วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การประชุมผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

พัฒนาการสู่โรงเรียนสอนกฎหมาย



เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคมที่ผ่านมา ทางคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดประชุมรับฟังข้อเสนอแนะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงแนวทางการพัฒนาคุณภาพบัณฑิต ซึ่งได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาชีพกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในหลายหน่วยงาน และองค์กร อาทิ ด้านวิชาชีพกฎหมายสายตุลาการ (ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลแรงงาน และศาลทหาร) อัยการทนายความ และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม (สำนักงานยุติธรรมจังหวัด สำนักงานบังคับคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรือนจำและทัณฑสถาน สถานพินิจและคุ้มครองเด็ก ฯลฯ) รวมถึงภาคธุรกิจเอกชน อาทิ สภาหอการค้า ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากท่านอาจารย์ประเสริฐ เขียนนิลศิริ ผู้พิพากษาอาวุโส / กรรมการที่ปรึกษาประจำคณะเป็นประธานที่ประชุม ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือเป็นวาระต่อเนื่องจากคราวประชุมผู้ทรงคุณวุฒิฯ ส่วนกลาง เมื่อธันวาคม ๒๕๕๑ ณ กรุงเทพมหานคร

โดยทางคณะนิติศาสตร์ ได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงภารกิจสำคัญในการพัฒนาบุคลากรทางกฎหมาย ผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล สนองต่อนโยบายของรัฐ (นิติรัฐ) มีคุณลักษณะที่เหมาะสมต่อการประกอบวิชาชีพทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมศักยภาพทางวิชาการด้านกฎหมายและกระบวนยุติธรรม และบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมศักยภาพทางวิชาการด้านกฎหมาย และสิทธิมนุษยชนให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางนิติศาสตร์แห่งภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อไป

ผลจากที่ประชุมสามารถสรุปเป็นแนวทาง ดังต่อไป

(๑) การพัฒนาหลักสูตร กำหนดแนวทางไว้ ๕ ประการ

ประการที่ ๑ การพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพกฎหมายทุกแขนง รวมถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงของวิชาชีพโดยยึดตามมาตรฐานสากล

ประการที่ ๒ การพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตร โดยขยายพื้นที่การเรียนรู้ เรื่อง ระบบคิด ทฤษฎี และหลักปรัชญา ทั้งในมิติทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมท้องถิ่น

ประการที่ ๓ การพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตร ให้เชื่อมโยงกับภูมิภาค (Localization Regional Regime)

ประการที่ ๔ การพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตร ให้สอดรับกับแนวทางแห่งนิติธรรม (Rule of Law) และ นโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้านกฎหมาย และการบริหารงานยุติธรรม

ประการที่ ๕ การพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตร ให้มีมิติเชื่อมโยงกับเรื่อง Green Global ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สุขภาวะ ความมั่นคงของมนุษย์ และประชาสังคม


(๒) การพัฒนาคุณภาพบัณฑิต กำหนดแนวทางไว้ ๔ ประการ

ประการที่ ๑ คุณลักษณะที่สอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพ

ประการที่ ๒ การพัฒนาคุณภาพบัณฑิตให้ตอบสนองต่อแนวทางการพัฒนาบุคลากรกระบวนการยุติธรรม ตามแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๕๕

ประการที่ ๓ การพัฒนาคุณภาพบัณฑิตให้มีกระบวนทัศน์และระบบคิดด้านคุณธรรม และจริยธรรม

ประการที่ ๔ การปลูกฝังวัฒนธรรมแห่งสิทธิมนุษยชน (Human Rights Culture)

แนวทางเช่นว่านี้ ทางคณะถือเป็น Benchmark ในการทำงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ต่อไป

อนึ่ง คณะได้กำหนดจัดการประชุมลักษณะนี้อีก ๒ วาระ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา (เดือนธันวาคม) และจังหวัดอุดรธานี (เดือนกุมภาพันธ์) ซึ่งท่านสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งได้โดยส่งข้อเสนอแนะและความคิดเห็นมาที่ตู้ ปณ. ๒๔๒ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ แสดงความคิดเห็นผ่าน Blog คณบดี : http//kittibodee.blogspot.com//ขอขอบคุณล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้
---------------------
กิตติบดี

ไม่มีความคิดเห็น:

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...