วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สรุปการบรรยายละเมิด (๕) เรื่อง ความรับผิดทางสัญญาที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดทางละเมิด

ความรับผิดทางสัญญากับความรับผิดทางละเมิด หรือ concurrent liability 

จากที่บรรยายไปในคราวที่แล้วว่า สัญญากับละเมิดเป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ที่เป็นเหตุให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ คราวนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ 

"ลูกหนี้ผิดนัดไม่ปฏิบัติตามสัญญา และปรากฎความเสียหายมากกว่าที่กำหนดไว้ตามสัญญา เจ้าหนี้สามารถฟ้องลูกหนี้ในมูลคดีละเมิดได้หรือไม่"

ในทางสัญญานั้น หากเกิดความเสียหายที่เป็นผลมาจากการไม่ชำระหนี้ผิดสัญญา ตามมาตรา ๒๒๒ กำหนดให้เจ้าหนี้เรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ รวมตลอดถึงเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากคู่กรณีได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว 

คราวนี้ เมื่อลูกหนี้ผิดนัดผิดสัญญา แต่เจ้าหนี้ต้องการเรียกค่าเสียหายเพิ่มขึ้นนอกจากค่าเสียหายที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าตามมาตรา ๒๒๒ อย่างนี้ เจ้าหน้ีสามารถเลือกฟ้องเป็นคดีละเมิดได้หรือไม่
 
ศ.จิ๊ด เศรษฐบุตร อธิบายไว้ว่า เมื่อคู่สัญญามีนิติสัมพันธ์กันมาก่อน ย่อมไม่มีสิทธิเลือกฟ้องในมูลละเมิดได้ เนื่องจากเจตนาของคู่สัญญาเป็นสิ่งสำคัญ  (การบิดเบือน หลอกลวงตามสัญญาก่อให้เกิดความเสียหายควรอาศัยหลักสัญญามิใช่ละเมิด) 

ตรงนี้ขอให้นักศึกษาศึกษาจากคำพิพากษาดังต่อไปนี้

คำพิพากษาฎีกา ๔๗/๒๔๙๒ (มูลฟ้องสัญญาให้ฟ้องสัญญามิใช่ละเมิด)
จำเลยที่ ๑ เป็นเทศบาลได้รับสัมปทานจากรัฐบาลให้ตั้งโรงไฟฟ้ามีหน้าที่จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลผู้ร้องขอใช้ไฟฟ้าภายในเขตสัมปทาน โจทก์เป็นราษฎรฟ้องหาว่าจำเลยทำผิดข้อสัญญากับโจทก์ในการจำหน่ายกระแสไฟ มิได้ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามข้อกำหนดในสัมปทานประกอบกับบทบัญญัติมาตรา ๓๗๔ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉะนั้นปัญหาที่ว่าโจทก์จะได้สิทธิตามสัมปทานโดยอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๔ นี้หรือไม่ จึงไม่เกิดขึ้น

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามสัมปทาน จำเลยที่ ๑ มีหน้าที่ต้องจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลผู้ร้องขอใช้ไฟฟ้าในเขตสัมปทาน แต่โจทก์มิได้ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามข้อกำหนดในสัมปทานนี้ ประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๔ ปัญหาที่ว่าโจทก์จะมีสิทธิตามมาตรา ๓๗๔ นี้หรือไม่ จึงไม่เกิดขึ้น โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ ๑ เรียกเก็บอัตราค่ากระแสไฟฟ้าเกินกว่าที่กำหนดไว้ในสัมปทาน เมื่อโจทก์ไม่ชำระจำเลยก็ตัดสายไฟ จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยต่อสายไฟและจ่ายกระแสไฟให้โจทก์ต่อไป สัญญาซื้อกระแสไฟฟ้านี้ โจทก์ทำกับจำเลยที่ ๑ ไม่ปรากฏว่ามีระยะเวลาอาจจะมีการเลิกกันเมื่อใดก็ได้สภาพจึงไม่เปิดช่องทางให้บังคับจำเลยตามที่โจทก์ขอได้ในข้อให้เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าหน่วยละ ๓๐ สตางค์ จึงบังคับให้ไม่ได้ เพราะตามสัมปทานจำเลยที่ ๑ ยังอาจขึ้นค่ากระแสไฟได้ เมื่อได้รับอนุญาต

