กรณีความสัมพันธ์กับระบบสถาบันการเงิน
----------------------------------------------------
นายพอล ครุกส์แมน นักเศรษฐศาสตร์ชาวสหรัฐอเมริกา กล่าวไว้ว่าโลกปัจจุบัน (โลกาภิวัฒน์) ได้มีการตระเตรียมการล่วงหน้ามานานแล้ว มิใช่เป็นอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นฉับพลัน
นับเนื่องจากการที่ประเทศไทยได้ตกลงทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง (ร.๔) ซึ่งสังคมไทยได้เรียนรู้กับการเป็นสังคมแห่งอารยประเทศ หรือ Civilization อันมีระบบกฎหมาย การศาล และระบบการเมืองเป็นประเด็นสำคัญในการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปแล้ว รูปแบบของการขยายตัวทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ การผลิตสินค้าเกษตรกรรมเพื่อการค้าขายมิใช่เพียงเพื่อบริโภคตนเองเท่านั้น ยังมีการผลิตเพื่อการค้าและการส่งออก ขอให้สังเกตในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการลงทุนเพื่อนำความเจริญทางเทคโนโลยีเครื่องจักรอยู่มาก มีการนำระบบการเงินมาเพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า มีความต้องการสถาบันการเงินเพื่อใช้อำนวยความสะดวกในด้านเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (พ.ศ. ๒๔๓๑ มีการจัดตั้งแบงค์หลวงแห่งกรุงสยามขึ้น ดำเนินงานด้านการเงินแทนรัฐบาล เช่น การจัดเก็บภาษี พิมพ์ธนบัตร ให้การกู้ยืม ฯลฯ หรือ ธนาคารฮ่องกงแอนด์เซี่ยงไฮ้) ในยุคนี้ประเทศไทยคุ้นเคยกับคำว่า “พัฒนา” หรือ Development ได้เกิดการแบ่งแยกระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็น ๒ ภาค ได้แก่ ภาคเกษตรกรรม และ ภาคอุตสาหกรรม
ภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมมีลักษณะของการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าวจึงเกิดกลุ่มคนที่ทำหน้าที่เป็นคนกลาง ระหว่างทั้งสองภาคส่วนนั้น โดยในสังคมระบบอุปถัมภ์นั้น ผู้ที่มีอำนาจทางการเมือง (ชนชั้นปกครอง) จะมีผลประโยชน์ร่วมกับกลุ่มทุนอย่างแนบแน่น ได้แพร่ขยายอิทธิพลเหนืออำนาจทางเศรษฐกิจ และมีความพยายามในการรักษาฐานอำนาจดังกล่าวไว้ กล่าวคือ สร้างภาวะให้อยู่เหนือปัจจัยการผลิตและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต นอกจากนี้มีการใช้อำนาจทางการเมืองเป็นเครื่องมือในการแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเรื่อยมาทุกยุคสมัย โดยตัวละครที่หมุนผ่านมาขึ้นอยู่กับปัจจัยว่ากลุ่มใดเป็นผู้มีอำนาจทางการเมือง
ก่อนพ.ศ. ๒๔๗๕ กลุ่มเจ้าขนมูลนาย
พ.ศ. ๒๔๗๕ กลุ่มชนชั้นปกครอง
พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๘๙ กลุ่มชนชั้นปกครอง
พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๕๐๐ กลุ่มทหาร
พ.ศ. ๒๕๐๑-๒๕๑๖ กลุ่มทหารและกลุ่มเจ้าขนมูลนาย
พ.ศ.๒๕๑๗-๒๕๓๕ กลุ่มทหารและกลุ่มทุน
พ.ศ. ๒๕๓๖-ปัจจุบัน กลุ่มธุรกิจการเมือง
ขอให้สังเกตว่า ในปี ๒๕๐๓ (จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์) ยุคกลุ่มทหารและกลุ่มเจ้าขุนมูลนาย เข้ามีอำนาจทางการเมือง ระบบเศรษฐกิจนั้นได้มีการริเริ่มนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของเอกชนขึ้น
การลงทุนโดยรัฐบาลpublic sector
· การวางรากฐานระบอบประชาธิปไตย
· การจัดระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (เสรีนิยม)
· การวางรากฐานระบอบประชาธิปไตย
· การจัดระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (เสรีนิยม)
การลงทุนโดยเอกชนprivate sector
· การลงทุนประกอบธุรกิจต่าง ๆ ทั้งภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม
· การจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ ในฐานะที่เป็นแหล่งเงินทุนให้แก่ภาค ธุรกิจ
· การลงทุนประกอบธุรกิจต่าง ๆ ทั้งภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม
· การจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ ในฐานะที่เป็นแหล่งเงินทุนให้แก่ภาค ธุรกิจ
