วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สรุปการบรรยายละเมิด (๖) เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างละเมิดทางแพ่งกับความรับผิดในทางอาญา

ความสัมพันธ์ระหว่างละเมิดทางแพ่งกับความรับผิดในทางอาญา

ตามที่ได้อธิบายให้ทราบถึงความรับผิดทางแพ่งและความรับผิดทางอาญานั้น จะเห็นว่า การกระทำที่เป็นความรับผิดอาญาโดยมากแล้วจะเข้าข่ายความรับผิดทางละเมิด (ประทุษร้ายทางอาญา/ประทุษร้ายทางแพ่ง)

หลักการ ความยุติธรรมกับความจริงที่มีได้หนึ่งเดียว
ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๖ ซึ่งกำหนดให้ในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ถ้าศาลในคดีอาญาพิจารณาปัญหาข้อเท็จจริงเป็นยุติอย่างไรแล้ว ศาลคดีส่วนแพ่งต้องถือเอาข้อเท็จจริงเ็นยุติตามนั้น จะฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นที่นอกเหนือจากศาลส่วนคดีอาญาไม่ได้

หลักเกณฑ์ตามปวิอ. มาตรา ๔๖
(๑) ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา (มูลฐานความรับผิดมาจากเหตุเดียวกัน)
(๒) คำพิพากษาคดีอาญานั้น ต้องถึงที่สุด (ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี)
(๓) ผู้ที่ผูกพันคำพิพากษาคดีอาญานั้น จะต้องเป็นหรือถือว่าเป็นคู่ความในคดีอาญา
(๔) มีผลผูกพันเฉพาะข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาเท่านั้น

ตัวอย่างที่ ๑

ในคดีอาญาที่พนักงานอัยการและโจทก์ซึ่งเข้าร่วมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๒ ว่า จำเลยที่ ๒ ได้กระทำความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส และคดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ.มาตรา ๔๖ คดีจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์โดยประมาท


ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๓ วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า ถ้ามิได้ตายในทันทีค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย ค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานจึงเป็นค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ทำละเมิดจำต้องใช้แก่ผู้เสียหายที่ยังไม่ถึงตายแต่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานเท่านั้น หาใช่ค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ทำละเมิดจำต้องใช้หลังจากผู้เสียหายนั้นถึงแก่ความตายแล้วด้วยไม่ เหตุละเมิดเกิดเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๒ โจทก์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๔ โจทก์จึงขาดประโยชน์ทำมาหาได้ เพราะไม่สามารถประกอบการงานเป็นเวลา ๑ ปี ๘ เดือน ๖ วัน จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เป็นเงิน ๓๐,๓๐๐ บาท เท่านั้น


จำเลยทั้งสองอุทธรณ์และฎีกาว่า จำเลยร่วมต้องรับผิดชอบร่วมกับจำเลยทั้งสองมากกว่าที่ศาลล่างมีคำพิพากษา เพราะจำเลยทั้งสองได้ชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยร่วมตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ซึ่งเป็นการประกันภัยประเภทสมัครใจ แต่จำเลยร่วมรับผิดชอบเพียงจำนวนเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ ตามกฎหมายประกันภัยภาคบังคับเพียง ๘๐,๐๐๐ บาท ไม่ถูกต้อง จำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นมาแต่ต้นว่า การที่ศาลชั้นต้นยกความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวมาวินิจฉัยนั้นไม่ถูกต้องตามกรมธรรม์ประกันภัยอย่างไร อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยร่วมมาจึงเป็นการไม่ชอบ จำเลยทั้งสองฎีกาปัญหาดังกล่าวขึ้นมาในทำนองเดียวกัน จึงถือเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค ๙ ขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


โจทก์ฎีกาว่า ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค ๙ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ จึงขาดอำนาจโดยธรรมที่จะแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น โจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างในฎีกาว่า เพราะเหตุใด ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ จึงขาดอำนาจโดยธรรมที่จะแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน


ตัวอย่างที่ ๒


ในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานบุกรุกนั้น ข้อวินิจฉัยที่ว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยเข้ามาสร้างบ้านสองชั้นเป็นของโจทก์หรือไม่ เป็นปัญหาโดยตรงในการวินิจฉัยคดีส่วนอาญา ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาซึ่งถึงที่สุดแล้วดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๔๖ โดยต้องฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จะให้ฟังว่าเป็นของจำเลยหรือเป็นลำห้วยสาธารณประโยชน์หรือออกโฉนดที่ดินทับลำห้วยสาธารณประโยชน์มิได้


ตัวอย่างที่ ๓


ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ เป็นบิดามารดาของจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ โจทก์ นายเลื่อน ธรรมรัตน์ และจำเลยที่ ๓ เป็นพี่น้องกันวันเกิดเหตุโจทก์และนายเลื่อนทะเลาะวิวาทกับจำเลยทั้งสี่ เจ้าพนักงานตำรวจจึงจับกุมจำเลยทั้งสี่ไปดำเนินคดี ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดหนองคายได้ฟ้องคดีอาญาต่อศาลชั้นต้น ๒ คดี คดีแรก พนักงานอัยการจังหวัดหนองคายฟ้องนายเลื่อน โจทก์คดีนี้และนายบัวหลั่น คุธินาคุณ เป็นจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ตามลำดับ ข้อหาความผิดต่อร่างกายโดยมีจำเลยที่ ๑ คดีนี้เป็นโจทก์ร่วม ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๐๐๑/๒๕๓๘ หมายเลขแดงที่ ๓๓๕๖/๒๕๓๙ ของศาลชั้นต้น