          การที่จำเลยตัดสายไฟและงดจ่ายกระแสไฟนั้น เป็นการกระทำต่อทรัพย์สินที่เป็นของจำเลยเอง ส่วนที่เป็นผลให้โจทก์ไม่ได้ใช้ไฟฟ้าหากจะเป็นมูลให้ฟ้อง ก็แต่ในเรื่องผิดสัญญา หาใช่ละเมิดไม่แต่ตามคำพรรณาฟ้องของโจทก์ โจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญานี้จากจำเลยที่ ๑ เป็นแต่เรียกจากจำเลยอื่น ๆ ซึ่งเป็นคนงานและตัวแทนของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ต่างหากที่เป็นคู่สัญญากับโจทก์และจะต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ในกรณีผิดสัญญา เมื่อโจทก์ไม่ได้เรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๑ ก็ไม่มีทางให้ค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๑ ก็ไม่มีทางให้ค่าเสียหายแก่โจทก์

          เรื่องน้ำประปานั้น พระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุขของสาธารณชน พ.ศ. ๒๔๗๑ และที่แก้ไขโดยฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๘๕ ห้ามไม่ให้บุคคลใดประกอบการ นอกจากได้รับอนุญาตจากรัฐบาล หรือได้รับสัมปทานแล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับสัมปทาน การที่โจทก์ขอให้ศาลบังคับให้ห้ามจำเลยมิให้เรียกเก็บค่าน้ำประปานั้น ศาลจะบังคับให้ไม่ได้ เพราะเป็นการรับรองให้โจทก์ได้รับผลจากการกระทำ อันไม่ถูกต้องกับกฎหมาย


คำพิพากษาฎีกา ๒๕/๒๕๒๓ (ฟ้องผิดสัญญามิใช่ฟ้องละเมิด)

โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยตั้งศูนย์ถ่วงล้อรถยนต์ จำเลยทำงานไม่เรียบร้อยเป็นเหตุให้พวงมาลัยไม่สามารถบังคับล้อรถได้ รถโจทก์จึงไปชนรถคันอื่นเสียหาย เป็นกรณีการชำรุดบกพร่องอันเกิดจากสัญญาจ้างทำของ โจทก์ต้องฟ้องจำเลยผู้รับจ้างเสียภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่การชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๐๑ 


คำพิพากษาฎีกา ๗๖/๒๔๙๖ (ข้อเท็จจริงคดีนี้ผู้ขายไม่ได้ดำเนินการทางทะเบียน ทั้งที่รู้ว่าจะทำให้ผู้ซื้อเสียหาย ก็เป็นผิดสัญญามิใช่มูลละเมิด)

       คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยจัดการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่โจทก์โดยถูกต้อง เพื่อโจทก์จะได้จดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ยานพาหนะได้ และให้ใช้ค่าเสียหาย

          จำเลยต่อสู้ว่า เจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับจดทะเบียนให้ เป็นความผิดของโจทก์เอง จำเลยไม่ต้องรับผิด ฯลฯ

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยจัดการในการโอนกรรมสิทธิ์หรือทะเบียนรถพิพาท ๒ คันให้โจทก์เพื่อโจทก์จะนำออกใช้ได้ ฯลฯ

          จำเลยฎีกา

         ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ตามสัญญาข้อ ๒ ก. จำเลยมีหน้าที่จะต้องส่งมอบรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า ซึ่งมีเครื่องเรียบร้อยอยู่ในสภาพที่จะใช้เดินได้ ฯลฯ จึงเป็นที่เห็นได้ว่า เป็นสัญญาส่งมอบรถยนต์ในฐานะเป็นรถยนต์ ไม่ใช่เศษเหล็ก และเป็นที่เข้าใจกันได้ต่อไปด้วยว่า จำเลยจะต้องส่งมอบให้โจทก์ให้ได้ผลใช้รถยนต์นั้นได้ ซึ่งหมายความว่า จำเลยจะกระทำตามที่จำเป็น เพื่อให้โจทก์ได้จดทะเบียนรถนั้น เพราะถ้าไม่ได้จดทะเบียน โจทก์ก็ใช้รถนั้นไม่ได้ (พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. ๒๔๗๓ มาตรา ๕) เป็นความจริงที่การจดทะเบียนไม่ใช่เป็นหลักฐานแห่งกรรมสิทธิ์ดังเช่นโฉนดแผนที่ และการโอนกรรมสิทธิ์ในรถ ไม่ได้อยู่ที่การจดทะเบียน แต่ถึงกระนั้นการจดทะเบียนก็เป็นการจำเป็นแก่การที่จะใช้รถนั้นดังกล่าวแล้ว ฯลฯ

