วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สถาบันการเงิน : คุณสมบัติของผู้บริหารสถาบันการเงิน

คุณสมบัติของผู้บริหารสถาบันการเงิน







ด้วยเหตุที่การประกอบธุรกิจสถาบันการเงินต้องอยู่บนพื้นฐานของ หลักความน่าเชื่อถือ (Credibility) ดังนั้น การพิจารณาถึงคุณสมบัติที่เหมาะสมของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารสถาบันการเงินต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สังคม โดยคำนึงถึง ความรู้ความสามารถ ศักยภาพ และคุณธรรมจริยธรรม (การมีส่วนได้เสีย /สุจริต)


ผู้บริหารสถาบันการเงิน หมายถึง

บุคคลที่เป็นหรือมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย บริหารงาน หรือการดำเนินงานของสถาบันการเงิน


ตามมาตรา ๒๕ ในการแต่งตั้งผู้บริหารฯ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งบุคคลใหม่หรือแต่งตั้งบุคคลเดิมให้ดำรงตำแหน่งต่อไป


ตำแหน่ง (ชื่อเรียก)

ผู้บริหารฯ อาจมีชื่อเรียกตำแหน่ง เช่น กรรมการผู้บริหาร กรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ* หรือที่ปรึกษาของสถาบันการเงิน** แต่ประเด็นสำคัญให้พิจารณาถึง อำนาจในการกำหนดนโยบาย บริหารงาน หรือการดำเนินงานของสถาบันการเงิน

*"ผู้มีอำนาจในการจัดการ" หมายความว่า
(๑) ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ กรรมการที่เป็นผู้บริหารของสถาบันการเงินหรือบริษัท แล้วแต่กรณี หรือผู้ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น
(๒) บุคคลซึ่งสถาบันการเงินหรือบริษัททำสัญญาให้มีอำนาจในการบริหารงานทั้งหมดหรือบางส่วน หรือ
(๓) บุคคลที่ตามพฤติการณ์มีอำนาจควบคุมหรือครอบงำผู้จัดการหรือกรรมการ หรือการจัดการของสถาบันการเงินหรือบริษัท ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของตนในการกำหนดนโยบายหรือการดำเนินงานของสถาบันการเงินหรือบริษัท

**"ที่ปรึกษาของสถาบันการเงิน" ในที่นี้มีความหมายแตกต่างจาก การที่สถาบันการเงินว่าจ้างผู้ที่เชี่ยวชาญเฉพาะสาขามาทำงานให้แก่สถาบันการเงิน อาทิ

- ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

- ที่ปรึกษาด้าน IT

- ที่ปรึกษาด้านการลงทุนและเครือข่าย

- ที่ปรึกษาด้านภาษี

- ที่ปรึกษาด้านการเงินการธนาคาร

หรือ ที่ปรึกษาด้านงานอื่นที่ผู้บริหารให้ความสำคัญตามภารกิจและเป้าหมายของสถาบันการเงิน

สำหรับที่ปรึกษาของสถาบันการเงินที่อยู่ในข่ายของผู้บริหารนี้ ต้องเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหรือเสมือนเป็นกรรมการผู้บริหาร กรรมการ รองผู้จัดการ หรือผู้ช่วยผู้จัดการ เพราะในบางสถาบันการเงินเพียงใช้ชื่อเรียกตำแหน่งว่าที่ปรึกษา แทนที่จะเรียกชื่อกรรมการ รองผู้จัดการ หรืออื่นใด แต่แท้จริงทำงานในบทบาทของผู้บริหาร

คุณสมบัติของผู้บริหารสถาบันการเงิน

ตามมาตรา ๒๔ ได้กำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของผู้บริหารสถาบันการเงินไว้ดังนี้

ห้ามมิให้สถาบันการเงินแต่งตั้งหรือยอมให้บุคคลซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นหรือทำหน้าที่ผู้บริหารสถาบันการเงิน

