วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

กฎหมายสถาบันการเงิน : ถาม-ตอบ ตอนที่ ๒

กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน –-ตอนที่ ๒--

ข้อ ๑. อยากทราบว่านอกจากมีการควบคุม กำกับในเรื่องโครงสร้างแล้ว กฎหมายธุรกิจสถาบันการเงินยังให้ความสำคัญกับเรื่องใดอีกบ้าง

จากที่ทราบแล้วว่า กฎหมายธุรกิจสถาบันการเงินฯ ให้ความตระหนักถึงการคุ้มครองประชาชน (ผู้ฝากเงิน) และระบบเศรษฐกิจของประเทศ กฎหมายฉบับนี้ยังเอื้อต่อการสร้างเสถียรภาพให้แก่ธุรกิจสถาบันการเงินให้มีความเข้มแข็ง ทั้งนี้ เพื่อรองรับการแข่งขันเสรีทางการเงิน

ข้อ ๒. สืบเนื่องจากข้อ ๑ การเปิดเสรีทางการเงินคืออะไร

ด้วยนโยบายทางการค้าและการลงทุน ภายใต้กรอบกติกาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยองค์การการค้าโลกได้มีนโยบาย Free and fair trade และธุรกิจสถาบันการเงินถือว่าเป็นการค้าและการลงทุนประเภทหนึ่ง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (กลุ่มทุนต่างชาติ) ในธุรกิจดังกล่าว

ข้อ ๓. ประเทศไทยไม่ให้ความสำคัญต่อนโยบายเศรษฐกิจโลก หรือการเปิดเสรีทางการเงินดังกล่าวได้หรือไม่

นโยบายเศรษฐกิจโลก หรือการเปิดเสรีทางการเงิน นับเป็นมาตรฐานสากลที่บรรดาประเทศสมาชิกยึดเป็นกติกาโลก หากประเทศไทยไม่ให้ความสำคัญอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับบรรดาประเทศสมาชิกดังกล่าว ซึ่งโดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจอาจทำให้ประเทศได้รับผลกระทบในเรื่อง “ตลาดทางการค้า” “ประเทศคู่ค้า” หรือภาคต่างประเทศ

ข้อ ๔. แต่สามารถคาดการณ์ได้ว่า หากมีการเปิดเสรีทางการเงิน ธุรกิจสถาบันการเงินจะได้รับผลกระทบ

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาและปฏิรูประบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเข้มแข็งต่อไป ดังนี้ จึงเป็นที่มาของการตรากฎหมายธุรกิจสถาบันการเงินฉบับนี้ขึ้น


ข้อ ๕. แล้วอะไรเป็นปัจจัยสำคัญให้ธุรกิจสถาบันการเงิน สามารถที่จะแข่งขันได้

๑. ต้องทำให้สถาบันการเงินมีความน่าเชื่อถือ
๒. ต้องมีการดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำในอัตราที่เหมาะสม
ความหมายของคำว่า “เหมาะสม” พิจารณาได้ ๓ มิติ กล่าวคือ
๑. มิติที่เพียงพอต่อการประกันเงินฝากของประชาชน (คุ้มครองประชาชนผู้บริโภค)
๒. มิติที่เอื้อประโยชน์ต่อการนักลงทุน (พัฒนาระบบเศรษฐกิจ)
๓. มิติที่เอื้อต่อการขยายธุรกรรมทางการเงิน (พัฒนาระบบเศรษฐกิจ)

ข้อ ๖. มีมาตรการใดที่จะทำให้สถาบันการเงินมีความน่าเชื่อถือ

ต้องอาศัยมาตรการทางกฎหมายเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลให้การดำเนินงาน/บริหารงานของสถาบันการเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะให้คำนึงเป็นอย่างยิ่งว่า “เงินที่นำมาใช้ดำเนินงานเป็นเงินของประชาชน” มิใช่ “เงินของธุรกิจตน”
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดมาตรฐานทางวิชาชีพขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งยวดในการดำเนินการ


ข้อ ๗. ทำไมต้องมีมาตรการบังคับเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำ

เป็นที่ทราบกันดีว่า ธุรกิจสถาบันการเงินมีความสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ จนมีคำกล่าวว่า “ธนาคารเป็นการประกอบธุรกิจที่ล้มไม่ได้” ซึ่งจำเดิมแต่อดีตนั้น เมื่อเกิดวิกฤติการณ์ทางการเงิน รัฐบาลจะเข้าไปแก้ไขและยื่นมือเข้าช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่ด้วยนโยบายสากลกำหนดให้รัฐบาลทำหน้าที่เพียงผู้รักษากติกามิใช่ผู้เล่น ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้โดยตรง เพราะจะไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบธุรกิจอื่น แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องระมัดระวังไม่ให้ธนาคารล้ม หรือเกิดวิกฤติศรัทธาต่อระบบสถาบันการเงินภายในประเทศ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องสร้างมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันหรือรองรับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น

ข้อ ๘. การดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำจะช่วยได้หรือ

อย่างน้อยสุดเชื่อว่า การที่มีการกันเงินสำรองย่อมส่งผลกระทบน้อยกว่า การไม่มีหลักเกณฑ์ และรัฐเองก็ไม่ตองแบกรับภาระของภาคธุรกิจเอกชนโดยไม่จำเป็น

ข้อ ๙. มาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนฯ เป็นอย่างไร

(๑) สถาบันการเงินต้องดำรงเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดโดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจประกาศกำหนดประเภทและชนิดของเงินกองทุน รวมทั้งหลักเกณฑ์ในการคำนวณเงินกองทุนของสถาบันการเงิน
(๒) สถาบันการเงินต้องดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน ภาระผูกพัน หรือตัวแปรและความเสี่ยงอื่นใดตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
ในกรณีที่ปรากฏว่าสถาบันการเงินใดมีความเสี่ยงสูง ธนาคารแห่งประเทศไทยจะสั่งการให้สถาบันการเงินนั้นดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควรก็ได้
(๓) ให้สถาบันการเงินเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนและข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงของสถาบันการเงินหรือกลุ่มธุรกิจทางการเงินตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
สำหรับสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจตามความในพระราชบัญญัตินี้ ต้องดำรงสินทรัพย์ไว้ในประเทศไทยหรือมีหลักทรัพย์ในต่างประเทศตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด และให้ถือว่าสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นเงินกองทุนตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ประกอบด้วย
(๑) เงินที่นำเข้ามาจากสำนักงานใหญ่หรือสาขาอื่นของสถาบันการเงินต่างประเทศซึ่งตั้งอยู่นอกประเทศไทย
(๒) เงินสำรองต่าง ๆ แต่ไม่รวมถึงเงินสำรองสำหรับการลดค่าของสินทรัพย์และเงินสำรองเพื่อการชำระหนี้ หรือ
(๓) เงินกำไรสุทธิแต่ละรอบปีบัญชีของสาขาหลังจากหักผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในทุกรอบปีบัญชีแล้ว และให้รวมถึงเงินกำไรที่ได้โอนไปเป็นส่วนของสำนักงานใหญ่ในทางบัญชีแล้วแต่ยังไม่ได้จำหน่ายออกนอกราชอาณาจักร

ข้อ ๑๐. การดำรงเงินกองทุนฯ ดังกล่าวอาศัยหลักการสากลหรือไม่ อย่างไร

---อาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากลที่เรียกว่า บาสเซิล---
เนื่องจาก ต้องการกำกับดูแลสถาบันการเงินให้ดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังรอบคอบ เพื่อให้สถาบันการเงินมีฐานะมั่นคง การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันได้ และมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี
สาเหตุว่า สถาบันการเงินนั้นมีความเสี่ยงอยู่หลายประการ ได้แก่
๑. ความเสี่ยงจากการดำเนินงาน
๒. ความเสี่ยงด้านเครดิต
๓. ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
๔. ความเสี่ยงด้านตลาด
๕. ความเสี่ยงด้านความเชื่อถือ
๖. ความเสี่ยงด้านกฎหมาย

ข้อ ๑๑. มาตรการในการกำกับดูแลสถาบันการเงินตามหลักการสากลเป็นอย่างไร

๑.การกำกับดูแลเรื่องปริมาณ หรือความพอเพียงของสภาพคล่องของสถาบันการเงิน ในที่นี้รวมถึงการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง และการกระจายความเสี่ยง
๒. การกำกับดูแลในด้านคุณภาพ ได้แก่
๒.๑ การดำเนินการของผู้บริหารสถาบันการเงิน
๒.๒ ระบบการตรวจสอบและควบคุมภายใน