          จึงพิพากษาแก้เป็นให้ จำเลยรับรองต่อกองทะเบียนรถยนต์กรมตำรวจว่า ได้โอนกรรมสิทธิ์รายพิพาทให้แก่โจทก์ไปแล้ว เพื่อเจ้าพนักงานจะได้รับจดทะเบียนรถรายพิพาทให้โจทก์ ฯลฯ


คำพิพากษาทั้งสามยืนยันหลักว่า เมื่อเริ่มต้นเป็นสัญญาก็ต้องบังคับตามหลักสัญญา เทียบเคียงกับคำพิพากษาในคดีต่างประเทศ จำเลยเป็นขายรถยนต์ใช้แล้วและปลอมไมล์บอกระยะทางให้ต่ำกว่าความจริง (หลอกลวง) ถือว่าผิดสัญญามิใช่ละเมิด


แต่ก็มีฝ่ายที่เห็นสนับสนุนให้เจ้าหนี้/ผู้เสียหายมีสิทธิเลือกฟ้องในมูลละเมิดได้ โดยอาศัยเหตุผลต่าง ๆ ดังนี้

(๑) เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหาย เพราะการเยียวยาความเสียหายเป็นรากฐานแห่งความเป็นธรรม

(๒) เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นกับสิทธิเด็ดขาด สิทธิทางสัญญาไม่อาจมาจำกัดสิทธิเด็ดขาดได้


ขอให้พิจารณาจากคำพิพากษา ดังต่อไปนี้ 


คำพิพากษาฎีกา ๙๗๔/๒๔๙๒

   โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินจำเลยไป ๑,๑๔๐ บาท ดังปรากฏตามสัญญากู้ จำเลยเอาโฉนดปลอมมาให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน จนถึงกับฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญา ศาลพิพากษาจำคุกจำเลย และให้ใช้เงิน ๑,๑๔๐ บาทแก่โจทก์ จำเลยได้นำเงิน ๑,๑๔๐ บาทไปชำระต่อกองหมายแล้วแต่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระดอกเบี้ยกับค่าธรรมเนียมและค่าเสียหายอย่างอื่น โดยศาลมิได้แจ้งไว้ในหมายบังคับคดี จึงขอให้บังคับจำเลยชำระดอกเบี้ยกับค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์ฟ้องแล้ว จะมาฟ้องอีกไม่ได้ และโจทก์จะเอาสัญญาที่ตนบอกล้างตกเป็นโมฆะแล้วมาฟ้องไม่ได้ คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว ต่อมาโจทก์แถลงไม่ติดใจเรียกร้องค่าทนาย ๒๕๐ บาทต่อไป ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินให้โจทก์ตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ฟ้องทางลักษณะสัญญา โดยอ้างสัญญากู้ที่ตกเป็นโมฆะแล้ว พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

          โจทก์ฎีกา

          ศาลฎีกาเห็นว่า ในทางแพ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าการฟ้องคดีที่เป็นทั้งละเมิดและผิดสัญญานั้น โจทก์จะเลือกเอาทางใดทางหนึ่งจทก์จะฟ้องโดยบรรยายข้อเท็จจริงแล้วขอค่าเสียหายมาเฉย ๆ ก็ได้ศาลมีหน้าที่ต้องเอาตัวบทกฎหมายมาปรับแก่คดีนั้น ว่าตามที่โจทก์ฟ้องนั้นมีกฎหมายให้โจทก์ได้ค่าเสียหายตามขอหรือไม่ จะมีปัญหาก็แต่ว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ อันต้องห้ามตามมาตรา ๑๔๘ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรืออย่างไร ศาลฎีกาเห็นว่าไม่เป็นฟ้องซ้ำ เพราะคดีก่อนอัยการ โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาและขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๑,๑๔๐ บาท ให้แก่โจทก์ผู้เป็นผู้เสียหายตามอำนาจที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๓ ให้ไว้ และโจทก์ได้ขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการ โจทก์ยังไม่ได้เรียกค่าเสียหาย จึงจะฟ้องคดีนี้ได้ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์จะหวนกลับมาอ้างทางสัญญากู้อันตกเป็นโมฆะแล้วอีกไม่ได้นั้นโจทก์ได้บรรยายฟ้องตามข้อเท็จจริงในท้องเรื่องตลอดมา แม้ในตอนท้ายโจทก์จะขอดอกเบี้ยตามสัญญา แต่ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นแต่โจทก์อ้างมาตราฐานเพื่อขอให้ศาลคิดค่าเสียหายให้เพราะแม้สัญญาจะเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น อันจะอ้างไม่ได้แล้วหรือไม่ก็ตาม ให้โจทก์มีสิทธิได้ค่าเสียหาย ศาลจะให้ตามที่เคยกำหนดไว้ในสัญญา หรือจะให้เพียงใดนั้นเป็นเรื่องของศาล นอกจากนั้นโจทก์ยังฟ้องเรียกค่าธรรมเนียมที่ได้เสียไปในคดีก่อนด้วย ซึ่งจะว่าฟ้องโดยอ้างสัญญาไม่ได้แต่ศาลอุทธรณ์ยังหาได้วินิจฉัยคดีทุกประเด็นไม่


