางเศรษฐกิจ
- ฐานะทางสังคม
- ความเชื่อทางศาสนา
- การศึกษาอบรม
- ความคิดเห็นทางการเมือง
-------------------------------------------

กิตติบดี

สถาบันการเงิน : โครงสร้างระบบเศรษฐกิจ

โครงสร้างระบบเศรษฐกิจของไทย
กรณีความสัมพันธ์กับระบบสถาบันการเงิน
----------------------------------------------------

นายพอล ครุกส์แมน นักเศรษฐศาสตร์ชาวสหรัฐอเมริกา กล่าวไว้ว่าโลกปัจจุบัน (โลกาภิวัฒน์) ได้มีการตระเตรียมการล่วงหน้ามานานแล้ว มิใช่เป็นอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นฉับพลัน

นับเนื่องจากการที่ประเทศไทยได้ตกลงทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง (ร.๔) ซึ่งสังคมไทยได้เรียนรู้กับการเป็นสังคมแห่งอารยประเทศ หรือ Civilization อันมีระบบกฎหมาย การศาล และระบบการเมืองเป็นประเด็นสำคัญในการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปแล้ว รูปแบบของการขยายตัวทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ การผลิตสินค้าเกษตรกรรมเพื่อการค้าขายมิใช่เพียงเพื่อบริโภคตนเองเท่านั้น ยังมีการผลิตเพื่อการค้าและการส่งออก ขอให้สังเกตในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการลงทุนเพื่อนำความเจริญทางเทคโนโลยีเครื่องจักรอยู่มาก มีการนำระบบการเงินมาเพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า มีความต้องการสถาบันการเงินเพื่อใช้อำนวยความสะดวกในด้านเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (พ.ศ. ๒๔๓๑ มีการจัดตั้งแบงค์หลวงแห่งกรุงสยามขึ้น ดำเนินงานด้านการเงินแทนรัฐบาล เช่น การจัดเก็บภาษี พิมพ์ธนบัตร ให้การกู้ยืม ฯลฯ หรือ ธนาคารฮ่องกงแอนด์เซี่ยงไฮ้) ในยุคนี้ประเทศไทยคุ้นเคยกับคำว่า “พัฒนา” หรือ Development ได้เกิดการแบ่งแยกระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็น ๒ ภาค ได้แก่ ภาคเกษตรกรรม และ ภาคอุตสาหกรรม
ภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมมีลักษณะของการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าวจึงเกิดกลุ่มคนที่ทำหน้าที่เป็นคนกลาง ระหว่างทั้งสองภาคส่วนนั้น โดยในสังคมระบบอุปถัมภ์นั้น ผู้ที่มีอำนาจทางการเมือง (ชนชั้นปกครอง) จะมีผลประโยชน์ร่วมกับกลุ่มทุนอย่างแนบแน่น ได้แพร่ขยายอิทธิพลเหนืออำนาจทางเศรษฐกิจ และมีความพยายามในการรักษาฐานอำนาจดังกล่าวไว้ กล่าวคือ สร้างภาวะให้อยู่เหนือปัจจัยการผลิตและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต นอกจากนี้มีการใช้อำนาจทางการเมืองเป็นเครื่องมือในการแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเรื่อยมาทุกยุคสมัย โดยตัวละครที่หมุนผ่านมาขึ้นอยู่กับปัจจัยว่ากลุ่มใดเป็นผู้มีอำนาจทางการเมือง
ก่อนพ.ศ. ๒๔๗๕ กลุ่มเจ้าขนมูลนาย
พ.ศ. ๒๔๗๕ กลุ่มชนชั้นปกครอง
พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๘๙ กลุ่มชนชั้นปกครอง
พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๕๐๐ กลุ่มทหาร
พ.ศ. ๒๕๐๑-๒๕๑๖ กลุ่มทหารและกลุ่มเจ้าขนมูลนาย
พ.ศ.๒๕๑๗-๒๕๓๕ กลุ่มทหารและกลุ่มทุน
พ.ศ. ๒๕๓๖-ปัจจุบัน กลุ่มธุรกิจการเมือง
ขอให้สังเกตว่า ในปี ๒๕๐๓ (จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์) ยุคกลุ่มทหารและกลุ่มเจ้าขุนมูลนาย เข้ามีอำนาจทางการเมือง ระบบเศรษฐกิจนั้นได้มีการริเริ่มนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของเอกชนขึ้น
การลงทุนโดยรัฐบาลpublic sector
· การวางรากฐานระบอบประชาธิปไตย
· การจัดระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (เสรีนิยม)
การลงทุนโดยเอกชนprivate sector
· การลงทุนประกอบธุรกิจต่าง ๆ ทั้งภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม
· การจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ ในฐานะที่เป็นแหล่งเงินทุนให้แก่ภาค ธุรกิจ