ข้อ ๑๒. มาตรฐานสากลของการกำกับดูแลสถาบันการเงิน

สามารถแบ่งได้เป็น ๒ หน่วยงาน ได้แก่
๑. The Bank of International Settlement หรือ BIS และ
๒. World Bank และ IMF
BIS ออกกฎเกณฑ์และวิธีการในการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือที่รู้จักกันว่า BIS ratio ตั้งแต่ปี คศ. ๑๙๘๘ หรือBasel I ซึ่งถือเป็นมาตรการในการกำกับดูแลสถาบันการเงินให้เป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชน มีการกำหนดการให้ใบอนุญาต โครงสร้างของสถาบันการเงิน การกำกับดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงินการตรวจสอบ และการแก้ไขกรณีสถาบันการเงินเกิดปัญหา หรือ เราอาจเรียกว่า “เสาหลัก”
สำหรับ WB และ IMF ได้ออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องการชำระบัญชี การดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล (โปร่งใส ตรวจสอบได้ และความถูกต้อง)

ข้อ ๑๓. ปัจจุบันในยุคการเปิดเสรีทางการเงิน ยังคงใช้มาตรฐานสากลตามข้อ ๑๒ หรือไม่ อย่างไร

ปัจจุบันก็ยังคงใช้บังคับอยู่ แต่เมื่อบริบททางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงมีการแข่งขันมากขึ้น จึงต้องมีมาตรการเสริม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเสริมสภาพคล่องทางการเงิน จึงมีการออกหลักเกณฑ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ Basel II

ข้อ ๑๔. แสดงว่า Basel I และ Basel II ไม่ได้ขัดแย้งกัน

ใช่ โดยที่บาสเซิล สองมาทำหน้าที่ในการเสริมจุดอ่อนของบาสเซิล หนึ่ง

ข้อ ๑๕. บาสเซิล หนึ่งมีจุดอ่อน

การออกมาตรฐานดังกล่าว มีความเหมาะสมในบริบทหนึ่ง กล่าวคือ บาสเซิล หนึ่ง ได้เข้ามาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงิน ให้สังคมคุ้นชินกับการทำธุรกรรมทางการเงินโดยมีสถาบันการเงินเป็นหน่วยสำคัญ และเมื่อระบบเศรษฐกิจได้อาศัยสถาบันการเงินเป็นตัวจักรสำคัญที่ขาดไม่ได้แล้ว การพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความเข้มแข็งและมั่นคง จึงต้องมีกลไกหรือมาตรฐานสากลเข้ามาเติมเต็มในจุดนี้
ที่กล่าวว่าบาสเซิล หนึ่งมีจุดอ่อน เพราะ
๑. การไม่สะท้อนความเสี่ยงในเรื่องสินเชื่อ
๒. สินทรัพย์ที่สามารถนำมาลดความเสี่ยงได้มีน้อย

ข้อ ๑๖. บาสเซิลสองเป็นอย่างไร

อย่างที่กล่าวไว้ในข้อ ๑๕ บาสเซิล สองมาอุดช่องว่างของบาสเซิล หนึ่ง และมีการเพิ่มเติมเรื่องดังต่อไปนี้
๑. มีการครอบคลุมความเสี่ยงมากขึ้น (ความเสี่ยงในการดำเนินงาน/ปฏิบัติการ)
๒. การดำรงเงินกองทุนสำรอง
๓. เพิ่มทางเลือกในการประเมินความเสี่ยง


ข้อ ๑๗. หลักการในการกำกับดูแลเงินกองทุนตามบาสเซิล สอง

๓ หลักการ (เพิ่มอีก ๓ เสา) รวมของเดิม ๑ เสา เป็น ๔ เสาหลักในการสร้างเสถียรภาพของสถาบันการเงิน
๑. การดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำ
๒. การตรวจสอบ
๓. การใช้กลไกทางตลาด


ข้อ ๑๘. การดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำ เพื่ออะไร

เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับสถาบันการเงิน
ความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ ความเสี่ยงด้านตลาด

ข้อ ๑๙. การตรวจสอบสถาบันการเงินหน่วยงานใดเป็นผู้กำกับดูแลและตรวจสอบ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ปัจจุบัน)