ซึ่งจะพบว่า รัฐส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ขอให้ศึกษากรณีสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่มาเปิดสาขาในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสาขาของธนาคารตะวันตก หรือ ธนาคารของชาวจีนที่จดทะเบียนในประเทศไทย เช่น ธนาคารหวั่งหลีจั่น จำกัด (ธนาคารนครธน) ธนาคารตันเป็งชุน (ธนาคารมหานคร จำกัด) บริษัทจีนสยาม ฯลฯ หรือ ธนาคารของชาวจีนโพ้นทะเล หรือ ธนาคารของประเทศญี่ปุ่น หรือ ธนาคารที่คนไทยเป็นเจ้าของ ได้แก่ ธนาคารสยามกัมมาจล จำกัด (ธนาคารไทยพาณิชย์) ธนาคารแห่งเอเชียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชยการ จำกัด (ธนาคารเอเชีย) ธนาคารนครหลวงไทย และในช่วงพ.ศ. ๒๔๙๐ – ๒๕๐๓ (โดยประมาณ) องค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้ผลักดันให้ประเทศไทยปฏิบัติตามระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (ขอให้นักศึกษาศึกษาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ เป็นต้นมา แล้วจะเห็นพัฒนาการของสังคมไทย)
เมื่อมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น รัฐต้องสร้างระบบมาตรฐานในการกำกับดูแลกิจการธนาคาร ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล (นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยม) ดังนั้น พ.ศ. 2505 ได้มีการตราพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ขึ้น เพื่อ
๑. สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ฝากเงิน
๒. สร้างกลไกทำหน้าที่ในการเอื้อประโยชน์ในการลงทุนประกอบธุรกิจ
ขอให้พิจารณาเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับดังกล่าว ดังนี้
“เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือ ในปัจจุบันการธนาคารและการเศรษฐกิจได้ขยายตัวขึ้นเป็นลำดับ จึงสมควรได้ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ให้เหมาะสม เพื่อประโยชน์แก่การเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ตลอดจนให้ความคุ้มครองแก่ผู้ฝากเงินกับธนาคาร”
หมายเหตุ
ระยะแรกของการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ (พ.ศ. ๒๕๐๕) ได้ใช้วิธีการนำเงินฝากของประชาชนไปแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และกลุ่มของบริษัทในเครือญาติหรือที่เกี่ยวเนื่อง ทำให้ธนาคารมีผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และสามารถควบคุมแหล่งเงินทุนที่สำคัญภายในระบบเศรษฐกิจได้ ซึ่งพอทำให้เห็นว่า การลงทุนของรัฐนั้น มีลักษณะของการเอื้อประโยชน์ให้กับธนาคารพาณิชย์ หรือกลุ่มผลประโยชน์ที่ธนาคารพาณิชย์มีส่วนได้เสียด้วย ในขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์ก็จะเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มการเมือง หรือตอบแทนด้วยการสนับสนุนงบประมาณเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองต่อไป ในลักษณะของ “การต่างตอบแทน” หรือ เรียกว่า “ระบบอุปถัมภ์” ทั้งนี้ ขอให้ศึกษากรณีดังต่อไปนี้เพื่อเป็นอุทาหรณ์ประกอบการพิจารณา
๑. นโยบายกีดกันไม่ให้คนต่างด้าวจัดตั้ง หรือได้ผลประโยชน์ในวิสาหกิจ
๒. การใช้เงินภาษีของราษฎร์สนับสนุนกิจการของธนาคารพาณิชย์ (กรณีวิกฤติเศรษฐกิจช่วงปี ๒๕๔๐)
๓. นโยบายวิเทศธนกิจ หรือ Bangkok International Banking Facility : BIBF
ระบบการต่างตอบแทนดังกล่าว หากนักศึกษาลองศึกษาถึงประวัติศาสตร์จะพบว่า กลุ่มการเมืองพยายามยึดธนาคารพาณิชย์เป็นฐานทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด เพราะถือว่า ธนาคารพาณิชย์เป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม (ทุนนิยม) (ขอให้ศึกษาจากหนังสือหรือตำราที่เกี่ยวข้องกับ “พัฒนาการของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย”)
--------------------------------------------------
กิตติบดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น