ซึ่งจะพบว่า รัฐส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ขอให้ศึกษากรณีสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่มาเปิดสาขาในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสาขาของธนาคารตะวันตก หรือ ธนาคารของชาวจีนที่จดทะเบียนในประเทศไทย เช่น ธนาคารหวั่งหลีจั่น จำกัด (ธนาคารนครธน) ธนาคารตันเป็งชุน (ธนาคารมหานคร จำกัด) บริษัทจีนสยาม ฯลฯ หรือ ธนาคารของชาวจีนโพ้นทะเล หรือ ธนาคารของประเทศญี่ปุ่น หรือ ธนาคารที่คนไทยเป็นเจ้าของ ได้แก่ ธนาคารสยามกัมมาจล จำกัด (ธนาคารไทยพาณิชย์) ธนาคารแห่งเอเชียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชยการ จำกัด (ธนาคารเอเชีย) ธนาคารนครหลวงไทย และในช่วงพ.ศ. ๒๔๙๐ – ๒๕๐๓ (โดยประมาณ) องค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้ผลักดันให้ประเทศไทยปฏิบัติตามระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (ขอให้นักศึกษาศึกษาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ เป็นต้นมา แล้วจะเห็นพัฒนาการของสังคมไทย)

เมื่อมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น รัฐต้องสร้างระบบมาตรฐานในการกำกับดูแลกิจการธนาคาร ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล (นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยม) ดังนั้น พ.ศ. 2505 ได้มีการตราพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ขึ้น เพื่อ

๑. สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ฝากเงิน
๒. สร้างกลไกทำหน้าที่ในการเอื้อประโยชน์ในการลงทุนประกอบธุรกิจ

ขอให้พิจารณาเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับดังกล่าว ดังนี้
“เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือ ในปัจจุบันการธนาคารและการเศรษฐกิจได้ขยายตัวขึ้นเป็นลำดับ จึงสมควรได้ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ให้เหมาะสม เพื่อประโยชน์แก่การเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ตลอดจนให้ความคุ้มครองแก่ผู้ฝากเงินกับธนาคาร”

หมายเหตุ
ระยะแรกของการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ (พ.ศ. ๒๕๐๕) ได้ใช้วิธีการนำเงินฝากของประชาชนไปแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และกลุ่มของบริษัทในเครือญาติหรือที่เกี่ยวเนื่อง ทำให้ธนาคารมีผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และสามารถควบคุมแหล่งเงินทุนที่สำคัญภายในระบบเศรษฐกิจได้ ซึ่งพอทำให้เห็นว่า การลงทุนของรัฐนั้น มีลักษณะของการเอื้อประโยชน์ให้กับธนาคารพาณิชย์ หรือกลุ่มผลประโยชน์ที่ธนาคารพาณิชย์มีส่วนได้เสียด้วย ในขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์ก็จะเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มการเมือง หรือตอบแทนด้วยการสนับสนุนงบประมาณเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองต่อไป ในลักษณะของ “การต่างตอบแทน” หรือ เรียกว่า “ระบบอุปถัมภ์” ทั้งนี้ ขอให้ศึกษากรณีดังต่อไปนี้เพื่อเป็นอุทาหรณ์ประกอบการพิจารณา

๑. นโยบายกีดกันไม่ให้คนต่างด้าวจัดตั้ง หรือได้ผลประโยชน์ในวิสาหกิจ
๒. การใช้เงินภาษีของราษฎร์สนับสนุนกิจการของธนาคารพาณิชย์ (กรณีวิกฤติเศรษฐกิจช่วงปี ๒๕๔๐)
๓. นโยบายวิเทศธนกิจ หรือ Bangkok International Banking Facility : BIBF
ระบบการต่างตอบแทนดังกล่าว หากนักศึกษาลองศึกษาถึงประวัติศาสตร์จะพบว่า กลุ่มการเมืองพยายามยึดธนาคารพาณิชย์เป็นฐานทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด เพราะถือว่า ธนาคารพาณิชย์เป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม (ทุนนิยม) (ขอให้ศึกษาจากหนังสือหรือตำราที่เกี่ยวข้องกับ “พัฒนาการของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย”)

--------------------------------------------------

กิตติบดี

ความรู้พื้นฐานทางกฎหมาย : แนะนำการปรับใช้กฎหมาย

ข้อแนะนำถึงเรื่องการปรับใช้กฎหมาย

หลักการ

“กฎหมายนั้นต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ”

“The law must be applied in all cases which come within the letter or the spirit of its provisions”

“กฎหมาย” หมายถึง กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งความเห็นของพระยาเทพวิฑูร (บุญช่วย วณิกกุล) ได้ให้ทรรศนะว่า คำว่า กฎหมาย ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔ นั้น หมายความถึง กฎหมายอันเป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง เป็นต้น
[1] ซึ่งขยายขอบเขตเกินกว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“บรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ” หมายถึง มาตราทุกมาตราที่บัญญัติขึ้นตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“การตีความดพื่อปรับใช้กฎหมาย” หมายถึง การค้นหาเพื่อสร้างความกระจ่างชัดในความหมายของกฎหมาย