ข้อ ๒๐. มีหลักการอย่างไร

๑. ตรวจสอบสถาบันการเงินให้มีการดำรงเงินกองทุนที่เพียงพอ
๒. ตรวจสอบถึงความสามารถในการดำเนินงาน
๓. กำกับดูแลให้สถาบันการเงินมีการดำรงเงินกองทุนมากกว่าที่กำหนดไว้ขั้นต่ำ
๔. หลักความชัดเจน เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ

ข้อ ๒๑. กฎหมายธุรกิจสถาบันการเงิน อาศัยหลักการบาสเซิล หนึ่ง และสอง หรือไม่ อย่างไร

ใช้ตามมาตรฐานสากล ให้ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ประกอบธุรกิจได้เฉพาะธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ แล้วแต่กรณี และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง หรือจำเป็นต่อการประกอบธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะประกาศกำหนดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องหรือจำเป็นโดยแยกตามประเภทสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์แต่ละชนิดก็ได้ และจะกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องหรือจำเป็นนั้นด้วยก็ได้

ข้อ ๒๒. กฎหมายธุรกิจสถาบันการเงิน คำนึงถึงเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร

เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจประกาศกำหนดให้สถาบันการเงินประเภทหนึ่งประเภทใดถือปฏิบัติในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) การรับฝากเงิน การรับเงินจากประชาชน การกู้ยืมเงิน การลงทุน การให้สินเชื่อ การก่อภาระผูกพัน และการประกอบธุรกิจอื่นที่สถาบันการเงินนั้นดำเนินการได้
(๒) การทำนิติกรรมหรือสัญญากับประชาชน ผู้บริโภค หรือลูกค้ารายย่อยในการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงิน ซึ่งมีทุนทรัพย์หรือมูลค่าตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ไม่ว่าจะเป็น
ในเนื้อหาสาระ วิธีการคำนวณผลประโยชน์หรือแบบสัญญา
(๓) การทำสัญญาค้ำประกันด้วยบุคคล โดยให้มีการระบุวงเงินของต้นเงินในสัญญา หรือมิให้มีการทำข้อตกลงให้ผู้ค้ำประกันทำสัญญาค้ำประกันแบบไม่จำกัดจำนวนในกรณีที่เป็นการค้ำประกันหนี้อันจะต้องชำระ ณ เวลาที่มีกำหนดแน่นอน และสถาบันการเงินยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ชั้นต้น แต่ไม่สามารถจะตกลงกันได้ภายในเวลาหกเดือน ให้สถาบันการเงินแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบ
(๔) ข้อที่ต้องปฏิบัติหากนิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นนั้นให้สิทธิแก่สถาบันการเงินที่จะเปลี่ยนแปลงสัญญาได้ฝ่ายเดียว
(๕) การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันการเงิน

ข้อ ๒๓. การตรวจสอบสถาบันการเงิน สามารถกระทำได้หรือไม่

ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเพื่อความมั่นคงของสถาบันการเงินและเพื่อการตรวจสอบของผู้ตรวจการสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติ ในเรื่องดังต่อไปนี้ได้
· การทำนิติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงิน
· การตรวจสอบและการควบคุมภายในสถาบันการเงิน
· การบริหารและการจัดการของสถาบันการเงิน
ในการแก้ไขภาวะเศรษฐกิจ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจประกาศกำหนดในเรื่องดังต่อไปนี้
· กำหนดวงเงินที่สถาบันการเงินจะให้สินเชื่อ ทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ รับรอง หรือรับอาวัลตั๋วเงินสำหรับกิจการประเภทหนึ่งประเภทใด ทั้งนี้ จะกำหนดเป็นอัตราส่วนกับยอดเงินทั้งหมดที่สถาบันการเงินให้สินเชื่อ ทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ รับรองรับอาวัลตั๋วเงิน หรือเป็นอัตราส่วนกับเงินกองทุนของสถาบันการเงินหรือยอดเงินที่ได้กู้ยืมและรับจากประชาชน ณ ขณะหนึ่งขณะใดก็ได้
· ห้ามมิให้สถาบันการเงินให้สินเชื่อ หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อในกิจการประเภทใด ๆ เพิ่มขึ้นหรือสูงกว่าอัตราที่กำหนด ทั้งนี้ จะกำหนดเป็นอัตราส่วนกับยอดเงินทั้งหมดที่สถาบันการเงินให้สินเชื่อ หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อในแต่ละกิจการ ณ ขณะหนึ่งขณะใดก็ได้
และในการดำเนินการต่อไปนี้ สถาบันการเงินจะต้องได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน
๑) ขายหรือโอนกิจการของสถาบันการเงินทั้งหมดหรือบางส่วนที่สำคัญให้แก่บุคคลอื่นตามมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
๒) ซื้อหรือรับโอนกิจการบริษัทอื่นทั้งหมดหรือบางส่วนที่สำคัญมาเป็นของสถาบันการเงินตามมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
๓) ทำสัญญา ยินยอม หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่กรรมการ ผู้จัดการ หรือพนักงานของสถาบันการเงิน มีอำนาจทั้งหมดหรือบางส่วนในการบริหารงานของสถาบันการเงิน หรือรวมกิจการกับบุคคลอื่น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งกำไรขาดทุนกัน

