วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สิทธิมนุษยชน : รวบรวมความหมายของการเลือกปฏิบัติ

รวบรวมคำอธิบายความหมายของการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
ความหมายของ คำว่า การเลือกปฏิบัติ

การเลือกปฏิบัติ หรือ Discrimination สามารถอธิบายได้จากบทนิยามศัพท์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ให้ความหมายไว้ว่า การปฏิบัติที่แตกต่างกัน การกีดกัน การหน่วงเหนี่ยว หรือการลำเอียงซึ่งมีพื้นฐานมาจากเรื่องเพศ ผิว เชื้อชาติ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง หรือความคิดเห็นอื่น ๆ สัญชาติ หรือที่มาในสังคม ความยากดีมีจน สถานะของแหล่งกำเนิด หรือสถานะอื่น ๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หรือมีผลกระทบหรือทำให้สูญเปล่าหรือทำให้การยอมรับต้องเสื่อมเสียไป การเสวยสิทธิหรือการใช้สิทธิโดยบุคคลทุกคนบนจุดยืนที่เสมอภาคกันซึ่งสิทธิและเสรีภาพทั้งมวล[1]

อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในเรื่องเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า การแบ่งแยก การกีดกัน การหน่วงเหนี่ยวหรือการลำเอียงโดยมีที่มาจากเชื้อชาติ ผิว การสืบสายโลหิต หรือ สัญชาติ หรือ ชาติพันธุ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หรือมีผลทำให้เกิดการเป็นโมฆะหรือทำให้เสื่อมทรามลงซึ่งการยอมรับนับถือการเสวยสิทธิหรือการใช้สิทธิตรงจุดยืนที่เท่าเทียมซึ่งสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นมูลฐานในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หรือ การใช้ชีวิตในสังคมที่คล้ายคลึงกัน[2]

อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ได้ให้คำอธิบายถึงคำว่าการเลือกปฏิบัติต่อสตรี ไว้ว่า หมายถึง การแบ่งแยก การกีดกัน หรือ การกำกัดใด ๆ เพราะเหตุแห่งเพศ ซึ่งมีผลหรือความมุ่งประสงค์ที่จะทำลายหรือทำให้เสื่อมเสียการยอมรับ การได้อุปโภค หรือ ใช้สิทธิโดยสตรี โดยไม่เลือกสถานภาพด้านการสมรส บนพื้นฐานของความเสมอภาคของบุรุษและสตรีของสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม พลเมืองหรือ ด้านอื่น ๆ[3]

Black’s law Dictionary ได้ให้ความหมายกล่าวโดยสรุปของคำว่า การเลือกปฏิบัติ หมายความว่า การปฏิบัติใด ๆ ต่อบุคคลหรือกลุ่มคนโดยไม่เท่าเทียมกันและไร้เหตุผล หรือ การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือปฏิเสธที่จะปฏิบัติเนื่องจาก เชื้อชาติ อายุ สัญชาติ หรือศาสนา หรือ การปฏิบัติที่แตกต่างเนื่องความชอบหรือไม่ชอบที่ปราศจากเหตุผลที่สามารถรับฟังได้ [4]

คำว่า“การเลือกปฏิบัติ หมายความว่า การกีดกันหรือการให้สิทธิพิเศษ อันเนื่องจากความแตกต่าง ๆ เชื้อชาติ เพศ ศาสนา ความเห็นทางการเมือง การแบ่งแยกเชื้อชาติหรือสังคมอันนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อความเสมอภาคในโอกาส[5]

คำว่า “Discrimination” หมายถึง การกีดกัน เลือกปฏิบัติต่อคนบางกลุ่มในทางที่ให้สิทธิน้อยกว่าคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทางเผ่าพันธุ์ ภาษา หรือ ศาสนา การกีดกันเป็นเรื่องที่ถือปฏิบัติในสังคมต่าง ๆ มาช้านาน ในศตวรรษที่ 20 ภายหลังการเลือกปฏิบัติต่อพวกยิวอย่างหฤโหดของพวกนาซีเยอรมัน ประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายได้ใช้ความพยายามที่จะขจัดปัญหานี้ โดยกระบวนการปฏิรูปทางกฎหมายและศาล[6]
กฎหมายแห่งรัฐนิว เซาท์ เวลล์ (New South Wales) ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า การเลือกปฏิบัติ ไว้ดังนี้ การเลือกปฏิบัติหมายความว่าการกระทำต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดอย่างไม่เป็นธรรมเพราะเหตุที่บุคคลนั้นมีลักษณะที่ต่างกับบุคคลทั่วไป[7]
การตีความกฎหมายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐ New Brunswick ประเทศแคนนาดาได้ให้คำนิยามความหมายว่าการกระทำใด ๆ ไม่ว่าด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ซึ่งมีผลทำให้บุคคลหรือกลุ่มคนใดต้องถูกจำกัดโอกาสที่บุคคลพึงจะได้รับ เนื่องมาจากเหตุลักษณะเฉพาะของบุคคลนั้น อาทิ เรื่องเชื้อชาติ หรือ เรื่องสีผิว การเลือกปฏิบัติที่เป็นความผิดต่อกฎหมายของแคนนาดาแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ 1. การเลือกปฏิบัติโดยตรง 2. การเลือกปฏิบัติโดยอ้อม ซึ่งรูปแบบการเลือกปฏิบัติบ่อยครั้งมักจะเป็นผลมาจาก การตั้งข้อรังเกียจ การมีอคติ การมีทัศนคติในแง่ลบและการกระทำที่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัตินั้นจะต้องไม่มีเหตุผลประกอบถึงการเลือกปฏิบัติที่เหมาะสมและเพียงพอ[8]

