ภาพรวม
(๑) เค้าโครงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
แบ่งเป็น ๓ เรื่อง กลุ่ม
๑. กลุ่มทางแพ่ง ได้แก่ บุคคล ครอบครัว และมรดก
๒. กลุ่มทรัพย์สิน ได้แก่ ทรัพย์สิน ทรัพยสิทธิ (ทรัพย์สินในทางประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)
๓. กลุ่มหนี้ ได้แก่ หนี้ บุคคลสิทธิ (สิทธิเรียกร้อง)
หมายเหตุ
(๑) กลุ่มหนี้ จะแบ่งออกเป็น บ่อเกิดแห่งหนี้ (มูลหนี้) และผลแห่งหนี้ (สภาพบังคับแห่งหนี้)
(๒) บ่อเกิดแห่งหนี้ มาจาก ๒.๑ นิติกรรม/สัญญา /เอกเทศสัญญา หรือ ๒.๒ นิติเหตุ (ละเมิด จัดการงานนอกสั่ง และลาภมิควรได้) หรือ ๒.๓ กฎหมายเฉพาะเรื่อง เช่นหนี้ภาษีอากร
้
---ดังนัั้น จึงสรุปได้ว่า ละเมิดเป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ (มูลหนี้) ประการหนึ่่ง ซึ่งตามมาตรา ๑๙๔ ได้บัญญัติให้เจ้าหนี้ (ผู้เสียหาย) มีสิทธิจะเรียกให้ลูกหนี้ (ผู้กระทำละเมิด) ชำระหนี้ได้---
เพราะฉะนั้น หนี้ละเมิดจึงเป็นเหตุที่เกิดขึ้น และผู้ก่อเหตุนั้นมีความรับผิดชอบต่อผลที่ตนได้ก่อไว้ (นิติเหตุ) มิใช่ ความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นจากความประสงค์ที่จะก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างคู่สัญญา (นิติกรรม)
(๒) เปรียบเทียบระหว่างละเมิด-สัญญา
ความเหมือน
๑. ทั้งละเมิดและสัญญาอยู่ในบรรพ ๒ ว่าด้วย หนี้้ และเป็นมูลแห่งหนี้*
๒. ความเสียหาย การผิดนัดผิดสัญญาทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย ส่วนละเมิดการก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิตามกฎหมาย (สิทธิเด็ดขาด absolute right) ทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย
ความแตกต่าง
๑. นิติสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้
สัญญาเกิดจากความสมัครใจที่จะผูกนิติสัมพันธ์ของคู่สัญญา
ละเมิดเป็นเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดภาระผูกพันต่อผู้กระทำความผิด
๒. สิทธิตามกฎหมาย
สิทธิตามสัญญาเป็นบุคคลสิทธิใช้อ้างกับคู่สัญญา
ละเมิดเป็นสิทธิเด็ดขาดใช้อ้างได้กับบุคคลทุกคน
๓. ความสามารถในการก่อให้เกิดความรับผิด
สัญญาคำนึงถึงความสามารถในการก่อให้เกิดความรับผิด
ละเมิดไม่คำนึงถึงความสามารถในการก่อให้เกิดความรับผิด
๔. หน้าที่นำสืบ
สัญญา ลูกหนี้มีหน้าที่นำสืบว่าตนไม่ได้ทำผิดสัญญา
ละเมิด ถือหลักผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นนำสืบ เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิด โจทก์ต้องพิสูจน์หรือนำสืบให้เห็นว่าจำเลยกระทำความผิด
๕. ความเสียหาย
สัญญา การกำหนดความเสียหายให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญา (แต่ปัจจุบันมีพรบ.ว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรมมาพิจารณาประกอบหากเข้าข่าย)
ละเมิด การกำหนดความเสียหาย (ค่าสินไหมทดแทน) มาตรา ๔๓๘ ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด แต่ต้องไม่พิพากษาเกินคำขอของโจทก์ (ตามหลักหนี้)
๖. การผิดนัด
สัญญา มาตรา ๒๐๓ หนี้้ที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลัน
มาตรา ๒๐๔ หนี้ที่กำหนดระยะเวลาชำระหนี้ ให้ถือว่าลูกหนี้ผิดนัดเมื่อถึงกำหนดระยะเวลาไว้
ละเมิด มาตรา ๒๐๖ ลูกหนี้ผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด
๗. อายุความ
สัญญา มาตรา ๑๙๓/๓๐ มาตรา ๑๙๓/๓๓ และมาตรา ๑๙๓/๓๔ (๑๐ ปี ๕ปี และ ๒ ปีตามลำดับ)
อายุความทั่วไป ๑๐ ปี
สิทธิเรียกร้องตาม ๑๙๓/๓๓ อายุความ ๕ ปี
สิทธิเรียกร้องตาม ๑๙๓/๓๔ อายุความ ๒ ปี
ละเมิด สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนมีอายุความ ๑ ปีนับแต่วันที่ผู้เสียหาย "รู้" (๑) การกระทำละเมิด และ (๒) "รู้" ตัวผู้กระทำละเมิด แต่ต้องไม่เกิน ๑๐ ปี นับแต่วันทำละเมิด (หาตัวผู้กระทำละเมิดไม่ได้แต่ต้องไม่เกิน ๑๐ ปี)
หมายเหตุ * ด้วยระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรนั้น ศาลทำหน้าที่เป็นผู้ปรับใช้และตีความกฎหมายมิใช่มีบทบาทเป็นผู้สร้างกฎหมายเหมือนระบบกฎหมายจารีตประเพณี ดังนั้น การกำหนดค่าสินไหมทดแทนต้องอยู่ภายใต้เรืองหนี้ แต่ทั้งนี้ บทบาทของศาลย่อมสามารถตีความและปรับใช้กฎหมายเพื่อให้กฎหมายละเมิดขยายขอบเขตในฐานะเป็นเครื่องมือในการยกระดับมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมได้ด้วย
(ครั้งต่อไป มาพิจารณากันว่า เมื่อคู่สัญญาตกลงทำสัญญากัน ปรากฎว่ามีความรับผิดทางละเมิดมาเกี่ยวข้องด้วย จะสามารถเลือกฟ้องทางละเมิดได้หรือไม่อย่างไร)
-----------------------
กิตติบดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น