วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

โรงเรียนสอนกฎหมายสอนอะไร ?




โรงเรียนสอนคนให้มีหลักการ ?

เมื่อผู้อาวุโสได้ไต่ถามว่า



คำถาม : ทำไมเขา/เธอถึงอยากเรียนนิติศาสตร์
คำตอบ : ผม/หนูอยากช่วยเหลือสังคม คนยากจน อยากเห็นความเป็นธรรมในสังคม จะนำความรู้ที่ได้รับไปประสิทธิประสาทความยุติธรรมให้ประเทศชาติ



บ้างอยากเป็นผู้พิพากษา บ้างก็อยากเป็นอัยการ บ้างอยากเป็นทนายความ ตำรวจ ทหาร บ้างก็อยากเป็นนักการเมืองไล่ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นยันนายกรัฐมนตรี



บ้างก็อยากเป็นนักธุรกิจที่มั่งคั่ง ตลอดจนอยากมีความรู้กฎหมายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ในกิจการของตน



บ้างก็อยากจะตอบไปว่า ไม่รู้จะไปร่ำเรียนอะไร เลยเลือกเรียนนิติศาสตร์เพราะตนเองไม่ใช่ผู้ที่หลงใหลในตัวเลข รวมถึงภาษาอังกฤษก็บกพร่อง เลยมาเรียนกฎหมายที่เห็นใคร ๆ บอกว่าท่อง ๆ ๆ ๆและท่อง...จำอย่างเดียว เดี๋ยวก็จบ แต่ความย่อหน้านี้คงมีน้อยคนนักที่หาญกล้าตอบแก่ผู้อาวุโส (หากยังไม่คุ้นเคย)ส่วนใหญ่เพียงคิดแต่ทดไว้ในใจเสมอมา



บ้างก็ตอบว่า ผม/หนูเป็นลูกกตัญญูเรียนไปตามใจคุณพ่อคุณแม่ หรือบางรายเลือกเรียนเพราะชีวิตนี้เป็นผู้ตามที่ดี เพื่อนไปไหนเราไปด้วย อย่างนี้ก็มีให้เห็นอยู่มากราย

ว่าไปกระไรได้ ไม่ว่าจะมีเหตุผลร้อยแปดพันประการที่ทำให้เลือกเรียนนิติศาสตร์นั้น ย่อมไม่เท่ากับหนึ่งโอกาสที่ได้เข้าเรียน

ธานินทร์ กรัยวิเชียร ศาสตราจารย์กฎหมายที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “อันวิชาชีพกฎหมายจะมีเกียรติภูมิสูงส่งเพียงไร วิชาการด้านกฎหมายจะพัฒนาไปเพียงไร และมหาวิทยาลัยตลอดจนสถาบันอบรมศึกษาวิชากฎหมายจะมีศักดิ์สูง เพราะได้รับการรับรองวิทยฐานะจากสถาบันกฎหมายในนานาประเทศหรือไม่เพียงไรนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการสร้างนักกฎหมาย และการวางรากฐานแห่งวิชาชีพกฎหมาย นั่นคือ การจัดการศึกษาวิชากฎหมายนั่นเอง”



ประมาณได้ว่า ผลไม้จะหวานชวนน่าลิ้มลอง ต้องขึ้นอยู่กับพันธุ์ไม้นั้นแล ซึ่งมาตรว่าหากต้นไม้นั้นเป็นพิษ ผลย่อมเป็นพิษตามเช่นกันฉันใด สถาบันการศึกษา (มหาวิทยาลัย)ที่สอนนิติศาสตร์จะไปสู่ความเป็นเลิศทางนิติศาสตร์ย่อมต้องพึงสังวรด้วยเช่นกันฉันนั้น


การจัดการศึกษานิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ นั้น เพื่อพร่ำสอนและคาดหวังให้นักศึกษาที่เรียนนิติศาสตร์จักเป็น “นักศึกษานิติศาสตร์” มิใช่เป็นแค่เพียงนักศึกษาที่รู้ตัวบทกฎหมายและ/หรือเพียงแค่วินิจฉัยกฎหมายได้เท่านั้นที่เรียกว่า “นักศึกษากฎหมาย” เพราะคำว่า “นิติศาสตร์” ไม่ใช่แค่ “กฎหมาย” ซึ่งคำว่า “นิติศาสตร์” มีความหมายที่ลุ่มลึกและพิสดารกว่าคำว่า “กฎหมาย” อยู่หลายช่วงตัวนัก ความข้อนี้ขอให้สังเกตว่า ทำไมในต่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ที่จะเข้าศึกษานิติศาสตร์ในระดับปริญญาตรีได้จะต้องสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีในสาขาหนึ่งสาขาใดมาก่อน หรือประเทศอังกฤษ การคัดเลือกผู้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยจะใช้วิธีการจัดสอบรวมของส่วนกลาง หรือบางมหาวิทยาลัยคัดเลือกโดยข้อสอบตรง โดยที่จะเลือกเฟ้นแต่เฉพาะนักศึกษาพวกหัวกะทิมาเรียนเท่านั้น หรือในประเทศในระบบประมวลกฎหมายอย่างเช่นประเทศฝรั่งเศสนั้น มีลักษณะคล้าย ๆ กับประเทศไทย แต่ความเข้มข้นของการศึกษาอยู่ที่ปีหนึ่งขึ้นปีที่สอง หากไม่มีความสามารถหรือไม่ตั้งใจเล่าเรียนจริง ๆ จะสอบไม่ผ่านขึ้นปีที่สอง คือ รับนักศึกษาเข้ามาก่อนแล้วใช้ความเข้มข้นของวิชาการและความขยันอดทนของนักศึกษาเป็นเครื่องคัดกรองนักศึกษาออกไปตั้งแต่อยู่ชั้นปีแรก หรือในประเทศเยอรมนี นักศึกษาจะได้ปริญญานิติศาสตร์หรือไม่นั้น เมื่อเรียนจบหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัย รัฐบาลจะเป็นผู้จัดทดสอบเพื่อวัดผลว่าเหมาะสมที่จะได้รับใบปริญญานิติศาสตร์หรือไม่

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะผู้ที่ศึกษานิติศาสตร์เมื่อจบออกไปทำงานในสายวิชาชีพล้วนแต่มีเนื้อหาสารัตถะที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คน จึงจำเป็นต้องอาศัยคนที่มีความรับผิดชอบในระดับสูง เพื่อไปรับใช้สังคม ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความยุติธรรมให้แก่สังคม รวมไปถึงมีบทบาทในการเป็นผู้นำชุมชนไล่เรียงตั้งแต่ระดับรากไปจนกระทั่งชั้นสูงสุด ดังคำที่ว่า นิติศาสตร์หรือนีติศาสตร์ --- ศาสตร์แห่งผู้นำ---เป็นประจักษ์พยานสำคัญ ซึ่งความสำคัญดังกล่าว จึงทำให้ในการศึกษานิติศาสตร์ไม่ใช่เพียงแค่นักศึกษาผู้นั้นจะจำได้หมายรู้เพียงตัวบทกฎหมายลายลักษณ์อักษรเท่านั้น



คำว่า นิติศาสตร์ หมายความว่า วิชาที่ว่าด้วยกฎหมาย แต่คำว่า กฎหมาย หมายความเพียงว่า บทบัญญัติหรือคำสั่งที่ตราขึ้นโดยผู้มีอำนาจที่ใช้บังคับในสังคม
จำแนกได้ว่า วิชานิติศาสตร์ ข้อเท็จจริง คุณค่า

เพราะ เมื่อนักศึกษานิติศาสตร์เป็นที่คาดหวังของสังคมและ/หรือจะต้องออกไปรับใช้สังคมตามที่พวกเขาชอบกล่าวอ้างตามพระบิดาแห่งกฎหมายไทยเสมอ ๆ ว่า My life is service (ชีวิตของข้าพเจ้าคือการรับใช้) ดังนั้นแล้ว ตลอดช่วงเวลาของการศึกษานักศึกษาจึงต้องอาศัยสรรพกำลังต่าง ๆ เพื่อให้ตนมีความรู้ในเนื้อหาของกฎหมายในรูปข้างต้นได้แก่วงกลมตรงกลาง กล่าวคือ นักศึกษาต้องรู้บทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างถ่องแท้เพื่อใช้ยึดเป็นหลักและต้องปักหลักนั้นให้มั่นคง แข็งแรง โดยอาศัยคำพิพากษาของศาลมาใช้เป็นอุทาหรณ์ประกอบให้เข้าใจบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น ๆ อย่างแจ่มชัด และประยุกต์ใช้ได้อย่างแยบคาย