การค้นหาความหมายของกฎหมายเพื่อนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมาย ถ้าเลือกแสวงหาแบบกว้างขวางจนเกินไปแบบมหาสมุทร ก็เป็นปัญหาในทางปฏิบัติได้ แต่หากขีดวงจำกัดให้แคบจนเกินไป ก็เป็นอุปสรรคของผู้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ การตีความกฎหมายจึงจำเป็นต้องถูกกำกับโดยอาศัยหลักดังนี้

พิจารณาจากบทบัญญัติของกฎหมาย
[2]
มีหลายท่านกล่าวไว้ว่า “เมื่อถ้อยคำชัดเจนแล้ว ก็ไม่ต้องตีความ” การตีความกฎหมายจะตีความเฉพาะกรณีที่ถ้อยคำของกฎหมายไม่ชัดเจนเท่านั้น[3] เช่น มีการนำป้ายไปปักไว้ที่สนามหญ้าว่า ห้ามเดินลัดสนาม เมื่อพิจารณาจากลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏบนป้าย ถ้อยคำหรือถ้อยความได้กำหนดไว้แจ้งชัดว่า “ห้ามเดิน” เหยียบย่ำไปที่พื้นสนามนั้น แต่หากมีผู้สงสัยว่าแล้ว วิ่ง กระโดด ขี่รถจักรยาน (ยนต์) ขับรถยนต์ เข้าไปในสนามได้หรือไม่ เพราะลายลักษณ์อักษรได้ปรากฏอยู่แจ้งชัดแล้วว่า “ห้ามเดิน” เท่านั้น มิได้รวมถึง การวิ่ง กระโดด หรือกิจกรรมอื่นใด จากตัวอย่างดังกล่าว คงทำให้ท่านเห็นได้ว่า การอ่านแต่เพียงบทบัญญัติแห่งกฎหมายไม่เพียงพอ ที่จะหยั่งทราบว่าหมายความว่าอย่างไร จะต้องพิจารณาถึงเจตนารมณ์ที่แฝงอยู่เบื้องหลังประกอบด้วย ซึ่งในกรณีดังกล่าว การที่ป้ายเตือนห้ามเดินลัดสนาม ผู้ปิดประกาศมีเจตนาหรือความมุ่งหมายที่ไม่ต้องการให้พื้นสนามได้รับความเสียหาย ดังนั้น การวิ่ง การกระโดด หรือ กิจกรรมอื่นใดที่จะทำให้เกิดความเสียหายกับพื้นสนามย่อมไม่สามารถกระทำได้

ทำให้เห็นได้ว่า การค้นหาหรือแสวงหาความหมายของกฎหมายต้องไม่หยุดอยู่เฉพาะตัวบทกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาเจตนารมณ์ประกอบด้วยเสมอ ซึ่งในการค้นหาเจตนารมณ์ของกฎหมาย (The Spirit of Law) นั้น มีวิธีการดังต่อไปนี้
๑. สอบถามโดยตรงจากผู้ร่างกฎหมาย ว่าผู้ร่างมีเจตนาอย่างไร ซึ่งในทางปฏิบัติ (ความจริง) ผู้ร่างกฎหมายส่วนใหญ่ มักจะไม่อยู่ให้ถาม หรือไม่ก็ล้มหายตายจากไป หรืออื่นใดก็ตามที จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการที่สองคือ
๒. อ่านบทบัญญัติแห่งกฎหมายทั้งฉบับ กล่าวคือ เมื่อไม่มีผู้ร่างอยู่ให้ซักถามได้ ก็อ่านบทบัญญัติแห่งกฎหมายทั้งฉบับ (The whole text)

การอ่านถ้อยคำแห่งกฎหมายทุกคำของบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นั้น ต้องไม่ละเลยคำหนึ่งคำใดของกฎหมาย เพื่อจะได้หยั่งทราบว่า ผู้ร่างกฎหมายมีความประสงค์ที่แท้จริงอย่างไร ดังสุภาษิตกฎหมายลาติน กล่าวไว้ว่า “ถ้อยคำแห่งกฎหมายทุกคำต้องไม่ถูกล่วงข้ามไปเสีย” (A VERBIS LEGIS NON EST RECEDENDUM; from the words of the law, there is not any departure) และสามารถหยั่งทราบเจตนารมณ์โดยอาศัยหลักดังนี้

