หลักการ
“กฎหมายนั้นต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ”
“The law must be applied in all cases which come within the letter or the spirit of its provisions”
“กฎหมาย” หมายถึง กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งความเห็นของพระยาเทพวิฑูร (บุญช่วย วณิกกุล) ได้ให้ทรรศนะว่า คำว่า กฎหมาย ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔ นั้น หมายความถึง กฎหมายอันเป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง เป็นต้น[1] ซึ่งขยายขอบเขตเกินกว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
“บรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ” หมายถึง มาตราทุกมาตราที่บัญญัติขึ้นตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
“การตีความดพื่อปรับใช้กฎหมาย” หมายถึง การค้นหาเพื่อสร้างความกระจ่างชัดในความหมายของกฎหมาย
การค้นหาความหมายของกฎหมายเพื่อนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมาย ถ้าเลือกแสวงหาแบบกว้างขวางจนเกินไปแบบมหาสมุทร ก็เป็นปัญหาในทางปฏิบัติได้ แต่หากขีดวงจำกัดให้แคบจนเกินไป ก็เป็นอุปสรรคของผู้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ การตีความกฎหมายจึงจำเป็นต้องถูกกำกับโดยอาศัยหลักดังนี้
พิจารณาจากบทบัญญัติของกฎหมาย[2]
มีหลายท่านกล่าวไว้ว่า “เมื่อถ้อยคำชัดเจนแล้ว ก็ไม่ต้องตีความ” การตีความกฎหมายจะตีความเฉพาะกรณีที่ถ้อยคำของกฎหมายไม่ชัดเจนเท่านั้น[3] เช่น มีการนำป้ายไปปักไว้ที่สนามหญ้าว่า ห้ามเดินลัดสนาม เมื่อพิจารณาจากลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏบนป้าย ถ้อยคำหรือถ้อยความได้กำหนดไว้แจ้งชัดว่า “ห้ามเดิน” เหยียบย่ำไปที่พื้นสนามนั้น แต่หากมีผู้สงสัยว่าแล้ว วิ่ง กระโดด ขี่รถจักรยาน (ยนต์) ขับรถยนต์ เข้าไปในสนามได้หรือไม่ เพราะลายลักษณ์อักษรได้ปรากฏอยู่แจ้งชัดแล้วว่า “ห้ามเดิน” เท่านั้น มิได้รวมถึง การวิ่ง กระโดด หรือกิจกรรมอื่นใด จากตัวอย่างดังกล่าว คงทำให้ท่านเห็นได้ว่า การอ่านแต่เพียงบทบัญญัติแห่งกฎหมายไม่เพียงพอ ที่จะหยั่งทราบว่าหมายความว่าอย่างไร จะต้องพิจารณาถึงเจตนารมณ์ที่แฝงอยู่เบื้องหลังประกอบด้วย ซึ่งในกรณีดังกล่าว การที่ป้ายเตือนห้ามเดินลัดสนาม ผู้ปิดประกาศมีเจตนาหรือความมุ่งหมายที่ไม่ต้องการให้พื้นสนามได้รับความเสียหาย ดังนั้น การวิ่ง การกระโดด หรือ กิจกรรมอื่นใดที่จะทำให้เกิดความเสียหายกับพื้นสนามย่อมไม่สามารถกระทำได้
ทำให้เห็นได้ว่า การค้นหาหรือแสวงหาความหมายของกฎหมายต้องไม่หยุดอยู่เฉพาะตัวบทกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาเจตนารมณ์ประกอบด้วยเสมอ ซึ่งในการค้นหาเจตนารมณ์ของกฎหมาย (The Spirit of Law) นั้น มีวิธีการดังต่อไปนี้
๑. สอบถามโดยตรงจากผู้ร่างกฎหมาย ว่าผู้ร่างมีเจตนาอย่างไร ซึ่งในทางปฏิบัติ (ความจริง) ผู้ร่างกฎหมายส่วนใหญ่ มักจะไม่อยู่ให้ถาม หรือไม่ก็ล้มหายตายจากไป หรืออื่นใดก็ตามที จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการที่สองคือ
๒. อ่านบทบัญญัติแห่งกฎหมายทั้งฉบับ กล่าวคือ เมื่อไม่มีผู้ร่างอยู่ให้ซักถามได้ ก็อ่านบทบัญญัติแห่งกฎหมายทั้งฉบับ (The whole text)
การอ่านถ้อยคำแห่งกฎหมายทุกคำของบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นั้น ต้องไม่ละเลยคำหนึ่งคำใดของกฎหมาย เพื่อจะได้หยั่งทราบว่า ผู้ร่างกฎหมายมีความประสงค์ที่แท้จริงอย่างไร ดังสุภาษิตกฎหมายลาติน กล่าวไว้ว่า “ถ้อยคำแห่งกฎหมายทุกคำต้องไม่ถูกล่วงข้ามไปเสีย” (A VERBIS LEGIS NON EST RECEDENDUM; from the words of the law, there is not any departure) และสามารถหยั่งทราบเจตนารมณ์โดยอาศัยหลักดังนี้
(๑) หลักสามัญสำนึก
ผู้เขียนได้บรรยายอยู่ในชั้นเรียนเสมอว่า เมื่อคุณมาเรียนกฎหมาย กรุณาอย่าลืมนำสามัญสำนึกหรือ Common Sense ของคุณมาด้วย When you come to law school; don’t forget to bring your common sense. เพราะ กฎหมายส่วนมากนั้นมีที่มาจากสามัญสำนึกของมนุษย์
