วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

โรงเรียนสอนกฎหมายภายใต้บริบทของสังคมไทย

หากจะกล่าวถึงสัญลักษณ์ในแวดวงกฎหมายหรือคนในกระบวนการยุติธรรมคงหนีไม่พ้นรูปตราชู หรือเทพีถือตราชู เพื่อจะสื่อสะท้อนถึงความเที่ยงธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย แต่เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบัน มโนคติที่สังคมมีต่อนักนิติศาสตร์ดู ราวจะถอยห่างจากอุดมคติเช่นว่านั้นออกไปทุกที ไม่ว่าการวิพากษ์เรื่องนิติบริกร (รับใช้ฝ่ายการเมือง) วิกฤติกระบวนการยุติธรรม หรือ ตุลาการภิวัฒน์ เป็นต้น ทำให้ชวนให้นึกถึงบทกวีที่ว่า

“ตราชูนี้ดูเที่ยง บ่มิเอียงจริงไหมฤา
ขวาซ้ายเท่ากันหรือ ฤ จะหย่อนอยู่ข้างไหน
เพ่งดูตราชูตั้ง ข้าฯนี้ยังไม่แน่ใจ
ที่เที่ยงนั้นเพียงใด ที่ว่าใช่แค่ไหนกัน”

นักนิติศาสตร์ มักถูกล้อเลียนด้วยรูปตราชั่งที่เอียง โดยมีทรัพย์สินเงินทองหรือกระบอกปืน (อำนาจ/อิทธิพล) เป็นตัวกำหนดมาตรฐานแห่งความเที่ยงธรรม ซึ่งเฉไฉออกจากหลักความยุติธรรม โดยตราชูจักเที่ยงตรงแม่นยำได้ ก็ต่อเมื่อนักกฎหมายตั้งมั่นอยู่บนสัจจะปราศจากอคติ (ผ้าคาดตา) และใช้กฎหมายอย่างมีคุณธรรม (เท้ายืนมั่นบนตำรา (หลักการ))

มีคุณธรรม บทหนึ่งที่มาจากหลักสุภาษิตภาษาลาตินว่า“Jus est ars boni et aequi”หมายความว่า กฎหมายคือศาสตร์ว่าด้วยคุณความดีและความยุติธรรม ให้นักกฎหมายทั้งหลายพึงต้องตระหนักเสมอว่า เราต้องไม่เลือกยืนอยู่ข้างกับความชั่วร้าย ถึงแม้บางยุคสมัยคนชั่ว หรือความ อยุติธรรมจะแผ่ขยายอิทธิพลครอบคลุมไปทั่วสังคม ให้ผู้คนแลเห็นเป็นดอกบัวก็ตาม นั่นอาจไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะบางเวลา (ยุคสมัย) กฎหมายอาจจะหลับได้ แต่พึงระลึกไว้เสมอว่า กฎหมายไม่เคยตาย “Dormiunt aliquando leges, nunquam moriuntur” อย่างแรกสุดนักกฎหมายต้องรักษาจุดยืนแห่งวิชาชีพและยึดมั่นต่อคุณธรรมให้ได้อย่างเคร่งครัดโดยปราศจากการต่อรองหรือสมานฉันท์แต่ประการใด

สังคมใดที่กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ มักพบว่าที่นั่นประชาชนจะมีความมั่นคงปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดี เหตุที่เป็นเช่นนั้นคงมิใช่ลำพังแต่ระบบกฎหมายดี หรือมีนักกฎหมายเก่งเท่านั้น ประการสำคัญที่สุด มโนสำนึกของนักกฎหมายต้องมีความเกรงใจต่อประชาชน และเคารพต่อจิตวิญญาณของชาติและบรรพบุรุษ ซึ่งนักกฎหมายส่วนใหญ่ได้ให้ความเคารพต่อหลักการและจรรยาบรรณวิชาชีพดังกล่าว โดยไม่ตะแบงเปลี่ยนหลักการให้เป็นหลักกู หรือตีความกฎหมายบิดผันจากความจริง เพราะบริบทสังคมที่เจริญนั้น ถือว่ากฎหมายหรือระบบกฎหมายเป็นเครื่องมือที่ทำให้สังคมมีความสงบสุขและเป็นธรรม ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย หรือการยึดมั่นต่อหลักการเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น หลักกฎหมายที่ว่า ถ้าไม่มีกฎหมายเอาผิด จะไม่มีการลงโทษ ถึงแม้ต่อมาจะมีการบัญญัติกฎหมายเอาผิด ก็มิอาจลงย้อนหลังได้ เพราะไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกลงโทษ ตามหลัก nullum crimen, nulla poena sine lege เป็นต้น แต่ทว่าสังคมใดที่มีนักกฎหมายอวดเก่ง หยิ่งผยองได้ปรับสถานะเป็นเจ้าคนนายคนโดยลืมปณิธานว่า ชีวิตข้าฯคือ การรับใช้ (my life is service) เสียแล้ว สังคมนั่นกฎหมายจะถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแสวงหาประโยชน์/ความชอบธรรมให้แก่ตนเอง และบริวาร พวกพ้อง โดยนักกฎหมายเหล่านั้นปราศจากสำนึกและไม่ให้เกียรติแก่ประชาชน

