วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สิทธิมนุษยชน : ข้อสังเกต

ประเด็นเสวนาเรื่องสิทธิมนุษยชน : รายวิชาสิทธิขั้นพื้นฐาน

สิทธิมนุษยชนคืออะไร

สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดของมนุษย์ ไม่ว่ามนุษย์นั้นจะมีสัญชาติ ถิ่นที่อยู่ เพศ เชื้อชาติ สีผิว นับถือศาสนา ภาษา หรือสถานภาพอื่นใดก็ตาม ; มนุษย์เราทุกคนต้องมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด

สิทธิที่มีอยู่นั้น จักต้องมีอยู่เสมอมิอาจถูกแบ่งแยก หรือโอนไปจากมนุษย์เราไม่ว่าด้วยวิธีการหรือรูปแบบใด ๆ ก็ตามที

และที่สำคัญ สิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายจะมากำหนดว่ามีสิทธิหรือไม่ หากแต่กฎหมายนั้นจะเป็นเครื่องยืนยันถึงหลักประกันในการมีอยู่แห่งสิทธิมนุษยชน และกำหนดให้รัฐมีภารกิจในการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง

สิทธิมนุษยชนเป็นภาษาสากล

หลักการที่สำคัญของสิทธิมนุษยชนมีอยู่ว่า สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งสากล และไม่สามารถแบ่งแยกสิทธิมนุษยชนได้ เนื่องจาก สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้มนุษยชนครองสถานภาพของมนุษย์ไว้ให้แตกต่างจากสัตว์

หลักการข้างต้นได้รับการยืนยันเป็นเอกสารทางสากล ได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. ๑๙๔๘ และเป็นหลักพื้นฐานของกติกาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน โดยกำหนดไว้ชัดเจนว่า รัฐมีหน้าที่ต้องส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทุกสิทธิที่กำหนดไว้ตามปฏิญญาฯ หรือกติการะหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน รวมถึงเรื่องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน สิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
สิทธิมนุษยชนมีหลายแขนงสิทธิแต่ไม่สามารถแบ่งแยกได้

สิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย
(๑) สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และ (๒) สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
มนุษย์ทุกคนต้องได้รับการยืนยันในสองแขนงสิทธิข้างต้น เพราะเราถือว่าทั้งสองแขนงสิทธินี้มีส่วนสัมพันธ์ในการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อาทิ สิทธิในชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ อนามัย สิทธิที่ได้รับการยอมรับว่าบุคคลทุกคนเสมอภาคกันทางกฎหมาย หรือ เสรีภาพในการแสดงออก เป็นต้น
สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม อาทิ สิทธิในการทำงาน การมีประกันสังคม สิทธิทางการศึกษา สิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง เป็นต้น
สิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกัน

หลักการพื้นฐานอีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ การไม่เลือกปฏิบัติต่อมนุษย์ ซึ่งหลักการนี้ได้ถูกบรรจุเข้าไว้ในสิทธิมนุษยชนหลาย ๆ เรื่อง เช่น การขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ

หลักการนี้ มุ่งประสงค์ให้มนุษย์ทุกคนได้รับการยอมรับและสามารถถือสิทธิต่าง ๆ ได้ โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติจากเหตุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา สีผิว ถิ่นกำเนิด สถานภาพทางสังคม หรืออื่นใด ก็ตาม โดยข้อ ๑ แห่งปฏิญญาสากลได้กำหนดยืนยันไว้ว่า มนุษย์ทุกคนมีอิสรภาพตั้งแต่เกิดและมีความเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีและสิทธิต่าง ๆ
กิตติบดี

ไม่มีความคิดเห็น:

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...