(๑) หลักสามัญสำนึก
ผู้เขียนได้บรรยายอยู่ในชั้นเรียนเสมอว่า เมื่อคุณมาเรียนกฎหมาย กรุณาอย่าลืมนำสามัญสำนึกหรือ Common Sense ของคุณมาด้วย When you come to law school; don’t forget to bring your common sense. เพราะ กฎหมายส่วนมากนั้นมีที่มาจากสามัญสำนึกของมนุษย์

“1 pound of common sense needs 10 pound of learning”

การเรียนรู้ถึง ๑๐ ปอนด์ดังอุปมานี้ มนุษย์เรียนรู้และสั่งสมจากการกระทำ และการกระทำหรือปฏิบัติใด ๆ ที่สังคมเห็นว่าดีงามและถูกต้องก็จะยึดถือเป็นประเพณี ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในการค้นหาความหมายของกฎหมายที่ให้ยึดหลักสามัญสำนึกนั้น มนุษย์ย่อมพึงนำสิ่งที่สังคมเห็นพ้องว่าถูกต้อง ดีงาม เป็นเครื่องชี้วัดอยู่แล้ว

(๒) หลักเหตุและผล (Logical)
บางครั้งลำพังจะใช้หลักสามัญสำนึกเพียงอย่างเดียวไม่อาจค้นหาความหมายได้ จึงต้องอาศัยผู้รู้ และ/หรือผู้เชี่ยวชาญมาให้คำตอบ ซึ่งคำตอบที่ผู้รู้และ/หรือผู้เชี่ยวชาญจะให้นั้น จำเป็นต้องอาศัยเหตุและผลตามหลักตรรกะมาตีความ เพื่อค้นหาความหมายของกฎหมาย (โปรดศึกษาเพิ่มเติมจากบทที่ ๑.๔ ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมมนุษย์กับกฎหมาย, หนังสือความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไปของผู้เขียน)

เมื่ออาศัยหลักการทั้งสองเข้าปรับกับบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เจตนารมณ์ของกฎหมายจะค่อย ๆ สาดแสงปรากฏเด่นชัดขึ้น ให้ผู้อ่านและ/หรือผู้ใช้กฎหมายทราบว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น ๆ มุ่งประสงค์ในเรื่องใด

แต่อย่างไรเสียรองศาสตราจารย์สมยศ เชื้อไทย ได้กล่าวเตือนถึงการตีความไว้ว่า “ความมุ่งหมายของกฎหมายถูกจำกัดกรอบด้วยตัวหนังสือ” ซึ่งเปรียบได้เหมือนกับ “การเป่าลม (เจตนารมณ์) เข้าไปในลูกโป่ง (ตัวอักษร) ที่สามารถเป่าลมได้เท่าที่ลูกโป่งสามารถรับได้เท่านั้น”
[4] เช่น มาตรา ๑๓๔๙ วรรคสอง บัญญัติว่า “...ที่ดินแปลงใดมีทางออกได้แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือทะเล หรือมีที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากไซร้ ...” ความเช่นนี้ ที่ดินที่ถูกปิดล้อมด้วยที่ชายเลน ไม่มีทางออกสู่ที่สาธารณะ เจ้าของที่ดินร้องขอให้เปิดทางจำเป็นได้หรือไม่ ซึ่งการค้นหาความมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ของกฎหมายจะพบว่า การที่กฎหมายบัญญัติเช่นนี้ ก็เนื่องด้วยเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่มีที่ดินที่ไม่มีทางออก แต่ถ้าพิจารณาถึงตัวอักษร (By Letter) จะไม่มีถ้อยคำใดที่สามารถตีความไปถึงที่ชายเลนได้ (สระ บึง หรือทะเล หรือมีที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากัน) ก็ไม่สามารถตีความจนกว้างขวางเกินไปได้ไม่[5]

ดังนั้น ท่านต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า ผู้เรียนกฎหมายไม่อาจตีความกฎหมายโดยใช้ศาสตร์แห่งการเดาอย่างมั่ว ๆ ไม่ได้ (อีกต่อไปแล้ว) หากท่านมีความจำเป็นจะต้องเดา จงใช้ศาสตร์แห่งการเดา โดยอาศัย Common Sense หรือ อาศัยเหตุและผล เป็นหลักของการเดาเสมอ

สรุปได้ว่า การตีความกฎหมาย ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรว่าบัญญัติไว้อย่างไร กอปรกับพิจารณาถึงเจตนารมณ์ที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังของลายลักษณ์อักษรนั้นด้วยว่ามีสามัญสำนึก และเหตุผลเช่นใด


--------------------------------------------------------

[1] อ้างใน, ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล, กฎหมายแพ่งหลักทั่วไป,สำนักพิมพ์นิติธรรม, พ.ศ.2545, หน้า6.
[2] ถ้อยคำตามตัวอักษร (By Letter) มี 2 ประเภท คือ 1.ภาษาธรรมดา 2. ภาษาวิชาการ.
[3] สมยศ เชื้อไทย,วิชากฎหมายแพ่ง : หลักทั่วไป, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2534, หน้า 132.
[4]สมยศ เชื้อไทย,คำอธิบายวิชากฎหมายแพ่ง-หลักทั่วไป ความรู้กฎหมายทั่วไป, พ.ศ. 2547,หน้า 166.
[5] เพิ่งอ้าง.