ข้อ ๒๔. เรื่องความเสี่ยงอันเกิดจากการให้สินเชื่อ มีการควบคุมอย่างไร

กฎหมายได้กำหนดถึงเรื่องดังกล่าว โดยกำหนดห้ามสถาบันการเงิน (ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม) ในการดำเนินการให้สินเชื่อดังต่อไปนี้
(๑) ให้สินเชื่อ ทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ หรือประกันหนี้แก่กรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว เว้นแต่การให้สินเชื่อในรูปของบัตรเครดิตตามอัตราขั้นสูงที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด หรือการให้สินเชื่อเพื่อเป็นสวัสดิการแก่บุคคลดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
(๒) รับรอง รับอาวัล หรือสอดเข้าแก้หน้าในตั๋วเงินที่กรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว เป็นผู้สั่งจ่าย ผู้ออกตั๋ว หรือผู้สลักหลัง
(๓) จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นแก่กรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว เป็นค่าตอบแทนสำหรับหรือเนื่องจากการกระทำหรือการประกอบธุรกิจใด ๆ ของสถาบันการเงินนั้น ซึ่งมิใช่บำเหน็จ เงินเดือน รางวัล และเงินเพิ่มอย่างอื่นบรรดาที่พึงจ่ายตามปกติ
(๔) ขาย ให้ หรือให้เช่าทรัพย์สินใด ๆ แก่กรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการผู้ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว หรือรับซื้อ หรือเช่าทรัพย์สินใด ๆ จากบุคคลดังกล่าวมีมูลค่ารวมกันสูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย
(๕) ให้ผลประโยชน์อื่นใดแก่กรรมการ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ หรือผู้ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
นอกจากนี้ ยังได้มีการห้ามมิให้สถาบันการเงินให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือแก่กิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันเมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ ในแต่ละรายเกินร้อยละห้าของเงินกองทุนชนิดหนึ่งชนิดใดของสถาบันการเงินนั้น หรือเกินร้อยละยี่สิบห้าของหนี้สินทั้งหมดของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือของกิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องนั้น แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า ทั้งนี้ ให้นับการให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เป็นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่นั้นด้วย

ข้อ ๒๕. ข้อเท็จจริงของการให้สินเชื่อมีความซับซ้อนมากขึ้น

ห้ามมิให้สถาบันการเงินให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือแก่บุคคลหลายคนรวมกันในโครงการหนึ่งโครงการใด หรือเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน เมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ เกินร้อยละยี่สิบห้าของเงินกองทุนชนิดหนึ่งชนิดใด ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
แต่ในกรณีที่สถาบันการเงินใด ควบรวมกิจการ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือจำหน่าย จ่ายโอน
สินทรัพย์ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือกรณีมีเหตุอันสมควรอื่นใด ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจ
ผ่อนผันให้สถาบันการเงินนั้นไม่ต้องปฏิบัติตามวรรคหนึ่งเป็นการชั่วคราวได้

