วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สัมมนาแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๕๕ ประชาชนจะได้รับอะไรจากกระบวนการยุติธรรม


แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๕๕

เมื่อวาน (๒๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒) ทางสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ได้ชวนไปร่วมเสวนาที่รร.พลูแมน จ.ขอนแก่น  เพื่อสร้างกลไกขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ไปสู่การปฏิบัติการบูรณาการความร่วมมือด้านกระบวนการยุติธรรมระดับพื้นที่ บนเวทีมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านรองผู้บังคับการ ท่านผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ท่านอัยการ และผม โดยมีคุณสมณ์  พรหมรส ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและประสานแผนกระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย โดยการสัมมนาและอภิปรายดังกล่าว ผมได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับแผนแม่บทฯ ไว้ดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ ๑ มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องทำความเข้าใจว่า แผนแม่บทฯ ดังกล่าว มิใช่นโยบายของรัฐ แต่เป็นนโยบายสากลที่รัฐต้องปฏิบัติ โดยหลักความเป็นสากลในมิติทางสังคม ยึดโยงกับเรื่องสิทธิมนุษยชน การสร้างความเข้มแข็งภาคประชาชน และแนวทางการบริหารราชการ (ธรรมาภิบาล ความมั่นคงของมนุษย์ และหลักประโยชน์สาธารณะ) เพราะฉะนั้น จึงเป็นภารกิจที่รัฐต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน บนพื้นฐาน "ต้อง" มิใช่ "ควร"

ประเด็นที่ ๒ จุดหมายปลายทางของการบริหารงานยุติธรรม ต้องชัดเจนและมั่่งคงที่ "การเอื้อประโยชน์ให้กระบวนการยุติธรรมสร้างความเป็นธรรมให้แก่สังคม" 

ประเด็นที่ ๓ ผมได้ตั้งข้อสังเกตตามแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๕๕ รายละเอียดมีดังนี้

ตามแผนแม่บทฯได้วางกรอบแนวคิดพื้นฐานในการดำเนินงานไว้ ๔ ประการ ได้แก่ (สรุปจากแผน)
(๑) ได้มีการอัญเชิญพระบรมราโชวาทของในหลวง ที่ว่า "กฎหมายนั้นไม่ใช่ความยุติธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับใช้ในการรักษาและอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น การใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาความยุติธรรม ไม่ใช่เพื่อรักษาตัวบทของกฎหมายเอง และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดิน็มิได้มีวงแคบอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายออกไปถึงศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุและผลตามความเป็นจริงด้วย...."
(๒) เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม
(๓) การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
(๔) พัฒนากระบวนการยุติธรรมให้ครอบคลุมทั้งทางแพ่ง อาญา และปกครอง

ซึ่งผมได้ตั้งข้อสังเกตไปว่า 

๑. กรอบแนวคิดพิ้นฐานต้องคำนึงถึงประเด็นที่ ๑ และ ๒ ข้างต้นด้วย

๒. การอัญเชิญพระบรมราโชวาทมานั้น จะพบว่า ในวงการนิติศาสตร์มักกล่าวอ้างถึงเสมอ แต่ในทางความเป็นจริงมักจะไม่เป็นเช่นนั้น ผู้ปฏิบัติงานมักจะอ้างเรื่องระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรอยู่เสมอ ว่าตามระบบกฎหมายนี้ต้องยึดตัวบทบัญญัติกฎหมายเป็นสำคัญ เช่น กรณีศึกษาจำคุกแม่ขโมยลูกขนุนริมคลองหลอดให้ลูก หรือ การใช้อำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่หากขาดซึ่งความเข้าใจในเจตนารมย์ของกฎหมาย หรือพื้นฐานของระบบกฎหมาย เช่น การจับกุมคุมขังตามบทกฎหมายแต่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งพื้นฐานของระบบกฎหมายไม่ว่าจะเป็นลายลักษณ์อักษร หรือจารีตประเพณี นั้นมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาจากการปลดแอกแนวคิดอำนาจนิยมมาสู่แนวคิดเสรีนิยม บนพื้นฐานของการเคารพคุณค่าของมนุษย์เป็นรากฐานสำคัญ 

