วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สถาบันการเงิน : การคุ้มครองผู้บริโภค เรื่อง การติดตามทวงหนี้

การทวงหนี้ของสถาบันการเงิน
---------------------------------------------------

ในทางปกติการใช้ประโยชน์จากเงินของธนาคาร คือการนำเงินไปให้สินเชื่อ ซึ่งอาจจะประสบปัญหาลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ทำให้ต้องมีการบอกกล่าว ทวงถาม ติดตามให้ชำระหนี้ ก่อนดำเนินการฟ้องร้องบังคับชำระหนี้ต่อไป
ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏในหลายกรณีว่า ในการติดตามทวงหนี้ได้มีการกระทบกระทั่งกันระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ หรือสร้างความเดือดร้อนเกินสมควรให้แก่ลูกหนี้ หรือ เจ้าหนี้อาจจะใช้สิทธิที่เกินพอดีไป ดังนั้น จึงได้มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติในการติดตามทวงหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน ให้ได้มาตรฐานและไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับลูกหนี้
รูปแบบ
๑. ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้ดำเนินการทวงหนี้เอง
๒. ผู้ประกอบธุรกิจว่าจ้างบุคคลภายนอกเป็นผู้ดำเนินการทวงหนี้
วิธีการ
"ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ลูกหนี้จนเกินควร"
ขอบเขต
หลักการนี้ใช้กับผู้ประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ Non Bank
แนวปฏิบัติในการติดตามทวงหนี้ มีดังต่อไปนี้
๑. ผู้ประกอบธุรกิจควรคำนึงถึงเวลาและความถี่ในการติดตามเพื่อการติดตามทวงหนี้
ให้ดำเนินการภายใน ๘.๐๐-๒๐.๐๐ น. ในวันธรรดา ส่วนวันหยุดราชการ ให้ดำเนินการภายในเวลา ๘.๐๐- ๑๘.๐๐ น. ทั้งนี้ ความถี่ให้คำนึงถึงความเหมาะสม
๒. การแสดงตัวเพื่อวัตถุประสงค์ในการติดตามทวงหนี้
๓. วิธีการเรียกเก็บหนี้
ต้องไม่เรียกเก็บหนี้จากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ไม่ใช้ความรุนแรงอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล ไม่ปลอมแปลงบิดเบือนข้อมูล เอกสารและแสดงท่าทางอันทำให้ลูกหนี้สำคัญผิด การทวงหนี้ไม่มีลักษณะของการข่มขู่ หรือคุกคามในลักษณะที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการกระทำใด ๆ ที่มีลักษณะของการรบกวนสิทธิ หรือรังควานลูกหนี้โดยไม่มีเหตุอันสมควร ในที่นี้ หมายถึงการใช้คำที่สุภาพ หรือไม่ใช้คำหยาบคายที่มีลักษณะเป็นการข่มขู่ลูกหนี้
ประเด็นสำคัญ
๔. ต้องมีการเก็บรักษาความลับของลูกหนี้ กล่าวคือ ผู้ประกอบธุรกิจต้องใช้ความระมัดระวังเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพในการเก็บรักษาความลับของลูกค้า (ลูกหนี้) ไม่เปิดเผยข้อความในการมีหนี้สินให้ลูกหนี้อับอาย หรือรบกวนสิทธิตามปกติสุขของคนทั่วไป
๕. การรับเงินจากลูกหนี้
ต้องมีหลักฐานการรับเงินที่เหมาะสมและมีผลในการชำระหนี้ตามกฎหมาย
ข้อสังเกต
ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเลือกผู้ว่าจ้างให้ดำเนินการแทนตนนั้น ต้องรับผิดชอบในผลของการกระทำที่ผู้ว่าจ้างได้กระทำเสมือนว่าตนเป็นผู้ดำเนินการเอง ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจสถาบันการเงินจะต้องให้ความใส่ใจและพิถีพิถันในการเลือกผู้ว่าจ้างที่ให้บริการเรียกเก็บหนี้ (พิจารณาคุณสมบัติ ระบบงาน ความน่าเชื่อถือ และระบบการเก็บรักษาความลับ เป็นต้น)
-----------------------------------------------
สภาพปัจจุบัน ลูกหนี้ได้รับความเดือดร้อนจากการทวงหนี้อยู่หลายราย เนื่องจาก การติดตามทวงหนี้ที่ไม่คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน หลายคนอาจแย้งว่า หากลูกหนี้ไม่ผิดนัดก็คงไม่มีปัญหาอะไร กรณีเช่นนี้ ต้องจำแนกแยกแยะให้ชัดว่า การเป็นลูกหนี้ กับการละเมิดสิทธิของลูกหนี้เป็นคนละเรื่องกัน เหมือนกับนิติกรรม-นิติเหตุ หมายความว่า การเป็นลูกหนี้ไม่ได้หมายความว่าเจ้าหนี้จะมีอำนาจในการกระทบสิทธิของลูกหนี้ได้