อธิบาย // ตามคำพิพากษานี้ ซึ่งผมขอคัดบางตอนที่เน้นไว้

(๑) ในทางแพ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าการฟ้องคดีที่เป็นทั้งละเมิดและผิดสัญญานั้น โจทก์จะเลือกเอาทางใดทางหนึ่ง

(๒) โจทก์จะฟ้องโดยบรรยายข้อเท็จจริงแล้วขอค่าเสียหายมาเฉย ๆ ก็ได้ศาลมีหน้าที่ต้องเอาตัวบทกฎหมายมาปรับแก่คดีนั้น และ

(๓) โจทก์ได้บรรยายฟ้องตามข้อเท็จจริงในท้องเรื่องตลอดมา แม้ในตอนท้ายโจทก์จะขอดอกเบี้ยตามสัญญา แต่ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นแต่โจทก์อ้างมาตราฐานเพื่อขอให้ศาลคิดค่าเสียหายให้เพราะแม้สัญญาจะเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น อันจะอ้างไม่ได้แล้วหรือไม่ก็ตาม ให้โจทก์มีสิทธิได้ค่าเสียหาย ศาลจะให้ตามที่เคยกำหนดไว้ในสัญญา หรือจะให้เพียงใดนั้นเป็นเรื่องของศาล

แสดงให้เห็นว่า 

---ศาลยอมรับให้คู่สัญญาสามารถฟ้องในมูลละเมิดได้

---การบรรยายฟ้องให้บรรยายทั้งมูลสัญญาและมูลละเมิด โดยศาลจะเป็นผู้ปรับใช้เอง


คำพิพากษาฎีกา ๘๖๕/๒๔๙๖ (มูลสัญญาคาบเกี่ยวกับมูลแห่งละเมิด)

         โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ นำรถจิ๊ปมาขายฝากไว้กับโจทก์สัญญาไถ่คืนภายใน ๑ เดือน ครั้นครบกำหนดไม่ไถ่ โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ ในระหว่างการขายฝาก จำเลยที่ ๑ ได้ขอยืมรถที่ขายฝากไปใช้ กำหนดส่งคืนภายใน ๓ วัน ครั้นครบกำหนด ไม่คืน ต่อมาจำเลยที่ ๒ นำรถไปใช้ต่างจังหวัด ทำให้รถเสียหายเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ จึงขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้ง ๒ ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ๗,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ฯลฯ

          โจทก์และจำเลยที่ ๒ อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในข้อที่ให้จำเลยทั้ง ๒ รับผิด แต่แก้ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ๙,๐๐๐ บาท กับดอกเบี้ย

          โจทก์และจำเลยที่ ๒ ฎีกา

       ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว คดีได้ความตามฟ้องโจทก์เห็นว่าตามสัญญาและการปฏิบัติระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เป็นการขายฝากตามกฎหมาย และการที่จำเลยที่ ๒ เอารถยนต์ที่ขายฝากไว้ไปใช้จนเกิดการเสียหายนั้น จำเลยที่ ๒ ไม่พ้นจากความรับผิดต่อโจทก์เพราะเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ การที่จำเลยไม่รู้ว่ามีการขายฝากไม่เป็นข้อแก้ตัวได้ ฯลฯ


คำพิพากษาฎีกา ๓๘๑๔/๒๕๒๕

    โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ รับขนส่งโจทก์ผู้โดยสารจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๑ ยกสิ่งของของโจทก์ให้แก่ผู้โดยสารอื่นไปโดยปราศจากความระมัดระวังทำให้โจทก์เสียหาย เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ด้วย จำเลยจึงอาจต้องรับผิดทั้งในด้านสัญญาและละเมิดพร้อม ๆ กัน ซึ่งโจทก์มีสิทธิจะฟ้องอย่างไรก็ได้ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิดจึงไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย

 โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่าโจทก์โดยสารรถยนต์ของจำเลยที่ ๑ จากขอนแก่นเข้ากรุงเทพมหานครโดยมีกระเป๋าเดินทาง ๑ ใบและกล่องบรรจุผ้าถุงไหมมัดหมี่ ๓ กล่องมาด้วย ขณะรถยนต์นั้นหยุดให้ผู้โดยสารระหว่างทาง จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ได้ยกกล่องซึ่งบรรจุผ้าถุงไหมมัดหมี่ของโจทก์ ๑ กล่องมอบให้แก่ผู้โดยสารอื่นไปโดยความประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๒ คิดเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๖,๕๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย

          จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ฟ้องและตั้งรูปคดีว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่ได้ประมาทเลินเล่อ กระทำหรืองดเว้นในการที่จักต้องกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายหรือละเว้นไม่กระทำในสิ่งที่กฎหมายบัญญัติให้กระทำ จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในเรื่องละเมิด หากจำเลยที่ ๑ จะต้องรับผิดก็เป็นลักษณะของสัญญารับขนคนโดยสาร ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และต่อสู้ในเรื่องอื่น ๆ อีกหลายประการ ขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์

          จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

        จำเลยที่ ๑ ฎีกา ในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ ๑ รับผิดฐานละเมิด แต่กรณีเป็นเรื่องพิพาทกันด้วยมูลสัญญารับขน ซึ่งโจทก์ต้องนำคดีมาฟ้องในลักษณะนี้จะนำกฎหมายลักษณะละเมิดมาปรับแก่คดีไม่ได้ จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดในมูลละเมิด

        ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำผิดกฎหมาย นเรื่องละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ นั้น หมายความว่าเป็นการกระทำล่วงสิทธิของผู้อื่นที่กฎหมายกำหนดไว้ อันมีแก่บุคคลทั่วไปจะเป็นใครก็ได้ ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องคดีนี้ไว้ชัดว่าจำเลยที่ ๒ ได้ยกกล่องผ้าไหมมัดหมี่ของโจทก์ให้แก่ผู้อื่นไปโดยปราศจากความระมัดระวัง จึงเป็นการกระทำล่วงสิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินซึ่งไม่ว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำก็เป็นละเมิด แม้คดีนี้โจทก์และจำเลยจะสมัครใจเข้าผูกพันกันโดยสัญญารับขน แต่เมื่อการที่จำเลยผิดสัญญานั้นเป็นเรื่องที่จำเลยมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกับละเมิดอยู่ด้วย จึงอาจฟ้องรับผิดทั้งในด้านสัญญาและละเมิดพร้อม ๆ กัน และโจทก์มีสิทธิจะฟ้องอย่างไรก็ได้ไม่เป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งยอมรับบังคับให้ผู้กระทำผิดสัญญาหรือละเมิดต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายได้ทั้งในทางผิดสัญญาหรือละเมิดที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น  พิพากษายืน


---คำพิพากษาข้างต้น ศาลพิจารณาว่า  เมื่อการปฏิบัติตามสัญญาหรือไม่ปฏิบัติตามสัญญา และมีผลเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิเด็ดขาด ก็สามารถฟ้องละเมิดได้ไม่ต้องระบุในการบรรยายฟ้องว่าเป็นสัญญาหรือละเมิด ศาลจะปรับเองเมื่อเข้าองค์ประกอบความรับผิดเพื่อละเมิด--- 


คราวนี้มาดูคำพิพากษาต่อว่าศาลได้ยืนยันถึงบทบาทของศาลในการทำหน้าที่ปรับบทเองว่าเป็นสัญญาหรือละเมิด โดยให้โจทก์-จำเลยนำสืบถึงข้อเท็จจริง 


