วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สิทธิมนุษยชน : แบบทดสอบ

บทความ
ครอบครัวของผม พ่อรับราชการเป็นครูสอนหนังสือในโรงเรียนเทศบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ส่วนแม่เป็นแม่บ้านเปิดร้านขายของชำเล็ก ๆ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อ ผมเป็นลูกชายคนโต มีน้องสาวและน้องชายอีก ๒ คน ตอนตั้งท้องผม แม่เล่าให้ฟังว่า แม่ต้องออกจากงานเพราะโรงงานปิดกิจการ เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำมาก ในช่วงนั้น พ่อแม่ของผมเพิ่งสร้างครอบครัวใหม่ มีภาระต้องผ่อนบ้าน ต้องใช้จ่ายเงินอย่างกระเบียดกระเสียร ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากคุณตาคุณยายได้ เนื่องจากพ่อแม่ไม่ได้แต่งงานกันถูกต้องตามประเพณี และเพราะความยากจนแม่ไม่ได้ฝากครรภ์ หรือเอาใจใส่ในเรื่องสวัสดิภาพของแม่และเด็ก รวมถึงรับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์เลย ทำให้คลอดผมก่อนกำหนดเกือบ ๒ เดือน

ตอนคลอดผมใหม่ ๆ สถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวเริ่มกระเตื้องขึ้น เนื่องจากพ่อได้รับการบรรจุเข้ารับราชการ แม่เล่าให้ฟังเสมอว่า พ่อกับแม่รู้สึกผิดต่อผมมาก ๆ ที่ไม่ได้เอาใจใส่อย่างดีตอนท้องผม จึงพยายามสรรหาอาหารและสิ่งที่มีคุณค่าต่อร่างกายและสมองกำลังเติบโตในระยะที่สำคัญ ซึ่งผมเองก็ต้องการให้แม่ผมได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์เช่นกัน
พ่อแม่ตั้งใจไว้ว่า ลูกทั้งสามจะต้องส่งเสียให้เรียนให้สูงที่สุดตามความสามารถ และความถนัดของแต่ละคน เพื่อจะได้นำความรู้ไปประกอบอาชีพการงานที่ดี ไม่ต้องลำบากเหมือนกับพ่อแม่ ลูก ๆ จะได้มีหน้ามีตาในสังคม โดยเฉพาะน้องสาวของผม แม่เล่าว่า ครอบครัวของแม่เป็นคนเชื้อสายจีน ไม่นิยมส่งลูกสาวเรียนหนังสือ ซึ่งทำให้แม่เรียนจบแค่ชั้น ป. ๔ จะไปหางานหาการทำที่ไหนก็ลำบาก แม่ไม่อยากให้ลูกสาวของแม่ต้องลำบากเหมือนแม่ แม่ของผมเลี้ยงดูลูกทั้งสามด้วยตัวเอง ต้องทำทั้งงานบ้าน ขายของ อบรมสั่งสอนลูก ๆ ลำพังคนเดียว เพราะพ่อของผมต้องทำงานอยู่จนดึกดื่นเสมอ ไม่เว้นวันหยุดเสาร์อาทิตย์ที่ต้องออกไปรับจ้างพิเศษ พ่อบอกว่า เพื่อหาเงินให้ได้แยะ เผื่อเอาไว้ไม่ให้ลูกอดและได้เรียนหนังสือสูง ๆ ผมเองก็นึกสงสารพ่อ แต่บางครั้งก็อดนึกน้อยใจไม่ได้ว่า ทำไมครอบครัวเราไม่ค่อยได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันเลย หรือมีโอกาสไปเที่ยวพักผ่อนเหมือนครอบครัวของเพื่อนผมเลย

