วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สรุปการบรรยาย เรื่อง แนวทางการพัฒนาระบบสถาบันการเงินในประเทศไทย

ห้อข้อการบรรยาย “แนวทางการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน กรณีศึกษาประเทศไทย”

ประเด็นศึกษา
๑. รูปแบบของการให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงิน ภายใต้กรอบแนวทางการเปิดเสรีภาคการเงิน (Financial Supermarket หรือ Universal Bank)
๒. แนวทางการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน


รายละเอียด
รูปแบบของการให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงิน ภายใต้กรอบแนวทางการเปิดเสรีภาคการเงิน (Financial Supermarket หรือ Universal Bank)[1]

ปัจจัยสำคัญ
๑) ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลก (การค้าเสรี) เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการประกอบธุรกรรมระหว่างประเทศ (เปิดตลาดการค้า) ซึ่งในที่นี้หมายความทั้งตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน (Trade = goods & services)
๒) การเปิดเสรีภาคการเงิน
นโยบายการเปิดเสรีภาคการเงินเป็นแนวทางหนึ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การเคลื่อนย้ายของปริมาณเงินตรา

ความเปลี่ยนแปลง
อาจกล่าวได้ว่า การประกอบธุรกิจสถาบันการเงินในยุคนี้ (โลกาภิวัตน์) อยู่ในห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลง การแข่งขัน อย่างต่อเนื่องและรุนแรง เพื่อรองรับปัจจัยข้างต้นดังกล่าว การก้าวเข้ามาลงทุนของสถาบันการเงินต่างประเทศที่มีปัจจัยเรื่อง “ทุน” มากกว่า จึงมีผลทำให้ธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนในเรื่องของ “ทุน” เช่นกัน โดยไล่เรียงตั้งแต่ การควบรวมกิจการ การขยายทุนในตลาดทุน (กิจการมหาชน)
กอปรกับ การสร้างมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ ที่จะเอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพหรือความสามารถในการแข่งขันของธพ.ไทย หรือการตรากฎหมายเพื่อปรับโครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงินในยุคเปิดเสรีนี้ เช่น กฎหมายธุรกิจสถาบันการเงิน กฎหมายว่าด้วยเงินตรา กฎหมายว่าด้วยสถาบันประกันเงินฝาก เป็นต้น ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานี้ ก็เพื่อทำให้สภาพของการแข่งขันเป็นไปอย่างเหมาะสม นำประโยชน์สู่ประชาชนผู้บริโภค และให้ระบบการเงินภายในประเทศมีเสถียรภาพต่อไป

แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยยอมรับแนวทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม คือ รับสภาพเรื่องการแข่งขัน แต่ก่อนที่จะเปิดการแข่งขันกับนักลงทุนต่างชาติ รัฐบาลจะต้องสร้างกลไกหรือเตรียมความพร้อมภายในประเทศก่อน

บทบาทของธพ.
๑. ในโลกยุคทุนข้ามรัฐนี้ ได้มีการอาศัยธพ.เป็นเสมือนทัพหน้า สำหรับนักลงทุนต่างชาติ การประกอบกิจการธพ.ต่างชาติ ก็เพื่อเอื้อต่อการลงทุนของนักลงทุนคนชาติของตน ซึ่งมีความเกี่ยวพันในเรื่องความเชื่อมั่น และการเคลื่อนย้ายเงินตรา
๒. รูปแบบและวิธีการทำธุรกิจการเงินการธนาคารได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่ธพ.ทำหน้าที่ ๒ ขา (ฝากเงิน และนำเงินไปใช้ประโยชน์ (สินเชื่อ)) โดยธพ.สามารถให้บริการทางการเงินอย่างครบวงจร ที่เรียกว่า Supermarket ทางการเงิน หรือ ธนาคารครบวงจร

เมื่อพิจารณาได้ดังนี้ รัฐฯ จึงจำเป็นต้องตรากฎหมายใหม่ขึ้น เพื่อให้
(๑) กิจการธนาคารพาณิชย์ ได้ขยายขอบเขตเพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕
(๒) มาตรฐานการกำกับสถาบันการเงินต้องมีความชัดเจน และไม่เลือกปฏิบัติ
(๓) การสร้างกลไกให้เกิดเสถียรภาพของสถาบันการเงิน (ระบบการตรวจสอบที่ดี และมีประสิทธิภาพมากขึ้น)

หมายเหตุ
[1] เปิดเสรี หมายถึง การเปิดตลาดให้นักลงทุนต่างประเทศได้มีโอกาสเข้ามาแข่งขันได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาแข่งขันได้อย่างอิสระตามอำเภอใจ โดยไม่มีเงื่อนไขแต่ประการใด.

กิตติบดี

ไม่มีความคิดเห็น:

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...