คำพิพากษาฎีกา ๔๖๖๔/๒๕๓๓ 

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. เป็นผู้เช่าอาคารของ จ. แล้วให้จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ หุ้นส่วนผู้จัดการเช่าช่วงเพื่อทำโรงแรมเมื่อ จ. ถึงแก่กรรม การที่จำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้จัดการมรดกของจ. ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่ากับห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ย่อมเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายที่ จ. ผู้ให้เช่าและห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.ผู้เช่ามีนิติสัมพันธ์ต่อกันตามสัญญาเช่าอาคาร และการที่จำเลยที่ ๓ จะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหรือไม่ ก็เป็นมูลกรณีจากการที่คู่กรณีในสัญญาจะปฏิบัติการชำระหนี้ต่อกันตามข้อสัญญา ส่วนการที่จำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ ๓ ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ก็ต้องถือว่าเป็นการใช้สิทธิของจำเลยที่ ๓ ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๓ โดยจำเลยที่ ๔ ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญากับห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. จึงไม่เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตหรือจงใจกระทำการฉ้อโกงอันเป็นการกระทำละเมิดต่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะได้บรรยายถ้อยคำเป็นทำนองว่า จำเลยทั้งสี่ไม่สุจริต การกระทำฉ้อโกงโจทก์อันเป็นละเมิด แต่ฟ้องโจทก์ในตอนต้นก็บรรยายถึงนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยและบุคคลที่เกี่ยวข้องตามสัญญาเช่าและสัญญาต่างตอบแทนนั้นไว้โดยละเอียดแล้วและตามคำขอท้ายฟ้อง โจทก์ก็ขอให้จำเลยชำระเงินค่าตอบแทนการก่อสร้างให้โจทก์ตามสัญญาด้วย เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องมาเช่นนี้ ศาลก็มีหน้าที่ต้องปรับใช้กฎหมายเรื่องผิดสัญญาหรือละเมิดให้ตรงตามข้อเท็จจริงที่นำสืบกันมา การนำสืบข้อเท็จจริงของโจทก์จึงไม่ต่างกับฟ้อง จำเลยที่ ๒ ฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การจึงไม่มีประเด็นที่ศาลฎีกาจะรับวินิจฉัยให้ ส. ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดีกระทรวงยุติธรรม และมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดี เป็นผู้ชำระบัญชีย่อมมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีเกี่ยวกับการชำระบัญชีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๕๙​(๑)​ และแม้คำฟ้องของโจทก์จะมีคำว่า ผู้อำนวยการกองพิทักษ์ทรัพย์ต่อท้ายชื่อของ ส.ก็ไม่ได้หมายความว่า เป็นการฟ้องคดีในนามของผู้อำนวยการกองพิทักษ์ทรัพย์ คำว่า "เจ้าพนักงานบังคับคดี" หมายความว่า เจ้าพนักงานที่ทำหน้าที่บังคับคดีซึ่งสังกัดอยู่ในกรมบังคับคดี มิได้มีความหมายจำกัดเฉพาะอธิบดีกรมบังคับคดี หรือผู้ที่อธิบดีกรมบังคับคดีมอบหมายเท่านั้น ดังนั้นเมื่อปรากฏว่ากองพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นส่วนราชการในกรมบังคับคดีมีหน้าที่เป็นผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้อำนวยการกองพิทักษ์ทรัพย์ย่อมเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งด้วย


คำพิพากษาฎีกา ๕๙๐๗/๒๕๓๓  ---ข้อเท็จจริงคดีนี้ ศาลเลือกอาศัยอายุความตามมูลสัญญา เพื่อรักษาประโยชน์และให้ความเป็นธรรมกับผู้ต้องเสียหาย---

        โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี ๒๕๐๙ จำเลยยอมตนเข้าค้ำประกันการทำงานของนายเล็ก หากนายเล็กทำความเสียหายต่อโจทก์ในระหว่างทำงานจำเลยยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ในปี ๒๕๒๐ นายเล็กได้ทำความเสียหายเป็นเงิน ๑๗,๙๘๖.๓๗ บาท จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉยขอให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

          จำเลยให้การว่า การกระทำของนายเล็กเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ต้องฟ้องจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันภายในอายุความ ๑ ปีนับแต่นายเล็กออกจากงาน ปี ๒๕๒๐ คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องโจทก์

          ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๑๗,๙๘๖.๓๗ บาทพร้อมดอกเบี้ย

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          จำเลยฎีกา

       ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยกับนายสมรวยร่วมกันทำสัญญาค้ำประกันในการที่นายเล็กเข้าทำงานเป็นพนักงานของโจทก์ ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.๒ ปัจจุบันนายสมรวยถึงแก่กรรมแล้ว เมื่อปี ๒๕๑๙ ติดต่อกันมาถึงต้นปี ๒๕๒๐ นายเล็กได้ทุจริตต่อหน้าที่ โดยต่อกระแสไฟตรงและสับเปลี่ยนมาตราวัดไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้าโดยพลการ เรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ไฟฟ้าแล้วนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว จดหน่วยการใช้กระแสไฟฟ้าไม่ตรงต่อความเป็นจริงรับจ่ายเครื่องมือไปใช้แล้วไม่ส่ง ทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระค่าไฟฟ้าและเสียหายรวมเป็นเงิน ๑๗,๙๘๖.๓๗ บาท นายเล็กยอมรับสารภาพ โจทก์ได้ไล่นายเล็กออกจากงานตั้งแต่วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๒๐ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๓ ถึง จ.๑๙ โจทก์ไม่ได้ฟ้องนายเล็กเป็นคดีอาญาหรือคดีแพ่ง

         จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ทราบว่านายเล็กกระทำความผิดตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ ติดต่อกันมาถึงต้นปี ๒๕๒๐ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๘ มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยายการกระทำของนายเล็กว่าทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายทั้งโดยการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและไม่ชอบด้วยระเบียบปฏิบัติของโจทก์ ซึ่งในกรณีเช่นนี้โจทก์ในฐานะนายจ้างมีสิทธิที่จะเลือกฟ้องนายเล็กผู้เป็นลูกจ้างให้รับผิดต่อโจทก์ได้ทั้งตามสัญญาจ้างแรงงานและในมูลละเมิด สำหรับสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานนั้นกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้เป็นพิเศษ จึงต้องใช้อายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔ และตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ จึงต้องใช้อายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔


คดีต่อไปนี้ทำนองเดียวกัับคดีข้างต้น คำพิพากษาฎีกา ๖๙๙/๒๕๓๗

        โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ให้เป็นผู้ช่วยผู้จัดการร้านโจทก์ โดยมีจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันความเสียหายอันเกิดจากการทำงานของจำเลยที่ ๑ ต่อโจทก์ ระหว่างสัญญาจำเลยที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้สินค้าขาดบัญชีและลูกหนี้การค้าทั่วไปคลาดเคลื่อนรวมเป็นเงิน ๓๗๑,๕๑๙.๘๑ บาทและจำเลยที่ ๑ ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ยินยอมชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๔๑๐,๙๙๓.๗๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๓๗๑,๕๑๙.๘๑ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับสินค้าขาดบัญชีเพราะไม่อยู่ในหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ส่วนลูกหนี้การค้าทั่วไปคลาดเคลื่อนไม่เกิน ๙๐,๐๐๐ บาท ซึ่งจำเลยที่ ๑ได้ชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้นแล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดตามหนังสือรับใช้หนี้เพราะจำเลยที่ ๑ เพียงแต่ลงลายมือชื่อไว้เท่านั้นส่วนข้อความโจทก์พิมพ์ขึ้นเอง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

          จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ไม่เคยค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ ๑ ต่อโจทก์ ลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันมิใช่ลายมือชื่อจำเลยที่ ๒ คดีโจทก์ขาดอายุความละเมิด ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน ๔๑๐,๙๙๓.๗๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีจากต้นเงิน ๓๗๑,๕๑๙.๘๑ บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยที่ 1จะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

          จำเลยที่ ๑ ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ให้รับผิดในมูลละเมิด โจทก์ทราบถึงเหตุละเมิดเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๘ แต่โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘  ทั้งโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๘ โจทก์ก็ต้องฟ้องร้องภายใน ๑ ปี นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๘๑ วรรคสอง (เดิม) ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความเช่นกัน เห็นว่าโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ ๑ ให้เป็นผู้ช่วยผู้จัดการร้านโจทก์ตามสัญญาจ้างท้ายฟ้อง เอกสารหมายเลข ๕ ตามสัญญาดังกล่าวข้อ ๓ ๔ และ ๕ จำเลยที่ ๑ จะต้องปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งของโจทก์หรือบุคคลที่โจทก์มอบหมายหากจำเลยที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ด้วยประการใด ๆ จนเกิดความเสียหายขึ้นในภายหน้าแก่โจทก์ จำเลยที่ ๑ ยอมใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จนครบ และต่อมาในระหว่างสัญญาจ้างจำเลยที่ ๑ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบัญชีได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้สินค้าของโจทก์ขาดบัญชีและลูกหนี้การค้าทั่วไปคลาดเคลื่อน โจทก์ได้รับความเสียหายทั้งสองรายการรวมเป็นเงินจำนวน ๓๗๑,๕๑๙.๘๑บาท 