ผมได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนเทศบาล เพราะค่าเทอมถูกกว่า และไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้า (แป๊ะเจี๊ยะ) แม้ผมต้องการเรียนโรงเรียนประจำจังหวัดก็ตาม แต่นั่นก็ไม่สำคัญ เพราะพ่อบอกว่าถึงจะเรียนที่ไหนถ้าขยัน อดทน ไม่ย่อท้อ สักวันหนึ่งเราจะประสบความสำเร็จได้เช่นกัน เมื่อผมสำเร็จการศึกษาชั้นประถมแล้ว ผมต้องการเข้ามาเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่กรุงเทพมหานคร โดยจะมาอาศัยอยู่กับคุณตาคุณยาย (ท่านทั้งสองรักหลาน ๆ แต่ยังโกรธพ่อกับแม่อยู่) เพราะ คุณครูประจำชั้น แนะนำว่า ผมหัวดี เรียนเก่ง ผมควรเลือกเรียนโรงเรียนที่มีคุณภาพการศึกษาดี เพราะคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนที่บ้านเรายังสู้เมืองหลวงไม่ได้ ถ้าได้เรียนโรงเรียนที่ดีมีมาตรฐาน ทำให้ผมมีโอกาสในการเข้าศึกษามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของรัฐได้

ผมต้องการประกอบอาชีพที่มีความหมาย ตอนแรกผมต้องการอยากเป็นครูเหมือนกับพ่อ แต่ภายหลังเปลี่ยนไปผมอยากเป็นนักกฎหมาย เป็นผู้พิพากษา อัยการ หรือทนายความอะไรทำนองนั้น ผมเห็นจากสื่อสารมวลชน โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ รู้สึกว่า นักกฎหมายมีบทบาทต่อสังคมมาก ผมอยากทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และให้สังคมมีความยุติธรรม คนจน คนรวย มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่มีความรุนแรง ทุกคนอยู่ภายใต้กรอบกติกา ปัญหาอาชญากรรมต้องถูกขจัดให้สิ้นไป

สมัยที่ผมเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผมต้องการแบ่งเบาภาระทางบ้าน ผมจึงกู้ยืมเงินเรียน หางานพิเศษทำ เหลือเงินบางส่วน เอาไปซื้อหนังสือ ตำรับตำรากฎหมาย ซึ่งหนังสือกฎหมายก็แก้ไขเปลี่ยนอยู่บ่อย ๆ บางครั้งเปลี่ยนแค่หนึ่งมาตราหรือสองมาตราเท่านั้น ก็พิมพ์ใหม่ให้ต้องเสียเงินซื้อใหม่ ซ้ำราคาก็แพง นี่ยังดีที่ทางคณะมีห้องค้นคว้าให้หยิบยืมหนังสือกับไปอ่านที่หอพักเพิ่มเติมได้

ในระหว่างเรียน ผมเข้าร่วมกิจกรรมมากมาย ผมใช้เวลาว่างในการออกค่ายกับเพื่อน ๆ ยังจำได้ว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งพวกเราของบประมาณสนับสนุนจากคณะจำนวนหนึ่ง เพื่อจัดกิจกรรมค่ายเผยแพร่ความรู้กฎหมายให้กับชาวบ้าน ซึ่งครั้งนั้น ทำให้ผมตระหนักว่า ชาวบ้านที่ยังไม่ทราบกฎหมายขั้นพื้นฐาน หรือ สิทธิเสรีภาพของตนมีอยู่อีกจำนวนมาก ผมได้ฟังผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังถึงความเดือดร้อนที่ได้รับจากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากความไม่รู้กฎหมาย ทำให้รู้สึกสะเทือนใจ ผมต้องการให้พลเมืองไทยทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจน นับถือศาสนาใด เชื้อชาติใด เพศใด อายุ หรือความคิดทางการเมืองที่แตกต่าง ต้องได้รับการปฏิบัติและ/หรือโอกาสที่เท่าเทียมกัน