---ถึงแม้ว่า ประเทศที่ยึดถือระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร ซึ่งให้ถือเอาตัวบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นสำคัญ แต่ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งไปกว่ากันก็คือ บทบาทของนักนิติศาสตร์ที่กล้าตีความและปรับใช้กฎหมายให้เป็นไปในทิศทางที่มุ่งไปสู่การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์---

๓. ตามกรอบแนวคิดข้อ ๒ เรื่องการให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมนั้น ต้องมีความชัดเจนว่า การบริหารงานยุติธรรมต้องดึงภาคประชาชนมาเป็นหุ้นส่วนการทำงาน (Partnership) มิใช่ เป็นเพียงแค่องค์ประกอบโดยภาครัฐยังคงความเป็นผู้นำหรือกำหนดแนวทาง (Leadership)

๔. พิจารณาตามวัตถุประสงค์
ที่เขียนไว้ในแผนว่า เพื่อแสดงทิศทางการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมของประเทศที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนและสอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

--ดังนี้ ผมเห็นว่า ในเมื่อระบบเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังอยู่ในห้วงกระแสธารแห่งเสรีภาพ ดังนั้น การสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมพึงต้องตระหนักเสมอว่า "ยิ่งที่ใดมีเสรีภาพมาก ที่นั้นความเสมอภาคจะยิ่งน้อยลง" ฉะนั้น ระบบงานยุติธรรมต้องตระหนักและดำรงตนอยู่บนพืนฐานของความไม่เป็นกลาง เพราะความเป็นกลางย่อมมีประสิทธิภาพเมื่อมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน แต่ในเมื่อผู้คนประชาชนส่วนใหญ่เป็นเพียงคนเล็กคนน้อยในสังคม รัฐจึงมีบทบาทต้องประคับประคองให้พวกเราสามารถยืดหยัดอย่างเสมอบ่าเสมอไหล่และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมด้อย่างมีศักดิ์มีศรีต่อไป (ขอให้พิจารณากรณีเจ้าหนี้ลูกหนี้เป็นอาทิ)

๕. การให้ความสำคัญกับภาคีความร่วมมือ
ในแผนฯ ควรมีการระบุความชัดเจนถึงเครือข่ายความร่วมมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยมีหน่วยงาน/องค์กรที่ปฏิบัติงานด้านสิทธิเสรีภาพอยู่หลายส่วน ดังนั้น การเชื่อมต่อและประสานความร่วมมือจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น 

๖. การนำระบบ knowledge management มาใช้พัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม
ตั้งข้อสังเกตว่า การนำเรื่องการจัดการการเรียนรู้มาใช้กับภาคราชการ ควรนำมาใช้ให้ครบวงจร และอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นต่อหลัก Human Resource อย่างแท้จริง

สุดท้าย ที่ประชุมขอให้วิทยากรแต่ละท่านได้สรุป/ฝากข้อสังเกต ซึ่งผมได้สรุปดังนี้
ประการที่ ๑ บุคลากรและการบริหารงานยุติธรรมต้องศรัทธาและเชื่อมั่นต่อหลักสิทธิมนุษยชน
ประการที่ ๒ นโยบายและแผนปฏิบัติงานด้านการบริหารงานยุติธรรม ต้องเปลี่ยนแปลงตามบริบทโลก
ประการที่ ๓ บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมควรได้รับการอุดหนุนให้มีคุณภาพชีวิตงานที่เหมาะสม มีศักดิ์ศรีและเกียรติทางสังคมที่เป็นรูปธรรม

--------------------------
กิตติบดี

ไม่มีความคิดเห็น:

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย "ความหมายของประชาธิปไตย" ตอน ๑

กฎหมาย การเมืองและสังคมไทย ตอน ๑ ศึกษาจากมุมมองของผู้ช่วยศาสตราจารย์จรัล  ดิษฐาอภิชัย  ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย/อจ.บรรยายรายวิชา...