         เช่นนี้เห็นได้ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ให้รับผิดทั้งตามสัญญาจ้างแรงงานและในมูลละเมิด ที่โจทก์อ้างในฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ประมาทเลินเล่อนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่จำเลยที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่ผิดสัญญาจ้างแรงงาน และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ในกรณีเช่นนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้ทั้งสองทาง สำหรับสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องถืออายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔ (เดิม) ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวอันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๘​ จึงต้องเริ่มนับอายุความ ๑๐  ปี ใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าวตามมาตรา ๑๘๑ (เดิม)โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๙ คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ ได้ทำหนังสือรับใช้ตามเอกสารหมาย จ.๖ และ จ.๗ ให้โจทก์ด้วยความสมัครใจศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว


---นอกจากนี้ ขอให้นักศึกษาดูคำพิพากษาที่ ๘๓๖๓/๒๕๓๘ คดีที่บริษัทผู้รับสัมปทานป่าไม้ฟ้องกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ concurrent liability 


ฝากไว้เป็นตัวอย่างสุดท้าย คำพิพากษาฎีกา ๕๗๓๖/๒๕๔๔ 

 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงข้อเดียวว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิด จึงมีอายุความ ๑ ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๔๘  คดีนี้ถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๐ และวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๐ อันเป็นวันที่คำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตแต่ละฉบับสิ้นอายุ โจทก์ฟ้องคดีนี้ที่ศาลแพ่งธนบุรี เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๑ เกินกำหนด ๑ ปีจึงขาดอายุความ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ในฐานะผู้รับตราส่งฟ้องจำเลยในฐานะผู้ขนส่งให้รับผิด เนื่องจากจำเลยซึ่งมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ และตามสัญญารับขนของทางทะเลที่จะต้องนำสินค้าที่ตนเองรับขนไปส่งมอบให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งและรับเวนคืนใบตราส่ง แต่จำเลยไม่ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ กลับส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อโดยไม่ได้รับเวนคืนใบตราส่ง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญารับขนของทางทะเล แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะกล่าวอ้างมูลละเมิดมาด้วยแต่เมื่อฟังได้แล้วว่าจำเลยผิดสัญญารับขนของทางทะเลและโจทก์สามารถใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายอันเกิดจากมูลผิดสัญญาได้กรณีจึงไม่อาจนำอายุความ ๑ ปี ในเรื่องการเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตา ๔๔๘ มาใช้บังคับ ดังที่จำเลยอุทธรณ์ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความในมูลละเมิดหรือไม่นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น"


--------------------------------------


สรุป แนวคำพิพากษาของศาลที่เลือกและปรับใช้เองว่า ข้อเท็จจริงที่นำสืบเป็นเรื่องใด (สัญญา/ละเมิด) โดยจะพิจารณาจากความได้เปรียบเสียเปรียบแก่คู่กรณีฝ่ายที่เสียหายหรือได้รับความเดือดร้อนเป็นสำคัญ 


ดังนั้น ในประเด็น concurrent liability   ให้นักศึกษาลองพิจารณาว่าเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร


------------------------------------

กิตติบดี

2 ความคิดเห็น:

กิตติบดี กล่าวว่า...

มีคำพิพากษาเพิ่มเติมให้ศึกษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 400/2546



มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ตกลงซื้อโต๊ะนักเรียนพร้อมเก้าอี้เดี่ยวตามแบบกรมสามัญศึกษาจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งข้อ 1 มีข้อความว่า ผู้ซื้อตกลงซื้อและผู้ขายตกลงขายโต๊ะนักเรียนพร้อมเก้าอี้เดี่ยว ตามแบบกรมสามัญศึกษาจำนวน7,954 ชุด... เป็นราคารวมทั้งสิ้น 3,499,760 บาท และกำหนดเงื่อนไขการส่งมอบและการชำระราคาไว้ในรายละเอียดแนบท้ายสัญญา ข้อตกลงตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ส่งมอบโต๊ะนักเรียนพร้อมเก้าอี้ตามสัญญาแก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1ส่งมอบโต๊ะนักเรียนและเก้าอี้ชำรุดบกพร่อง จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายแต่คดีไม่มีประเด็นว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดฐานผิดสัญญาซื้อขายหรือไม่และการไม่ปฏิบัติตามสัญญาในกรณีดังกล่าวมิใช่เป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยผิดกฎหมายต่อบุคคลอื่น เป็นเหตุให้เขาเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 จำเลยที่ 2และที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

Unknown กล่าวว่า...

ขอบคุณนะครับที่หาฎีกาเปรียบเทียบมาให้ดู😀😀😀

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...