สถาบันการเงินกับระบบเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ของสถาบันการเงินกับระบบเศรษฐกิจ
๑. สถาบันการเงิน หมายความว่า
“ธุรกิจสถาบันการเงิน” หมายความว่า ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และให้หมายความรวมถึงการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
๑.๑ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ หมายความว่า การประกอบธุรกิจรับฝากเงินหรือรับเงินจากประชาชนที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ และใช้ประโยชน์จากเงินนั้นโดยวิธีหนึ่งวิธีใด เช่น ให้สินเชื่อ ซื้อขายตั๋วแลกเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด ซื้อขายเงินปริวรรตต่างประเทศ
๑.๒ ธุรกิจเงินทุน หมายความว่า การประกอบธุรกิจรับฝากเงินหรือรับเงินจากประชาชนที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ ซึ่งมิใช่การรับฝากเงินหรือรับเงินไว้ในบัญชีที่จะเบิกถอนโดใช้เช็ค และใช้ประโยชน์จากเงินนั้นโดยวิธีหนึ่งวิธีใด เช่น ให้สินเชื่อ ซื้อขายตั๋วแลกเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด
๑.๓ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์” หมายความว่า การประกอบธุรกิจรับฝากเงินหรือรับเงินจากประชาชนที่จะจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ และใช้ประโยชน์จากเงินนั้นอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
๑) การให้กู้ยืมเงินโดยวิธีรับจำนองอสังหาริมทรัพย์
๒) การรับซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยวิธีขายฝาก
๑.๔ ธุรกิจทางการเงิน หมายความว่า ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต หรือธุรกิจอื่นตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
ข้อสังเกต ธุรกิจสถาบันการเงินนั้นจะมีลักษณะของ (๑) การระดมทุน และ (๒) การกระจายเงิน หรือเรียกรวม ๆ ว่า “การบริหารสภาพคล่อง” ซึ่งหากจะกล่าวจำเพาะบุคคลเรียกว่า “การบริหารสภาพคล่องของปัจเจก” หรือกล่าวถึงภาพรวมของระบบเศรษฐกิจเรียกว่า “การบริหารสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ” ซึ่งจะเห็นได้ว่า เครื่องมือที่รัฐบาลใช้ให้เกิดสภาพคล่องตามหลักเศรษฐศาสตร์ คือ “นโยบายเรื่องดอกเบี้ย” โดยคำนึงถึงภาวะทางเศรษฐกิจ (เงินเฟ้อ/เงินฝืด)
๒. ระบบเศรษฐกิจ หมายความว่า
อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ระบบเศรษฐกิจคือภาพรวมของภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีการไหลเวียนของเงิน โดยมีตลาดการเงินทำหน้าที่เป็นตัวจักรสำคัญ (หัวใจ) ในการกระจายเงินไปยังภาคส่วนต่าง ๆ (และยิ่งมีความสำคัญมาก หากภาคส่วนใดต้องการเงินมาเสริมความมั่นคง) ภาคส่วนดังกล่าวได้แก่
๑. ภาคครัวเรือน หรือ ภาคประชาชน (ในความหมายของการจับจ่ายใช้สอยของปัจเจกชน)
๒. ภาคธุรกิจ หรือ ผู้ประกอบกิจการห้างร้าน ทั้งในรูปนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม
๓. ภาคต่างประเทศ หรือ ผู้ประกอบธุรกิจนำเข้าและส่งออกสินค้า
๔. ภาครัฐบาล
ขอให้ท่านลอง ไล่สายถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งจะมีผลเชื่อมโยงกันหมด ตัวอย่าง นายกิตติ เป็นข้าราชการ มีเงินเดือน (ภาคครัวเรือน) ต้องนำไปจับจ่ายใช้สอยซื้อหาเครื่องอุปโภคบริโภค (ภาคธุรกิจ....สัมพันธ์กับภาคต่างประเทศ) โดยที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อสินค้าและบริการ และต้องเสียภาษีรายได้เมื่อถึงกำหนดชำระภาษีประจำปี (ภาครัฐบาล) ....สมมติว่านายกิตติ ต้องการซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค แต่มีปัจจัยไม่เพียงพอ นายกิตติ สามารถไปติดต่อเพื่อเสริมสภาพคล่องของตนได้ที่ตลาดการเงิน เช่นกัน เมื่อนายกิตติต้องการเพิ่มรายได้ (ดอกเบี้ย) หรือลงทุน (เงินปันผล) ก็สามารถดำเนินการได้โดยผ่านตลาดการเงิน ขอให้พิจารณาตามแผนภาพเรื่องชนิดของผลตอบแทนประกอบ