ประการสำคัญ ผมว่าเรื่องดังกล่าวต้องพิเคราะห์ให้ดีว่า ความผิดจากการผิดนัดคงไม่ได้อยู่ที่ลูกหนี้อย่างเดียว ปัจจัยอาจเกิดจากตัวเจ้าหนี้เอง ทำไมเจ้าหนี้ไม่วิเคราะห์ถึงศักยภาพของการชำระคืน หรือการเรียกหลักประกันเพื่อบังคับเอาแก่หลักประกัน หรือแม้แต่นโยบายการให้สินเชื่อที่คำนึงถึงเรื่องการตลาด จนมอมเมาให้คนหลายคนเป็นหนี้ทั้ง ๆ ที่ตนมีศักยภาพน้อย/จำกั หรือบางรายไม่มี เป็นต้น รวมถึงการเรียกให้ชำระหนี้ ซึ่งตามกฎหมาย "เจ้าหนี้ต้องบังคับชำระหนี้เอากับลูกหนี้โดยพลัน" แต่ข้อเท็จจริง เจ้าหนี้บางรายรอให้เกือบครบอายุความแล้วค่อยดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อหวังผลเรื่องดอกเบี้ยผิดนัด และ/หรือเบี้ยปรับ จนทำให้ยอดหนี้ท่วมมูลหนี้หลายเท่าตัว อย่างนี้....ท่านว่าเป็นธรรมหรือไม่....
........................................................
หมายเหตุ
มาตรา ๒๗ ในการดำเนินกิจการของสถาบันการเงิน กรรมการต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับบุคคลค้าขายผู้ประกอบด้วยความระมัดระวัง และต้องรับผิดชอบร่วมกันในการบริหารงานสถาบันการเงินนั้น ซึ่งรวมถึงเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) การให้สถาบันการเงินปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
(๒) การจัดทำและเก็บรักษาบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อแสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่แท้จริงของสถาบันการเงิน โดยต้องเปิดเผยให้ผู้ถือหุ้น ผู้ฝากเงิน และประชาชนได้รับทราบและสามารถตรวจสอบได้ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
(๓) การให้สถาบันการเงินเรียกประชุมผู้ถือหุ้นภายในสี่เดือนนับแต่สิ้นรอบระยะเวลาบัญชีหกเดือน เมื่อปรากฏว่าสถาบันการเงินนั้นประสบการขาดทุนจนทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาหกเดือนตามมาตรา ๖๗ ลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละห้าสิบของทุนที่ชำระแล้ว และให้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละยี่สิบห้าของทุนที่ชำระแล้วเพื่อแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบถึงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินตามความเป็นจริง
มาตรา ๓๙ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจประกาศกำหนดให้สถาบันการเงินประเภทหนึ่งประเภทใดถือปฏิบัติในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) การรับฝากเงิน การรับเงินจากประชาชน การกู้ยืมเงิน การลงทุน การให้สินเชื่อการก่อภาระผูกพัน และการประกอบธุรกิจอื่นที่สถาบันการเงินนั้นดำเนินการได้
(๒) การทำนิติกรรมหรือสัญญากับประชาชน ผู้บริโภค หรือลูกค้ารายย่อยในการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงิน ซึ่งมีทุนทรัพย์หรือมูลค่าตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ไม่ว่าจะเป็นในเนื้อหาสาระ วิธีการคำนวณผลประโยชน์หรือแบบสัญญา
(๓) การทำสัญญาค้ำประกันด้วยบุคคล โดยให้มีการระบุวงเงินของต้นเงินในสัญญา หรือมิให้มีการทำข้อตกลงให้ผู้ค้ำประกันทำสัญญาค้ำประกันแบบไม่จำกัดจำนวน
ในกรณีที่เป็นการค้ำประกันหนี้อันจะต้องชำระ ณ เวลาที่มีกำหนดแน่นอน และสถาบันการเงินยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ชั้นต้น แต่ไม่สามารถจะตกลงกันได้ภายในเวลาหกเดือน ให้สถาบันการเงินแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบ
(๔) ข้อที่ต้องปฏิบัติหากนิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นนั้นให้สิทธิแก่สถาบันการเงินที่จะเปลี่ยนแปลงสัญญาได้ฝ่ายเดียว
(๕) การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันการเงิน
-----------------------------------
(อ้างอิง : แหล่งข้อมูลจากแนวปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย)
กิตติบดี

ไม่มีความคิดเห็น:

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...