--------------------------------------------------------

กิตติบดี

ความรู้พื้นฐานทางกฎหมาย : การแบ่งประเภทของกฎหมาย (ตอนที่ ๒)

การแบ่งประเภทของกฎหมาย (ต่อ)

๒. การแบ่งแยกประเภทโดยอาศัยลักษณะแห่งการใช้กฎหมาย

การแบ่งกฎหมายโดยอาศัยลักษณะแห่งการใช้กฎหมาย จะพิจารณาจากเนื้อหาสาระ (Substance) และ/หรือลักษณะของการใช้กฎหมาย (Procedure) ซึ่งแบ่งกฎหมายออกเป็น ๒ ประเภท

๑. กฎหมายสารบัญญัติ (Substantive Law)
หมายถึง กฎหมายที่มีลักษณะเป็นส่วนเนื้อหาของกฎหมาย เป็นบทบัญญัติที่สั่งห้ามบุคคลไม่ให้กระทำหรือบังคับให้กระทำการ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เป็นกฎหมายกำหนดถึงบรรดาสิทธิและหน้าที่ของคู่กรณี หรือประมวลกฎหมายอาญา หรือประมวลกฎหมายที่ดิน ประมวลกฎหมายแรงงาน เป็นต้น

เช่น ตัวอย่างการลักทรัพย์ กฎหมายได้มีการกำหนดถึงเนื้อหาสาระว่า “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่เป็นของผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต” เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ต้องระวางโทษ หรือ ตัวอย่างการที่ลูกหนี้ไปกู้ยืมเงินเจ้าหนี้ แต่เมื่อถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้กฎหมายได้มีการบัญญัติสิทธิของเจ้าหนี้ว่ามีประการใดบ้าง หรือ กรณีใดที่เรียกว่าถึงกำหนดเวลาชำระหนี้หรือลูกหนี้ตกเป็นฝ่ายผิดนัดชำระหนี้ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๔ กำหนดให้เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ หรือ มาตรา๒๐๓ หากหนี้นั้นไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ไว้ กฎหมายได้บัญญัติถึงเนื้อหาว่า ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้นั้นมิได้กำหนดลงไว้หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ เจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันและฝ่ายลูกหนี้จะต้องชำระหนี้ของตนได้โดยพลันเช่นกัน หรือ กรณีหนี้รายนั้นมีกำหนดระยะเวลา มาตรา ๒๐๔ กำหนดเนื้อหาว่า ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วและเจ้าหนี้ได้เตือนแล้ว และลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ กฎหมายถือว่าลูกหนี้รายนั้นเป็นฝ่ายผิดนัด เป็นต้น

แต่มิได้หมายความว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ทางแพ่ง หรือมีผู้กระทำความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดทางอาญา เช่น ลักทรัพย์ หรือ หมิ่นประมาทดังตัวอย่างข้างต้น เจ้าหนี้และ/หรือผู้เสียหาย และ/หรือเจ้าพนักงานปกครองจะสามารถบังคับขู่เข็ญหรือลงโทษผู้นั้นได้ทันที เนื่องจาก ประเทศไทยเป็นสังคมที่ปกครองโดยระบบประชาธิปไตย ซึ่งถือหลักกฎหมายเป็นใหญ่ หรือที่เรียกว่า “Rule of Law” หมายความว่า สังคมทุกองคาพยพต้องอยู่ภายใต้กฎหมายทั้งสิ้น และจะต้องดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามที่วิธีที่กฎหมายวางกฎเกณฑ์ไว้เท่านั้น ซึ่งเรียกว่า “Due Process of Law” ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกล่วงละเมิดจากการกระทำอันมิชอบ เช่น การใช้กำลังเข้าตัดสิน หรือการถูกกลั่นแกล้งระหว่างคู่กรณี ดังนั้น นอกจากจะมีกฎหมายกำหนดเนื้อหาสาระของรูปแบบว่าอะไรสามารถกระทำได้หรือไม่สามารถกระทำได้ ยังได้มีการกำหนดถึงวิธีการ ขั้นตอนหรือกระบวนการพิจารณาว่าคู่กรณีแต่ละฝ่ายมีสิทธิและหน้าที่ประการใด


ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกามีการกำหนดสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญา ว่าให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องแจ้งสิทธิแก่ผู้ต้องหาให้ทราบ ที่เรียกว่า หลัก “The Miranda Warning”[1] เช่น เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการจับกุม จะถูกกฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ต้องแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบว่า You have the right to remain silent. Anything you say can and will be used against you in a court of law. กล่าวคือ คุณมีสิทธิที่จะไม่พูด เพราะคำพูดของคุณจะถูกใช้เป็นพยานหลักฐานปรักปรำคุณในศาลได้ หรือ You have the right to be speak to an attorney, and to have an attorney present during any questioning. If you cannot afford a lawyer, one will be provided for you at government expense. กล่าวคือ คุณมีสิทธิปรึกษาทนายความหรือผู้ที่รู้กฎหมายได้ หากคุณไม่มีที่ปรึกษาด้านกฎหมาย (ทนายความ) ก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดหาให้คุณ เป็นต้น ซึ่งหลักมิแรนด้าวอนนิ่งนี้ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจละเลยหรือไม่แจ้งสิทธิให้แก่ผู้ต้องหา เมื่อคดีถูกนำขึ้นสู่ศาล ผู้ต้องหา (จำเลย) สามารถยกประเด็นดังกล่าว เป็นข้อต่อสู้คดี และศาลจะพิจารณาพิพากษายกฟ้องคดีได้ เป็นต้น (สำหรับประเทศไทยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็บัญญัติถึงสิทธิของผู้ต้องหาไว้ แต่ไม่ปรากฏว่า หากจำเลยยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นอ้าง ศาลจะพิจารณาพิพากษาอย่างไร)
สำหรับประเทศไทยการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดี ไม่ว่าจะเป็นในทางแพ่งหรือทางอาญา มีกฎหมายกำหนดถึงหลักเกณฑ์ ขั้นตอน การดำเนินคดี วิธีพิจารณาคดี ตลอดจนการบังคับคดีเพื่อให้สอดรับกับกฎหมายสารบัญญัติในแต่ละเรื่องที่เรียกรวม ๆ ว่า “กฎหมายวิธีสบัญญัติ”

๒. กฎหมายวิธีสบัญญัติ (Procedural Law)
หมายถึง กฎหมายที่บัญญัติกำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน การดำเนินคดี วิธีพิจารณาคดี ตลอดจนการบังคับคดี (Procedure of Law) เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เป็นกฎหมายที่กำหนดวิธีการดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดี และบังคับคดีในกรณีที่มีข้อพิพาททางแพ่ง มีการแบ่งเนื้อหาของวิธีพิจารณาความเป็น ๔ ภาค ได้แก่
ภาค ๑ บททั่วไป กล่าวถึงบทวิเคราะห์ศัพท์ เขตอำนาจศาล คำคู่ความ การยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสาร พยานหลักฐาน คำพิพากษาและคำสั่ง
ภาค ๒ วิธีพิจารณาความในศาลชั้นต้น
ภาค ๓ การอุทธรณ์ ฎีกา
ภาค ๔ วิธีการชั่วคราวก่อนศาลพิพากษา และการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
หรือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่กำหนดวิธีพิจารณาหรือขั้นตอนในการดำเนินคดีอาญาตั้งแต่
ภาค ๑ ข้อความเบื้องต้นที่กล่าวถึงหลักทั่วไป อำนาจพนักงานสอบสวนและศาล การฟ้องคดีอาญา และคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา หมายเรียก และหมายอาญา การจับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อยตัวชั่วคราว
ภาค ๒ สอบสวน วิธีการสวบสวน การชันสูตรพลิกศพ
ภาค ๓ วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น การฟ้องคดีอาญา การไต่สวนมูลฟ้อง การพิจารณา พิพากษาและคำสั่ง
ภาค ๔ การอุทธรณ์ และฎีกา
ภาค ๕ พยานหลักฐาน
ภาค ๖ การบังคับคดีตามคำพิพากษาและค่าธรรมเนียม ภาค ๗ การอภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา และการลดโทษ
-----------------------------------------------------------------
[1]Ernesto Miranda v Arizona. In 1963.
-----------------------------------------------------------------
กิตติบดี

ความรู้พื้นฐานทางกฎหมาย : การแบ่งประเภทของกฎหมาย (ตอนที่ ๑)

การแบ่งประเภทกฎหมาย มีดังนี้
(๑) พิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณี
(๒) พิจารณาโดยพิจารณาจากลักษณะแห่งการใช้กฎหมาย
๑. การแบ่งแยกประเภทโดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณี

กล่าวคือ แบ่งแยกโดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ทางกฎหมาย หรือ “นิติสัมพันธ์”
ระหว่างคู่กรณี/คู่สัญญา ได้แก่
(๑) กฎหมายเอกชน (Private Law)
(๒) กฎหมายมหาชน (Public Law)
(๓) กฎหมายระหว่างประเทศ (International Law)