ซึ่งต่อมาเป็นคดีตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๘๑/๒๕๔๒ คดีที่สอง พนักงานอัยการจังหวัดหนองคายฟ้องจำเลยทั้งสี่คดีนี้เป็นจำเลย ข้อหาความผิดต่อชีวิต พยายาม ความผิดต่อร่างกาย โดยมีโจทก์คดีนี้และนายเลื่อนเป็นโจทก์ร่วม ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๓๗๗/๒๕๓๘ หมายเลขแดงที่ ๓๔๒๓/๒๕๓๙ ของศาลชั้นต้น ซึ่งต่อมาเป็นคดีตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๘๒๘/๒๕๔๒ คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ ๒ ข้อ คือ ๑. จำเลยทั้งสี่ร่วมกันจงใจทำร้ายโจทก์ตามฟ้องหรือไม่และ ๒. โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่ได้หรือไม่ เพียงใด ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นสอบคู่ความเกี่ยวกับประเด็นข้อแรกคู่ความแถลงร่วมกันว่า ให้ถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๓๗๗/๒๕๓๘ ของศาลชั้นต้นเมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ศาลชั้นต้นจึงให้คู่ความนำสืบเฉพาะประเด็นเรื่องค่าเสียหาย


จำเลยที่ ๑ ฎีกาข้อแรกว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา คือคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๓๔๒๓/๒๕๓๙ ของศาลชั้นต้น โดยรับฟังว่าโจทก์เป็นผู้เริ่มต้นก่อเหตุทะเลาะวิวาทโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๑


ห็นว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๖ คดีส่วนอาญาคือคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๓๗๗/๒๕๓๘ หมายเลขแดงที่ ๓๔๒๓/๒๕๓๙ ของศาลชั้นต้น ซึ่งต่อมาคือคดีตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๘๒๘/๒๕๔๒ อีกทั้งคู่ความแถลงร่วมกันว่าให้ถือข้อเท็จจริงในคดีนี้ตามที่ปรากฏในคดีอาญาดังกล่าวเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วดังนี้เมื่อศาลฎีกาพิพากษาคดีส่วนอาญาในคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๘๒๘/๒๕๔๒ ว่าข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่พนักงานอัยการจังหวัดหนองคายและโจทก์คดีนี้นำสืบว่า ก่อนเกิดเหตุโจทก์คดีนี้กับจำเลยที่ ๑ และพวกต่างมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน และได้มีการด่าว่าโต้เถียงกัน จนในที่สุดได้มีการใช้กำลังเข้าทำร้ายร่างกายกันจึงเป็นเรื่องสมัครใจเข้าวิวาทกัน คดีนี้ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว


เมื่อฟังว่าโจทก์และจำเลยที่ ๑ สมัครใจทะเลาะวิวาทและทำร้ายร่างกายกัน เป็นกรณีที่ต่างฝ่ายต่างสมัครใจเข้าเสี่ยงภัยยอมรับอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ตนจากการทะเลาะวิวาทนั้น แม้โจทก์ได้รับบาดเจ็บก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๑ ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ข้อนี้ฟังขึ้นและคดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ ๑ อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนไป


ตัวอย่างที่ ๔


โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้เยาว์อยู่ในความปกครองดูแลของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ทำร้ายร่างกายโจทก์โดยชกต่อยบริเวณไหล่ขวาของโจทก์ และใช้มือบีบคอโจทก์จนศรีษะกระแทกฝาห้องน้ำ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง และได้รับผลกระทบกระเทือนทางจิตใจ ต้องทนทุกขเวทนาหวาดผวา และมีอาการประสาทหลอน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑๒๖,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์


จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ มิได้อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๒ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์โจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง


ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๙๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ ๒


จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ ด้วย


โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ (หมายเหตุ--ผู้เขียน ปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ เว้นแต่มีเหตุสมควร)


ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นที่ยุติว่า เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๓๘ ระหว่างเวลาพักกลางวันที่โรงเรียนบ้านใหม่โสพิมพ์ ตำบลบ่อทอง กิ่งอำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี จำเลยที่ ๑ ใช้กำลังทำร้ายโจทก์โดยชกต่อยที่หัวไหล่ขวา ๑ ครั้ง และบีบคอจนศีรษะของโจทก์กระแทกฝาห้องน้ำ ๑ ครั้ง ต่อมาวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ พนักงานอัยการประจำศาลแขวงลพบุรีเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ เป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงลพบุรี จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ ศาลแขวงลพบุรีพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๑ คดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ซึ่งคดีนี้ต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวว่าการทำร้ายของจำเลยที่ ๑ ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46


มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า อาการเจ็บป่วยของโจทก์ตามที่บรรยายมาในฟ้องเป็นผลโดยตรงมาจากการที่จำเลยที่ ๑ ใช้กำลังทำร้ายโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การที่นายแพทย์เสนาะให้ยาระงับประสาทแก่โจทก์เป็นเพียงวิธีการรักษาอาการเจ็บป่วยของโจทก์ นายแพทย์เสนาะมิได้ยืนยันว่า อาการเจ็บป่วยของโจทก์เป็นผลมาจากการทำร้ายของจำเลยที่ ๑ โดยตรงแต่อย่า งใด เพราะนายแพทย์เสนาะเบิกความเพียงว่า โจทก์มารับการรักษาจากพยานเนื่องจากพฤติกรรมของโจทก์เปลี่ยนไป พยานได้แนะนำให้มารดาโจทก์พาโจทก์ไปรักษาตัวที่ศูนย์สุขวิทยาจิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งจากคำเบิกความถึงสาเหตุแห่งการมารับการรักษาดังกล่าวนั้น เชื่อได้ว่าเกิดจากพฤติกรรมของโจทก์เปลี่ยนไปเอง หาใช่เป็นเพราะการทำร้ายของจำเลยที่ ๑ ไม่ และข้อเท็จจริงก็รับฟังเป็นที่ยุติแล้วว่า โจทก์ไม่ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแต่อย่างใด


ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ถูกจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีรูปร่างใหญ่กว่าทำร้ายแต่ฝ่ายเดียวโดยโจทก์ไม่สามารถต่อสู้ขัดขืนได้ ในขณะที่เพื่อนโจทก์และจำเลยที่ ๑ ซึ่งเห็นเหตุการณ์ไม่เข้าช่วยเหลือ การที่โจทก์มีอาการขวัญผวา หน้ามืด ปวดศรีษะ กลัวคนทำร้าย และจิตผิดปกติ จึงเป็นผลโดยตรงมาจากการที่จำเลยที่ ๑ ทำร้ายโจทก์นั้นเป็นข้ออ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักรับฟัง ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่อาจรับฟังได้ว่าอาการเจ็บป่วยของโจทก์เป็นผลโดยตรงมาจากการทำร้ายของจำเลยที่ ๑ จึงไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายตามฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น


-------------------------------------------------

หมายเหตุ ข้อสังเกตประเด็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา


(๑) กรณีดังกล่าวไม่ใช้กับคดีแพ่งทั่วไป ใช้กับคดีแพ่งที่มีมูลฐานความผิดเดียวกับคดีอาญา


(๒) คดีอาญาต้องถึงที่สุด หากยังไม่ถึงที่สุดยังไม่ผูกพัน


(๓) ผู้ที่จะถูกผูกพันต้องเป็นคู่ความหรือผู้ที่ถือเป็นคู่ความ (อัยการ) ในคดีอาญา

แต่สำหรับผู้ที่ไม่เคยเป็นคู่ความในคดีอาญา ต้องเปิดโอกาสให้พิสูจน์ข้อเท็จจริง เพราะเขาไม่เคยมีโอกาสต่อสู้ต้องให้ความเป็นธรรม เช่น ศาลส่วนคดีอาญารับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า นาย กิตติ ขับรถยนต์ชนผู้อื่นโดยประมาท ดังนี้ ศาลในส่วนคดีแพ่งต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามนั้น แต่ในคดีแพ่งโจทก์ได้ฟ้องนายหมอดี นายจ้างของนายกิตติเข้ามาร่วมรับผิดด้วย ดังนี้ นายจ้างสามารถนำข้อเท็จจริงเข้ามาสืบเพิ่มเติมนอกเหนือจากประเด็นที่ศาลส่วนอาญาฟังข้อเท็จจริงว่านายกิตติประมาทเลินเล่อได้


(๔) ถ้าเป็นข้อเท็จจริงอื่นที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงในคดีโดยตรง

เช่น ศาลในคดีอาญาฟังว่าจำเลยขับรถยนต์ชนโจทก์โดยประมาท แต่โจทก์เอกก็มีส่วนประมาทไม่น้อย จึงลงโทษจำเลยสถานเบา จำคุก ๑ เดือนและปรับ ๒,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา

กรณีดังกล่าว ในทางแพ่งต้องฟังเป็นยุติว่าจำเลยประมาทเลินเล่อทำให้ผู้อื่นเสียหายเป็นละเมิด

กรณีที่ว่า โจทก์มีส่วนประมาทไม่น้อยที่ปรากฎนั้น เป็นเพียงเหตุผลของศาลที่นำมาใช้ประกอบการกำหนดโทษทางอาญาเท่านั้น ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่เป็นประเด็นโดยตรง จำเลยย่อมสามารถนำเอาประเด็นดังกล่าวมาให้การต่อสู้ในคดีแพ่งได้ และศาลต้องยอมให้คู่ความนำพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์ได้ และในการพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องรับฟังตามข้อเท็จจริงใหม่ประกอบด้วย


-------------------------------------

กิตติบดี




ไม่มีความคิดเห็น:

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...