วันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ความรู้พื้นฐานทางกฎหมาย : การแบ่งประเภทของกฎหมาย (ตอนที่ ๒)

การแบ่งประเภทของกฎหมาย (ต่อ)

๒. การแบ่งแยกประเภทโดยอาศัยลักษณะแห่งการใช้กฎหมาย

การแบ่งกฎหมายโดยอาศัยลักษณะแห่งการใช้กฎหมาย จะพิจารณาจากเนื้อหาสาระ (Substance) และ/หรือลักษณะของการใช้กฎหมาย (Procedure) ซึ่งแบ่งกฎหมายออกเป็น ๒ ประเภท

๑. กฎหมายสารบัญญัติ (Substantive Law)
หมายถึง กฎหมายที่มีลักษณะเป็นส่วนเนื้อหาของกฎหมาย เป็นบทบัญญัติที่สั่งห้ามบุคคลไม่ให้กระทำหรือบังคับให้กระทำการ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เป็นกฎหมายกำหนดถึงบรรดาสิทธิและหน้าที่ของคู่กรณี หรือประมวลกฎหมายอาญา หรือประมวลกฎหมายที่ดิน ประมวลกฎหมายแรงงาน เป็นต้น

เช่น ตัวอย่างการลักทรัพย์ กฎหมายได้มีการกำหนดถึงเนื้อหาสาระว่า “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่เป็นของผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต” เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ต้องระวางโทษ หรือ ตัวอย่างการที่ลูกหนี้ไปกู้ยืมเงินเจ้าหนี้ แต่เมื่อถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้กฎหมายได้มีการบัญญัติสิทธิของเจ้าหนี้ว่ามีประการใดบ้าง หรือ กรณีใดที่เรียกว่าถึงกำหนดเวลาชำระหนี้หรือลูกหนี้ตกเป็นฝ่ายผิดนัดชำระหนี้ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๔ กำหนดให้เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ หรือ มาตรา๒๐๓ หากหนี้นั้นไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ไว้ กฎหมายได้บัญญัติถึงเนื้อหาว่า ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้นั้นมิได้กำหนดลงไว้หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ เจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันและฝ่ายลูกหนี้จะต้องชำระหนี้ของตนได้โดยพลันเช่นกัน หรือ กรณีหนี้รายนั้นมีกำหนดระยะเวลา มาตรา ๒๐๔ กำหนดเนื้อหาว่า ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วและเจ้าหนี้ได้เตือนแล้ว และลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ กฎหมายถือว่าลูกหนี้รายนั้นเป็นฝ่ายผิดนัด เป็นต้น

แต่มิได้หมายความว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ทางแพ่ง หรือมีผู้กระทำความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดทางอาญา เช่น ลักทรัพย์ หรือ หมิ่นประมาทดังตัวอย่างข้างต้น เจ้าหนี้และ/หรือผู้เสียหาย และ/หรือเจ้าพนักงานปกครองจะสามารถบังคับขู่เข็ญหรือลงโทษผู้นั้นได้ทันที เนื่องจาก ประเทศไทยเป็นสังคมที่ปกครองโดยระบบประชาธิปไตย ซึ่งถือหลักกฎหมายเป็นใหญ่ หรือที่เรียกว่า “Rule of Law” หมายความว่า สังคมทุกองคาพยพต้องอยู่ภายใต้กฎหมายทั้งสิ้น และจะต้องดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามที่วิธีที่กฎหมายวางกฎเกณฑ์ไว้เท่านั้น ซึ่งเรียกว่า “Due Process of Law” ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกล่วงละเมิดจากการกระทำอันมิชอบ เช่น การใช้กำลังเข้าตัดสิน หรือการถูกกลั่นแกล้งระหว่างคู่กรณี ดังนั้น นอกจากจะมีกฎหมายกำหนดเนื้อหาสาระของรูปแบบว่าอะไรสามารถกระทำได้หรือไม่สามารถกระทำได้ ยังได้มีการกำหนดถึงวิธีการ ขั้นตอนหรือกระบวนการพิจารณาว่าคู่กรณีแต่ละฝ่ายมีสิทธิและหน้าที่ประการใด


ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกามีการกำหนดสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญา ว่าให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องแจ้งสิทธิแก่ผู้ต้องหาให้ทราบ ที่เรียกว่า หลัก “The Miranda Warning”[1] เช่น เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการจับกุม จะถูกกฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ต้องแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบว่า You have the right to remain silent. Anything you say can and will be used against you in a court of law. กล่าวคือ คุณมีสิทธิที่จะไม่พูด เพราะคำพูดของคุณจะถูกใช้เป็นพยานหลักฐานปรักปรำคุณในศาลได้ หรือ You have the right to be speak to an attorney, and to have an attorney present during any questioning. If you cannot afford a lawyer, one will be provided for you at government expense. กล่าวคือ คุณมีสิทธิปรึกษาทนายความหรือผู้ที่รู้กฎหมายได้ หากคุณไม่มีที่ปรึกษาด้านกฎหมาย (ทนายความ) ก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดหาให้คุณ เป็นต้น ซึ่งหลักมิแรนด้าวอนนิ่งนี้ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจละเลยหรือไม่แจ้งสิทธิให้แก่ผู้ต้องหา เมื่อคดีถูกนำขึ้นสู่ศาล ผู้ต้องหา (จำเลย) สามารถยกประเด็นดังกล่าว เป็นข้อต่อสู้คดี และศาลจะพิจารณาพิพากษายกฟ้องคดีได้ เป็นต้น (สำหรับประเทศไทยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็บัญญัติถึงสิทธิของผู้ต้องหาไว้ แต่ไม่ปรากฏว่า หากจำเลยยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นอ้าง ศาลจะพิจารณาพิพากษาอย่างไร)
สำหรับประเทศไทยการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดี ไม่ว่าจะเป็นในทางแพ่งหรือทางอาญา มีกฎหมายกำหนดถึงหลักเกณฑ์ ขั้นตอน การดำเนินคดี วิธีพิจารณาคดี ตลอดจนการบังคับคดีเพื่อให้สอดรับกับกฎหมายสารบัญญัติในแต่ละเรื่องที่เรียกรวม ๆ ว่า “กฎหมายวิธีสบัญญัติ”

๒. กฎหมายวิธีสบัญญัติ (Procedural Law)
หมายถึง กฎหมายที่บัญญัติกำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน การดำเนินคดี วิธีพิจารณาคดี ตลอดจนการบังคับคดี (Procedure of Law) เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เป็นกฎหมายที่กำหนดวิธีการดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดี และบังคับคดีในกรณีที่มีข้อพิพาททางแพ่ง มีการแบ่งเนื้อหาของวิธีพิจารณาความเป็น ๔ ภาค ได้แก่
ภาค ๑ บททั่วไป กล่าวถึงบทวิเคราะห์ศัพท์ เขตอำนาจศาล คำคู่ความ การยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสาร พยานหลักฐาน คำพิพากษาและคำสั่ง
ภาค ๒ วิธีพิจารณาความในศาลชั้นต้น
ภาค ๓ การอุทธรณ์ ฎีกา
ภาค ๔ วิธีการชั่วคราวก่อนศาลพิพากษา และการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
หรือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่กำหนดวิธีพิจารณาหรือขั้นตอนในการดำเนินคดีอาญาตั้งแต่
ภาค ๑ ข้อความเบื้องต้นที่กล่าวถึงหลักทั่วไป อำนาจพนักงานสอบสวนและศาล การฟ้องคดีอาญา และคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา หมายเรียก และหมายอาญา การจับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อยตัวชั่วคราว
ภาค ๒ สอบสวน วิธีการสวบสวน การชันสูตรพลิกศพ
ภาค ๓ วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น การฟ้องคดีอาญา การไต่สวนมูลฟ้อง การพิจารณา พิพากษาและคำสั่ง
ภาค ๔ การอุทธรณ์ และฎีกา
ภาค ๕ พยานหลักฐาน
ภาค ๖ การบังคับคดีตามคำพิพากษาและค่าธรรมเนียม ภาค ๗ การอภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา และการลดโทษ
-----------------------------------------------------------------
[1]Ernesto Miranda v Arizona. In 1963.
-----------------------------------------------------------------
กิตติบดี

ไม่มีความคิดเห็น:

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...