(๑) เป็นบุคคลล้มละลายหรือพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายมาแล้วไม่ถึงห้าปี


(๒) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต ไม่ว่าจะมีการรอการลงโทษหรือไม่ก็ตาม


(๓) เคยถูกลงโทษไล่ออกหรือปลดออกจากราชการ องค์การ หรือหน่วยงานของรัฐฐานทุจริตต่อหน้าที่

(๔) เคยเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต เว้นแต่จะได้รับยกเว้นจากธนาคารแห่งประเทศไทย

(๕) เคยถูกถอดถอนจากการเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน ตามมาตรา ๘๙ (๓) หรือมาตรา ๙๐ (๔) หรือตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เว้นแต่จะได้รับยกเว้นจากธนาคารแห่งประเทศไทย

(๖) เป็นกรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินแห่งอื่นอีกในเวลาเดียวกัน เว้นแต่ได้รับยกเว้นจากธนาคารแห่งประเทศไทย

(๗) เป็นผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการนอกเหนือจากตำแหน่งกรรมการของบริษัทที่ได้รับสินเชื่อหรือได้รับการค้ำประกันหรืออาวัลหรือมีภาระผูกพันอยู่กับสถาบันการเงินนั้น เว้นแต่
(ก) เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของสถาบันการเงินซึ่งไม่ใช่กรรมการที่เป็นผู้บริหาร
(ข) เป็นกรณีที่ได้รับยกเว้นตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

(ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้อนุญาตให้ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการที่ได้รับสินเชื่อ หรือได้รับการค้ำประกัน หรืออาวัล หรือมีภาระผูกพันอยู่กับสถาบันการเงินนั้น สามารถเป็นหรือทำหน้าที่ผู้บริหารสถาบันการเงินได้)

(๘) เป็นข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นใดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

(๙) เป็นพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยหรือเป็นผู้ที่พ้นจากการเป็นพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทยตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด เว้นแต่ได้รับแต่งตั้งจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้เข้าไปแก้ไขฐานะการเงินหรือการดำเนินการของสถาบันการเงิน หรือเป็นการดำรงตำแหน่งในสถาบันการเงินที่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ทั้งนี้ พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย หรือผู้ที่พ้นจากการเป็นพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยแต่ยังต้องห้ามไม่ให้รับตำแหน่งตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดดังกล่าว ไม่มีสิทธิที่จะได้รับสิทธิในการซื้อหุ้นของสถาบันการเงินนั้น

(๑๐) เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามหรือขาดคุณสมบัติอื่นใด ทั้งนี้ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ยังได้มีการกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามเพิ่มเติม ได้แก่

(๑) เป็นบุคคลที่มีปัญหาในการชำระต้นเงิน หรือดอกเบี้ยกับสถาบันการเงิน

(๒) เป็นบุคคลที่เคยถูกธนาคารแห่งประเทศไทยหรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สั่งถอดถอนจากการเป็นผู้บริหารสถาบันการเงิน หรือบริษัทหลักทรัพย์ใดมาก่อน เว้นแต่จะพ้นระยะเวลาที่กำหนดห้ามเป็นผู้บริหารมาแล้ว หรือได้รับการผ่อนผันจากธนาคารแห่งประเทศไทยหรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แล้วแต่กรณี

(๓) เป็นบุคคลที่เคยถูกธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือหน่วยงานของรัฐทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่กำกับและควบคุมสถาบันการเงิน กล่าวโทษ ร้องทุกข์ หรือกำลังถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฉ้อโกง หรือทุจริตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสถาบันการเงิน และหลักทรัพย์ และกฎหมายอื่น เว้นแต่ปรากฎว่าคดีถึงที่สุดโดยไม่มีความผิด

(๔) เป็นบุคคลที่เคยทำหรือเกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการใด ๆ ที่มีลักษณะอันเป็นการหลอกลวงผู้อื่นหรือประชาชน