เท่านั้นหาเพียงพอไม่ นักศึกษาต้องสาวลึกให้ได้ว่า บทบัญญัตินั้น ๆ มีที่มาอย่างไร นักศึกษาจึงต้องทำงานอย่างหนักเพื่อหยั่งรากลึกถึงภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ จิตวิญญาณ หรือข้อเท็จจริงแห่งหลักกฎหมายนั้น ๆ ว่าคืออะไร ดังคำสุภาษิตจีนที่ว่า “ยิ่งโน้มคันศรยิ่งมากเพียงใด ลูกธนูที่ยิ่งออกไปยิ่งพุ่งตรงสู่เป้าหมายแรงยิ่งขึ้นเป็นทวี”



ลองตรองดูว่า เมื่อนักศึกษาตั้งหน้าตั้งตาอ่านหนังสือ ท่องตัวบท อ่านฎีกา นักศึกษาย่อมหมายรู้ได้ว่า “มาตรา ๑๕ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย” แต่เมื่อสังคมตั้งคำถามแก่นักศึกษาว่า “มนุษย์ที่เกิดจากการโคลนนิ่งมีสภาพบุคคลหรือไม่” นักศึกษาท่านนั้นหยุดตรึกตรองและวินิจฉัยอย่างเด็ดขาดตามบุคลิกนักกฎหมายว่า มนุษย์โคลนนิ่งไม่มีสภาพบุคคลเพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๑๕ เพราะขาดองค์ประกอบเรื่องการคลอด ดังนั้น จึงไม่มีสภาพบุคคล และนักศึกษากฎหมายท่านนั้นยังทรงแสดงภูมิรู้เป็นของแถมต่อไปอีกว่า เมื่อไม่มีสภาพบุคคลจึงทำให้ไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ...




แต่กระนั้น เด็กน้อยอาจสะกิดถามคุณแม่ของตนว่า แม่จ๋ามนุษย์โคลนนิ่งนั้นก็เหมือนกับเรามีชีวิตและจิตใจเหมือนกัน ทำไมถึงไม่ใช่มนุษย์หละ เด็กน้อยคนนั้นคงถามโดยสามัญสำนึกแบบเด็ก ๆ อย่างนี้กระมังที่ หลายต่อหลายคนค่อนขอดนักกฎหมายไทยว่า “เป็นพวกโง่ที่มีหลักการ”

อะไรหละหรือทำให้เป็นอย่างนั้น เพราะนักศึกษานิติศาสตร์ไม่พยายามศึกษาถึงนิติศาสตร์ในทางคุณค่าและ/หรือพยายามค้นหาปรัชญาที่แฝงอยู่เบื้องหลังบทบัญญัติแห่งกฎหมาย



ฉะนั้น จะมีนักกฎหมายอยู่มากรายเมื่อสำเร็จการศึกษาไปทำงานประกอบอาชีพทางกฎหมาย มักจะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือของตน จนละเลยคำตอบที่เคยพรั่งพรูให้แก่ผู้อาวุโสที่ถามเอาไว้ก่อนเข้าเรียนนิติศาสตร์ เช่น ใช้มาตรา ๔๒๓ ในทางละเมิด โดยหารู้ถึงคุณค่าของกฎหมายและ/หรือตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน หากแต่ใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้อง หรือเบียดเบียนบีฑาผู้ที่ไม่รู้กฎหมาย แม้ความดังกล่าวพ่อของแผ่นดินได้เตือนสตินักกฎหมายไว้แล้วว่า “กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือของความยุติธรรม” อย่างนี้อีกกระมังที่ หลายคนจึงดูถูกนักกฎหมายว่า “เป็นพวกหัวหมอ”


ถึงเวลานี้....ยังมิอาจหยั่งทราบได้เหมือนกันว่า นักศึกษาที่เรียกตนเองว่า “นักศึกษานิติศาสตร์” จักได้รู้หรือยังว่า ตนเอง ต้องรู้อะไร ? ควรรู้อะไร ? และท้ายที่สุด อยากรู้อะไร ?


กิตติบดี

ไม่มีความคิดเห็น:

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...