จะพัฒนา หรือปฏิรูประบบกฎหมายอย่างไร ? เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกเสมอในวงการนิติศาสตร์ของประเทศไทย ผู้เขียนยังจำได้ว่า ตั้งแต่เรียนกฎหมายอยู่ชั้นปีหนึ่งปีสอง ครูบาอาจารย์ก็พูดว่ากฎหมายบ้านเราต้อง ปรับ รื้อ เปลี่ยน สร้าง หรือปฏิรูปเสียใหม่ เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันผ่านมามากกว่าทศวรรษ บทสรุปยังคงอยู่ที่เดิมไม่เปลี่ยนแปลง จะอย่างไรก็สุดแท้แต่ เมื่อไล่สายหาผู้รับผิดชอบกฎหมายหรือนักกฎหมายมักตกเป็นจำเลยของสังคม (ผู้เขียนไม่เถียง) เมื่อเจาะลงไปทีละลำดับว่าเป็นที่ (๑) กฎหมายไม่ดี/ไม่มีประสิทธิภาพ (ล้าหลัง/ไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม) หรือ (๒) นักกฎหมายไม่ดี (การบังคับใช้/การร่างกฎหมาย/การตีความ) เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่า กฎหมายบ้านเรามีพัฒนาการแทบไม่แตกต่างกับประเทศที่เจริญในยุคโลกไร้พรมแดน และบุคลากรในวงการกฎหมายของเรามียอดฝีมือ ชั้นเทพมากมายจากหลายสำนักกฎหมายชั้นนำของโลก แต่บทสรุปที่ยุติตรงกันว่า เรามีนักกฎหมายที่มุ่งรับใช้ระบบมากกว่ายึดมั่นในอุดมการณ์

นั่นเป็นความท้าทาย ของ “สถาบันการศึกษา” ซึ่งทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตทางกฎหมาย ที่มิอาจปฏิเสธต่อความรับผิดชอบ ในการหามาตรการต่าง ๆ เพื่อขัดเกลาและหล่อหลอม “คน” ซึ่งเป็นอนาคตนักกฎหมายของชาติ ให้เป็นทั้ง “คนเก่ง”ควบคู่กับ “คนดี” ท่ามกลางกระแสของเยาวชน ที่หันมาเลือกเรียนนิติศาสตร์มากเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งนี้ เนื่องจากมีรายได้สูง (เหตุผลทางธุรกิจ) มากกว่าความยุติธรรม (เหตุผลทางอุดมการณ์)

โรงเรียนสอนกฎหมาย ของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จำเป็นต้องเร่งสร้างนักกฎหมายพันธุ์ใหม่ สายพันธุ์ที่มีหัวใจโน้มเข้าหาระบบคุณธรรมและเคารพต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชน โดยวางกุศโลบายให้นักศึกษามีโอกาสได้เรียนรู้ถึงปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจริง ได้มีโอกาสรับรู้ถึงปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ได้เห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ยังมีอยู่มาก และที่สำคัญต้องทำให้พวกเขารู้ว่า พวกเขาจักเป็นความหวังของประเทศที่จะนำไปสู่สังคมแห่งนิติรัฐ (สังคมที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายและนักนิติศาสตร์)

และจักเต้องป็นนักกฎหมายสายพันธุ์ใหม่ที่มีหัวใจเป็นนักยุติธรรม
กิตติบดี

ไม่มีความคิดเห็น:

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...