๓. ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเงินกับระบบเศรษฐกิจ
๑. ทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้แก่ภาคส่วนต่าง ๆ
๒. ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการบริหารสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ
๓. ทำหน้าที่เชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจของประเทศ
๔. ตลาดการเงิน คืออะไร
ทำความเข้าจอย่างง่าย ก็คือ แหล่งรวมของเงินของทั้งผู้ต้องการออม ต้องการเงิน หรือ ต้องการลงทุน แบ่งตลาดการเงิน ออกเป็นสองประเภท ได้แก่ ตลาดเงิน (สถาบันการเงิน...ต้องการออม ระดมทุน หรือต้องการเงิน) และตลาดทุน (ตลาดหลักทรัพย์...การลงทุน)
๕. สถาบันการเงินสามารถเข้าไปลงทุนได้หรือไม่
ได้ เพราะ สถาบันการเงินเป็นธุรกิจประเภทหนึ่ง ที่มีความจำเป็นต้องระดมทุนมาใช้ในการดำเนินกิจการ การระดมทุนของสถาบันการเงินมีหลายแบบ เช่น การรับฝากเงิน (การออม) ผลตอบแทน ได้แก่ ดอกเบี้ยเงินฝาก หรือ การเข้าไปลงทุนในตลาดทุน (ซื้อหุ้นสถาบันการเงิน) ผลตอบแทน ได้แก่ เงินปันผล หรือ การกู้ยืมเงิน ผลตอบแทน ได้แก่ ดอกเบี้ยเงินกู้
๖. ตลาดเงินกับตลาดทุน มีความแตกต่างกันหรือไม่
---มี--- จากการเปรียบเทียบข้างต้น จะเห็นได้ว่า โดยหลักแล้ว ตลาดเงิน (ธนาคาร) จะมีบทบาทในการเคลื่อนย้ายเงินในลักษณะคล่องตัวเพื่อเสริมสภาพคล่อง ส่วนตลาดทุน คือ การระดมทุนไปใช้ประโยชน์ในการสร้างความมั่นคั่งหรือเสถียรภาพของธุรกิจ (การขยายตัวของธุรกิจ) ซึ่งบทบาทมีความแตกต่างกันไป แต่อย่างไรก็ตามก็เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีการขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ
๗. อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถาบันการเงินมีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจ
ได้แก่ (๑) ลัทธิพาณิชย์นิยม/ทุนนิยม
(๒) การค้าระหว่างประเทศ
(๓) การเปิดเสรีทางการค้า
จากเดิม รัฐบาลมีหน้าที่ทั้ง “สร้างความมั่นคง ปลอดภัย” และ “สร้างความมั่งคั่ง”
แต่ภายหลังมีการจัดระเบียบโลก โดยมีกติกาสากลว่า “รัฐบาลมีหน้าที่เพียงสร้างความมั่นคง ปลอดภัยให้แก่ประชาชน” ส่วนหน้าที่ “สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศ” เป็นหน้าที่ของภาคเอกชน รัฐบาลทำหน้าที่เป็นแต่เพียงผู้กำกับภาคเอกชนให้ดำเนินการไปตามกรอบกติกาเท่านั้น
สังเกตได้จากพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจ ดังนี้
(๑) ยุคของการล่าอาณานิคม
(๒) ยุคของการพัฒนา (เครื่องจักร)
(๓) ยุคของการพัฒนา (เครื่องจักรชั้นสูง)
(๔) ยุคโลกไร้พรมแดน (เทคโนโลยี)
๘. ประเทศไทยมีวิวัฒนาการตามข้อ ๗ หรือไม่
---มี---
สังเกตได้จาก พัฒนาการของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับแรกจนกระทั่งแผนฯปัจจุบัน ซึ่งมีพัฒนาการเป็นไปตามลำดับยุคต่าง ๆ ตามข้อ ๗
โปรดศึกษาเพิ่มเติม
§ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๐๖- ๒๕๐๙
§ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๑๐- ๒๕๑๔
§ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๑๕- ๒๕๑๙
§ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๒๐- ๒๕๒๔
§ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๒๕- ๒๕๒๙
§ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๓๐- ๒๕๓๔
§ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕- ๒๕๓๙
§ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๔๕- ๒๕๔๙
§ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๕๐- ๒๕๕๔
ซึ่งมีข้อน่าสังเกตว่า ในแผนฯ ฉบับต่าง ๆ นั้น เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศและการค้าระหว่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญ
๙. ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ ๑๐ มีแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินอย่างไร