“1 pound of common sense needs 10 pound of learning”
การเรียนรู้ถึง ๑๐ ปอนด์ดังอุปมานี้ มนุษย์เรียนรู้และสั่งสมจากการกระทำ และการกระทำหรือปฏิบัติใด ๆ ที่สังคมเห็นว่าดีงามและถูกต้องก็จะยึดถือเป็นประเพณี ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในการค้นหาความหมายของกฎหมายที่ให้ยึดหลักสามัญสำนึกนั้น มนุษย์ย่อมพึงนำสิ่งที่สังคมเห็นพ้องว่าถูกต้อง ดีงาม เป็นเครื่องชี้วัดอยู่แล้ว
(๒) หลักเหตุและผล (Logical)
บางครั้งลำพังจะใช้หลักสามัญสำนึกเพียงอย่างเดียวไม่อาจค้นหาความหมายได้ จึงต้องอาศัยผู้รู้ และ/หรือผู้เชี่ยวชาญมาให้คำตอบ ซึ่งคำตอบที่ผู้รู้และ/หรือผู้เชี่ยวชาญจะให้นั้น จำเป็นต้องอาศัยเหตุและผลตามหลักตรรกะมาตีความ เพื่อค้นหาความหมายของกฎหมาย (โปรดศึกษาเพิ่มเติมจากบทที่ ๑.๔ ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมมนุษย์กับกฎหมาย, หนังสือความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไปของผู้เขียน)
เมื่ออาศัยหลักการทั้งสองเข้าปรับกับบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เจตนารมณ์ของกฎหมายจะค่อย ๆ สาดแสงปรากฏเด่นชัดขึ้น ให้ผู้อ่านและ/หรือผู้ใช้กฎหมายทราบว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น ๆ มุ่งประสงค์ในเรื่องใด
แต่อย่างไรเสียรองศาสตราจารย์สมยศ เชื้อไทย ได้กล่าวเตือนถึงการตีความไว้ว่า “ความมุ่งหมายของกฎหมายถูกจำกัดกรอบด้วยตัวหนังสือ” ซึ่งเปรียบได้เหมือนกับ “การเป่าลม (เจตนารมณ์) เข้าไปในลูกโป่ง (ตัวอักษร) ที่สามารถเป่าลมได้เท่าที่ลูกโป่งสามารถรับได้เท่านั้น”[4] เช่น มาตรา ๑๓๔๙ วรรคสอง บัญญัติว่า “...ที่ดินแปลงใดมีทางออกได้แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือทะเล หรือมีที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากไซร้ ...” ความเช่นนี้ ที่ดินที่ถูกปิดล้อมด้วยที่ชายเลน ไม่มีทางออกสู่ที่สาธารณะ เจ้าของที่ดินร้องขอให้เปิดทางจำเป็นได้หรือไม่ ซึ่งการค้นหาความมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ของกฎหมายจะพบว่า การที่กฎหมายบัญญัติเช่นนี้ ก็เนื่องด้วยเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่มีที่ดินที่ไม่มีทางออก แต่ถ้าพิจารณาถึงตัวอักษร (By Letter) จะไม่มีถ้อยคำใดที่สามารถตีความไปถึงที่ชายเลนได้ (สระ บึง หรือทะเล หรือมีที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากัน) ก็ไม่สามารถตีความจนกว้างขวางเกินไปได้ไม่[5]
ดังนั้น ท่านต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า ผู้เรียนกฎหมายไม่อาจตีความกฎหมายโดยใช้ศาสตร์แห่งการเดาอย่างมั่ว ๆ ไม่ได้ (อีกต่อไปแล้ว) หากท่านมีความจำเป็นจะต้องเดา จงใช้ศาสตร์แห่งการเดา โดยอาศัย Common Sense หรือ อาศัยเหตุและผล เป็นหลักของการเดาเสมอ
สรุปได้ว่า การตีความกฎหมาย ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรว่าบัญญัติไว้อย่างไร กอปรกับพิจารณาถึงเจตนารมณ์ที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังของลายลักษณ์อักษรนั้นด้วยว่ามีสามัญสำนึก และเหตุผลเช่นใด
--------------------------------------------------------
[1] อ้างใน, ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล, กฎหมายแพ่งหลักทั่วไป,สำนักพิมพ์นิติธรรม, พ.ศ.2545, หน้า6.
[2] ถ้อยคำตามตัวอักษร (By Letter) มี 2 ประเภท คือ 1.ภาษาธรรมดา 2. ภาษาวิชาการ.
[3] สมยศ เชื้อไทย,วิชากฎหมายแพ่ง : หลักทั่วไป, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2534, หน้า 132.
[4]สมยศ เชื้อไทย,คำอธิบายวิชากฎหมายแพ่ง-หลักทั่วไป ความรู้กฎหมายทั่วไป, พ.ศ. 2547,หน้า 166.
[5] เพิ่งอ้าง.
--------------------------------------------------------
กิตติบดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น