ข้อ ๒๖. ตามข้อ ๒๕ มีข้อยกเว้น

๑) ให้สินเชื่อหรือก่อภาระผูกพันที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เกินจำนวนที่ได้รับการค้ำประกัน
๒) ให้สินเชื่อหรือก่อภาระผูกพันแก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือธนาคารแห่งประเทศไทย
๓) ลงทุนโดยการซื้อหลักทรัพย์รัฐบาลไทย หลักทรัพย์ธนาคารแห่งประเทศไทย หลักทรัพย์กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือหลักทรัพย์สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หลักทรัพย์ที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น หรือหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เกินราคาที่ตราไว้
๔) ให้สินเชื่อโดยมีเงินฝากของสถาบันการเงินนั้น หลักทรัพย์รัฐบาลไทย หลักทรัพย์ธนาคารแห่งประเทศไทย หลักทรัพย์กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือหลักทรัพย์สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หลักทรัพย์ที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นหรือหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เป็นประกัน ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เกินจำนวนเงินฝากที่เป็นประกันหรือราคาหลักทรัพย์ที่ตราไว้
๕) ค้ำประกันการขายหลักทรัพย์ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
๖) ให้กู้ยืมระหว่างสถาบันการเงินตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
๗) ให้สินเชื่อ ลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อที่มีความเสี่ยงน้อยหรือมีความเสี่ยงเทียบเท่าหลักทรัพย์รัฐบาล ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
๘) ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อการค้า

ข้อ ๒๗. นอกเหนือจากบาสเซิส สอง ยังได้นำการกำกับทั่วไปของบาสเซิล หนึ่งมาด้วย

ห้ามมิให้สถาบันการเงินกระทำการดังต่อไปนี้
(๑) ลดทุนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ในการอนุญาตธนาคาร
แห่งประเทศไทยอาจกำหนดหลักเกณฑ์ในการลดทุนไว้ด้วยก็ได้ และมิให้นำมาตรา ๑๑๑๗ มาตรา ๑๒๒๕ และมาตรา ๑๒๒๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา ๑๓๙ วรรคหนึ่ง
และมาตรา ๑๔๑ แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕ แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับ
(๒) ซื้อหรือมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่
(ก) เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับการประกอบธุรกิจ หรือเป็นที่พัก หรือเพื่อสวัสดิการของพนักงานและลูกจ้างของสถาบันการเงินนั้นตามสมควร โดยได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยในการอนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทยอาจกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ด้วยก็ได้
(ข) เป็นการได้มาจากการชำระหนี้ การประกันการให้สินเชื่อ การซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่สถาบันการเงินนั้นรับจำนองไว้จากการขายทอดตลาดโดยคำสั่งศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ต้องจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวภายในห้าปีนับแต่วันที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตกเป็นของสถาบันการเงิน ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นธนาคารแห่งประเทศไทยจะขยายเวลาการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว โดยธนาคารแห่งประเทศไทยอาจกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ด้วยก็ได้
(ค) เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทเงินทุนที่ประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการเคหะ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ซื้อหรือมีไว้เพื่อประกอบธุรกิจ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
(๓) รับหุ้นของสถาบันการเงินนั้นเป็นประกัน หรือรับหุ้นของสถาบันการเงินประเภทเดียวกันจากสถาบันการเงินอื่นที่เป็นสถาบันการเงินประเภทเดียวกันเป็นประกันในกรณีที่มีการดำเนินการดังต่อไปนี้ ให้สถาบันการเงินแจ้งเป็นหนังสือให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการดำเนินการดังกล่าว
(๑) แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ หรือข้อบังคับของสถาบันการเงิน
(๒) เปลี่ยนแปลงกรรมการ กรรมการบริหาร ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน
นอกจากนี้ยังกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจให้สถาบันการเงินจัดเก็บข้อมูล บัญชี เอกสาร ดวงตรา หรือหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับกิจการ สินทรัพย์และหนี้สิน ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด หากสถาบันการเงินใดไม่ประกอบธุรกิจสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตในปริมาณที่สถาบันการเงินพึงประกอบตามปกติตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดธนาคารแห่งประเทศไทยอาจสั่งให้สถาบันการเงินนั้นประกอบกิจการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ ในการนี้ จะกำหนดหลักเกณฑ์และระยะเวลาไว้ด้วยก็ได้ และหากสถาบันการเงินไม่ดำเนินการตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสั่งการ ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจสั่งปิดกิจการสถาบันการเงินนั้นก็ได้ เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งปิดกิจการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้เสนอรัฐมนตรีเพิกถอนใบอนุญาตของสถาบันการเงินและให้ชำระบัญชีสถาบันการเงินนั้น

กิตติบดี

ไม่มีความคิดเห็น:

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...