สรุปได้ว่า การเลือกปฏิบัติ หมายถึง การกระทำหรืองดเว้นกระทำการ ใด ๆ ที่มีลักษณะของการกีดกัน การแบ่งแยก การหน่วงเหนี่ยว หรือการจำกัดซึ่งสิทธิแก่บุคคลใด อันมีผลทำให้บุคคลนั้นไม่ได้รับโอกาสแห่งความเท่าเทียมกันอย่างที่บุคคลนั้นพึงจะได้รับ และในการตีความความหมายของการคำว่า การเลือกปฏิบัติ ตามปฏิญญาสากลฯ ควรจักต้องตีความตามความมุ่งหมายที่ต้องการให้มีการเคารพต่อมนุษย์อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน
ดังนั้น การเลือกปฏิบัติ ควรมีความหมายว่าที่ครอบคลุมในประเด็นการปฏิบัติที่แตกต่างกัน การกีดกัน การหน่วงเหนี่ยว หรือการลำเอียงและมีอคติ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากเรื่อง เพศ ผิว เชื้อชาติ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง หรือความคิดเห็นอื่น ๆ สัญชาติ หรือ ที่มาในสังคม ความยากดีมีจน สถานะของแหล่งกำเนิด หรือ สถานะอื่น ๆ ซึ่งการกระทำดังกล่าว มีผลกระทบต่อหรือสร้างความเสื่อมเสียหลักแห่งความเสมอภาคของบุคคล
ที่สำคัญจะเห็นได้ว่า ความหมายของคำว่า การเลือกปฏิบัติ (Discrimination) มิได้เป็นคำที่มีความหมายที่ไม่ดีในคำของมันเองเสียทีเดียวคำว่าการเลือกปฏิบัติมักจะมีความหมายอยู่ 2 มิติในตัวของมันเอง ในประการหนึ่ง มนุษย์ทุกคนต่างมีเจตจำนงค์เสรี (Freewill) ที่จะกระทำอะไรก็ได้ที่ตนอยากกระทำภายใต้กฎหมาย หรือ สามารถเลือกที่จะกระทำได้ถ้ามีเหตุผลที่เหมาะสม เช่น การเลือกปฏิบัติต่อคนตาบอดไม่ให้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ หรือ การเรียกเก็บภาษีตามฐานรายได้ที่แตดต่าง เป็นต้น เพราะในการเลือกปฏิบัติในแต่ละกรณีดังกล่าวมันมีคำตอบในตัวของมันเองว่าเพราะอะไรถึงได้เลือกที่จะกระทำต่อบุคคลเหล่านั้น กรณีเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นมิติด้านบวก (Positive Dimension)
ในทางตรงกันข้าม ความหมายของคำว่าการเลือกปฏิบัติ ที่เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ และไม่ควรให้เกิดมีขึ้นในสังคม คือ การเลือกปฏิบัติอย่างไร้เหตุผล หรือ เหตุผลที่ตัดสินใจเลือกปฏิบัติไม่ได้เกี่ยวข้องในสาระสำคัญเลย ซึ่งการเลือกปฏิบัติดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม Unjustifiable Discrimination ซึ่งในแง่นี้ก็คือมิติด้านลบ (Negative Dimension) ของคำว่าการเลือกปฏิบัตินั่นเอง

อ้างอิง แหล่งที่มาจาก---------------------
[1]กุลพล พลวัน, สิทธิมนุษยชนในสังคมไทย (กรุงเทพมหานคร: เค ซี กรุ๊ป, 2543), หน้า 381-382.
[2]อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในเรื่องเชื้อชาติทุกรูปแบบ ข้อบทที่ 1.
[3]อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ ข้อบทที่ 1.
[4]Henry Campbell Black, Black’s law Dictionary (Boston: West Publishing, 1979), p. 420.
[5]ชุลีรัตน์ ทองทิพย์, “สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของคนงานตามาตรฐานสากล.” วารสารแรงงานสัมพันธ์ 39, 3 (ธันวาคม 2541): 25-26.
[6]วิทยากร เชียงกูล, อธิบายศัพท์การเมืองการปกครองสมัยใหม่
(กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สายธาร, 2543), หน้า 69.
[7]Anti-discrimination Board. Unlawful discrimination in New South Wales [Online]. Available URL: http://www.lawlink.nsw.gov.au.
[8]The New Brunswick Human Rights Commission. Equality Rights Definitions . [Online] (April 3,2000): http:// www.gov.nb.ca/hrc-cdp/e/el defini.htm.

หลักการ

มาตรา ๓๐ (รธน. พ.ศ. ๒๕๕๐) ใช้คำว่า การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม จะกระทำมิได้

---------------------------------
กิตติบดี

ไม่มีความคิดเห็น:

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...