วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สิทธิมนุษยชน : ความหมายของนิติรัฐ

หลักนิติรัฐ

คำว่า หลักนิติรัฐ (Rule of Law Principle) ได้มีผู้ให้คำอธิบายไว้หลายท่าน ยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

หยุด แสงอุทัย ได้อธิบายคำว่า นิติรัฐ (The Rule of Law) ว่านิติรัฐเป็นรัฐที่ยอมตนอยู่ใต้บังคับแห่งกฎหมาย ซึ่งรัฐเป็นผู้ตราขึ้นเอง[1] และในประการที่สำคัญในกฎหมายรัฐธรรมนูญของรัฐที่เป็นนิติรัฐจะต้องมีบทบัญญัติในประการที่สำคัญถึงเสรีภาพของราษฎร เช่น เสรีภาพในร่างกายในทรัพย์สิน ในการทำสัญญา และในการประกอบอาชีพ[2] การที่รัฐจะจำกัดสิทธิและเสรีภาพของราษฎรได้ก็ต้องด้วยความยินยอมของราษฎรให้จำกัดสิทธิและเสรีภาพเองตามกลไกแห่งนิติบัญญัติของประเทศนั้น

ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้อธิบายว่า The Rule of Law หมายถึงหลักการแห่งกฎหมายที่เทอดทูนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และยอมรับนับถือสิทธิแห่งมนุษยชนทุกแง่ทุกมุม รัฐจักต้องให้ความอารักขาคุ้มครองให้พ้นจากลัทธิทรราชย์ หากมีข้อพิพาทใด ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าระหว่างรัฐกับเอกชน หรือเอกชนกับเอกชน ศาลสถิตยุติธรรมย่อมมีอำนาจอิสระในการตัดสินคดีตามกฎหมายบ้านเมือง

Maunz นักกฎหมายชาวเยอรมันได้ให้คำอธิบายไว้ว่า[3] นิติรัฐจะต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
(1) การแบ่งแยกอำนาจ
(2) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
(3) ความชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายปกครองและฝ่ายตุลาการ
(4) ความชอบด้วยกฎหมายในทางเนื้อหา
(5) ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา
(6) หลักไม่มีความผิดและไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย

ประสิทธิ์ โฆวิไลกุล ได้สรุปว่า คำว่า The Rule of Law ได้อุบัติขึ้นในประเทศเยอรมันและจำเริญขึ้นเป็นลำดับมา ในประเทศอังกฤษตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 และถือเป็นกฎหมายประเพณีของอังกฤษปฏิบัติสืบเนื่องกันมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 และที่ 17 และในหลัก The Rule of Law (หลักนิติธรรม) จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังต่อไปนี้[4]
(1) การยึดหลักความเป็นอิสระของตุลาการ
(2) ประชาชนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันอย่างเสมอภาค และได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายอย่างทัดเทียมกัน
(3) เจตนารมณ์ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
(4) การปกครองโดยยึดกฎหมายเป็นใหญ่ และปฏิบัติตามกฎหมายในฐานะที่เป็นนิติรัฐ กฎหมายนั้นจะต้องเป็นกฎหมายที่ยุติธรรม
(5) ศาลเป็นสถาบันที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน
(6) ฝ่ายบริหารต้องบริหารภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย และต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย
(7) ส่งเสริมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างบริสุทธิ์และยุติธรรม ปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายบริหารหรือกลุ่มอิทธิพลเพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แท้จริงของประชาชน
(8) ส่งเสริมและสนับสนุนความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย
(9) ส่งเสริมและคุ้มครองหลักแห่งการเคารพศักดิ์ศรีของมวลมนุษย์
(10) ส่งเสริมและพัฒนากฎหมายเพื่อสร้างความสงบสุขให้แก่ประชาชนและสังคมส่วนรวม
(11) ไม่มีบุคคลใดอยู่เหนือกฎหมาย

วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ได้กล่าวถึงความหมายของคำว่า หลักนิติรัฐ (Rechtsstaatsprincip) หรือ หลักนิติธรรม (The Rule of Law) ไว้ว่าเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของราษฎรจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจขององค์กรฝ่ายบริหาร อันได้แก่ รัฐบาล หน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล[5]

Carre De Malberg นักกฎหมายมหาชนชาวฝรั่งเศส[6] ได้ให้คำอธิบายถึงนิติรัฐไว้ว่านิติรัฐเป็นรัฐที่ในทางความสัมพันธ์กับประชาชนและเพื่อการให้หลักประกันแก่สถานะของบุคคลแล้วอยู่ภายใต้ระบอบแห่งกฎหมายซึ่งจะผูกการกระทำของรัฐไว้ด้วยกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งกฎเกณฑ์เหล่านี้ส่วนหนึ่งจะกำหนดสิทธิของประชาชน แต่อีกส่วนหนึ่งจะกำหนดไว้ล่วงหน้าถึงหนทางและวิธีการที่จะถูกนำมาใช้เพื่อบรรลุจุดประสงค์ในการดำเนินการปกครองของรัฐ กฎเกณฑ์สองชนิดนี้มีจุดมุ่งหมายร่วมกันเพื่อจำกัดอำนาจของรัฐโดยทำให้รัฐอยู่ภายใต้ระเบียบแห่งกฎหมายที่กฎเกณฑ์ทั้งสองชนิดดังกล่าวสร้างขึ้น ด้วยเหตุนี้ลักษณะเฉพาะของ นิติรัฐ ที่ชัดเจนอันหนึ่ง ก็คือ ในการปฏิบัติต่อผู้ใต้ปกครอง ฝ่ายปกครองจะสามารถใช้วิธีการต่าง ๆ ได้ก็แต่เฉพาะที่ระเบียบแห่งกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้นให้อำนาจไว้

สรุปได้ว่า หลักนิติรัฐ หมายถึง รัฐที่ใช้อำนาจปกครองโดยกฎหมาย และต้องมีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่ออกโดยอาศัยอำนาจกฎหมาย รับรองสิทธิและเสรีภาพขั้นมูลฐานของประชาชน และหากมีความจำเป็นที่จะต้อง ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ต้องมีกฎหมายกำหนดขึ้นและใช้บังคับเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน และหากมีการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนโดยรัฐ ประชาชนสามารถใช้นิติวิธีที่กฎหมายรับรองไว้เข้าเยียวยาได้
keyword : นิติรัฐ / รัฐใช้อำนาจโดยกฎหมาย / กฎหมายที่อยู่บนพื้นฐานของระบบคุณธรรม / การลิดรอนสิทธิของพลเมืองต้องเป็นไปเพื่อสาธารณชน (สิทธิมนุษย์มีความสำคัญ แต่การเคารพต่อสิทธิมนุษยชนของผู้อื่นสำคัญกว่า) ดังนั้น เราจึงเรียกนิติรัฐ อีกชื่อหนึ่งว่า "นิติธรรม" หรือ "นิติคุณธรรม"
อ้างอิง แหล่งข้อมูลจาก-----------
[1] หยุด แสงอุทัย, หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2538), หน้า 123.
[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า 123.
[3] บรรเจิด สิงคะเนติ, เรื่องเดิม, หน้า 23 – 34.
[4]ประสิทธิ์ โฆวิไลกุล, เหลียวหลังดู กฎหมาย และความยุติธรรม(กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2540), หน้า 14 ; 30-31.
[5]วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ , เรื่องเดิม, หน้า 11.
[6]ชาญชัย แสวงศักดิ์, กฎหมายปกครอง (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2538), หน้า 41-42.
----------------------------
กิตติบดี

ไม่มีความคิดเห็น:

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...