วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2552

สาสน์จากคณบดี : ต้อนรับนักศึกษา รุ่นที่ ๖/๒๕๕๒


ทางสโมสรนักศึกษาฯ ได้ขอให้ผมเขียนสาส์นเพื่อนำไปลงในหนังสือต้อนรับนักศึกษาใหม่ ปีพ.ศ. ๒๕๕๒ ความดังนี้


สาสน์จากคณบดี

เมื่อครั้นอดีตกาล ผู้ปกครองประเทศจำต้องศึกษาหาความรู้ในศาสตร์ ๓ แขนง ประกอบด้วย เทววิทยา แพทยศาสตร์ และนิติศาสตร์ ซึ่งนับเป็นสดมภ์หลักในการสร้างศรัทธาแห่งภาวะผู้นำและอำนาจ โดยวิชานิติศาสตร์หรือกฎหมายนั้น ถือเอาเนื้อหาสาระเรื่องความยุติธรรมเป็นสำคัญ ซึ่งผู้ปกครองได้อาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือในการกำกับความเป็นระเบียบ แบบแผนทางสังคม และผู้ปกครองที่ได้ชื่อว่าเป็น Philosopher King หรือ มหาราชย์ หรือผู้ปกครองที่ดีนั้น จักต้องใช้หลักธรรมะเป็นเครื่องสะกดและกำกับการใช้อำนาจ ให้เป็นไปในทางที่เป็นคุณประโยชน์กับปวงชน หาไม่แล้ว หากการใช้อำนาจนั้นขาดซึ่งเมตตาธรรม หรือได้ฉ้อฉลเฉไฉออกไปในทางที่ลุ่มหลงกับอำนาจ ประชาชนก็จะถูกเบียดเบียนบีฑา จนสังคมต้องเผชิญกับความหายนะและเสื่อมสูญไป

เมื่อปัญญาของมนุษย์ต้องประกอบด้วยหัวสมองและหัวใจฉันใด กฎหมายต้องควบคู่กับความยุติธรรมด้วยฉันนั้น ดังนั้น ในการศึกษาวิชากฎหมายหรือการประกอบวิชาชีพกฎหมาย จึงจำเป็นต้องศึกษากฎหมายไปพร้อม ๆ กับการฝึกจิตสำนึกเรื่องความยุติธรรม โดยถือความยุติธรรมเป็นจิตวิญญาณหลักของนักนิติศาสตร์ ดังมีผู้กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาของวงการกฎหมายและ/หรือนักกฎหมายมิใช่อยู่ที่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หากอยู่ที่การปลูกจิตสำนึกของนักกฎหมายเป็นสำคัญ

เมื่อคุณธรรมของผู้ปกครองประเทศพึงปกครองแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของมหาชน โดยยึดหลักธรรมะ อันประกอบด้วย เมตตาธรรมและกรุณาธรรมแล้วนั้น นักนิติศาสตร์หรือผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายพึงต้องอุทิศตนเพื่อรับใช้สังคมส่วนรวม โดยยึดภูมิธรรมดังกล่าวเฉกเช่นกัน

เมื่อตระหนักรู้เช่นนั้นแล้ว ผมเชื่อมั่นว่า นักศึกษากฎหมายของเรา จักเต็มเปี่ยมไปด้วยความกระหาย อยากรู้ ควรรู้ และต้องรู้ ในสรรพวิชากฎหมายอย่างคร่ำเคร่ง เอาจริงเอาจัง ประกอบกับตื่นตัวที่จะอุทิศตนเพื่อทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น เพราะเขาและเธอจะถือเป็นโอกาสในการฝึกความกล้าแกร่งทางจริยธรรม เพื่อเตรียมความพร้อมออกไปสู่โลกภายนอก ในฐานะนักกฎหมายรุ่นใหม่ที่เป็นความหวังของประเทศในการพลิกฟื้นสังคมไทย ให้มีพื้นฐานทางสังคมที่เข้มแข็งและมีโครงสร้างที่เป็นธรรมต่อไป

เมื่อมีจุดหมายชัดเจนต้องตรงกัน ผมในนามคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสปลูกสร้างพวกท่านให้เติบโตเป็นนักกฎหมายที่มีคุณภาพ และสุดท้ายนี้ ขอฝากข้อท้าทายให้พิจารณาดังนี้

จักทำอย่างไรให้ตระหนักว่า การศึกษาเพียงเพื่อให้ได้ปริญญาบัตร
มีคุณค่าน้อยกว่าเพื่อมีความรู้ออกไปรับใช้สังคม
จักทำอย่างไรให้ตระหนักว่า การเข้าสู่วิชาชีพเพื่อปรับเปลี่ยนสถานภาพทางสังคมของตน
มีคุณค่าน้อยกว่าการมีโอกาสสร้างความเป็นธรรมให้สังคม
จักทำอย่างไรให้ตระหนักว่า เนื้อหาสาระของวิชานิติศาสตร์อยู่ที่ความยุติธรรม
มิใช่ความมั่งคั่งทางวัตถุและความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ
จักทำอย่างไรให้ตระหนักว่า นักกฎหมายที่ปราศจากหลักธรรมะ
มีความเลวร้ายยิ่งกว่าอาชญากร

ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่บทเริ่มต้นบนเส้นทางสายนักยุติธรรม
---------------------------
นายกิตติบดี ใยพูล
วันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒
เขียนที่ สำนักงานคณบดี

ไม่มีความคิดเห็น:

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...