น้าเปรื่อง ผู้ใหญ่บ้านเล่าให้พวกเราฟังว่า ลูกชายของน้าไปมีเรื่องทำร้ายร่างกายกันกับลูกนักการเมืองใหญ่ เค้าสั่งให้ตำรวจมาจับกุมและนำไปคุมขังไว้ตั้ง ๗ วัน โดยไม่แจ้งข้อกล่าวหาหรือประกันตัว แต่กลับไม่ทำอะไรเลยกับลูกนักการเมืองคนนั้น หรือเมื่อชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเรื่องราคาอ้อยตกต่ำ พวกเรานัดกับอีกหมู่บ้านเพื่อเดินทางไปขอความช่วยเหลือจากผู้ว่าราชการจังหวัด แต่เค้าก็สั่งห้ามเราเดินทางไปรวมตัวกัน ยังขู่อีกว่า คนไหนกล้าฝ่าฝืนจะจับขังเสียเข็ด

ผมเล่าเรื่องดังกล่าวให้อาจารย์ฟัง ท่านตอบกลับว่า สิทธิเสรีภาพตามตัวอักษรกับในชีวิตจริง มันไม่เหมือนกัน ผมรับฟังอย่างงงงง แต่ก็ไม่ได้ถามอะไร

หลังจากสำเร็จการศึกษา ผมได้งานเป็นผู้ช่วยทนายความ แต่มีเพื่อนผมอีกหลายคนต้องว่างงาน สาเหตุหนึ่งมาจากการกำหนดคุณสมบัติว่าต้องได้เกรด ๓.๐๐ ขึ้นไป
ในช่วงนี้ ผมทำงานพร้อมกับเรียนเนติบัณฑิต แม้จะหนักหนาสาหัสอย่างไร ผมก็อดทนเพื่ออนาคตที่ใฝ่ฝัน ผมสอบได้ใบอนุญาตว่าความ และสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตตามลำดับ

ผมเป็นทนายความอยู่ ๑๑ ปี เปิดสำนักงานทนายความในตัวเมืองจังหวัดขอนแก่น รับอุปการะพ่อแม่และน้อง ๆ ผมต้องการให้ครอบครัวของผมมีสุขภาพอนามัยที่ดี และรัฐต้องให้บริการรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพ น้อง ๆ ของผมเริ่มเติบใหญ่ น้องชายเป็นวิศวกร ส่วนน้องสาวกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาโท เมื่อผมเห็นว่าครอบครัวเรามีความมั่นคงในระดับหนึ่งแล้ว ผมจึงตัดสินใจสอบเป็นผู้พิพากษา เพื่อสานฝันอุดมการณ์ของผมต่อไป

ยังจำได้ว่า วันนั้นผมได้ไปสมัครสอบคัดเลือกเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา แต่ผมต้องผิดหวังอย่างแรง เมื่อคณะกรรมการตุลาการตัดสิทธิไม่ให้ผมมีโอกาสเข้าสอบคัดเลือกเป็นผู้พิพากษา
ผมหวนระลึกถึงคำที่อาจารย์กล่าวและพอเข้าใจแล้วว่า สิทธิเสรีภาพตามตัวอักษรกับในชีวิตจริง ไม่เหมือนกัน เป็นอย่างไร

ทั้งนี้ เพราะผมเป็นโปลีโอมาแต่กำเนิด
*******************************

คำถาม
(๑) ขอให้ท่านพิจารณาว่า จากเรื่องดังกล่าวประกอบด้วยสิทธิประการใดบ้าง และตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร
(๒) โปรดแสดงความคิดเห็น ในสังคมไทยมีเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้ “สิทธิเสรีภาพตามตัวอักษรกับในชีวิตจริงไม่เหมือนกัน”
หมายเหตุ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐
มาตรา ๔ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง
มาตรา ๒๖ การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๒๗ สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครอง และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมถึงองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความตามกฎหมายทั้งปวง
มาตรา ๓๐ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย....
(วรรคสอง) การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่าง ในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางการหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้
กิตติบดี

ไม่มีความคิดเห็น:

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...