(๑) กฎหมายเอกชน ได้แก่ กฎหมายที่กำหนดถึงสิทธิ หน้าที่และความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน ซึ่งสังเกตได้ว่า ฐานะของคู่กรณี (ประธานและ/หรือกรรม) มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน กฎหมายเอกชนสามารถยกตัวอย่างกฎหมายที่สำคัญที่เรียกในหมู่นักนิติศาสตร์ว่า “กฎหมายสี่มุมเมือง” ได้ดังนี้
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่กำหนดถึงความสัมพันธ์ทางกฎหมายของเอกชนทางแพ่งและทางพาณิชย์ พิจารณาได้จากบรรพ (หมวด) ต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น ๖ บรรพ ๑๗๕๕ มาตรา ดังต่อไปนี้
บรรพ ๑ หลักทั่วไป (มาตรา ๑-๑๙๓) แบ่งออกเป็น ๖ ลักษณะ
ลักษณะ ๑ บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
ลักษณะ ๒ บุคคล
ลักษณะ ๓ ทรัพย์
ลักษณะ ๔ นิติกรรม
ลักษณะ ๕ ระยะเวลา
ลักษณะ ๖ อายุความ

บรรพ ๒ หนี้ (มาตรา ๑๙๔-๔๕๒) แบ่งออกเป็น ๕ ลักษณะ
ลักษณะ ๑ บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
ลักษณะ ๒ สัญญา
ลักษณะ ๓ จัดการงานนอกสั่ง
ลักษณะ ๔ ลาภมิควรได้
ลักษณะ ๕ ละเมิด

บรรพ ๓ เอกเทศสัญญา (มาตรา ๔๕๓-๑๒๙๗) แบ่งออกเป็น ๒๓ ลักษณะ
ลักษณะ ๑ ซื้อขาย
ลักษณะ ๒ แลกเปลี่ยน
ลักษณะ ๓ ให้
ลักษณะ ๔ เช่าทรัพย์
ลักษณะ ๕ เช่าซื้อ
ลักษณะ ๖ จ้างแรงงาน
ลักษณะ ๗ จ้างทำของ
ลักษณะ ๘ รับขน
ลักษณะ ๙ ยืม
ลักษณะ ๑๐ ฝากทรัพย์
ลักษณะ ๑๑ ค้ำประกัน
ลักษณะ ๑๒ จำนอง
ลักษณะ ๑๓ จำนำ
ลักษณะ ๑๔ เก็บของในคลังสินค้า
ลักษณะ ๑๕ ตัวแทน
ลักษณะ ๑๖ นายหน้า
ลักษณะ ๑๗ ประนีประนอมยอมความ
ลักษณะ ๑๘ การพนันและขันต่อ
ลักษณะ ๑๙ บัญชีเดินสะพัด
ลักษณะ ๒๐ ประกันภัย
ลักษณะ ๒๑ ตั๋วเงิน
ลักษณะ ๒๒ หุ้นส่วนและบริษัท
ลักษณะ ๒๓ สมาคม

บรรพ ๔ ทรัพย์สิน (มาตรา ๑๒๙๘-๑๔๓๔) แบ่งออกเป็น ๘ ลักษณะ
ลักษณะ ๑ บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
ลักษณะ ๒ กรรมสิทธิ์
ลักษณะ ๓ ครอบครอง
ลักษณะ ๔ ภาระจำยอม
ลักษณะ ๕ อาศัย
ลักษณะ ๖ สิทธิเหนือพื้นดิน
ลักษณะ ๗ สิทธิเก็บกิน
ลักษณะ ๘ ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

บรรพ ๕ ครอบครัว (มาตรา ๑๔๓๕-๑๕๙๘) แบ่งออกเป็น ๓ ลักษณะ
ลักษณะ ๑ การสมรส
ลักษณะ ๒ บิดามารดากับบุตร
ลักษณะ ๓ ค่าอุปการะเลี้ยงดู

บรรพ ๖ มรดก (มาตรา ๑๕๙๙-๑๗๕๕) แบ่งออกเป็น ๖ ลักษณะ
ลักษณะ ๑ บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
ลักษณะ ๒ สิทธิโดยธรรมในการรับมรดก
ลักษณะ ๓ พินัยกรรม
ลักษณะ ๔ วิธีจัดการและปันทรัพย์มรดก
ลักษณะ ๕ มรดกที่ไม่มีผู้รับ
ลักษณะ ๖ อายุความ

กฎหมายอาญา กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่กำหนดความประพฤติของคนในสังคม ว่าการกระทำอย่างไรต้องห้ามกระทำ หากกระทำต้องรับโทษ ประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทยแบ่งออกเป็น ๓ ภาค
ภาค ๑ บทบัญญัติทั่วไป (มาตรา ๑-๑๐๖) แบ่งเป็น ๒ ลักษณะ
ลักษณะ ๑ บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไป
ลักษณะ ๒ บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดลหุโทษ

ภาค ๒ ความผิด (มาตรา ๑๐๗-๓๖๖) แบ่งเป็น ๑๒ ลักษณะ
ลักษณะ ๑ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
ลักษณะ ๒ ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง
ลักษณะ ๓ ความผิดเกี่ยวกับความยุติธรรม
ลักษณะ ๔ ความผิดเกี่ยวกับศาสนา
ลักษณะ ๕ ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน
ลักษณะ ๖ ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน
ลักษณะ ๗ ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง
ลักษณะ ๘ ความผิดเกี่ยวกับการค้า
ลักษณะ ๙ ความผิดเกี่ยวกับเพศ
ลักษณะ ๑๐ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย
ลักษณะ ๑๑ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง
ลักษณะ ๑๒ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
ภาค ๓ ลหุโทษ (มาตรา ๓๖๗-๓๙๘)

กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่กำหนดถึงวิธีการหรือขั้นตอนในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีความแพ่ง การฟ้องร้องบังคับคดีในทางทรัพย์สินหรือบังคับให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด หรือห้ามกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด มีขั้นตอนตั้งแต่การฟ้องคดี การยื่นฟ้องคดี การไต่สวนมูลฟ้อง การชี้สองสถาน การสืบพยาน การพิจารณาคดีของศาล การชั่งน้ำหนักคำพยาน การพิจารณาพิพากษา การอุทธรณ์ ฎีกา ตลอดจนการบังคับคดี

กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่กำหนดถึงวิธีการหรือขั้นตอนในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีความอาญาเพื่อให้ศาลพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิด กฎหมายนี้ได้กำหนดวิธีการยื่นฟ้องคดีต่อศาล การร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง อำนาจสั่งฟ้อง การประทับรับฟ้อง การพิจารณาพิพากษาคดี การชั่งน้ำหนักพยาน การพิพากษา ตลอดจนการบังคับคดี (ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน)

(๒) กฎหมายมหาชน ได้แก่ กฎหมายที่กำหนดถึงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าพนักงานของรัฐ กับเอกชน โดยฐานะของคู่กรณีฝ่ายปกครองอยู่เหนือกว่าประชาชน (เอกชน) สามารถยกตัวอย่างให้เห็นได้ดังนี้

กฎหมายรัฐธรรมนูญ
กฎหมายรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศเหตุเพราะมาตรา ๖ แห่งรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันบังคับมิได้” กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อวางระเบียบในการปกครองประเทศ และกำหนดบทบาทหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ รวมตลอดจนถึงสิทธิ เสรีภาพของประชาชน

กฎหมายปกครอง
กฎหมายปกครองเป็นกฎหมายที่กำหนดสถานะและความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายปกครอง (หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ) กับรัฐ และต่อประชาชน (เอกชน) เช่น กฎหมายเกี่ยวกับโครงสร้างทางปกครอง (การบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลาง เช่น กระทรวง ทบวง กรมการบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาค เช่น จังหวัด การบริหารราชการแผ่นดินส่วนท้องถิ่นเช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล) การกระทำทางปกครอง ความรับผิดทางปกครอง การควบคุมฝ่ายปกครองโดยศาลปกครอง เป็นต้น

กฎหมายการคลังและการภาษีอากร
กฎหมายการคลังและภาษีอากรเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการหารายได้เข้ารัฐและหน่วยงานของรัฐ การจัดการทรัพย์สินที่เป็นเงินตราของรัฐ เช่น การเก็บรักษา การจัดทำบัญชี และการใช้จ่ายเงินของรัฐโดยงบประมาณแต่ละปี

กฎหมายระหว่างประเทศ ได้แก่ กฎหมายที่กำหนดถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ ซึ่งที่มาของกฎหมายระหว่างประเทศมีที่มาด้วยกันอยู่หลายแหล่งได้แก่ จารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ปฏิบัติสืบเนื่องมา สนธิสัญญา (Treaty) ความตกลงระหว่างประเทศ (Convention)
กฎหมายระหว่างประเทศสามารถแบ่งเป็นแผนกคดีต่าง ๆ ได้ ๓ แผนก
๑. กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
หมายถึง กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ของบุคคลที่มีข้อพิพาทเกี่ยวเนื่องกับต่างประเทศในเรื่องต่าง ๆ เช่น สัญชาติ การเปลี่ยนสัญชาติ การโอนสัญชาติ ทรัพย์สิน นิติกรรมสัญญา เป็นต้น
๒. กฎหมายระหว่างประเทศแผนคดีเมือง
หมายถึง กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ เช่น การกำหนดอาณาเขตของรัฐ หลักเกณฑ์ในการจัดทำสนธิสัญญาต่าง ๆ หรือ ภาวะสงคราม เป็นต้น
๓. กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา
หมายถึง กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์รัฐในทางอาญา เช่นการกำหนดเขตอำนาจศาล การส่งผู้ร้ายข้ามแดน เป็นต้น
-----------------------------------------------------------
กิตติบดี

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...