แนวทางการพัฒนาด้านการเงิน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจสนับสนุนการปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่ระบบการผลิตที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้นและช่วยกระจายความเจริญและความเป็นธรรมไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ของสังคม โดยการดำเนินนโยบายการเงินที่โปร่งใสตรวจสอบได้และมีความสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาและอัตราแลกเปลี่ยน การกำกับดูแลสถาบันการเงินให้มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ การดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศไม่ให้ผันผวน การพัฒนาตลาดทุนให้ก้าวหน้าและมีการกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพทำให้การพึ่งพาแหล่งเงินทุนมีความสมดุลมากขึ้นระหว่างระบบธนาคารและตลาดทุน การส่งเสริมการออมทำให้การพึ่งพาเงินทุนในประเทศและการระดมทุนจากต่างประเทศมีความสมดุลมากขึ้นและลดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตดุลการชำระเงิน การสร้างความร่วมมือทางการเงินกับประเทศในภูมิภาคเพื่อรองรับวิกฤตจะช่วยให้ประเทศไทยมีความสามารถในการเผชิญวิกฤตได้ดีขึ้น การส่งเสริมระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงมากขึ้นจากการปรับโครงสร้างระบบสถาบันการเงินซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินมีแนวโน้มที่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นจากการรวมตัวและควบรวม การดำเนินงานของระบบประกันเงินฝาก การดำเนินงานของศูนย์ข้อมูลเครดิตและการบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพเงินกองทุนของสถาบันการเงินที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการออมและสนับสนุนให้มีการระดมทุนไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงอย่างเหมาะสม
นอกจากนี้มีการพัฒนาระบบสถาบันการเงินและตลาดทุนให้มีความมั่นคง มีเสถียรภาพกลไกตลาดทำงานอย่างมีประสิทธิภาพทำให้เงินออมของประชาชนมีความมั่นคง ปลอดภัย และมีผลตอบแทน รวมถึงการปรับโครงสร้างสถาบันการเงินตามแผนพัฒนาสถาบันการเงิน และเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสของการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางการเงินที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อให้ระบบสถาบันการเงินมีความมั่นคง และการสร้างความมั่นคงและเข้มแข็งของสถาบันการเงินภายใต้บรรยากาศทางการเงินที่การแข่งขันมากขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
กิตติบดี
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑
กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...
-
โรงเรียนสอนกฎหมายภายใต้บริบทของสังคมไทย หากจะกล่าวถึงสัญลักษณ์ในแวดวงกฎหมายหรือคนในกระบวนการยุติธรรมคงหนีไม่พ้นรูปตราชู หรือเทพีถือตราชู เพ...
-
การแบ่งประเภทกฎหมาย มีดังนี้ (๑) พิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณี (๒) พิจารณาโดยพิจารณาจากลักษณะแห่งการใช้กฎหมาย ๑. การแบ่งแยกประเภทโดย...
-
สรุป สัปดาห์ที่ ๓ /ภาคปลาย ปี ๒๕๕๒ การเรียนรู้แบ่งเป็น ๓ ช่วง ช่วงที่หนึ่ง (๕๐ นาที) - อธิบายให้ทราบว่า พัฒนาการของสิทธิมนุษยชนมีทั้งหมด...
2 ความคิดเห็น:
เรียนท่านอาจารย์ที่เคารพ คือเนื่องจากผมมีความสงสัยในเรื่องของตลาดการเงินกับระบบการเงิน ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรครับ เพราะหากมองดูแล้ว สองเรื่องดังกล่าวนี้เหมือนจะไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่ในบางเรื่องก็มีความสัมพันธ์กันจนเหมือนจะเป็นเรื่องเดียวกันครับ จึงต้องการเรียนถามอาจารย์เพื่อขอคำแนะหรือความรู้เพิ่มเติมครับ ขอบคุณครับ
เรียนอาจารย์ที่เคารพ
คือกระผมอยากทราบ นักกฎหมายทางการเงิน
ต้องมีความรู้ด้านอะไรบ้าง
ขอบคุณครับ
แสดงความคิดเห็น