(๕) เป็นบุคคลที่มีประวัติเสียหาย หรือเคยมีพฤติกรรมที่แสดงถึงวิธีการทำธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่น่าเชื่อถือ

(๖) เป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมที่แสดงถึงการทำงานอันส่อไปในทางไม่สุจริต

(๗) เป็นบุคคลที่มีการทำงานที่แสดงถึงการขาดจรรยาบรรณหรือขาดมาตรฐานในการประกอบธุรกิจสถาบันการเงินหรือการประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเงิน

(๘) เป็นบุคคลที่มีการบริหารงานที่แสดงถึงการละเลยการทำหน้าที่ตามสมควรในการกลั่นกรองหรือตรวจสอบดูแลมิให้บุคคลที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาฝ่าฝืน หรือปฏิบัติไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือขาดจรรยาบรรณ หรือขาดความรอบคอบที่พึงมีในการปฏิบัติหน้าที่อันอาจก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในธุรกิจสถาบันการเงินโดยรวม หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง ฐานะหรือการดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินอย่างมีนัยสำคัญ หรือต่อลูกค้าของธุรกิจสถาบันการเงิน

(๙) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

(๑๐) เป็นบุคคลที่พ้นจากการเป็นพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่ครบ ๑ ปี ในตำแหน่งผู้อำนวยการขึ้นไป หรือตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่นของส่วนงานต่าง ๆ หรือผู้บริหารส่วนหรือตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่นในส่วนงานที่สามารถล่วงรู้ข้อมูลของกิจการสถาบันการเงินตามอำนาจหน้าที่

อำนาจของผู้บริหารสถาบันการเงิน

---มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย บริหารจัดการสถาบันการเงิน---

หน้าที่ของผู้บริหารสถาบันการเงิน

(๑) หน้าที่ดำเนินกิจการของธุรกิจสถาบันการเงิน

(๒) หน้าที่ประกอบธุรกิจโดยอาศัยหลัก "บุคคลค้าขายผู้ประกอบด้วยความระมัดระวัง" (Professional Duty of Care)

(๓) หน้าที่รับผิดชอบร่วมกันในการบริหารสถาบันการเงิน

มาตรา ๒๗ ในการดำเนินกิจการของสถาบันการเงิน กรรมการต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับบุคคลค้าขายผู้ประกอบด้วยความระมัดระวัง และต้องรับผิดชอบร่วมกันในการบริหารงานสถาบันการเงินนั้น ซึ่งรวมถึงเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) การให้สถาบันการเงินปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

(๒) การจัดทำและเก็บรักษาบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อแสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่แท้จริงของสถาบันการเงิน โดยต้องเปิดเผยให้ผู้ถือหุ้น ผู้ฝากเงิน และประชาชนได้รับทราบและสามารถตรวจสอบได้ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

(๓) การให้สถาบันการเงินเรียกประชุมผู้ถือหุ้นภายในสี่เดือนนับแต่สิ้นรอบระยะเวลาบัญชีหกเดือน เมื่อปรากฏว่าสถาบันการเงินนั้นประสบการขาดทุนจนทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาหกเดือนตามมาตรา ๖๗ ลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละห้าสิบของทุนที่ชำระแล้ว และให้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละยี่สิบห้าของทุนที่ชำระแล้วเพื่อแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบถึงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินตามความเป็นจริง

มาตรา ๒๘ กรรมการต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อผู้ถือหุ้น หรือผู้ฝากเงิน หรือผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินที่เกิดจากการระดมเงินจากประชาชนของสถาบันการเงิน เพื่อความเสียหายใดๆ อันเกิดจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้ตรวจการสถาบันการเงินสั่งการตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้ทุจริตหรือมีส่วนในการไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว


-------------------------------
หมายเหตุ มาตราตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๕๑
ภาพประกอบจาก

กิตติบดี


ไม่มีความคิดเห็น:

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...