วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สรุปการบรรยาย เรื่อง การประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์

รายละเอียดของการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ :

ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๕๑

ประเด็น

(๑) ขอบเขตของธุรกิจ เพื่อเอื้อต่อการเป็น Universial Bank

(๒) เพื่อรองรับการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้แก่สถาบันการเงิน

ข้อกฎหมาย

มาตรา ๓๖ ให้ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ประกอบธุรกิจได้เฉพาะธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ แล้วแต่กรณี และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง หรือจำเป็นต่อการประกอบธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะประกาศกำหนดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องหรือจำเป็นโดยแยกตามประเภทสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์แต่ละชนิดก็ได้ และจะกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องหรือจำเป็นนั้นด้วยก็ได้

“ธนาคารพาณิชย์” หมายความว่า บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และให้หมายความรวมถึงธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ และสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์

“ธุรกิจธนาคารพาณิชย์” หมายความว่า การประกอบธุรกิจรับฝากเงินหรือรับเงินจากประชาชนที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ และใช้ประโยชน์จากเงินนั้นโดยวิธีหนึ่งวิธีใด เช่น ให้สินเชื่อ ซื้อขายตั๋วแลกเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด ซื้อขายเงินปริวรรตต่างประเทศ

ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
-ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย
-ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์
-ธุรกิจอนุพันธ์ทางการเงิน
-ธุรกิจธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Banking)
-ธุรกิจทางการเงินและธุรกิจการให้บริการอื่น

ยกตัวอย่าง เช่น

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย
ธนาคารพาณิชย์สามารถประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยได้ตามขอบเขตที่ ธปท. กำหนด ได้แก่ การเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิต และการเผยแพร่แผ่นพับโฆษณาของบริษัทประกันภัย โดยไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทำหน้าที่เป็นผู้ออกกรมธรรม์ประกันภัย
-นายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิต
-การเผยแพร่แผ่นพับโฆษณาของบริษัทประกันภัย

การทำหน้าที่เป็นนายหน้าประกันภัย หมายถึง การที่ธนาคารพาณิชย์ทำหน้าที่ชี้ช่องหรือจัดการให้แก่ลูกค้าของตนเองได้มีการทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัย ซึ่งธนาคารพาณิชย์ต้องจัดให้มีพนักงานที่ได้รับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันภัยอยู่ประจำไม่น้อยกว่าสาขาละ 1 คน และโดยรวมทั้งธนาคารพาณิชย์นั้นไม่น้อยกว่า 3 คน ทั้งนี้ ห้ามธนาคารพาณิชย์บังคับลูกค้าทำประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์หรือกับบริษัทประกันภัยใดเป็นการเฉพาะเจาะจง แต่ให้เป็นไปตามความสมัครใจของลูกค้า รวมทั้งในการประกอบธุรกิจดังกล่าวธนาคารพาณิชย์ต้องมีการควบคุมภายในที่เหมาะสม มีการจัดทำนโยบายในการประกอบธุรกิจ บันทึกบัญชีให้ถูกต้องและจัดเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ ธปท. สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์
ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ได้กำหนดประเภทของธุรกิจหลักทรัพย์ไว้ 7 ประเภท คือ (1) การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (2) การค้าหลักทรัพย์ (3) การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน (4) การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (5) การจัดการกองทุนรวม (6) การจัดการกองทุนส่วนบุคคล (7) กิจการอื่นที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์ตามที่รัฐมนตรีกำหนดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (คณะกรรมการ ก.ล.ต.) นอกจากนี้ ผู้ที่จะประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จะต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว. คลัง) ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต.
เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนและเพิ่มช่องทางการประกอบธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ ธปท.จึงได้อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ได้ ดังนี้

-ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตราสารหนี้

• การเป็นตัวแทนนายหน้าจัดจำหน่ายหลักทรัพย์รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ
• การค้าและจัดจำหน่ายตราสารแห่งหนี้

• การจัดการออกตราสารแห่งหนี้

-ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตราสารทุน

• การเป็นตัวแทนจำหน่ายหุ้น

-ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหน่วยลงทุน

• การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ค้าหลักทรัพย์ หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน (Limited Brokerage Dealing and Underwriting: LBDU)
- การเป็นที่ปรึกษาการลงทุน
- การจัดการกองทุนส่วนบุคคล
- การยืมและการให้ยืมหลักทรัพย์และการขายชอร์ต
- การติดต่อหรือแนะนำบริการของบริษัทหลักทรัพย์
- การเป็นผู้ดูแลเก็บรักษาหลักทรัพย์และเอกสารอื่น ๆ
- การเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์
- การเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้
- การเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม
- การเป็นผู้จัดการกองทุนในต่างประเทศ

ธุรกิจอนุพันธ์ทางการเงิน

ประเภทธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินที่ธนาคารพาณิชย์ได้รับอนุญาตให้ทำได้ ดังนี้
- ธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินขั้นพื้นฐาน (Plain Vanilla Derivatives) และ ธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อน (Structured/Exotic Derivatives)
- ธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินด้านตราสารหนี้
- ธุรกรรมอนุพันธ์ทางการเงินด้านตราสารทุน
- ธุรกรรม Credit Derivatives
- ธุรกรรมอนุพันธ์ด้าน Commodity
- ธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์ทางการเงินแฝง
- ธุรกรรม Collateralized Debt Obligation
- ธุรกรรมการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization)

ธุรกิจธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Banking)
การประกอบธุรกิจ e-Banking ที่อยู่ภายใต้มาตรา 9 ทวิ แห่ง พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ มี 2 ประเภท คือ
- การประกอบธุรกิจบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet)
- การให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Money)


ธุรกิจทางการเงินและธุรกิจการให้บริการอื่น
- การจัดทำหรือวิเคราะห์โครงการเพื่อการลงทุน (Feasibility Studies)
- การจัดหาแหล่งเงินกู้จากแหล่งต่างๆ ให้แก่ผู้ต้องการกู้เงิน (Loan Syndication)
- การเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor)
- การเป็นตัวแทนเรียกเก็บหนี้โดยมีค่าตอบแทนและการแต่งตั้งตัวแทนจ่ายแคชเชียร์เช็คหรือเงินสด
- ธุรกิจ Escrow Account
- การให้บริการด้านงานสนับสนุนแก่บุคคลอื่น (Insourcing)
- การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์
- การรับซื้อรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืม
- การเช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่ง (Hire-purchase and Leasing)
- การซื้อคืนภาคเอกชน
o การซื้อคืนภาคเอกชน หมายถึง การกู้ยืมเงินหรือให้กู้ยืมเงินโดยมีตราสารหนี้เป็นหลักประกัน
- แฟ็คเตอริ่ง (Factoring)
- การออกตั๋วแลกเงินเพื่อกู้ยืมเงินจากประชาชน
- ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

จึงสามารถสรุปได้ว่า ---ปัจจุบัน กฎหมายเอื้อให้ธุรกิจสถาบันการเงินมีขอบเขตที่กว้างขวางมากขึ้น เพื่อรองรับการเป็น Universial Bank และประสิทธิภาพของการบริหารสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ แต่ถึงอย่างไร ยิ่งขยายกิจการ (ขา) มากขึ้น แม้ว่าจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นกับความเสี่ยงที่ตามมา ตามหลัก High Risk High Return ดังนั้น การขยายขาทางธุรกิจการเงินจึงจำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานเรื่องความเชื่อมั่น เป็นสำคัญ---

(แหล่งข้อมูล : (๑) พรบ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๕๑ และ (๒) ธนาคารแห่งประเทศไทย)

กิตติบดี

ไม่มีความคิดเห็น:

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...